Monday, December 12, 2022

MARIUPOLIS 2

 

MARIUPOLIS 2 (2022, Mantas Kvedaravicius, Lithuania/France, about Ukraine, documentary, 112min, A+30)

 

1.เป็นหนังที่สร้างประสบการณ์การดูหนังแบบใหม่ให้เรา คล้าย ๆ กับตอนที่ดู RUHR (2009, James Benning) เมื่อ12 ปีก่อน คือหนังเรื่องนี้ไม่ได้เหมือน RUHR นะ แต่เหมือนเป็นหนังที่กระตุ้นให้เราค้นพบ approach ใหม่ ๆ ในการดูหนังเหมือนกันทั้งสองเรื่องน่ะ

 

คือปกติแล้ว เวลาดูหนัง บางทีมันก็สร้างความพึงพอใจให้ผู้ชมได้ด้วยเนื้อเรื่อง, การเร้าอารมณ์, ข้อมูลที่น่าสนใจ (โดยเฉพาะหนังสารคดี) หรือบางทีก็เป็น "มนตร์สะกด" (แบบหนังทดลอง, Marguerite Duras, Chantal Akerman, Bela Tarr, etc.) แต่หนังบางเรื่องมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

2.สิ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้คือความรู้สึกที่เหมือนกับว่า เราได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในโซนสงครามจริง ๆ น่ะ ซึ่งมันจะเต็มไปด้วย moments ที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่งมองซากปรักหักพัง, กองขยะ พร้อมกับได้ยินเสียงระเบิดอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าระเบิดจะมาลงที่ตัวเราเมื่อไหร่ มันคือการจมอยู่ในความสิ้นหวัง ไร้ทางออก ทำอะไรแทบไม่ได้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันคือประสบการณ์จริงของชาวบ้านในยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.ปีนี้เป็นต้นมา

 

ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว moments เหล่านี้ ถ้าหากมันไปอยูในหนังปกติ มันคงเป็นอะไรที่น่าเบื่อสุด ๆ เพราะมันดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นเลย ได้แต่มองซากเมืองไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางเสียงระเบิด

 

และเราว่าหนังเรื่องนี้มันไปไกลกว่าหนังอาร์ทนิ่งช้า miserabilism ในแง่นึงด้วย เพราะถึงแม้ setting และอะไรต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้อาจจะทำให้นึกถึงหนังของ Bela Tarr แต่มันไม่มี "ความสวยงามด้านภาพ, ด้านการเคลื่อนกล้อง, ด้านการออกแบบฉาก, ด้านการร้อยเรียงเหตุการณ์" แบบในหนังของ Bela Tarr การดูหนังเรื่องนี้มันเลยเหมือนเข้าไปใช้ชีวิตใน setting ในหนังของ Tarr จริง ๆ โดยไม่มี "ความงดงามทางภาพ" หรืออะไรแบบนั้นมาสร้างมนตร์มายาตราตรึงผู้ชม และมันก็เลยทำให้ผู้ชมเข้าถึงความทุกข์ยากลำเค็ญของชาวบ้านในยูเครนได้อย่างหนักยิ่งขึ้น

 

เราก็เลยรู้สึกว่าประสบการณ์ตรงนี้มันใหม่มาก ๆ สำหรับเรา และมันเป็น approach ที่น่าสนใจมากในการทำหนังสารคดีหรือหนังที่ต้องการถ่ายทอดความจริงที่โหดร้ายด้วย

 

3.เราว่าหนังเรื่องนี้มันต่างจากหนังสารคดีสงครามเรื่องอื่น ๆ ที่เราเคยดูมาด้วยแหละ ทั้งสงครามปาเลสไตน์ (FIVE BROKEN CAMERAS ของ Emad Burnat + Guy Davidi), สงครามอิรัก ( HOMELAND (IRAQ YEAR ZERO) ของ Abbas Fahdel), สงครามซีเรีย (THE RETURN TO HOMS ของ Talal Derki), สงครามลิเบีย (TOMORROW TRIPOLI ของ Florent Marcie), สงครามติมอร์ตะวันออก ( WHERE THE SUN RISES ของ Grace Phan), etc. เพราะหนังสารคดีกลุ่มนี้มักจะนำเสนอ subjects บางคนอย่างเฉพาะเจาะจง, ทำให้ผู้ชมได้รู้จักชีวิตของ subjects เหล่านั้น และรู้สึกผูกพันกับ subjects เหล่านั้น หรือใช้ voiceover เพือป้อนข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ชมเข้าใจง่าย

 

แต่ MARIUPOLIS 2 ไม่ได้ใช้วิธีการเหล่านั้นเลย เราแทบไม่ได้รู้จักใครอย่างเฉพาะเจาะจงเลย และหนังก็ไม่ได้ให้ข้อมูลผ่านทางเสียงบรรยายด้วย ซึ่งการใช้วิธีการแบบนี้ทำให้หนังเรื่องนี้ดูยากกว่าหนังสารคดีสงครามเรื่องอื่น ๆ เป็นอย่างมาก แต่หนังก็ยังคงประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดความทุกข์ยากของประชาชนนะ

 

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการใช้วิธีการที่ยากแบบนี้ เป็น choices ตั้งแต่แรกของผู้กำกับอยู่แล้ว หรือว่าเป็นเพราะผู้กำกับถูกทหารรัสเซียฆ่าตายก่อน เขาก็เลยไม่สามารถทำให้หนังสมบูรณ์กว่านี้ได้

 

4.สิ่งที่หนักมากในหนัง คือสถานะสีเทาของโบสถ์ในหนังเรื่องนี้ เพราะโบสถ์ในหนังตอนแรกทำท่าว่าจะดี เพราะทางโบสถ์รับดูแลให้ที่พักแก่ชาวบ้านจำนวนมากที่สูญเสียบ้านจากระเบิดของรัสเซ๊ย

 

แต่หลังจากนั้นคนของโบสถ์ (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) ก็ประกาศในโบสถ์ในทำนองที่ว่า " เห็นมั้ยว่า ถึงเกิดสงครามนี้ขึ้น God ก็ยังคง exists อยู่นะ เพราะโบสถ์ของเรายังคงดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่คนในโรงหนังโดนระเบิดตายไปแล้ว”

 

และหลังจากนั้นในช่วงท้ายของหนัง โบสถ์ก็พยายามขับไล่ประชาชนออกไปจากโบสถ์ โดยให้เหตุผลว่าเสบียงใกล้หมดแล้ว เสบียงที่มีเหลืออยู่ในตอนนี้มีเพียงพอสำหรับเจ้าหน้าที่ของโบสถ์จริง ๆ เท่านั้น ชาวบ้านทุกคนต้องอพยพออกไปจากโบสถ์ แต่ชาวบ้านก็บอกว่า ก็ตัวเองไม่มีบ้านอยู่แล้ว บ้านจำนวนมากถูกระเบิดทิ้งไปหมดแล้ว แล้วจะให้ตัวเองพาคนชราและลูกเด็กเล็กแดงอพยพออกไปอยู่ที่ไหน

 

5.หนังเรื่องนี้ทำให้ความหมายของคำว่า “ชั่วหม้อข้าวเดือด” เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะปกติแล้วเรามักจะคิดว่าคำว่า “ชั่วหม้อข้าวเดือด” เป็นอะไรที่ไม่นาน แต่ในหนังเรื่องนี้ มันกลับกลายเป็นอะไรที่ยาวนานและทรมานใจมาก ๆ เพราะชาวบ้านพยายามต้มหรือทำอาหารอะไรกินกันที่ลานนอกบ้าน พวกเขาก็ทำอาหารไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางเสียงระเบิดที่ดังอยู่ไกล ๆ แต่อยู่ดี ๆ ระเบิดก็เหมือนจะถล่มลงมาที่ใกล้สถานที่ทำอาหารมาก ๆ ผู้ชายจำนวนมากที่อยู่แถวนั้นก็วิ่งหลบเข้าอาคารกันหมด แต่ผู้หญิงก็ยังคงคนหม้อซุปท่ามกลางเสียงระเบิดกระหน่ำยิงต่อไป คือดูแล้วรู้สึกลุ้นมาก ๆ ว่า เมื่อไหร่อาหารจะเดือด เมื่อไหร่ซุปจะเสร็จ เราจะถูกระเบิดหรือถูกยิงตายไหมก่อนที่หม้อข้าวจะเดือด คือนี่คือชีวิตจริงในโซนสงครามที่มันหนักมาก ๆ

No comments: