SCALA (2022, Ananta Thitanat,
documentary, 65min, A+30)
1.ตอนดูหนังเรื่องนี้จะนึกถึงประโยคที่ว่า
“Film is death at work” ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจริง ๆ
แล้วใครเป็นคนพูดคนแรก และความหมายจริง ๆ ของมันคืออะไร แต่เราเอามาคิดเองเออเองว่า
มันหมายความว่า “ภาพยนตร์คือการบันทึกภาพมัจจุราชขณะกำลังทำงานอยู่” เพราะภาพยนตร์เป็น
“ภาพเคลื่อนไหว” เพราะฉะนั้นมันจึงบันทึก “ช่วงเวลา” ของสิ่งต่าง ๆ ขณะที่กล้องถ่ายสิ่งนั้นไปเรื่อย
ๆ (ยกเว้นภาพยนตร์ animation) และเนื่องจาก “มนุษย์ทุกคนเดินหน้าเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อย
ๆ ในทุก ๆ วินาทีที่กำลังผ่านไป” เพราะฉะนั้นการที่กล้องถ่ายหนังบันทึกภาพสิ่งมีชีวิตใด
ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะคนและสัตว์ ขณะที่ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ กำลังผ่านไป กล้องจึงได้บันทึกภาพคนและสัตว์ตัวนั้นขณะกำลังเดินหน้าเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อย
ๆ ในทุก ๆ วินาทีที่กำลังผ่านไปด้วย คนคนนั้นแก่ตัวลงเรื่อย ๆ ในทุก ๆ
วินาทีที่กำลังผ่านไปต่อหน้ากล้องถ่ายหนังนั้น และกล้องถ่ายหนังก็ได้บันทึกสิ่งนั้นเอาไว้
ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์แตกต่างจาก “ภาพถ่าย” และ paintings
ด้วย
ซึ่งพอเราดู SCALA เราก็เลยรู้สึกว่าบางทีมันก็ไม่ใช่แค่ “การเดินหน้าเข้าใกล้ความตายในแต่ละวินาที”
ของคนและสัตว์เท่านั้นที่กล้องถ่ายหนังได้บันทึกเอาไว้ เพราะในบางครั้งกล้องถ่ายหนังบางเรื่องก็อาจจะบันทึกการเดินหน้าเข้าใกล้ความตายของอาคารสถานที่บางแห่งเอาไว้ด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะในกรณีของ “รักแห่งสยาม” (2007, Chookiat Sakveerakul), THE SCALA
(2015, Aditya Assarat) และ SCALA ที่ต่างก็ช่วยกันบันทึกการเดินหน้าเข้าใกล้จุดสิ้นสุดในแต่ละวินาทีของโรงภาพยนตร์
Scala เอาไว้ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน โดย LOVE OF SIAM ได้ช่วยบันทึกภาพโรงภาพยนตร์นี้ไว้ขณะอยู่ในวัยกลางคน, THE SCALA ได้ช่วยบันทึกภาพโรงนี้ไว้ขณะอยู่ในวัยชรา และ SCALA ได้ช่วยบันทึกภาพโรงหนังนี้ไว้หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว และศพของโรงภาพยนตร์นี้กำลังเสื่อมสลายลงเรื่อย
ๆ ก่อนที่จะสูญสลายหายไปในที่สุด
เราก็เลยรู้สึกว่าหนังทั้ง 3 เรื่องนี้มันมีคุณค่ามาก
ๆ ในแง่หนึ่ง เพราะมันได้ช่วยกันบันทึกภาพของ “สิ่งที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบันนี้”
เหมือนกับหนังเรื่องต่าง ๆ ที่เคยบันทึกภาพ “ดาราภาพยนตร์ในอดีตที่ได้เสียชีวิตไปแล้วในปัจจุบันนี้”
กาลเวลาทำลายเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง
ทั้งชีวิตคน, สัตว์ และแม้แต่อาคารสถานที่บางแห่ง แต่ในบางกรณี
ภาพยนตร์ก็ได้ช่วยบันทึกภาพคน, สัตว์ หรืออาคารนั้นไว้ในช่วงที่กำลังมีชีวิตอยู่ ภาพยนตร์บางเรื่องก็เลยเหมือนเป็นเครื่องรำลึกความทรงจำ
หรือเครื่องปลอบประโลมใจบางอย่าง เพราะเราไม่สามารถปลุกคนที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้
เราไม่สามารถทำให้อาคารที่ถูกทุบไปแล้วกลับคืนมาได้ แต่อย่างน้อยภาพยนตร์บางเรื่องก็ได้ช่วยบันทึกภาพสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ก่อนที่มันจะหายไปจากโลกนี้ตลอดกาล
2.ชอบท่าทีของหนังเรื่อง SCALA ที่มีต่อ subject ของมันมาก
ๆ ในระดับนึง เพราะหนังเรื่องนี้ approach ประเด็นของหนังโดยใส่ความเป็นชีวประวัติส่วนตัวเข้าไป
และหนังก็บันทึกภาพบทสนทนากันของพนักงานโรงหนัง, การที่ผู้กำกับคุยกับพนักงานโรงหนัง,
บรรยากาศต่าง ๆ ภายในโรง, การรื้อถอนโรง, การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยภายนอกโรง,
และเล่าถึงประวัติของโรง, etc. โดยที่เหมือนไม่ได้ชี้นำอารมณ์คนดูใด
ๆ เลยน่ะ คือหนังไม่ได้โหมประโคมว่า “อู้ย คนดูต้องเศร้านะ”
และไม่ได้มีการตะโกนบอกคนดูใด ๆ เลยว่า “นี่เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ควรอนุรักษ์ไว้นะ”
อะไรทำนองนี้ คือถ้าหากหนังเรื่องนี้จะมีความอาลัยอาวรณ์ มันก็เป็นความอาลัยอาวรณ์ที่ผู้กำกับอาจจะมีต่อสถานที่และผู้คนที่มีความสำคัญต่อตัวเธอเองในอดีต
โดยที่หนังไม่ได้พยายามจะเรียกร้องให้ผู้ชมต้องฟูมฟายตามไปด้วยเลย
เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้ใช้ approach แบบนี้ มันก็เลยเข้ากับเรามาก ๆ ในระดับนึง
เพราะโดยส่วนตัวแล้วเราก็มีความทรงจำทั้งที่ดีและไม่ดีต่อโรงหนังนี้และโรงหนังในเครือ
APEX น่ะ 555555 (ซึ่งก็เหมือนโรงหนังทุกโรงนั่นแหละ
ที่มันก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เหมือนกับมนุษย์แหละมั้งที่มันก็ชั่ว ๆ ดี ๆ เทา ๆ
อยู่ในคนคนเดียวกัน) เพราะฉะนั้นการที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ยกย่องเชิดชูโรงหนัง Scala
ว่าเป็นอะไรที่ดีเลิศประเสริฐศรี แต่นำเสนอว่ามันเป็นโรงหนังที่มีความผูกพันต่อตัวผู้กำกับเป็นการส่วนตัว
หนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ได้ทำให้เรารู้สึกหมั่นไส้ 55555
3.ชอบการเก็บภาพบรรยากาศต่าง ๆ
ในโรงหนังมาก ๆ คือถ้าหากมันผลักไปให้สุดทางกว่านี้ เราก็จะนึกถึงหนังแบบ HOTEL MONTEREY (1973, Chantal Akerman) เลย
4.ชอบส่วนที่เป็นชีวิตพนักงานโรงหนังด้วย
ประทับใจมาก ๆ ทั้งเรื่องของพนักงานที่เรียนจบป.4 แต่ได้ทำงานที่นี่นานหลายสิบปี
และเรื่องของผู้หญิงที่พยายามหาลู่ทางไปทำงาน live ขายของ
5.การรื้อถอนชิ้นส่วนต่าง ๆ
ในโรงหนังก็น่าประทับใจมาก ๆ ทั้งในแง่ของ
5.1 หลาย ๆ อย่างเป็นสิ่งที่เรา “เห็น”
แต่ไม่เคย “สังเกต” มาก่อน อย่างเช่นของประดับเพดานที่เป็นคล้าย ๆ ดาวเหลือง ๆ
ดวงใหญ่ ๆ
5.2 ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตลอดเวลา
5555 คือเหมือนหนังได้บันทึกทั้งฉากผ้าม่านหล่น และอะไรต่อมิอะไรที่พร้อมจะหล่นใส่พนักงานขณะรื้อถอน
6. ส่วนที่เป็นอัตชีวประวัติของผู้กำกับเองก็รุนแรงมาก
ๆ
7.การบันทึกภาพแมวก็ดีงามมาก ๆ
8.แต่เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราที่ได้จากหนังเรื่องนี้
ไม่ใช่ “สิ่งที่อยู่ในหนัง” น่ะ แต่เป็น “การที่หนังเรื่องนี้กระตุ้นความทรงจำของเราที่มีต่อชีวิตในอดีต”
เพราะเราก็ดูหนังในโรงเครือ APEX มาตั้งแต่ปี 1987 ได้มั้ง โดยเริ่มด้วยหนังฮ่องกงเรื่อง “เศรษฐีฉบับตี๋มีไว้ปึ้ก”
และหลังจากนั้นเราก็ได้ดูหนังในเครือนี้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นการดูหนังเรื่องนี้ก็เลยกระตุ้นความทรงจำของเราที่มีต่ออดีตของตัวเองอย่างรุนแรงสุด
ๆ
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในหนังเรื่อง
SCALA แต่เป็นการบันทึกความทรงจำของตัวเองว่า
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงอดีตอะไรบ้าง 55555
8.1 หนังเรื่องแรก ๆ
ที่ได้ดูในโรงเครือ APEX รวมถึง “ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) , นางนวล (1987,
ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) และ “โอม สู้แล้วอย่าห้าม” (1987, O Sing-Pui)
8.2 ปกติเราไม่ค่อยได้นั่งล่าง
ๆ ชิดขอบจอ เพราะโรงหนังเครือนี้มันมีขนาดใหญ่มาก ถ้านั่งใกล้ ๆ จอ
เราต้องแหงนคอดู แต่จำได้ว่ามีครั้งนึงที่คนแน่นโรงมาก และเราก็เลยจำเป็นต้องเลือกที่นั่งข้างล่าง
ๆ ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเราไปดูเรื่อง BORN ON THE FOURTH OF JULY (1989,
Oliver Stone) ที่โรงสกาลามั้ง แล้วต้องแหงนคอดูแบบตั้งบ่ามาก ๆ
เป็นประสบการณ์ที่เข็ดมาก ๆ 555
8.3 หนึ่งในประสบการณ์แย่ ๆ
ที่ไม่รู้ว่าเกิดจาก “โรงหนัง” หรือเกิดจาก “ตัวฟิล์มที่นำมาฉาย” ก็คือตอนที่ไปดูหนังเรื่อง
THE PIANO (1993, Jane Campion) แล้วเรารู้สึกว่าภาพมันมัว
ๆ มันไม่สดใสเอาเสียเลย คือดูหนังที่นำมาฉายทางโทรทัศน์แล้วยังได้เห็นภาพสีสดใสเต็มอิ่มกว่าเสียอีก
แต่เราก็ไม่แน่ใจว่า มันเป็นเพราะเครื่องฉายมันเก่า แล้วหลอดไฟมันเลยไม่ค่อยสว่าง
หรือเป็นเพราะตัวฟิล์มที่นำมาฉายมันเป็นก็อปปี้ที่ไม่ดี
8.4 แต่เหมือนระยะหลัง
ๆ ก็เกิดปัญหาแบบนี้อีกนะ คือเหมือนเวลาดูหนังในโรงลิโดหรือสกาลาบางเรื่องแล้วเราจะรู้สึกว่าภาพมันมืดเกินไป
และเราก็ไม่ได้รู้สึกอยู่คนเดียว เพราะจำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งดู CAROL (2015,
Todd Haynes) ทั้งในโรงลิโดและในโรงเครือใหญ่ แล้วเพื่อนบอกว่าความสว่างของภาพมันแตกต่างจากกันอย่างเห็นได้ชัด
8.5 อีกหนึ่งความทรงจำแย่ ๆ ก็คือว่า บางทีโรงสกาลาปิดม่านก่อนฉาย
end credit จบ หรือบางทีก็ปล่อยให้คนดูรอบต่อไปเดินเข้ามาในโรงเลย
ทั้ง ๆ ที่ end credit รอบก่อนหน้านั้นยังฉายไม่จบ
8.6 แต่หนึ่งในสิ่งที่ชอบมากที่สุดในโรงเครือ
apex ก็คือว่า มันมีรอบ 10.00 น.ในวันเสาร์อาทิตย์
เราก็เลยเป็นแฟนขาประจำของรอบ 10.00 น.ในโรงเครือนี้ เพราะมันช่วยให้เราจัดตารางชีวิตฮิสทีเรียในการดูหนังได้ง่ายขึ้นมาก
ๆ
8.7 จำได้ว่าในช่วงต้นทศวรรษ 2000
มีโอเปอเรเตอร์ชายของโรงหนังเครือนี้โด่งดังขึ้นมาเพราะอัธยาศัยที่ดีในการรับโทรศัพท์ของเขาด้วย
เหมือนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเคยสัมภาษณ์เขาด้วยนะ และนิตยสาร “สารคดี”
ก็เคยสัมภาษณ์เขาด้วยเช่นกัน อ่านได้ที่นี่
https://www.sarakadee.com/2018/05/28/operator-lido/
8.8 นึกถึงตอนช่วง Bangkok International Film Festival นำหนังบางเรื่องมาฉายที่โรงหนังสยามมาก
ๆ ถ้าหากจำไม่ผิด เราได้ดูทั้ง RIGHT NOW (Benoit Jacquot), CLEAN (Olivier
Assayas), VERA DRAKE (Mike Leigh) และ FACING WINDOWS
(2003, Ferzan Ozpetek, Italy) ที่โรงหนังสยาม
9.สรุปว่าในแง่หนึ่งเราก็เศร้าใจกับการสูญสลายหายไปของโรงหนังสกาลา
เพราะมันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยอดีตของเราตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา แต่ในแง่หนึ่ง
การที่มีหนังเรื่อง SCALA อยู่บนโลกนี้ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า อย่างน้อยโรงหนังสกาลาก็ยังโชคดีกว่าโรงหนังอื่นๆ
อีกหลายโรงที่อยู่ในความทรงจำของเรา เพราะอย่างน้อยหนังเรื่องนี้ก็ได้ช่วยบันทึกภาพการเสื่อมสลายของโรงหนังสกาลาเอาไว้
ในขณะที่โรงหนังสามย่าน, รามา, แมคเคนนา, ฮอลลีวู้ด, เอเธนส์ ที่ต่างก็เคยมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา
ต่างก็ล้วนสูญสลายหายไป โดยแทบไม่มีหนังเรื่องไหนได้บันทึกไว้ และเราก็ไม่เคยถ่ายภาพโรงหนังเหล่านี้เก็บไว้ด้วย
เพราะในยุคนั้น “กล้องถ่ายรูป” ถือเป็นสิ่งที่แพงเกินไปสำหรับคนจน ๆ อย่างเรา
เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง SCALA ก็เลยทำให้เราทั้งรู้สึกเศร้าใจ
(กับการจากไปของโรงหนัง) และดีใจ (ที่มีคนบันทึกภาพมันเอาไว้)
และหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เราหวนคิดถึงโรงหนัง STAND ALONE
อีกหลายโรงในความทรงจำของเราด้วย
No comments:
Post a Comment