Sunday, December 25, 2022

SAINT OMER (2022, Alice Diop, France, A+30)

 

SAINT OMER (2022, Alice Diop, France, A+30)

 

1.ชอบมากที่หนังเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการพูดถึง Marguetite Duras เพราะเราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะมีความ Duras มากกว่าหนังอย่าง MEMOIR OF WAR (2017, Emmanuel Finkiel, A+30) ที่เล่าถึงชีวิตของ Duras เองเสียอีก 555

 

คือความ "Durasian" ที่เราคิดเองเออเอง คือการที่หนังบางเรื่องใช้เสียงพูดของตัวละครหรือ text ในการเล่าเรื่อง แล้วกระตุ้นให้ผู้ชมนึกภาพตามเสียงที่เล่าน่ะ ในขณะที่ภาพของหนังอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เล่าอยู่ก็ได้ เหมือนหนังของ Duras ที่ใช้วิธีการแบบนี้รวมถึง INDIA SONG (1975), HER VENETIAN NAME IN DESERTED CALCUTTA (1976), THE TRUCK (1977), THE NEGATIVE HANDS (1978) และ AGATHA AND THE LIMITLESS READINGS (1981) ซึ่งเราชอบวิธีการแบบนี้มาก ๆ เราก็เลยแอบเรียกมันว่า ความ Duras หรือ Durasian 555

 

ซึ่งพอ SAINT OMER เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องผ่านทางการให้ปากคำของตัวละครแต่ละตัวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต โดยไม่มีการ flashback ใด ๆ ให้ผู้ชมเห็นภาพ แต่ให้ผู้ชมจินตนาการภาพในหัวขึ้นมาเองแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีความ Duras (ตามนิยามของเรา) อยู่เหมือนกัน

 

แต่หนังเรื่องนี้ก็อาจจะไม่ได้มีความ Duras มากเท่ากับหนังอย่าง THE SOUND OF DEVOURING DUST (2022, Jessada Chan-yaem) อะไรทำนองนั้นนะ เพราะในหนังของ Duras เรามักจะไม่ได้เห็น "เจ้าของเสียงเล่า" อยู่ในฉาก หรือในบางครั้งเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "เจ้าของเสียงเล่า" เป็นใคร ซึ่งหนังอย่าง THE SOUND OF DEVOURING DUST (นครฝุ่น) ที่ใช้วิธีการแบบนี้ก็เลยจะเข้าข่ายนี้มากกว่าหนังอย่าง SAINT OMER ที่เราเห็นเจ้าของเสียงเล่าขณะเล่าเรื่องโดยตรง

 

2.รู้สึกว่าหนังทำให้ตัวละคร Laurence Coly (Guslagie Malanda) ดู charismatic อย่างรุนแรงที่สุดสำหรับเรา คือผู้ชมหลาย ๆ คนคงไม่ได้รู้สึกเหมือนเรา แต่เรารู้สึกเหมือนได้เห็น "ท่านเจ้าลัทธิ" หรืออะไรทำนองนี้ 555 อาจจะคล้าย ๆ กับที่เรารู้สึกกับตัวละคร Manu ใน BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) และ Geesche Gottfried ใน BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder) ซึ่งล้วนเป็นผู้หญิงที่เจอเรื่องเลวร้ายบางอย่างในชีวิต และมันมีส่วนเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นฆาตกรใจโหด คือเหมือนตัวละครหญิงแบบนี้เป็นตัวละครหญิงที่เราชอบมาก ๆ น่ะ และเราอยากให้มีคนสร้างหนังที่มีตัวละครหญิงแบบนี้แต่มีสถานะเป็น “เจ้าลัทธิ” ขึ้นมา

 

ซึ่งการที่หนังทำให้ตัวละคร Laurence มีความนิ่งสงบบางอย่าง ยิ่งทำให้เธอดูเหมือนท่านเจ้าลัทธิที่น่าเลื่อมใสศรัทธาสำหรับเรามากยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้วตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ เรานึกถึง THE PASSION OF JOAN OF ARC (1928, Carl Theodor Dreyer) ด้วยนะ เพราะมันเป็นหนังเกี่ยวกับการไต่สวนผู้หญิงในศาลเหมือนกัน และผู้หญิงทั้งสองดูมีพลังแบบเจ้าลัทธิสำหรับเราเหมือนกัน

 

แล้วพอเรารู้สึกว่า Laurence Coly ดูมีพลังดึงดูดแบบท่านเจ้าลัทธิสำหรับเรา เราก็เลยรู้สึกเหมือนนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ตอนดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งอาการนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้นี้มันไม่ได้เกิดจากการลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหนัง แต่มันอาจจะคล้าย ๆ กับอาการของมิตรรักแฟนเพลงเวลาได้เห็นศิลปินที่ตัวเองคลั่งไคล้มาออกรายการทีวีมั้ง 555

 

สรุปว่า "the presence of Laurence Coly" ในหนังเรื่องนี้ มันสามารถสะกดเราได้อย่างรุนแรงจริง ๆ

 

3. หลังจาก Cecile Jobard ให้การในศาลในเชิงที่ว่า Laurence ซึ่งเป็นชาวแอฟริกันกล้าดียังไงที่คิดจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ Wittgenstein ช่างไม่เจียมกะลาหัวของตัวเองเสียบ้างเลย ใบหน้าของ Laurence ตอนมอง Jobard และใบหน้าของ Rama (Kayije Kagame) ตอนมอง Jobard นี่ถือเป็น the faces of the year ของเราประจำปีนี้เลย

 

4.เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงในฉากที่ Laurence มองมาเห็น Rama ในศาล แล้ว Laurence ก็ยิ้มให้

 

ฉากนั้นทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า รอยยิ้มของ Laurence คือการสื่อสารกับ Rama ว่า "เธอเข้าใจฉันใช่มั้ย เธอเข้าใจความทุกข์ของหญิงแอฟริกันในสังคมนี้ใช่มั้ย เธอก็เคยเจออะไรคล้าย ๆ กับฉันบ้างหรือเปล่า"

 

ซึ่งเรามักจะรู้สึกรุนแรงสุดขีดกับหนังที่นำเสนอตัวละครที่มีความเจ็บปวดรุนแรงอยู่ภายในใจ แล้วมีใครสักคนมาเข้าใจเขา โดยที่คนคนนั้นอาจจะไม่ใช่ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทมิตรสหายของคนคนนั้นน่ะ อาจจะเป็นคนแปลกหน้าเสียด้วยซ้ำ ที่เปิดใจยอมรับความทุกข์ในใจของคนอื่น

 

SAINT OMER ก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดขีดเรื่อง THE SECOND AWAKENING OF CHRISTA KLAGES (1978, Margarethe von Trotta, West Germany) ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ Ingrid พนักงานธนาคารสาว ธนาคารของเธอโดนปล้น และหนึ่งในผู้ปล้นธนาคารก็คือ หญิงสาวชื่อ Christa ที่หลบหนีการตามล่าของตำรวจไปได้ Ingrid ก็เลยออกตามล่า Christa ด้วยตัวเธอเอง ตามล่าตั้งแต่เยอรมนีตะวันตก ไปจนถึงโปรตุเกส (ถ้าจำไม่ผิด) แต่ในระหว่างที่ Ingrid ออกตามล่า Christa นี้ เธอก็ค่อย ๆ ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Christa ไปด้วย และเริ่มเข้าใจเหตุผลในการกระทำของ Christa และกลายมาเป็นความเห็นอกเห็นใจในที่สุด

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง Laurence กับ Rama ใน SAINT OMER ก็เลยทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Ingrid กับ Christa ใน THE SECOND AWAKENING OF CHRISTA KLAGES มาก ๆ เพราะ Ingrid กับ Christa ก็ไม่เคยพูดคุยกันเลย ทั้งสองไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เป็นเพื่อนกัน แต่กลับกลายเป็นว่าหญิงสาวที่ไม่เคยพูดคุยกันนี้ กลายเป็นคนที่เข้าใจความทุกข์ยากเจ็บปวดในจิตใจของอีกฝายหนึ่งได้อย่างรุนแรงกว่าคนใกล้ตัวเธอเสียอีก

 

5.รู้สึกว่า SAINT OMER มันมีปฏิสัมพันธ์กับหนังเรื่อง RULE 34 (2022, Júlia Murat, Brazil) ที่ฉายในเทศกาล World Film เหมือนกันโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย 555

 

คือเราว่า SAINT OMER ในแง่นึงมันทำให้นึกถึง LES MISERABLES ที่พูดถึง Jean Valjean ที่ติดคุกนานหลายปีเพราะขโมยขนมปังน่ะ คือเหมือนทั้ง LES MISERABLES และ SAINT OMER ต่างก็ทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ เห็นใจในการกระทำผิดของมนุษย์บางคน ไม่ด่วนตัดสินใครง่าย ๆ และทำให้เรารู้สึกถึงความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งกันระหว่าง “กฎหมาย” กับ “มนุษยธรรม” ในบางกรณี โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เราควรจะเห็นอกเห็นใจหรือลดหย่อนผ่อนโทษให้ผู้ต้องหาในแต่ละกรณีมากน้อยเพียงใด เมื่อเราได้ฟังประวัติของเขา

 

แต่พอเราดู RULE 34 เราก็เลยรู้สึกว่าหนังมันเหมือนสร้างบทสนทนากับ SAINT OMER โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะถ้าหาก SAINT OMER แสดงให้เห็นว่าความเลวร้ายของอาณานิคม, ระบบปิตาธิปไตย, การเหยียดเชื้อชาติ, ความเชื่อเรื่องไสยาศาสตร์, สิ่งต่าง ๆ ที่ Laurence เคยเจอมาในอดีต etc. มีส่วนในคดีนี้ด้วย RULE 34 ก็เหมือนตั้งคำถามโดยไม่ได้ตั้งใจต่อไปว่า ถ้าหากเรามองว่า “อาชญากรหญิง” บางคนมีความน่าเห็นใจ เพราะเธอเคยตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตยมาก่อน แล้วเราควรจะเห็นอกเห็นใจ “อาชญากรชาย” บางคนในบางคดีด้วยหรือไม่หรือเห็นอกเห็นใจเขามากน้อยในระดับไหน เพราะอาชญากรชายบางคนที่ทุบตีเมียและลูก ๆ อย่างทารุณนั้น ในวัยเด็กเขาก็เคยถูกพ่อของตัวเองทุบตีอย่างทารุณเหมือนกัน อาชญากรชายคนนั้นเป็นผู้กระทำในปัจจุบัน แต่ตัวเขาเองก็เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของระบบปิตาธิปไตยด้วยเช่นกันในอดีต แล้วถ้าหากเราเห็นอกเห็นใจ Laurence Coly แล้วเราควรจะเห็นอกเห็นใจอาชญากรชายมากน้อยแค่ไหน ความเป็นเพศหญิงของ Laurence Coly ควรจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเห็นอกเห็นใจมากน้อยเพียงใด

 

หรือถ้าหากเราเห็นอกเห็นใจ Laurence Coly แล้วเราควรจะเห็นอกเห็นใจอาชญากรชายใจโหดเหี้ยมอย่างในหนังเรื่อง DEAD MAN WALKING (1995, Tim Robbins) มากน้อยแค่ไหน หรือจริง ๆ แล้วเราไม่ต้องคิดมากก็ได้ เพราะไม่ว่าเราจะเห็นอกเห็นใจใครมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาหรือคณะลูกขุนในคดีต่าง ๆ อยู่ดี ความเห็นอกเห็นใจของเราไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคำตัดสินโทษของอาชญากรต่าง ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าหากเราเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์รอบตัวเรามากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีในตัวมันเองอยู่แล้วก็ได้

 

6.ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงหนังเรื่อง SUCH IS LIFE (2000, Arturo Ripstein, Mexico) ด้วย เพราะ SUCH IS LIFE เป็นการนำเอาตำนานของ Medea มาดัดแปลงเป็นเรื่องราวในยุคปัจจุบัน แล้วทำออกมาได้อย่างดีงามสุด ๆ เหมือนกัน

 

ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงมินิซีรีส์เรื่อง SMALL SACRIFICES (1989, David Greene) ที่นำแสดงโดย Farrah Fawcett ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวมินิซีรีส์น่ะธรรมดา แต่ตัวคดีที่มันเล่าน่าสนใจมาก ๆ เพราะมินิซีรีส์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ Diane Downs ผู้หญิงที่ฆ่าลูกของเธอเองตาย 3 คนขณะที่เธอฟังเพลงของวง Duran Duran เธอถูกตำรวจจับเข้าคุก แต่เธอก็ปีนรั้วคุกที่สูง 18 ฟุตหนีออกมาได้ ก่อนที่จะถูกจับเข้าคุกอีกครั้งหนึ่ง

 

7. อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชอบ SAINT OMER อย่างสุด ๆ เพราะมันทำให้เราจินตนาการต่อไปว่า นี่แหละคือวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ถ้าหากจะดัดแปลงละครโทรทัศน์เรื่อง “มนุษย์” (1993, สุนันทา นาคสมภพ) ออกมาเป็นภาพยนตร์

 

คือ “มนุษย์” เป็นละครทีวีที่ออกอากาศทางช่อง 9 ช่วงบ่ายวันเสาร์-อาทิตย์น่ะ แต่ออกอากาศไม่จบนะ เพราะเหมือนฉายไปถึงแค่กลางเรื่องแล้วอยู่ดี ๆ ละครเรื่องนี้ก็หายสาบสูญไปเลย

 

“มนุษย์” เล่าเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่ง (มณฑาทิพย์ แก้วประเสริฐ) ที่เป็นเมียน้อยของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เหมือนสามีทำไม่ดีกับเธอ เธอก็เลยใช้ปืนกราดยิงสามี, เมียหลวง และลูก ๆ ของเมียหลวงที่เป็นเด็กเล็ก ๆ ตายไป รวมทั้งหมด 4 ศพได้มั้ง

 

แล้วละครโทรทัศน์ของสุนันทา นาคสมภพเรื่องนี้ ไม่ได้เน้นไปยังประเด็นที่ว่า ใครเป็นฆาตกร เพราะทุกคนในเรื่องรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นฆาตกร แต่ตัวทนายความ (ชไมพร จตุรภุช) ของอาชญากรหญิงคนนี้ พยายามสืบประวัติของตัวอาชญากรหญิงคนนี้ว่าเธอเคยเจออะไรมาบ้างในชีวิต ก่อนที่เธอจะกลายเป็นฆาตกรกราดยิงฆ่าเด็ก ๆ และฆ่าคนตายไปหลายศพน่ะ คือเหมือนยังไงศาลก็ต้องตัดสินว่าตัวละครของมณฑาทิพย์ผิดอยู่แล้วล่ะ แต่ชไมพรก็พยายามจะทำความเข้าใจประวัติชีวิตของอาชญากรหญิงคนนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ดี และชไมพรก็เลยต้องมีเรื่องปะทะกันอย่างรุนแรงกับพยานคนสำคัญในคดีนี้ ซึ่งรับบทโดยดวงเดือน จิไธสงค์

 

ตอนที่เราดู SAINT OMER เราก็เลยร้องวี้ดในใจอย่างรุนแรงมาก ว่าอยากให้มีคนเอาละครทีวีเรื่อง “มนุษย์” มาดัดแปลงใหม่แล้วทำให้ได้แบบ SAINT OMER มาก ๆ เพราะพล็อตเรื่องและอะไรต่าง ๆ ของ SAINT OMER กับ “มนุษย์” มันสอดคล้องกันมาก ๆ เลย และเราว่า “มนุษย์” นี่มันยิ่ง controversial กว่า SAINT OMER มาก ๆ นะ เพราะตัวละครอาชญากรหญิงใน “มนุษย์” นี่มันเป็นคนที่กราดยิงคนตายไปหลายศพ รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากมีการดัดแปลง “มนุษย์” ออกมาเป็นแบบ SAINT OMER แล้วหนังเรื่องนี้จะสามารถทำให้คนดูรู้สึกอะไรยังไงกับตัวละครอาชญากรหญิงได้มากน้อยแค่ไหน

 

พอดีเราหารูปจากละครเรื่อง “มนุษย์” ไม่ได้เลย ก็เลยเอารูปของ “สุนันทา นาคสมภพ” จาก “คุณหญิงบ่าวตั้ง” มาใช้ประกอบแทน

No comments: