Saturday, December 31, 2022

THE IMAGE BOOK

 THE IMAGE BOOK (2018, Jean-Luc Godard, Switzerland/France, 88min, A+30)


1.ชอบที่ภาพในหนังเรื่องนี้มันเหมือนมีความเปิดกว้างในระดับนึงสำหรับเรา คือพอดูหนังเรื่องนี้แล้วก็จะนึกถึงพวกหนังทดลองและ video installations หลายชิ้นในยุคปัจจุบันที่ใช้วิธีเรียงร้อยซีนต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน แล้ว "ครอบ" ความหมายของซีนต่าง ๆ ในหนัง/วิดีโอนั้นไว้ด้วยประเด็นทางสังคม/การเมืองหลัก ๆ ของหนังเรื่องนั้น

คือเหมือนวิดีโอหลายชิ้นที่ออกมาในทำนองนี้ ถ้าหากเราไม่เข้าใจประเด็นหลักของมัน เราจะรู้สึกว่า เราไม่ค่อยได้รับความเพลิดเพลินอะไรมากนักจากการดูซีนต่าง ๆ ในวิดีโอนั้นน่ะ เหมือนซีนต่าง ๆ ในวิดีโอนั้นขาดพลังชีวิตบางอย่างในตัวมันเอง เหมือนมันเป็นเซลล์ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานด้วยตัวเอง ถ้ามันหลุดออกมาจากสิ่งมีชีวิตที่ cell นั้นเป็นส่วนประกอบอยู่

แล้วมันก็มีหนังในขั้วตรงข้าม ที่เหมือนแต่ละซีนในหนังมีพลังชีวิตสดใหม่ในตัวของมันเองอย่างเต็มที่ เหมือน message หรือประเด็นหลักของหนังไม่ได้ไป "ครอบ" มัน หรือไปดูดซับพลังของมันออกไปจนหมด แบบหนังของ Peter Tscherkassky, TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND (1976, Bruce Conner), PHENOMENON (Teeranit Siangsanoh), VIDEO 50 (1978, Robert Wilson), TOUT UNE NUIT (1982, Chantal Akerman, Belgium), THE CANYON (2021, Zachary Epcar), etc. คือเหมือนแต่ละซีนในหนังกลุ่มนี้เป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ถ้ามันรวมพลังกัน ถ้าหากแต่ละซีนมันถูกนำมาเรียงร้อยตัดต่อเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม มันจะก่อให้เกิดพลังในแบบที่สามารถทำให้คนป่วยตายได้ 555

คือเหมือนหนังกลุ่มแรกนี่ส่วนใหญ่เราต้องดูแบบ วิปัสสนากรรมมฐาน ใช้สมองส่วน  intellect คิดวิเคราะห์ในการดู แต่หนังกลุ่มที่สองนี่เราเหมือนดูแบบปล่อยตัวปล่อยใจอย่างเต็มที่  ปล่อยให้อารมณ์มันเพริดไปตามหนัง และให้หนังมันเข้าถึงจิตใต้สำนึกของเรา

แล้วพอเราดู THE IMAGE BOOK เราก็รู้สึกว่า มันเป็นหนังที่อยู่ระหว่าง 2 กลุ่มนี้น่ะ คือเหมือนในหนังของ Godard มันก็มักจะมีประเด็นปรัชญา, การเมือง อะไรต่าง ๆ อยู่แล้วล่ะ ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เราเข้าใจนิดหน่อย (อย่างเช่นประเด็นเรื่องตะวันออกกลาง) และส่วนที่เราไม่เข้าใจ

แต่สิ่งที่เราชอบมาก ๆ ก็คือว่า ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจ เราก็รู้สึกว่า ซีนต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้มันค่อนข้างจะมีพลังในตัวของมันเอง ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจว่าตัวซีนนั้นนั้นมีความหมายอย่างไรในหนังเรื่องนี้น่ะ คือเหมือนประเด็นของหนัง หรือความหมายของซีนนั้นในแบบที่  Godard ตั้งใจ ไม่ได้ไปดูดพลังชีวิตของซีนนั้นจนหมด หรือไม่ได้ไปครอบมันจนขาดอากาศหายใจน่ะ

2.เห็นด้วยกับเพื่อนบางคนมาก ๆ ที่ดูแล้วรู้สึกราวกับว่า แต่ละซีนในหนังเรื่องนี้ คือ "หนึ่งตัวอักษร" ในภาษาใหม่ที่ Godard ประดิษฐ์ขึ้นน่ะ ซึ่งเป็นภาษาที่เราไม่เข้าใจ แต่การสร้างภาษาใหม่ โดยใช้หนึ่งซีนหนัง แทนหนึ่งตัวอักษร เป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก ๆ

ดูแล้วก็จะนึกถึงหนังที่เล่นกับการสร้างภาษาหรือความหมายใหม่เหมือนกัน อย่างเช่น ASSOCIATIONS (1975, John Smith, UK) และ SCHIZOPOLIS (1996, Steven Soderbergh) แต่ถึงแม้หนังทั้งสองเรื่องนี้จะเล่นกับการสร้างภาษาใหม่ แต่พอดูไปเรื่อย ๆ เราก็จะเข้าใจภาษาใหม่ในหนังอยู่ดี ซึ่งตรงข้ามกับ THE IMAGE BOOK ที่อาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์แบบนั้น

3. ดูแล้วรู้สึกเหมือนท่องเข้าไปในความฝันในหัวของคนอื่นด้วย ความฝันที่เต็มไปด้วยฉากที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลของเจ้าของความฝันที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและประเด็นอื่น ๆ 555

4.ชอบ "ความเลอะของสี" ในหนังเรื่องนี้มาก ๆ

‐----
ชอบ THE LOST KING มาก ๆ เราว่าเหมาะฉายควบกับหนังไทยเรื่อง GUEST (2022, Panisara Kaewprimpra, Pajaree Saenbua, Paphavee Tingpalpong) เพราะ GUEST มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่พยายามตามหา "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดระยอง" โดยเธอได้รับความช่วยเหลือจากผี คล้าย ๆ กับ THE LOST KING
------
เห็นชื่อผู้กำกับภาพยนตร์บนโปสเตอร์นี้แล้วกรีดร้องสุดเสียง เพราะมีแต่ผู้กำกับที่เราชอบมาก ๆ ทั้งนั้นเลย ทั้ง Jutta Bruckner (THE HUNGER YEARS: IN A LAND OF PLENTY), Michael Verhoeven (THE NASTY GIRL), Istvan Szabo (FATHER), Helke Sander (THE ALL-ROUND REDUCED PERSONALITY – REDUPERS), Edgar Reitz (ZERO HOUR), Rosa von Praunheim (A VIRUS KNOWS NO MORALS) และ Doris Dörrie (STRAIGHT THROUGH THE HEART)
---
เช้าวันศุกร์ลูกหมีบอกกับแม่หมีว่า "โอก้าซังจะไปเที่ยวงาน NIGHT@MAYA CITY หลังดูหนัง Godard เหรอ โอก้าซังซื้อของมาฝากลูกหมีด้วยนะ"  เราก็เลยซื้อของมาฝากลูกหมีเป็นกล่องเหล็กสำหรับให้ลูกหมีใส่รูปผัว 7 คน แต่จริง ๆ แล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่า คนทึ่ 1 กับ 6 คือใคร มีใครตอบได้บ้าง ส่วนคนที่ 2 น่าจะเป็นไบรท์ วชิรวิชญ์,คนที่ 3 ไม่แน่ใจว่าเป็น Mashiho จากวง Treasure หรือเปล่า, คนที่ 4 คือ Kim Doyoung จาก NCT, คนที่ 5 คือ Na Jaemin จาก NCT ส่วนคนที่ 7 คือ Xiao Zhan ถ้าเข้าใจไม่ผิด (จริง ๆ คือเราเดินในงานแล้วเห็นร้านนึงมีรูปผู้ชายขาย เราก็เลยซื้อมาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร 555)

SANDOW (1896, Wiiliam K.L. Dickson, 1min, A+30)

เพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้ทางกล้อง Kinetoscope ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา กรีดร้องสุดเสียง หนังที่มีอายุ 126 ปีเรื่องนี้บันทึกภาพชายหนุ่มรูปร่างล่ำบึ้กใส่กางเกงในตัวเดียวยืนอวดมัดกล้ามของตัวเองไปเรื่อย ๆ ตายแล้วววววววววววววววว สื่อภาพยนตร์มันมีอะไรแบบนี้มานาน 126 ปีแล้วหรือเนี่ยย งดงามที่สุด ถือเป็นหนึ่งในหนังยุคแรก ๆ ที่มีความสำคัญต่อดิฉันมากเท่า ๆ กับ WORKERS LEAVING THE LUMIERE FACTORY (1895, Louis Lumiere), THE ARRIVAL OF A TRAIN (1896, Louis Lumiere, Auguste Lumiere), A TRIP TO THE MOON (1902, Georges Melies), หนังของ Eadweard Muybridge, หนังของ Gabriel Veyre และหนังของสองพี่น้อง Skladanowsky เลยค่ะ 55555 เพราะหนังเรื่องนี้มันเลือกที่จะบันทึกในสิ่งที่ดิฉันเองก็คงเลือกที่จะบันทึกเป็นอย่างแรก ถ้าหากดิฉันมีชีวิตอยู่เมื่อ 126 ปีก่อน

DESK CALENDAR (2022, Weera Rukbankerd, 17min, A+30)

ดีใจที่ตัวละครเก่า ๆ ยังคงโผล่หน้ามากันหลายตัว ทั้ง "โต๊ะปิงปอง" ที่มาแบบ offscreen, กระจกสองบาน, ไข่ไก่, กระทะ, etc. แต่ตัวละครสำคัญในภาคนี้ก็คือปฏิทินตั้งโต๊ะและผนังตู้

ดูแล้วนึกว่าหนักกว่า CALENDAR (1993, Atom Egoyan, Canada/Armenia) 555

---
ดีใจที่ได้ดูหนังไทยที่พูดถึง Godard ก่อนดูหนังของ Godard 5555

ภาพจาก "ภาพยนตร์ศิลปะ": "เนื้อหา" และ "รูปแบบ" (การนำเสนอ) ("ART FILM": "CONTENT" AND "FORM") (2022, Bunnawit Boonsomparn, 54min, documentary, A+30)
---

ชอบ Fedya van Huet มาก ๆ สมัยที่เขาเล่น CHARACTER (1997, Mike van Diem), AMNESIA (2001, Martin Koolhoven) และ THE CAVE (2001, Martin Koolhoven) ดีใจที่เขายังมีบทดีๆ ให้เล่นอยู่จนถึงปัจจุบัน
----
FAIRYTALE (2022, Alexander Sokurov, Russia, A+30)

1.เหมือนเป็นหนังที่พอเรา "จูนติด" กับมันแล้ว เราก็เปี่ยมสุขกับมันอย่างสุด ๆ ไปเลย 55555

2.ช่วงแรก ๆ เราก็จูนไม่ติดกับหนังเรื่องนี้นะ เหมือนเราพยายามดูหนังเรื่องนี้ด้วยการวิเคราะห์คำพูดของตัวละครต่าง ๆ ในหนังน่ะ แล้วเราก็รู้สึกเหมือนเจอกับทางตัน มันไม่นำพาไปสู่อะไร 555

เราก็เลยเปลี่ยนคลื่นในการดูด้วยการหรี่สมองส่วนวิเคราะห์ต่าง ๆ ลงเกือบหมด (หรือดับความเป็น intellectualใด ๆ ในหัวเราลงเกือบหมด) แล้วดูหนังเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกเหมือนไปแหวกว่าย, เกลือกกลั้ว หรือดื่มด่ำกับโลกของหนังแทน แล้วเราก็พบว่าหนังมันสร้างโลกที่เหมาะกับดวงจิตของเรามาก ๆ ซึ่งก็อาจจะไม่เหมาะกับดวงจิตของผู้ชมท่านอื่น ๆ มันเหมือนเป็นสภาพจิตแบบ "นรก" บางอย่างน่ะ แต่แทนที่มันจะรังสรรค์ภาพนรกตามหลักศาสนาแบบ "พระมาลัยคำหลวง" หรือ THE DIVINE COMEDY (1321, Dante Alighieri) มันกลับรังสรรค์ภาพของมิติทางจิตบางอย่างที่เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา

คือเหมือนกับว่าตอนแรกเราดูหนังเรื่องนี้โดยใช้สมองส่วนเดียวกับที่ดูหนังของ Jean-Luc Godard น่ะ แล้วก็พบว่ามันไม่ทำให้เรามีความสุขกับการดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยเปลี่ยนไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยการจูนคลื่นในหัวของเราให้คล้าย ๆ กับตอนที่ดู JOURNEY TO THE WEST (2014, Tsai Ming-liang, France/Taiwan) แทน แล้วก็พบว่าเราดื่มด่ำกับหนังอย่างรุนแรงมาก เพียงแต่ว่า JOURNEY TO THE WEST มันจะเป็นดวงจิตแบบสวรรค์ ส่วน  FAIRYTALE มันจะเป็นดวงจิตแบบนรก

หรือจะพูดสั้น ๆ ก็ได้ว่า ตอนแรกเราดู FAIRYTALE ด้วยสมองแบบ "วิปัสสนากรรมฐาน"  แล้วมันไม่เข้ากับหนัง เราก็เลยเปลี่ยนไปดูด้วยดวงจิตแบบ "สมถะกรรมฐาน" แทน แล้วก็พบว่ามันเข้ากับหนังอย่างรุนแรงสุดขีดมาก ๆ 555

เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่มีปัญหากับความยาวของหนังเรื่องนี้

3.หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจนะ แต่เราดูแล้วชอบที่มันเหมือนกับสร้างมิติพิศวงที่ unique ดีสำหรับเราน่ะ ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจที่มาที่ไปของมิติพิศวงนี้นะ แต่ดูแล้วเรารู้สึกราวกับว่า ตัวละครในหนังไม่เชิงเป็น "ดวงวิญญาณ" ของ Hitler, Mussolini, Stalin และ Churchill ซะทีเดียว แต่มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งที่บุคคลเหล่านี้เคยคิดและเคยพูด ได้กลายเป็นคลื่นที่ไม่สูญสลายหายไป ยังคงลอยวนเวียนในโลกนี้อยู่ หรือถ้าหากมองในอีกมิตินึงที่ซ้อนทับกับโลกนี้ ความคิดและคำพูดของพวกเขาก็เหมือนก่อตัวขึ้นเป็นรูปกายของพวกเขา และปะทะสังสันทน์กันไปมา เพราะฉะนั้นในหนังเรื่องนี้มันก็เลยมี Hitler หลายตัว มี Churchill หลายตัว

ซึ่งไอเดียจริง ๆ ของหนังเรื่องนี้มันคงไม่ได้เป็นแบบนี้หรอกนะ เพียงแต่ว่าเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็จินตนาการต่อไปเองว่า อยากให้มีคนสร้างหนังที่นำเสนอมิติแบบที่ว่าน่ะ มิติที่ "ความคิด" และ "คำพูด" ของคน เมื่อผุดเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ได้สูญสลายหายไป แต่ยังคงตกค้างอยู่ในบางมิติในฐานะของคลื่นความคิด, คลื่นเสียง หรือรูปกายบางอย่าง

4.อีกปัจจัยที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ เป็นการส่วนตัว เป็นเพราะหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกไปเองว่า "ดวงจิตแบบนรก" อย่างหนึ่ง คือ "ความอยากมีอำนาจควบคุมฝูงชน" น่ะ โดยเฉพาะ Hitler และ Stalin ที่ดูเหมือนจะมีความสุขเหลือเกินเมื่อเห็นคลื่นมวลมหาประชาชนมาแซ่ซ้องสรรเสริญเทิดทูนบูชาพวกเขา

ซึ่งมันตรงข้ามกับเราที่เป็นโรคเกลียดมนุษย์ เราก็เลยชอบใจที่หนังนำเสนอ "คนที่อยากเป็นที่รักของมวลมหาประชาชน" ในทางลบแบบนี้ 555

ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราว่าสามารถดัดแปลงหนังเรื่องนี้ใหม่ โดยเปลี่ยนตัวละครให้เป็น Donald Trump, Vladimir Putin และ Xi Jinping ได้สบายเลย

5.อีกปัจจัยนึงที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ก็คือการที่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละ "เทพนิยาย"  ในโลกแห่งความเป็นจริง "เทพนิยาย" ที่โหดร้ายกว่าเทพนิยายกริมม์, นิทานสำหรับเด็ก หรือ HARRY POTTER เพราะเทพนิยายในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ดูเหมือนจะแทบไม่มี "เทพ" แต่มันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยพ่อมดที่ชั่วร้าย พ่อมดที่สามารถสะกดคนจำนวนมาก สามารถหลอกคนหลายสิบล้านคนให้หลงเชื่อเขา หลงเชื่อว่าเขาเป็นคนดี เป็นคนที่ทำเพื่อประเทศชาติ ไอ้พวกนั้นเป็นศัตรูที่สมควรจะถูกลิดรอนสิทธิ หรืออยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเรา เชื้อชาติเราดีเลิศประเสริฐที่สุด, etc.

ความคิด คำพูด และการกระทำของพ่อมดเหล่านี้ สามารถสะกดคนหลายสิบล้านคนให้หลงเชื่อได้อย่างไร สามารถนำไปสู่ HOLOCAUST และการที่คนอดตายจำนวนมากในยุคสตาลินได้อย่างไร, etc. ทำไมคนหลายสิบล้านคนถึงได้มีทั้งดวงตาและดวงจิตที่มืดบอดได้ถึงขนาดนั้น เรื่องเหล่านี้คงไม่ได้เกิดจากไสยาศาสตร์ แต่มันก็เหมือนกับว่า มนุษย์ในโลกนี้พร้อมจะปล่อยให้ตัวเองถูกครอบงำด้วยอะไรที่แทบจะไร้เหตุผลไม่ต่างจากไสยาศาสตร์

และการใช้อำนาจครอบงำ สะกดฝูงชนจำนวนมากให้หลงเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา ราวกับว่าผู้นำประเทศคนนั้นเป็นพ่อมดผู้วิเศษ ผู้มีอำนาจทำให้ดวงตาประชาชนมืดบอดแบบนี้ ก็คงจะไม่ได้มีแค่ในช่วง WORLD WAR 2 หรือแค่ในยุโรปเท่านั้น เพราะเราก็คิดว่าแม้แต่ผู้นำเขมรแดง หรือ Trump ก็อาจจะเป็นแบบนี้ด้วยเช่นกัน

----

เราชอบ ALI: FEAR EATS THE SOUL มาก ๆ ๆ นะ แต่ขอบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้ว่า ในช่วงราว ๆ ปี 1997 ได้มั้ง ทางสถาบันเกอเธ่ ซอยสาทร 1 เคยประกาศว่าจะจัดฉายหนังเรื่อง ALI: FEAR EATS THE SOUL แต่เหมือนทางเมืองนอกส่งหนังมาผิด (หนังสมัยนั้นฉายด้วยฟิล์ม 16 มม.) กลายเป็นว่าทางเมืองนอกส่งหนังเรื่อง CALM PREVAILS OVER THE COUNTRY (1976, Peter Lilienthal) มาแทน เราก็เลยได้ดูหนังเรื่องนั้นแทน ก็เลยกลายเป็นโชคดีอย่างหาที่สุดมิได้ของเราไป เพราะเราชอบ CALM PREVAILS OVER THE COUNTRY อย่างรุนแรงมาก ๆ (หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐบาลทหารเผด็จการในอเมริกาใต้ที่กระทำเลวร้ายกับประชาชนอย่างรุนแรงมาก ๆ ดูแล้วนึกถึงประเทศไทยมาก ๆ) และดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะหาดูยากกว่าหนังของ Fassbinder มาก ๆ

เมื่อไหร่จะมีคนจัดงาน retrospective ของ Peter Lilienthal อีกครั้งนะ เราเข้าใจว่าทางสถาบันเกอเธ่ในกรุงเทพเคยจัดงาน retrospective ของ Peter Lilienthal ไปแล้วเมื่อราว ๆ เกือบ 30 ปีก่อน แต่เราไม่ได้ไปดูในตอนนั้น ฮือ ๆ  ๆ ๆ

1932 (2022, Jakkaphat Rungsang, 3min, A+15)

1.เข้าใจว่าเป็นหนังที่ทำภายใต้โจทย์ 3 นาที หนังมันก็เลยไม่สามารถใส่อะไรเข้าไปได้มากนัก

2.พอดูหนังเรื่อง 1932,  BEFORE DIVORCE และ PIECES OF A WOMAN ของคุณ Jakkaphat เราก็รู้สึกว่าจุดที่เราสนใจในหนัง 3 เรื่องนี้คือการที่ตัวละครในหนังทั้ง 3 เรื่องเหมือนมีความอัดอั้นตันใจ มีความรู้สึกรุนแรงบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ตัวละครจะไม่พูดออกมาชัด ๆ ตรง ๆ ทางบทสนทนาว่าอะไรทำให้พวกเขารู้สึกอย่างนั้น ผู้ชมจะต้องประมวลเอาเองผ่านทางสิ่งที่หนังนำเสนอว่าทำไมตัวละครถึงรู้สึกอย่างนั้น อาจจะเรียกได้ว่าหนังทั้ง 3 เรื่องใช้วิธีการแบบ "show, don't tell" ได้อย่างน่าสนใจ

----
เราว่าชื่อของนักแสดงที่เล่นเป็นนางเอก BLUE AGAIN ที่ชื่อ "ตะวัน จริยาพรรุ่ง" เป็นชื่อที่คุ้นสุด ๆ แต่นึกไม่ออกว่าเคยได้ยินจากไหน เพราะเราไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง JAILBREAK (2015) ที่คุณตะวัน จริยาพรรุ่งกำกับ แต่พอดีเมื่อกี้ได้คุยกับ Chayanin Tiangpitayakorn เขาบอกว่าคุณตะวัน จริยาพรรุ่งเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง "เชือกฝัน" (DISAFFILIATE) (2014) มาก่อน เราก็เลยร้องกรี๊ดเลย เพราะเราชอบหนังสยองขวัญเรื่อง "เชือกฝัน" ที่มีคุณ Alwa Ritsila ร่วมแสดง อย่างรุนแรงมาก มิน่าล่ะ เราถึงคุ้นชื่อนางเอก BLUE AGAIN มาก ๆ

LOSER BOY (พวกขี้แพ้) (2022, Thanva Kounlavong, Laos, 14min, A+25)

ตัวละครชายหนุ่ม 2 คนในหนังลาวเรื่องนี้ คุยกันเรื่องการโพสท่าถ่ายรูปแบบหน้าตาย ห้ามยิ้ม แล้วบอกว่ามันเป็น  NAWAPOL STYLE เราก็เลยสงสัยมากว่า พวกเขาหมายถึง Nawapol Thamrongrattanarit หรือเปล่า กรี๊ดดดด

No comments: