SECTION 375 (2019, Ajay Bahl, India, 124min, A+30)
1.ชอบสุดๆ ติดอันดับประจำปีแน่นอน
รู้สึกว่าหนังมันสะท้อนอะไรหลายๆอย่างได้ดีมาก ทั้งปัญหาสังคมในอินเดีย,
ความเชื่อทางสังคมที่ผิดๆ, กระแส Metoo, ปัญหาที่เกิดจากกระแส
Metoo, ความคลั่งของคนในสังคม, ปัญหาเรื่องความประพฤติของตำรวจ,
ระบบการทำงานของศาล และสิ่งที่สำคัญที่สุด
หรือสิ่งที่ค้างคาใจเรามากที่สุดในหนังก็คือประเด็นที่ว่า กฎหมายบางข้อ
มันยุติธรรมจริงหรือไม่ และเราควรจะทำอย่างไรถึงจะสามารถ “แก้ไข” หรือ “ยกเลิก”
กฎหมายที่มันไม่ยุติธรรม หรือจริงๆแล้วกฎหมายข้อนั้นมันดี
แต่มันอาจจะถูกใช้ในทางที่ผิดได้
2. เราชอบสุดๆที่หนังย้ำมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “ความยุติธรรม”
กับ “กฎหมาย” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และประเด็นนี้มันก็หลอกหลอนคนดูไปตลอดหลังจากหนังเรื่องนี้จบลง
เพราะในเมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายที่มันไม่ยุติธรรม
แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี
3.เหมือนหนังเรื่องนี้ช่วยเติมเต็มหนังเรื่อง PINK (2016, Aniruddha Roy
Chowdhury, India) เพราะถึงแม้หนังเรื่อง PINK มันจะดีมากๆก็จริง แต่มันก็ไม่สามารถสะท้อน “ความเป็นจริงทั้งหมดในสังคม”
ได้ ผ่านทางหนังเพียงเรื่องเดียว และถ้าหากเราจะมองปัญหาบางอย่างอย่างรอบด้าน
อย่างเช่น “ปัญหาเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน”
เราก็คงจะมองจากคดีเพียงคดีเดียวไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาจากหลายๆคดีรวมกัน และเราว่า
SECTION 375 นี่แหละ ช่วยเติมในสิ่งที่หนังเรื่อง
PINK อาจจะไม่ได้นำเสนอ
4.ตอนแรกๆที่ดู
เรานึกว่าหนังเรื่องนี้มันจะเป็นหนังขึ้นโรงขึ้นศาลที่ดูแล้วสนุกสนาน ลุ้นระทึกว่า
“ความจริงมันเป็นอย่างไร” แบบหนังอย่าง SUSPECT (1987, Peter Yates),
JAGGED EDGE (1985, Richard Marquand), PRESUMED INNOCENT (1990, Alan J. Pakula) อะไรแบบนี้
พอดูไปกลางๆเรื่อง เราก็รู้สึกว่ามันคงไม่ได้เน้น “ความลุ้นระทึก”
แล้วล่ะ แต่คงเน้นการสะท้อนสังคมไปด้วย แบบหนังอย่าง PINK และ TALVAR
(2015, Meghna Gulzar)
แต่พอดูจบแล้ว ก็ชอบคำถามทางปรัชญาที่หนังทิ้งค้างไว้ให้กับเราเป็นอย่างมาก
รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันอาจจะไม่ได้ไต่ระดับไปถึงขั้นหนังอย่าง COURT (2014, Chaitanya Tamhane) และ THE THIRD MURDER (2017, Hirokazu Koreeda) ที่วิพากษ์ระบบอย่างลึกซึ้ง
หรือตั้งคำถามทางปรัชญาอย่างลึกซึ้งก็จริง แต่เราก็พอใจกับ SECTION 375 มากๆเลยทีเดียว
No comments:
Post a Comment