THE ASSAULT (1986, Fons Rademakers, Netherlands,
A+30)
1.นึกว่า "แบบทดสอบความเป็นมนุษย์"
ชอบเนื้อเรื่องและสถานการณ์ในหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ
ถึงแม้จะรู้สึกว่าการกำกับมันยังไม่ลงตัวมากนัก
อาจจะเป็นเพราะมันเป็นหนังชีวิตที่เล่าชีวิตตัวละครในระยะเวลายาว 40 ปีก็ได้มั้ง มันก็เลยคุมจังหวะ, อารมณ์อะไรยากมาก
และพอมันเป็นความพยายามจะถ่ายทอด "ชีวิตคน"
อารมณ์ในหนังมันก็เลยไม่ได้มุ่งไปในทิศทางเดียว หรือโทนเดียว
เพราะชีวิตคนมันมีหลากหลายอารมณ์ หนังมันก็เลยคุมโทนยาก
2.หนังเล่าเรื่องของ Anton เด็กชายชาวดัทช์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ช่วงที่นาซีเข้ามายึดครองเนเธอร์แลนด์ ค่ำวันนึง Ploeg ชายดัทช์ที่เข้าข้างนาซีก็ถูกฝ่ายต่อต้านยิงตายที่หน้าบ้านของ
Korteweg ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของ Anton แต่
Korteweg กับลูกสาวกลับรีบออกมาย้ายศพของ Ploeg มาไว้ที่หน้าบ้านของ Anton ทั้งๆที่ครอบครัวของ Anton
ดีกับครอบครัวของ Korteweg มาโดยตลอด
ในขณะที่ครอบครัว Aarts ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอีกฝั่งหนึ่งของ Korteweg
แทบจะไม่เคยสุงสิงกับครอบครัวอื่นๆเลย
พี่ชายของ Anton
พยายามจะย้ายศพของ Ploeg ไปไว้ที่หน้าบ้านของ Mrs.
Beumer แทน แต่ไม่ทัน ฝ่ายทหารนาซีมาพอดี พวกเขาฆ่าพ่อแม่ของ Anton,
เผาบ้านของ Anton ทิ้ง, ฆ่าตัวประกันชาวดัทช์อีกเกือบ
20 คนเพื่อเป็นการแก้แค้นให้ Ploeg ส่วนพี่ชายของ
Anton ก็ดูเหมือนจะหายสาบสูญไป นาซีส่ง Anton ซึ่งเป็นเด็กเล็กไปอยู่กับลุงที่เมืองอื่นแทน
Anton
ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ เขาเติบโตมาเป็นหมอหนุ่มหล่อ
แต่เขาก็ต้องเผชิญกับ trauma ในช่วงเวลาอีก 40 ปีต่อมา เขาดูเหมือนไม่ได้ผูกใจเจ็บอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในส่วนลึกของจิตใจ
เราเดาว่าเขาคงตั้งคำถามว่า ใครมีส่วนผิดมากน้อยแค่ไหนกับการตายของพ่อแม่ของเขา
ระหว่าง
2.1
ทหารนาซีที่ฆ่าพ่อแม่ของเขาโดยตรง
2.2
Ploeg ที่ไปเข้าข้างนาซี เป็นสายให้นาซึ
และเคยมีส่วนในการตายของผู้บริสุทธิ์หลายคน จนในที่สุดก็มาถูกฆ่าตายหน้าบ้านของเพื่อนบ้านเขา
2.3
ฝ่ายต่อต้านนาซี ที่มาฆ่า Ploeg ในละแวกบ้านของ
Anton ทั้งๆที่รู้ว่านาซีน่าจะต้องล้างแค้นให้ Ploeg
2.4
ครอบครัว Korteweg ที่ย้ายศพ Ploeg มาหน้าบ้าน Anton แทนที่จะทิ้งไว้หน้าบ้านตนเอง
หรือย้ายศพไปหน้าบ้านครอบครัว Aarts
3. แล้วหนังก็ค่อยๆคลี่คลายเหตุการณ์ในอดีต ทีละเปลาะๆ Anton ค่อยๆเรียนรู้ความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความจริงที่ว่า
คนแต่ละคนในเหตุการณ์นั้นมีเหตุผลอะไรถึงทำแบบนั้น ถึงตัดสินใจแบบนั้น
ถึงทำในสิ่งที่ต้องลงเอยด้วยการตายของพ่อแม่ของ Anton
4.ชอบเรื่องราวของหนังอย่างสุดๆ
เพราะมันไปไกลกว่า “นาซี ปะทะ ประชาชนผู้บริสุทธิ์” หรือไปไกลกว่า “ฝ่ายขาวจัด กับ
ฝ่ายดำจัด” น่ะ ตัวละครแต่ละตัวในหนังเรื่องนี้มีเฉดสีเทา
และหลายๆตัวละครก็ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า “เราอาจจะมองว่าเขาผิดในตอนแรก แต่ถ้าหากเราเจออะไรต่างๆนานาแบบเขา
และต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเขา
เราเองก็อาจจะตัดสินใจแบบเดียวกับเขาหรือเปล่า”
5.รักหนังที่โอบรับ
“มนุษย์ผู้เปราะบาง, เห็นแก่ตัวในระดับนึง และทำผิดพลาดได้” อะไรแบบนี้มากๆ
คือหนังที่เชิดชู “ฮีโร่ ผู้เสียสละ” เราก็ชอบนะ
แต่บางทีเราก็ต้องการหนังที่รักคนที่ “ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นมนุษย์ปุถุชน
มีผิดชอบชั่วดี รักตัวกลัวตาย” อะไรบ้างน่ะ
6.หนังไม่ได้มีแค่ประเด็นเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น
แต่มีประเด็นเรื่องที่โซเวียตสังหารหมู่ชาวฮังการีในช่วงประมาณปี 1956 และเรื่องสงครามเวียดนามเข้ามาด้วย
เพราะมันก็เป็นสถานการณ์เฉดสีเทาเหมือนกัน คือการที่โซเวียตสังหารหมู่ชาวฮังการี
มันไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่นั่นหมายถึงว่า “ลัทธิคอมมิวนิสต์ในตัวมันเอง”
เป็นสิ่งที่เลวหรือเปล่า หรือเรื่องของสงครามเวียดนามนั้น มันก็น่าตั้งคำถามว่า
ถ้าหากคุณเดินขบวนต่อต้านโซเวียตในปี 1956
แล้วคุณจะเดินขบวนต่อต้านสหรัฐอเมริกาที่พยายามต่อสู้กับโซเวียตผ่านทางสงครามเวียดนามด้วยมั้ย
คือเราว่าอะไรแบบนี้มัน “สีเทา” ดีมากๆ
7.พอดูจบแล้ว
ก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สามารถปะทะกับ INCENDIES
(2010, Denis Villeneuve), SOPHIE’S CHOICE (1982, Alan J. Pakula) และ
SONG OF THE EXILE (1990, Ann Hui) ได้เลย
เพราะหนังทั้งสี่เรื่องนี้นำเสนอผลกระทบจากสงครามที่มีต่อจิตใจของผู้รอดสงคราม
และก่อให้เกิด trauma ที่ดำรงคงอยู่ในจิตใจของผู้รอดสงครามมานานหลายสิบปีเหมือนกัน
(จริงๆ แล้ว SONG OF THE EXILE อาจจะไม่ได้เข้าข่ายนี้ซะทีเดียว
แต่มันมี “ความซึ้ง” อะไรบางอย่างที่มันเข้ากันกับหนังกลุ่มนี้ได้)
No comments:
Post a Comment