Monday, September 06, 2021

THE FOURTH VIEWING OF THE BANGKOK BOURGEOIS PARTY

 

เห็นมีคนสนใจหนังแนว found footage เราก็เลยจะบอกว่า ตอนนี้มีหนัง found footage สองเรื่องเปิดฉายออนไลน์อยู่นะ ซึ่งก็คือ TERROR NULLIUS (2018, Soda Jerk, Australia, 53min) ที่เราชื่นชอบอย่างสุด ๆ และ PIÈCE TOUCHÉE (1989, Martin Arnold, Austria) ทั้งสองเรื่องดูได้ฟรีจนถึงวันที่ 20 ก.ย. โดย PIÈCE TOUCHÉE เป็นการนำคลิปหนังฮอลลีวู้ดยุคเก่าที่มีความยาวเพียง 18 วินาทีมาดัดแปลงให้กลายเป็นหนังความยาว 15 นาที

ดู TERROR NULLIUS ได้ที่ลิงค์นี้ หนังเรื่องนี้เคยติดอันดับ 11 ในลิสท์หนังสุดโปรดของเราประจำปี 2018
https://www.e-flux.com/video/416793/terror-nullius/

ดูหนังเรื่อง PIÈCE TOUCHÉE ได้ที่ลิงค์นี้
https://www.e-flux.com/video/416937/pice-touche/

Martin Arnold
นี่ถือเป็นปรมาจารย์ด้านหนัง found footage คนนึงเลย เทียบชั้นได้กับปรมาจารย์ด้านหนัง found footage คนอื่น ๆ อย่าง Andrei Ujica, Bruce Conner, Daïchi Saïto, Gustav Deutsch, Harun Farocki, Jay Rosenblatt, Johan Grimonprez, Mark Rappaport, Matthias Müller, Peter Tscherkassky, Taiki Sakpisit, Viriyaporn Boonprasert

e-flux
ตอนนี้ฉายหนังออนไลน์เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องนะ ทั้งหนังของ Laura Mulvey, Harun Farocki, Pierre Huyghe, Christoph Girardet & Matthias Müller และมีหนังเรื่อง REVISITING SOLARIS (2007, Deimantas Nakevicius) ด้วย ดูหนังเหล่านี้ได้ถึงวันที่ 20 ก.ย. แต่ทางที่ดีควรจะรีบดูหนังทุกเรื่องให้เสร็จภายในวันที่ 14 ก.ย. เพราะเทศกาลภาพยนตร์ Signes de Nuit กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้วในวันที่ 15-19 ก.ย.จ้ะ
https://www.e-flux.com/.../an-other-cinema-apparatus-and.../ 

 

 

THE BANGKOK BOURGEOIS PARTY (2007, Prap Boonpan)

 

ดีใจที่ได้ดูอีกรอบ ครั้งนี้น่าจะเป็นรอบที่ 4 แล้วมั้ง สองรอบแรกดูในปี 2007 ตอนนั้นทึ่งกับบทสนทนาในหนังมาก ๆ เพราะยุคปี 2007 ยังไม่มีหนังการเมืองไทยเรื่องไหนที่มันจริงจังเท่าหนังเรื่องนี้ และหนังมันช่วย ระบายความโกรธของเราออกมาในตอนนั้นได้ดีที่สุด อย่างที่หนังเรื่องอื่น ๆ ในปี 2007 ทำไม่ได้

ส่วนรอบที่สามเราได้ดูในปี 2011 ตอนดูรอบสามเราสะเทือนใจกับตอนจบมาก ๆ ที่มีการใช้ liquid paper ลบคำว่าความลักลั่นในงานรื่นเริงออกไป เพราะมันทำให้นึกถึง big cleaning day ที่พยายามลบคราบเลือดของคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ถูกสังหารโหดกลางกรุงเทพในปี 2010 เหมือนคนเสื้อแดงเหล่านั้นคือ "ความลักลั่น" ในสายตาของอีกฝ่ายจริง ๆ

ส่วนรอบที่ 4 เรารู้สึกสะใจกับเสียงหัวเราะของผีในช่วงท้ายของหนังมาก ๆ ตอนที่ผีพูดว่า "ให้มันจริงเถอะ" แล้วก็หัวเราะออกมา เหมือนตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้สามรอบแรก (2007-2011) เรายังไม่รู้สึกว่า ผีมันจะหัวเราะเยาะกลุ่มฆาตกรได้ยังไง แต่พอเหตุการณ์มันล่วงเลยมาถึงปี 2021 เราก็รู้สึกว่า เสียงหัวเราะของผีมันทรงอานุภาพขึ้นกว่าตอนที่เราดูในปี 2011 เป็นอย่างมาก เหมือนมันเป็น คำสาปที่เริ่มออกฤทธิ์มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป และคนบางส่วนที่เคยเห็นดีเห็นงามกับกลุ่มฆาตกรในหนังเรื่องนี้ ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการสนับสนุนกลุ่มฆาตกรบ้างแล้ว

ส่วนล่างของฟอร์ม

 

HEARSAY (2019, Jakkrapan Sriwichai, 7min, A+25)

 

ชอบความทุนต่ำแต่ effective มาก ๆ ของมัน คือเหมือนถ้าเป็นหนังผีโดยทั่วไป เราต้องได้เห็นตัวผีและอิทธิฤทธิ์ผีลอยบนผืนน้ำอะไรพวกนี้ แต่หนังเรื่องนี้ไม่ต้องลงทุนด้าน special effects หรือ CG อะไรเลย เพราะหนังสร้างความน่ากลัวผ่านทางให้ตัวละครใช้คำพูดเล่าเรื่อง และคนดูจินตนาการตามคำพูดของตัวละคร

 

ดูแล้วนึกถึงแนวคิดของพี่สนธยาตอนจัดเทศกาลหนังทุนประหยัดเมื่อราว 20 ปีก่อน ที่พี่สนธยาไม่ค่อยสนับสนุนให้คนไทยแห่ทำหนังที่ใช้ทุนสร้างสูง แต่สนับสนุนหนังที่ใช้ “ทุนสมอง” มากกว่า คือพอดูหนังแบบ HEARSAY แล้วรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่เน้นการใช้ “ทุนสมอง” และฝีมือของคนทำจริง ๆ

 

No comments: