Saturday, November 13, 2021

DRIVE MY CAR (SECOND NOTE)

 

โน้ตอันที่สองสำหรับ DRIVE MY CAR

 

มี spoil สำหรับ DRIVE MY CAR + BLUE BAYOU

--

--

--

--

--

 

1.ถามคนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วว่า หนังมีบอกไว้หรือเปล่าน่ะว่า “คนขับรถ” มีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไรน่ะ เพราะเราชอบตัวละครตัวนี้อย่างรุนแรงมาก ๆ แต่เราไม่แน่ใจว่าเราดูพลาดตรงจุดไหนในหนังไปบ้างหรือเปล่า คือหนังมีบอกไว้ไหมว่าเธอเป็น straight, lesbian, bisexual,non-binary, asexual หรืออะไรยังไง หรือหนังจงใจไม่บอกอะไรเลยในจุดนี้

 

คือถ้าหนังจงใจไม่บอกอะไรเลยในจุดนี้ เราก็จะชอบหนังมาก ๆ ตรงจุดนี้ด้วย 55555 เพราะเราว่ามันเก๋มากที่ตัวละครนางเอกสามารถจะมีรสนิยมทางเพศในแบบไหนก็ได้ตามแต่ใจที่ผู้ชมแต่ละคนจะจินตนาการ

 

2.อีกสิ่งที่เราชอบสุด ๆ อย่างนึงในหนังเรื่องนี้ ก็คือการที่ตัวละครพระเอกกับคนขับรถไม่ได้รักกันแบบโรแมนติกน่ะ

 

3.ชอบความทับซ้อนกันของละครเวทีกับชีวิตของตัวละครด้วย นึกถึงหนังที่เราชอบสุด ๆ อีกหลาย ๆ เรื่องในกลุ่มนี้ อย่างเช่น THE PEACH BLOSSOM LAND (1992, Stan Lai, Taiwan) และ LA PURITAINE (1986, Jacques Doillon, France)

 

4.รู้สึกว่าตัวละครที่แรงที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ “แม่ของคนขับรถ” ซึ่งไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นในหนังแต่อย่างใด

 

5.ตลกดีที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับ BLUE BAYOU (2021, Justin Chon) แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบสุดๆ ในหนังสองเรื่องนี้มันตรงกันอยู่สองจุด ซึ่งได้แก่

 

5.1 ตัวละครเอกที่เป็นชนชั้นแรงงานและมีปมปัญหาวัยเด็กอย่างรุนแรงสุด ๆ ทั้งพระเอกของ BLUE BAYOU ที่ถูกแม่จับกดน้ำ, ถูกพ่อบุญธรรมทุบตีจนเขาหนีออกจากบ้าน แต่แม่บุญธรรมไม่ยอมหนีไปกับเขาด้วย และนางเอก (คนขับรถ) ของ DRIVE MY CAR ที่ก็มีปมปัญหาวัยเด็กอย่างรุนแรงสุด ๆ เช่นกัน และเธอก็ต้องจากบ้านไปตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน ตัวละครทั้งสองต่างก็ต้องใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ เลี้ยงชีพด้วยตัวเองตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเหมือน ๆ กัน แต่นางเอกของ DRIVE MY CAR โชคดีกว่าตรงที่เธอเป็นคนญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น เธอก็เลยไม่โดน “สังคม” กลั่นแกล้งแบบพระเอก BLUE BAYOU

 

5.2 การเอาตัวละครที่มีปมปัญหาอย่างรุนแรงสุด ๆ สองสามตัวมาปะทะกัน โดยใน DRIVE MY CAR นั้นก็คือพระเอกที่มีปมเรื่องเมีย, นางเอกที่มีปมเรื่องแม่ และดาราหนุ่มที่เหมือนมีปัญหาในใจ ส่วนใน BLUE BAYOU นั้นก็คือตัวละครพระเอกที่มีปัญหาเรื่องการถูกแม่จับกดน้ำในวัยเด็ก, สัญชาติ และการหาเลี้ยงชีพ กับหญิงเวียดนามที่สูญเสียสมาชิกครอบครัวไปครึ่งนึงตอนอพยพหนีออกจากเวียดนามและกลายเป็นคนป่วยใกล้ตายในปัจจุบัน

 

เราชอบอะไรแบบนี้มาก ๆ เพราะเราว่ามันสอดคล้องกับมุมมองของเราที่มีต่อโลกมนุษย์นี้น่ะ มุมมองที่ว่า เรามีปัญหาชีวิตที่รุนแรงสุด ๆ แต่คนรอบ ๆ ตัวเราก็มีปัญหาชีวิตที่รุนแรงสุด ๆ ไม่แพ้เราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางทีเราจะมีปัญหากับ “หนังที่ treat ตัวละครพระเอกนางเอกว่าเป็นตัวละครที่มีปัญหารุนแรง และพยายาม simplify โลกด้วยการสร้างตัวละครประกอบที่ไม่มีปัญหาชีวิตรุนแรงเท่าพระเอกนางเอก “ และเราจะชอบหนังแบบ YARN (2020, Takahisa Zeze) ที่สร้างตัวละครพระเอกนางเอกที่มีปัญหาชีวิตรุนแรงหนักหนาสาหัสมาก ๆ แต่ตัวละครที่มีปัญหาชีวิตหนักสุดคือ “เมียของเพื่อนพระเอก” อะไรแบบนี้ หรือหนังแบบ VOICES IN THE WIND (2020, Nobuhiro Suwa) ที่สร้างตัวละครนางเอกที่มีปัญหาทุกข์ใจอย่างรุนแรง แต่ในระหว่างการเดินทางเธอก็ได้พบเจอตัวละครหลายตัวที่เผชิญปัญหาชีวิตหนักหนาสาหัสในแบบของแต่ละคนเช่นกัน

 

6.คือเราชอบสุด ๆ ที่นางเอก DRIVE MY CAR ดูเหมือนคนทั่วไปที่เราสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันน่ะ แต่คนทั่วไปเหล่านี้นี่แหละที่อาจจะเคยเผชิญอะไรที่หนักหนาสาหัสที่สุดมาแล้วก็ได้

 

คือจุดนึงที่ชอบมากคือตอนที่นางเอกพูดในทำนองที่ว่า เธอมีความสามารถในการแยกแยะออกได้ว่า ใครพูดจริงหรือใครตอแหล เพราะเธอเติบโตมาในสังคมที่เต็มไปด้วย liars คนโกงตอแหลปลิ้นปล้อน เพราะฉะนั้นถ้าหากเธอแยกไม่ออกว่าใครตอแหล เธอก็จะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ อะไรทำนองนี้ คือประโยคสั้น ๆ แบบนี้นี่แหละที่ทำให้เราจินตนาการต่อไปได้เลยว่า นอกจากนางเอกจะมีปัญหากับแม่อย่างรุนแรงสุดๆ แล้ว เธอยังเคยต้องรับมือกับคนชั่วอีกมากมายในสังคมด้วย เหมือนเธอเติบโตมาใน “หุบเขาคนโฉด” และการที่เธอรอดชีวิตมาได้แสดงให้เห็นว่าเธอไม่ธรรมดา

 

คือพอดู DRIVE MY CAR แล้วเราก็เลยนึกถึงคนขับรถแท็กซี่หญิงคนนึงที่เราเคยเจอ ตอนนั้นเรานั่งรถที่เธอขับ แล้วเธอก็ขอไปเติมน้ำมันระหว่างทาง แล้วตอนที่รถจอดอยู่ในปั๊ม เธอก็ด่ากับเด็กปั๊มคนนึงว่า ทำไมเด็กปั๊มมายิ้มให้เธอแบบนี้ การที่เด็กปั๊มมายิ้มให้เธอแบบนี้ แสดงว่าเด็กปั๊มตั้งใจจะโกงเงินหรือโกงอะไรเธอใช่มั้ย

 

คือเราแอบตกใจมากที่คนขับ taxi พูดอะไรแบบนี้ออกมา แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป แล้วเราคุยกับเพื่อน ๆ ที่นั่งรถไปด้วยกัน เพื่อน ๆ ก็บอกว่า การที่หญิงคนขับ taxi พูดอะไรแบบนี้ออกมา มันแสดงให้เห็นว่าเธอต้องเคยเจออะไรบางอย่างในอดีตมาแล้วอย่างแน่นอน การที่คนเราเป็นแบบนี้ได้นั้น มันเป็นเพราะคนคนนั้นต้องเคยผ่านอะไรในอดีตมาแล้วอย่างแน่ ๆ

 

เพราะฉะนั้นพอเราดู DRIVE MY CAR เราก็เลยนึกถึงหญิงคนขับ taxi คนนั้นอย่างมาก ๆ

 

7.พอพูดถึง YARN แล้วก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า อีกจุดที่ชอบสุดๆ ใน DRIVE MY CAR ก็คือการที่นางเอกไม่ใช่ผู้หญิงที่สามารถใช้ความสวยเป็นใบเบิกทางให้แก่ชีวิตได้

 

คือในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ มีหนังสองเรื่องที่เราชอบสุด ๆ น่ะ ซึ่งก็คือ “อีหล่าเอ๋ย” (2020, อาทิตย์ ศรีภูมิ) กับ YARN เพราะหนังสองเรื่องนี้นำเสนอตัวละครหญิงชนชั้นแรงงานเหมือน ๆ กัน และเราก็อินกับตัวละครนางเอกในหนังทั้งสองเรื่องอย่างรุนแรงมาก ๆ แต่จุดนึงที่เราไม่อินกับนางเอกในหนังทั้งสองเรื่อง ก็คือว่า นางเอกในหนังทั้งสองเรื่องเป็นคนสวย และสามารถใช้ความสวยเป็นใบเบิกทางให้แก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะชอบมาก ๆ ที่นางเอกของหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็นชนชั้นแรงงาน ปากกัดตีนถีบ แต่มันก็จะเกิดคำถามตามมาว่า แล้วถ้าหากเราเกิดเป็นหญิงสาวชนชั้นแรงงานที่ไม่สามารถใช้ความสวยเป็นใบเบิกทางให้แก่ชีวิตได้ล่ะ เราจะทำยังไง

 

ซึ่งคำตอบก็อยู่ใน DRIVE MY CAR นี่แหละ และเป็นคำตอบที่เราชอบมาก ๆ เพราะมันก็คือ “ความตั้งใจทำงานแบบ professional" ของนางเอกนี่แหละ ที่อาจจะช่วยให้เราเอาตัวรอด พอจะยังชีพต่อไปได้ โดยเฉพาะถ้าหากคุณอยู่ในสังคมที่ชาติพันธุ์ของคุณเป็น majority ของสังคมนั้น และโครงสร้างสังคมไม่มีอะไรเหี้ย ๆ ห่า ๆ มากนัก

 

8.ชอบ mystery ในความเป็นมนุษย์ของตัวละครทั้งในหนังเรื่องนี้และใน HAPPY HOUR คือเราได้ดูหนังของ Ryusuke Hamaguchi แค่สองเรื่องนี้ และมันก็อาจจะมีความเป็นธรรมชาติ สมจริงบางอย่างในหนังทั้งสองเรื่อง แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบมากในหนังทั้งสองเรื่อง มันคือ “ความลึกลับของความเป็นมนุษย์” น่ะ โดยเฉพาะถ้าหากเทียบกับหนังของ Eric Rohmer ที่ตัวละครเป็นมนุษย์มาก ๆ เหมือนกัน เพราะในหนังของ Rohmer นั้นพอเราดูจนจบแล้ว เราจะรู้สึกว่าเราเข้าใจหรือเข้าถึงจิตวิญญาณอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเอกมากในระดับนึง อาจจะมากถึง 75% เหมือน Rohmer ตีแผ่จิตวิญญาณของตัวละครออกมาได้อย่างรุนแรงมาก ๆ แต่ในหนังของ Hamaguchi นั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครมันยังมีความลึกลับบางอย่างอยู่ในจิตวิญญาณของเขาที่เรายังไม่เข้าใจน่ะ และตัวละครเองก็อาจจะไม่เข้าใจตัวเองด้วย โดยเฉพาะตัวละคร “คนขับรถ” ของ DRIVE MY CAR ที่ต่อให้เราได้ฟังเธอเล่าประวัติชีวิตของเธออย่างหมดเปลือกแล้ว เรากลับรู้สึกว่า เราอาจจะ “เข้าถึง” จิตวิญญาณของเธอได้เพียง 30% เท่านั้นในตอนจบ

 

ซึ่งนี่ก็จะแตกต่างอย่างมาก  ๆ จากหนังความสัมพันธ์ระหว่างโชเฟอร์กับผู้โดยสาร อย่าง DRIVING MISS DAISY (1989, Bruce Beresford) และ GREEN BOOK (2018, Peter Farrelly) ด้วย เพราะเราชอบ DRIVING MISS DAISY และ GREEN BOOK อย่างสุด ๆ เหมือนกัน และเราว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็นำเสนอตัวละครได้อย่างเป็นมนุษย์มาก ๆ เหมือนกัน แต่เหมือนเราเข้าถึงจิตวิญญาณอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้ในระดับที่มากถึง 60-75% ในตอนจบของหนังน่ะ ในขณะที่ตัวละครนางเอกของ DRIVE MY CAR นั้นเราเข้าถึงได้แค่ 30% และตัวละคร “เมียของพระเอก” และ “แม่ของนางเอก” ก็ยังคงความเป็นปริศนาทางจิตวิญญาณต่อไป

 

แต่การที่เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเข้าใจจิตวิญญาณของตัวละครได้อย่างถ่องแท้ทั้งใน HAPPY HOUR และ DRIVE MY CAR นั้น ไม่ใช่ข้อเสียของหนังนะ เพราะเรารู้สึกว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้มัน treat มนุษย์ในแบบที่สอดคล้องกับมุมมองของเราเหมือนกัน เพราะเราเป็นคนที่ไม่เข้าใจตัวเอง และในเมื่อแม้แต่ตัวเราก็ไม่เข้าใจตัวเองแล้ว เราก็เลยมองว่ามนุษย์คนอื่น ๆ เต็มไปด้วยความซับซ้อนทางจิตวิญญาณที่ยากจะอธิบายได้ด้วย และบางทีเราก็ชอบหนังที่ยอมรับความจริงตรงจุดนี้ ยอมรับ “ความลึกลับ” , “ความยากจะอธิบาย” หรือ “ความไม่สามารถทำความเข้าใจได้” ในจิตวิญญาณของมนุษย์

 

โน้ตแรกอยู่ตรงนี้นะ

https://www.facebook.com/photo?fbid=10227705911976670&set=a.10225784745948720

 

No comments: