Sunday, November 21, 2021

LICHENS (2021, Karan Wongprakarnsanti, 22min, A+25)

LICHENS (2021, Karan Wongprakarnsanti, 22min, A+25)

 

1.ดีใจที่มีคนทำหนังเกี่ยวกับเรื่องไฟป่า, pm 2.5 แล้วก็หมอกควันมลพิษในเชียงใหม่ออกมา เหมือนเรายังไม่ค่อยได้ดูหนังเกี่ยวกับปัญหานี้มากเท่าไหร่

 

2.เราไม่เคยรู้เรื่อง lichens มาก่อนด้วย เป็นการเปรียบเปรยที่น่าสนใจดีมาก

 

3.เหมือนนักแสดงทั้งสองคนต้องรับบทหนักมาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่เหมือนแบกอะไรหนักมากไว้ในใจตลอดเวลา ทั้งความรักความเป็นห่วงลูกชาย และความรู้สึกผิดในใจ นักแสดงหญิงที่รับบทนี้เล่นเก่งมาก ๆ ส่วนตัวลูกชายนี่เรากลัวจะขาดใจตายมาก ๆ จนเราแอบคิดว่าลูกชายไม่ต้องพูดอะไรในหนังมากได้ไหม สงสารตัวละครตัวนี้ กว่าจะพูดได้แต่ละคำนี่แทบขาดใจตาย 555

 

4.เพลงประกอบช่วงกลางเรื่องก็เพราะมาก ๆ

 

5.จริง ๆ แล้วก็รู้สึกโอเคกับหนังมาก ๆ นะ ทั้งประเด็น, นักแสดง, การถ่ายทำ เราชอบหนังมากในระดับเกือบสุด ๆ น่ะแหละ แต่สาเหตุที่เราไม่ได้ชอบหนังแบบสุด ๆ เป็นเพราะเรารู้สึกว่า หนังมันตรงประเด็นมากเกินไปสำหรับเราน่ะ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของหนังนะ เพราะเราเองก็มักจะมีปัญหาแบบนี้กับ “หนังประเด็น” โดยส่วนใหญ่อยู่แล้ว 55555 คือมันเป็นเรื่องของความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวน่ะ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าหนังดีหรือไม่ดี

 

เราไม่แน่ใจด้วยว่าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อโครงการรณรงค์ให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงปัญหา pm 2.5 หรือมลพิษหรืออะไรโดยเฉพาะหรือเปล่า คือถ้าหากถามว่ามันเป็นหนังที่สัมฤทธิ์ผลไหมในการทำให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงปัญหา เราก็ว่ามันสัมฤทธิ์ผลในส่วนนี้สุด ๆ น่ะแหละ ดูแล้วก็รับรู้ได้ถึงปัญหา และหวาดกลัวกับการป่วยเป็นมะเร็งปอดมาก ๆ คือเรามองว่ามันเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ในการชูประเด็นและ raise awareness ของผู้ชมนะ

 

แต่ถ้าหากถามว่าเราชอบหนังแนวนี้เป็นการส่วนตัวไหม เราก็ไม่ได้ชอบหนังแนวนี้มากที่สุดนะ 555555 เพราะเราไม่ได้ชอบ “หนังประเด็น” เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เราชอบ “หนังดราม่าที่ดูเหมือนสะท้อนอะไรมากมายในชีวิต แล้วแอบแทรกประเด็นไว้สัก 10% ของหนัง” อะไรแบบนี้มากกว่า

 

6.คือโดยส่วนตัวแล้ว ช่วง 10 นาทีแรกของหนัง เรายังรู้สึกสนใจตัวละครในฐานะมนุษย์อยู่นะ แต่พอตัวละครเริ่มพูดเรื่อง lichens ในช่วงกลางเรื่อง เราก็เลิกมองตัวละครเป็นมนุษย์ แล้วมองตัวละครเป็น “representation of social problems” ไปแทนน่ะ เพราะฉะนั้นช่วงครึ่งหลังของหนัง เราจะรู้สึกถอยห่างจากตัวละครมากกว่าช่วงครึ่งแรก เหมือนเสน่ห์ของตัวละครในฐานะมนุษย์มันเริ่มน้อยลงสำหรับเราน่ะ แล้วเราก็หันมาเพ่งความสนใจไปยังประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจสะท้อนออกมาจากคำพูดตัวละครแทน

 

และสาเหตุที่เราถอยห่างจากหนังมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของหนัง เป็นเพราะประวัติของตัวละครนางเอกด้วยแหละ คือนักแสดงนี่เล่นดีสุด ๆ นะ เป็นธรรมชาติมาก ๆ บทหนักมาก ๆ แต่พอนางเอกเผยประวัติชีวิตของตัวเองออกมา ทั้งปมในใจเรื่องผัวเรื่องลูก มันก็ดูเหมือนว่าตัวละครตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ชูประเด็น” จริง ๆ น่ะ

 

คือเราคิดว่านักแสดงนี่เล่นได้เป็นธรรมชาติมาก ๆ เป็นมนุษย์มาก  ๆ นะ แต่ตัวละครในหนังพอเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังเป็นต้นไป มันกลายเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อชูประเด็นเป็นหลักน่ะ หนังมันก็เลยอาจจะไม่ได้เข้าทางเราเสียทีเดียว

 

7.แต่อันนี้ไม่ใช่ว่ามันเป็นข้อบกพร่องของหนังนะ เพราะมันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวของเรา และเราคิดว่าการที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เข้าทางเราเสียทีเดียวมันเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน อย่างเช่น

 

7.1 การที่มันเป็นหนังสั้น และเป็น “หนังประเด็น” คือพอมันเป็นหนังสั้น เราก็เลยไม่มีเวลาได้รู้จักแง่มุมความเป็นมนุษย์ในด้านอื่น ๆ ของตัวละคร ตัวละครต้องรีบชูประเด็นต่าง ๆ ให้ครบภายในเวลาอันจำกัด

 

7.2 เราขอเดาว่า หนังเรื่องนี้น่าจะถ่ายในช่วงปี 2020-2021 หรือเปล่า ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติโควิด เพราะฉะนั้นการถ่ายทำหนังในช่วงสองปีนี้ มันจะเผชิญกับข้อจำกัดอย่างรุนแรงในเรื่องการหานักแสดง, จำนวนนักแสดงในแต่ละซีน, จำนวน crews ในแต่ละซีน และข้อจำกัดด้าน location ด้วย

 

คือเราเห็นว่าหนังเรื่องนี้ใช้ซีนหลักแค่ฉากในบ้านกับฉากในป่าน่ะ ซึ่งเป็นฉากที่ไม่ต้องอาศัย “ตัวประกอบ” ใด ๆ เลย และเป็นฉากที่น่าจะคุมองค์ประกอบต่าง ๆ ได้ง่ายด้วย คือจริง ๆ แล้วเราอยากให้หนังแนวนี้มีฉากในโรงพยาบาลน่ะ อยากให้หนังแสดงให้เห็นเลยว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีสภาพอย่างไร สภาพหนักมากแค่ไหน ต้องเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวอะไรยังไง แต่เราว่าฉากที่เราต้องการแบบนี้ มันถ่ายในช่วง 2 ปีนี้ไม่ได้แน่ ๆ เพราะการถ่ายทำหนังในโรงพยาบาลจริง ๆ นี่มีสิทธิ์เสี่ยงติดโควิดทั้งกองถ่ายมาก ๆ

 

เราก็เลยแอบเดาว่า สาเหตุที่หนังเรื่องนี้ออกมาเป็นแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดต่าง ๆ ในการถ่ายทำด้วยแหละมั้ง พอเจอข้อจำกัดอย่างมากทั้ง locations และจำนวนทีมงาน ก็เลยต้องคิดบทภาพยนตร์ที่สามารถชูประเด็นได้ภายในเวลาอันจำกัด, ใช้นักแสดงน้อย และใช้ locations ที่สะดวกถ่ายทำในช่วงโควิดด้วย

 

8.แต่เนื่องจากเราเป็นคนที่ชอบจินตนาการ เราก็เลยขอจดบันทึกไว้แล้วกันว่า ถ้าหากไม่มีข้อจำกัดต่างๆ  ในช่วง COVID เราอยากให้มีการสร้างหนังที่พูดถึงประเด็นใกล้เคียงกันนี้ออกมาในแนวไหนบ้าง แต่อันนี้คือเราไม่ได้จะบอกว่าหนังในหัวของเราจะออกมาดีกว่า LICHENS แต่อย่างใดนะ เพราะเราว่า LICHENS มันดีมาก ๆ ในแบบของมันเองแล้ว และหนังในหัวของเราถ้ามันถูกสร้างออกมาจริง ๆ มันก็คงไม่ใช่หนังที่ดีหรอก และเราก็ไม่ได้อยากเห็นมันถูกสร้างออกมาจริง ๆ ด้วย เราแค่มีความสุขกับจินตนาการในหัวของตัวเอง และเราแค่อยากจดบันทึกจินตนาการบ้า  ๆ บอๆ ของเราเอาไว้เท่านั้นเองจ้ะ

 

8.1 หนังที่อาจจะเล่าเรื่องผ่านทาง “กลุ่มเพื่อนนักเดินป่า” หรือ “กลุ่มเพื่อนมหาลัย/เพื่อนมัธยม” ของตัวละครที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดเพราะ PM 2.5 โดยหนังอาจจะให้นักเดินป่ากลุ่มนึงมาเดินป่ากัน คุยสัพเพเหระถึงเรื่องต่าง ๆ มากมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นของหนังแต่อย่างใดทั้งสิ้น ก่อนจะค่อยๆ  สอดแทรกปัญหาต่าง ๆ ของเชียงใหม่เข้ามาทางบทสนทนาทีละน้อย และพวกเขาก็คุยกันถึงเพื่อนคนนึงในกลุ่มที่ไม่ได้มาเดินป่าด้วย พูดถึงวีรกรรมต่าง ๆ ของเขา แง่มุมต่าง ๆ ในชีวิตของเพื่อนคนนี้ ก่อนที่พวกเขาจะมาเจอ lichens ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนคนนี้หลงใหล แต่เพื่อนคนนี้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดเพราะ pm 2.5 ไปแล้ว เลยไม่ได้มาร่วมเดินป่าในครั้งนี้ด้วย

 

หรือไม่ก็เป็นเรื่องการ reunion กันของเพื่อนมัธยม/เพื่อนมหาลัยของผู้ป่วยรายนี้ เพื่อนๆ เหล่านี้แยกย้ายกันไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ แต่ก็มา reunion กัน พูดคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ มากมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นของหนัง พูดคุยกันถึงชีวิตของแต่ละคน ปัญหาบ้านเมือง ก่อนที่บทสนทนาจะค่อย ๆ มุ่งเน้นไปยังเพื่อนสนิทคนนึงในกลุ่มที่ไม่สามารถมา reunion ได้ เพราะเขาป่วยเป็นมะเร็งปอดอยู่บ้าน และพวกเพื่อน ๆ ก็อาจจะ video call ไปหาเขาในช่วงท้ายของหนัง

 

คือที่เราจินตนาการถึงหนังแบบนี้ออกมา เพราะถ้าหากตัวละครหลักเป็น “เพื่อนๆ ของผู้ป่วย” เราอาจจะ relate กับมันได้ง่ายน่ะ เพราะเราก็มีเพื่อนที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งไปแล้วอย่างน้อย 4 คน ซึ่งรวมถึงเพื่อนที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอดจากมลพิษจากโรงงานด้วย เพราะฉะนั้นพอเราดู LICHENS เราก็เลยคิดถึงเพื่อนคนนั้นมากๆ แต่พอตัวละครหลักใน LICHENS เป็นคุณแม่ที่มีประวัติชีวิตหนักมาก เราก็เลยอาจจะไม่ได้มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครคุณแม่มากนักจ้ะ

 

8.2 หนังแบบ REMEMBER ME (2010, Allen Coulter) และ  TOMORROW (1988, Kazuo Kuroki) ที่ทำตัวเป็นหนังชีวิตดราม่าธรรมดา นำเสนอชีวิตตัวละครในแบบหนังดราม่าเรื่องนึงไปเรื่อย ๆ ก่อนที่ “ประเด็น” จะมาในฉากจบ

 

คือหนังแบบนี้อาจจะนำเสนอตัวละครเป็นชาวเชียงใหม่สัก 3-5 คนที่มีอาชีพไม่ซ้ำกันเลย และอาจจะไม่รู้จักกัน พวกเขาแต่ละคนมีความฝัน มีความหวัง มีเรื่องราวรักโลภโกรธหลง ปัญหาชีวิตเป็นของตัวเอง ก่อนที่หนังจะตัดไปเป็นอีก 2 ปีต่อมา ญาติ ๆ ของตัวละครตัวนึงไปเยี่ยมตัวละครที่ตอนนี้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล และกล้องก็แสดงให้เห็นว่า ตัวละครนำทั้ง 3-5 ตัว ตอนนี้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย นอนแบ็บอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกันหมด

 

8.3 หนังแบบ DYING AT A HOSPITAL (1993, Jun Ichikawa) โดยหนัง fiction แบบนี้อาจจะนำเสนอชีวิตของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและญาติ ๆ ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเชียงใหม่ โดยกล้องจะทำเป็น observation ไปเรื่อย ๆ ไม่มีการเร้าอารมณ์ใดๆ  ทั้งสิ้น คือเป็นหนัง fiction ที่ทำตัวคล้ายกับเป็นหนังสารคดีที่ให้ความรู้แบบอ้อม ๆ แก่ผู้ชมเกี่ยวกับมะเร็งปอดและ pm 2.5 และมีการตัดสลับฉากผู้ป่วยในโรงพยาบาล กับ “ชีวิตประจำวันของชาวบ้านร้านตลาดในจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่มีปัญหามลพิษ” เข้ามาเป็นระยะ ๆ คือเราจะเห็นฉากผู้ป่วยมะเร็งปอดในโรงพยาบาลในเชียงใหม่ ตัดสลับกับฉากกลุ่มวัยรุ่นแว๊นกัน, แล้วก็เป็นฉากผู้ป่วยทุกข์ทรมาน, ฉากคนเดินตลาดสดอย่างมีความสุข, ฉากผู้ป่วยทุกข์ทรมาน, ฉากคนเดินห้างสรรพสินค้าอย่างมีความสุข สลับกันไปเรื่อยๆ  อะไรแบบนี้

 

คือเราเคยดู DYING AT A HOSPITAL ที่มันใช้เทคนิคการนำเสนอแบบนี้น่ะ แล้วเราชอบมันอย่างสุดๆ มัน impact เรามากๆ

 

แต่ย้ำอีกทีว่า ที่เราเขียนถึงหนังในจินตนาการแบบนี้ออกมา ไม่ใช่เพราะเราคิดว่ามันจะดีกว่า LICHENS นะ เพียงแต่ว่าเวลาเราดูหนังเรื่องต่าง ๆ เรามักจะเอาหนังเรื่องต่างๆ  ที่เราดู ไปใช้เป็น “วัตถุดิบ” ในการสร้างหนังเรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาในหัวตัวเองอยู่แล้ว 55555 และพอเราดู LICHENS เสร็จ เราก็เลยเอา LICHENS ไปใช้เป็นวัตถุดิบ ในการสร้างหนังเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาในหัวของตัวเองตามที่เขียนมาจ้ะ และเราก็คิดว่าการจดบันทึกหนังในจินตนาการของตัวเองมันก็อาจจะดีด้วยแหละ เผื่อคนอ่านบางคนอาจจะสงสัยว่า หนังที่อาจจะเข้าทางเราเป็นการส่วนตัว เป็นหนังแบบไหนจ้ะ

 

สรุปว่าชอบ LICHENS มากเกือบสุด ๆ จ้ะ แต่ที่ไม่ได้ชอบสุด ๆ เพราะ “หนังประเด็น” โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังที่เข้าทางเราอยู่แล้ว และเราเดาว่า LICHENS น่าจะเป็นหนังที่สร้างขึ้นภายใต้ข้อจำกัดมากมายด้วยแหละ


No comments: