Monday, November 22, 2021

OST. (2021, Abhichoke Chandrasen, 19min, A+30)

 

OST. (2021, Abhichoke Chandrasen, 19min, A+30)

 

1.ชอบอาชีพของนางเอกมาก ๆ เพราะเราชอบดูหนังสยองขวัญ และก็ชอบดูหนังโดยทั่ว ๆ ไปด้วย แต่เราแทบไม่เคยเพ่งความสนใจไปที่ sound effects มาก่อน ไม่นึกว่าใน sound effects ที่อาจจะดู cliche ซ้ำกันไปมาในหนังสยองขวัญหลาย ๆ เรื่อง จริง ๆ แล้วมันมาจากเสียงหลาย ๆ เสียงที่ซ้อนกันไปมาเพื่อช่วยเร้าอารมณ์ผู้ชมในแต่ละฉาก เหมือนหนังเรื่องนี้ช่วยกระตุ้นให้เราได้สังเกตเสียงต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

 

2.ชอบความเป็นหนังซ้อนหนังด้วย

 

3.ไม่รู้ว่าหนังจงใจล้อเลียนความ cliche หรือเปล่า 5555 คือตัวหนังสยองขวัญเจ้าแม่ต้นไม้นี่ เราได้เห็นตัวหนังแค่ราวๆ  3 ฉาก หรือเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่เราและผู้ชมทุกคนก็สามารถปะติดปะต่อเรื่องทั้งหมดในหนังเรื่องนั้นได้หมดเลย เพราะมันคือ cliche ของเรื่องเล่าผี ๆ แบบไทย ๆ มาก ๆ และแม้แต่หนังสั้นไทยก็ชอบเล่าเรื่องทำนองนี้มานาน 20 ปีแล้ว (เรื่องของผีที่มาตบตีคนที่มาลบหลู่) แต่หนังสั้นไทยมักจะเล่าเรื่องของตัวละครที่ไปลบหลู่ศาลพระภูมิ แล้วก็เลยเจอผีตามมารังควานหลอกหลอนที่บ้าน คือเราคิดว่ามีหนังสั้นไทยไม่ต่ำกว่า 20 เรื่องที่เล่าเรื่องราวทำนองนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

และฉากเปิดเรื่องนี่ก็เหมือนล้อเลียนความ cliche ของหนังสยองขวัญแนวฆาตกรโรคจิต คือฉากเปิดเรื่องนี่ล่าสุดมันก็คล้ายกับฉากนึงใน MIDNIGHT (2021, Kwon Oh-seung, South Korea, A+30) เลย 55555

 

และหนังเรื่องนี้ก็อาจจะล้อเลียนตัวเองด้วยมั้ง เราไม่แน่ใจ เพราะ sound effects ต่าง ๆ ใน OST. มันก็น่าจะไม่ได้แตกต่างไปจาก sound effects ในหนังสยองขวัญโดยทั่วไปมากนัก เพียงแต่พอมันมาอยู่ใน OST. เรากลับขำ “เสียงต่าง ๆ ที่พยายามทำให้คนดูรู้สึกกลัว” แทนที่เราจะรู้สึกกลัวไปตามเสียงเหล่านั้น

 

4.จริงๆ แล้ว เราก็ไม่รู้จุดประสงค์ของ OST. นะ แต่เราชอบที่มันทำให้เราทั้งรู้สึก “ขำขัน” และ “ทึ่ง” กับความ cliche ของหนังสยองขวัญโดยทั่วไปในเวลาเดียวกันน่ะ คือใน OST. เราได้เห็นหนังสยองขวัญแนว cliche สองเรื่อง เรื่องนึงเป็นหนังฆาตกรโรคจิต ส่วนอีกเรื่องเป็นหนังผี และหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็เหมือนจะมีทั้งเนื้อเรื่องที่ cliche และใช้ sound effects ในการเร้าอารมณ์ผู้ชมแบบ cliche (หรือแบบที่เราน่าจะพบได้ในหนังสยองขวัญทั่วไป) แต่พอ OST. ทำให้เราได้เห็นว่า การสร้าง sound effects แบบนี้จริง ๆ แล้วมันซับซ้อนกว่าที่คิด เราก็เลยรู้สึกทึ่งกับมันมากพอสมควร

 

5.เราก็เลยคิดว่า หลังจากได้ดู OST. แล้ว เวลาเราได้ดูหนังสยองขวัญเรื่องต่าง ๆ เราจะพยายามฟังว่า พอถึงฉากตัวละครหนีฆาตกรโรคจิต, ฉากผีออกอาละวาด หรือฉากใด ๆ ก็ตามที่ผู้สร้างหนังพยายามทำให้คนดูหวาดกลัว มันมีการใช้ sound effects อย่างไร เสียงในฉากพวกนี้มันมี pattern อย่างไรบ้าง

 

นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “หนังเรื่องนี้มอบดวงตาใหม่ ๆ ให้ผู้ชม ทำให้ผู้ชมเหมือนได้มองเห็นสิ่งที่ตัวเองไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน”  (แบบหนังอย่าง HOTEL MONTEREY ของ Chantal Akerman)

 

แต่ในกรณีของ OST. นั้น อาจจะต้องบอกว่า “หนังเรื่องนี้มอบหูใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ชม ทำให้ผู้ชมเหมือนได้ลองสังเกตเสียงที่ตัวเองไม่เคยสังเกตมาก่อน” 55555

No comments: