ANTI-HUMAN (2015, Nuttachai Jiraanont, A+30)
ภูมิแพ้มนุษย์
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1.ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆก็คือปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เราชอบหนังของ
David Cronenberg และ
Kiyoshi Kurosawa มากๆ เพราะเราชอบหนังที่เอาองค์ประกอบของหนังสยองขวัญมาใช้
โดยที่จริงๆแล้วตัวมันอาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่คนดูน่ะ
จุดประสงค์หลักของหนังกลุ่มนี้อาจจะเป็นการวิพากษ์สังคม, สำรวจมนุษย์,
ตั้งคำถามทางปรัชญา, etc. มากกว่า และเราก็ชอบ ANTI-HUMAN
ตรงจุดนี้
เราว่าหนังเรื่องนี้สร้างบรรยากาศแบบหนังสยองขวัญได้ดีมากๆ
แต่หนังกลับไม่ได้เน้นการเร้าอารมณ์เราให้สนุกตื่นเต้นหวาดกลัวแบบหนังสยองขวัญทั่วไป
แต่อาจจะเน้นวิพากษ์มนุษย์บางกลุ่มหรือเน้นกระตุ้นความคิดของเรามากกว่า
คือดูจบแล้วเราก็งงๆในบางจุดนะ
แต่มันเป็นสิ่งเดียวกับที่เรารู้สึกกับหนังบางเรื่องของ Kiyoshi Kurosawa น่ะ
คือดูแล้วไม่เข้าใจตัวหนังในบางจุด แต่ก็รู้สึกถูกโฉลกกับมันมากๆอยู่ดี
นอกจากหนังของ David Cronenberg กับ Kiyoshi
Kurosawa แล้ว ANTI-HUMAN ก็ทำให้เรานึกถึง
TROUBLE EVERY DAY (2001, Claire Denis) กับ OTTO; OR, UP
WITH DEAD PEOPLE (2008, Bruce La Bruce) ด้วย ในแง่ที่ว่าเนื้อแท้แล้วมันเป็นหนังแนว
thought-provoking ที่หยิบยืมเอาองค์ประกอบของหนังสยองขวัญมาห่มคลุมตัวเองเหมือนกัน
2.ดูแล้วก็เข้าใจนะว่าทำไมหนังถึงดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าซอมบี้
เพราะเราจะเห็นคำว่าซอมบี้ชัดๆเฉพาะตอนที่โมน (Suphisara Kittikunarak) นำเสนอหนังสั้นของตัวเองเรื่อง INTERVIEW WITH A ZOMBIE ให้คนในชั้นเรียนดูเท่านั้น แต่นอกจากนั้นแล้วดูเหมือนเราจะแทบไม่ได้ยินคำว่าซอมบี้ในหนังเรื่องนี้อีกเลย
คือก่อนที่เราจะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้
เรานึกว่ามันจะเป็นหนังซอมบี้ที่เหมือนกับหนังสั้นไทยอีกหลายๆเรื่องน่ะ แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็พบว่ามันหลีกเลี่ยงอะไรหลายๆอย่างที่เรามักจะพบในหนังซอมบี้
คือเราว่าหนังเรื่องนี้เหมือนสร้างอสูรกายบางอย่างที่เพียงแค่คล้ายซอมบี้ในบางจุดขึ้นมาน่ะ
และถ้าเราไปตีกรอบเรียกมันว่าซอมบี้ เราก็อาจจะรู้สึกงงๆ
เพราะมันไม่เหมือนซอมบี้ในหนังทั่วไป แต่ถ้าเราไม่เรียกมันว่าซอมบี้ แค่มองว่ามันเป็นภาวะพิศวงทางจิตใจและร่างกายอย่างนึง
เราก็อาจจะงงน้อยลง
3.แต่เราก็จะขอเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับหนังซอมบี้เรื่องอื่นๆนะ
เพราะเราชอบที่มันแตกต่างจากหนังซอมบี้เรื่องอื่นๆ
คือในบรรดาหนังอิสระของไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับซอมบี้นั้น
มันมีเรื่องที่เราชอบมากๆหลายเรื่องด้วยกัน อย่างเช่น
3.1 THE ZOMBIE CHICK อีสาวซากดิบ (2007, Thitimon
Mongkolsawat)
3.2 DEAD SNACK ขอขบเคี้ยวสักนิดก็ยังดี (2008,
Pichanund Laohapornsvan)
3.3 RESURRECTION (2008, Harin Paesongthai + Sorrawis Rawitiwagul,
14min)
3.4 ZUNBIE โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต (2014,
Saritrong Yongstar, 12min)
3.5 CLASS-Z เกรียนไทยไฟท์ซอมบี้ (2013, Sila
Jirasombut, 22min)
แล้วเราก็รู้สึกว่า ANTI-HUMAN มันแตกต่างจากหนัง 5
เรื่องนี้มากๆ เพราะมันไปเน้นที่การเจาะลึกสภาพจิตหรือบุคลิกลักษณะนิสัยของตัวละครหญิง
3 ตัวน่ะ ในขณะที่หนังซอมบี้โดยทั่วไปมันเล่นกับสถานการณ์วิ่งหนีซอมบี้
หรือเน้นการนำเสนอ “สังคมในวงกว้าง” มากกว่าการวิเคราะห์สภาพจิตตัวละคร
(อาจจะมียกเว้นก็แต่หนังอังกฤษเรื่อง I, ZOMBIE: THE CHRONICLES OF PAIN ของ Andrew Parkinson ที่เน้นนำเสนอความเปล่าเปลี่ยวเหงาใจของตัวละครซอมบี้)
เราก็เลยชอบความแตกต่างของ ANTI-HUMAN ตรงนี้มากๆ
4.แล้วถ้า ANTI-HUMAN ไม่เหมือนหนังซอมบี้โดยทั่วไป
แล้วมันไปเหมือนหนังอะไร
เราว่ามันมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงหนังแวมไพร์/อาร์ตเฮาส์เรื่อง A
NOCTURNE (2007, Bill Mousoulis, Australia, A+30) น่ะ ในแง่ที่ว่า
หนังสองเรื่องนี้เหมือนจะวิพากษ์มนุษย์บางกลุ่มในสังคม
โดยเอาความเป็นซอมบี้หรือความเป็นแวมไพร์ไปใส่ในมนุษย์กลุ่มนั้น
และนำเสนอซอมบี้/แวมไพร์ในหนังของตัวเองออกมาในลักษณะแบบหนังอาร์ตนิ่งช้า โดยตัด
”เนื้อหา” และ “การสร้างสถานการณ์เร้าอารมณ์” แบบ thriller/horror ออกไปจากหนังเกือบหมดเลย
แต่ยังคงรักษา “บรรยากาศ” แบบ horror เอาไว้
ในส่วนของ A NOCTURNE นั้น ถ้าเราตีความไม่ผิด
เราเข้าใจว่าหนังต้องการวิพากษ์ศิลปินบางกลุ่มที่ “รังเกียจ”
สไตล์การใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลาง แต่ก็ต้อง “พึ่งพา” เงินจากชนชั้นกลางด้วยการขายงานศิลปะให้ชนชั้นกลางและคนรวยเพื่อการดำรงชีพของตนเองอยู่ดี
ศิลปินพวกนี้จะแยกตัวออกไปใช้ชีวิตเป็นกลุ่มของตัวเอง
ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคมโดยทั่วไป เพราะพวกเขารังเกียจ “ชีวิตธรรมดาๆของคนในสังคม” พวกเขาต้องการถกเถียงกันเองในกลุ่มเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างลึกซึ้งมากกว่า
แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง พวกเขาก็ต้องออกไป “สูบเลือด” (หรือดูดเงิน) จากคนที่มีฐานะหน่อยในสังคมเป็นครั้งคราว
เพื่อที่พวกเขาจะได้ดำรงชีพได้ต่อไป
เราชอบ A NOCTURNE มากที่มันเอาความเป็นแวมไพร์มาใส่ในตัวละครเหล่านี้
แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่าเราตีความถูกหรือเปล่า แต่สำหรับเราแล้วผิดถูกมันไม่สำคัญ
มันสำคัญตรงที่เรามีความสุขกับการได้ใช้ความคิดมากกว่า
(เราเขียนถึง A NOCTURNE ไว้ที่นี่นะ
ส่วนใน ANTI-HUMAN นั้น
เราชอบที่หนังมันเหมือนจะเปรียบเทียบภาวะจิตตัวละครกับความเป็นอสูรกายบางอย่าง
แต่เราก็ไม่ได้เข้าใจมันทั้งหมดนะ แต่ที่แน่ๆก็คือเรามีความสุขกับการที่หนังมันกระตุ้นให้เราได้ใช้ความคิดตรงจุดนี้
5.เสียดายที่เราไม่ค่อยได้ดูหนังอาร์ตเฮาส์/แวมไพร์มากเท่าไหร่
ไม่งั้นเราคงสามารถเปรียบเทียบได้มากกว่านี้ว่าจริงๆแล้ว ANTI-HUMAN มันคล้ายหนังอาร์ตเฮาส์/แวมไพร์มากกว่าหนังซอมบี้หรือเปล่า
โดยหนังอาร์ตเฮาส์/แวมไพร์ที่เรากะว่าจะดูแต่ยังไม่ได้ดูก็มีเช่นเรื่อง ONLY
LOVERS LEFT ALIVE (2013, Jim Jarmusch), NADJA (1994, Michael Almereyda) และ THE ADDICTION (1994, Abel Ferrara) โดยเฉพาะ THE
ADDICTION นี่เราอยากดูมานานมากแล้ว
เพราะเราได้ยินว่ามันเป็นหนังแวมไพร์ที่เน้นการวิเคราะห์ปรัชญาของ Heidegger,
Nietzsche และ Satre (Abel Ferrara นี่มัน Abel
Ferrara จริงๆ)
แต่การที่ ANTI-HUMAN ทำให้เรานึกถึงหนังแวมไพร์เรื่อง A
NOCTURNE
มันก็ทำให้เราคิดต่อไปด้วยนะถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างหนังซอมบี้กับหนังแวมไพร์
คือเรารู้สึกว่าโดยปกติแล้วหนังสยองขวัญสองกลุ่มนี้มีอะไรบางอย่างที่ตรงข้ามกันอยู่น่ะ
คือหนังซอมบี้โดยทั่วไปมันจะเน้น “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง” และตัวซอมบี้ก็จะ
“น่าเกลียด เน่าเฟะ” และ “โง่”
ในขณะที่หนังแวมไพร์หลายๆเรื่องจะเล่าเรื่องในวงที่แคบกว่าหนังซอมบี้
และตัวแวมไพร์เองก็จะหล่อเหลาหรือสวยสง่ามากๆ และจะเป็นคนที่ฉลาดรอบรู้มากๆด้วย
เพราะพวกเขาใช้ชีวิตมาหลายศตวรรษแล้ว
เราก็เลยชอบมากที่ ANTI-HUMAN กับ A NOCTURNE มันมีอะไรบางอย่างที่มาคล้ายกันได้
ทั้งๆที่โดยปกติแล้วหนังซอมบี้กับหนังแวมไพร์จะแตกต่างจากกันเป็นอย่างมาก
6.หนังเรื่อง ANTI-HUMAN แบ่งเป็น 3 ส่วน
นั่นก็คือส่วนของเมย์ (ญาณิศา พัฒนาวงศ์), แม่ (พรเพ็ญ ฟ้าอำนวย) และโมน และแต่ละตัวก็มีความเสียสติในแบบของตัวเอง
เมย์เป็นเด็กสาวที่เครียดกับการเรียน อยากสอบได้ที่หนึ่ง, แม่เป็นคนนิสัยเผด็จการ ส่วนโมนนั้นมีลักษณะที่น่าสนใจหลายอย่าง
แต่ข้อเสียสำคัญที่สุดของเธออาจจะเป็นการที่เธอไม่ยอมโทรแจ้งตำรวจหลังพบเหตุฆาตกรรม
มันเหมือนกับว่าเธอต้องการจะฉวยโอกาสทำประโยชน์บางอย่างจากเหตุฆาตกรรมนั้น (เราเดาว่าเธอต้องการจะแอบถ่ายหนังต่อไปเพื่อที่หนังนั้นจะได้ทำให้เธอประสบความสำเร็จ)
เราว่าตัวละครเมย์และแม่อาจจะเป็นตัวละครที่พบได้ในหนังสั้นไทยเรื่องอื่นๆ
โดยตัวละครที่คล้ายๆเมย์อาจจะพบได้ในหนังอย่างเรื่อง LONG FOR ขอให้น้ำแข็งละลาย
(2014, Phawinee Sattawatsakul) ส่วนตัวละครแม่เผด็จการอาจจะพบได้ในหนังอย่าง
“ผู้ปกครอง” (2014, Monsicha Wongsoontorn)
แต่ถึงแม้ตัวละครเมย์และแม่อาจจะเป็นตัวละครที่พบได้ในหนังเรื่องอื่นๆ
เราก็ไม่มีปัญหาตรงจุดนี้นะ เพราะ
6.1 ในหนังเรื่องอื่นๆ
ตัวละครแบบนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอเหมือนในหนังเรื่องนี้น่ะ นั่นก็คือไม่ได้ถูกนำเสนอแบบซอมบี้แบบนี้
6.2 เราเกลียดชังคนแบบนี้อยู่แล้วในชีวิตจริงน่ะ
เราก็เลยรู้สึกสะใจที่ ANTI-HUMAN ปฏิบัติต่อตัวละครเมย์และแม่แบบนี้
7.ชอบตัวละคร Mone มากๆ เป็นตัวละครที่เรา identify
ด้วยได้ในระดับนึงเลย ถึงแม้จะไม่ทั้งหมด เพราะเราเองก็เป็นคนที่ไม่ค่อยถูกกับสมาชิกบางคนในครอบครัว
และเป็นคนที่ซีเรียสมากกับเรื่อง “การล้ำเส้น” คือถ้าหากใครมาล้ำเส้นเรา
เราก็พร้อมจะสู้ตายน่ะ เราก็เลยชอบที่ ANTI-HUMAN สร้างตัวละครแบบนี้ขึ้นมา
อีกสิ่งหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจมากก็คือว่า
จริงๆแล้วตัวละครโมนมันเหมือนไปล้อกับตัวละครในหนังสั้นเรื่องอื่นๆของม.กรุงเทพโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยนะ
นั่นก็คือตัวละครพระเอกของ MR.PERFECT SCHOOL (2015, Natthapat Kraitrujpol)
ที่มีพฤติกรรมแอบถ่ายเหมือนกัน และผู้กำกับของหนังเรื่อง MY
GRANDFATHER’S PHOTOBOOK (2015, Nutthapon Rakkhatham +
Phatthana Paiboon, A+30) ที่เอาเรื่องของครอบครัวตัวเองมาทำเป็นหนังสั้น
คือเราว่ามันน่าสนใจดีน่ะที่ตัวละครโมนทำอะไรบางอย่างที่คล้ายๆกับ “พระเอก”
ในหนังเรื่องอื่นๆ แต่จริงๆแล้วเธอทำในสิ่งที่ผิดน่ะ คือมันเหมือนมีเส้นแบ่งบางๆที่กั้นอยู่ระหว่างสิ่งถูกกับสิ่งผิด
และโมนได้ล้ำเส้นนั้นไป เพราะฉะนั้น "การแอบถ่าย” และ “การเอาเรื่องของครอบครัวตัวเองมาทำเป็นหนัง”
ของเธอ ก็เลยล้ำเส้นไปอยู่ในขอบเขตของความผิด แทนที่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมือนที่ตัวละครพระเอกในหนังสั้นเรื่องอื่นๆทำกัน
8.จริงๆแล้วสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ
อาจจะเป็นเพราะว่าเรามีแนวโน้มที่จะอินอยู่แล้วกับหนังที่เน้นนำเสนอ “ความเกลียดชังระหว่างสมาชิกในครอบครัว”
น่ะ
9.ชอบมากที่ “การแต่งหน้า” กลายเป็นองค์ประกอบหลักของหนังเรื่องนี้
แทนที่จะเป็นองค์ประกอบรองเหมือนในหนังเรื่องอื่นๆ
10.ดู ANTI-HUMAN แล้วนึกถึง SHOKUNIN และ
BE-LOVED (2014, A+25) หนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ของ Nuttachai
Jiraanont ด้วย เพราะ ANTI-HUMAN มันมีทั้งประเด็นการกินเนื้อมนุษย์,
การฟื้นคืนชีพ และปัญหาในครอบครัวเหมือนๆกัน
ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Nuttachai Jiraanont จะกลายเป็น auteur
อีกคนนึงของไทยในอนาคตได้หรือไม่ แต่เราว่าเขาทำหนังเข้าทางเรามากๆนะ
และเราว่าเขามีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับหนังสยองขวัญของไทยได้
คือเราว่าหนังอย่าง BE-LOVED และ ANTI-HUMAN มันช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับหนังสยองขวัญของไทยได้ดีน่ะ เราว่าไทยมีผู้กำกับหนังสยองขวัญที่สุดยอดมากๆอย่าง
Monthon Arayangkoon และ Alwa Ritsila แล้วก็จริง
แต่ไทยยังขาดผู้กำกับหนังสยองขวัญอย่าง David Cronenberg, Kiyoshi
Kurosawa, David Lynch, Bruce La Bruce, Stefan Popescu, Jörg Buttgereit, etc. อยู่น่ะ เพราะฉะนั้นการที่มีผู้กำกับอย่าง Nuttachai ขึ้นมา มันก็เลยทำให้เราแฮปปี้มากๆ
No comments:
Post a Comment