PARASYTE: PART 1 (2015, Takashi Yamazaki, Japan, A+30)
--ไม่นึกมาก่อนว่า Takashi Yamazaki จะทำหนังที่เข้าทางเราได้ เพราะเราเกลียดหนังสองเรื่องของเขามากๆ
ซึ่งได้แก่ RETURNER (2002, D-) และ ALWAYS – SUNSET ON
THIRD STREET (2005, C-) ส่วน STAND BY ME DORAEMON (2014,
B+ ) เราก็ชอบแค่ในระดับปานกลาง
--ตอนแรกไม่ได้อยากดูหนังเรื่องนี้
เพราะเรานึกว่ามันคือเรื่องเดียวกับ PARASITE EVE (1997, Masayuki Ochiai) ที่เราเคยดูแล้วรู้สึกว่ามันน่าเบื่อมาก
--เราว่าเนื้อหาของ PARASYTE: PART 1 มันสนุกดี
และได้ยินมาว่าหนังดัดแปลงไปจากตัวบทประพันธ์เดิมมากพอสมควร
ซึ่งเราคิดว่าเป็นการดัดแปลงที่ดี เพราะที่เห็นอยู่นี้มันลงตัวมากๆ
--เราไม่ได้อ่านตัวบทประพันธ์เดิม
ก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วหนังจะบอกอะไรหรือเปล่า
คือตอนที่ดูจะนึกถึงหนังมนุษย์ต่างดาวอย่าง INVASION OF THE BODY SNATCHERS (1956, Don
Siegel) ที่เราเดาว่าหนังอาจจะพูดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์, BODY
SNATCHERS (1993, Abel Ferrara) ที่เราเดาว่าอาจจะพูดถึง militarism
เพราะหนังใช้ฉากเป็นค่ายทหาร และเป็นหนังที่สร้างขึ้นหลังจากเกิดสงครามอิรัก
และหนังอย่าง THEY LIVE (1988, John Carpenter) ที่ดูเหมือนจะสะท้อนประเด็นทางสังคมเช่นกัน
แต่ถึงแม้ PARASYTE จะไม่ได้สะท้อนประเด็นอะไร
เราก็ว่าหนังมันสนุกมากๆอยู่ดี
--ชอบการเคลื่อนกล้องในฉากยิงธนู
เราว่าการเคลื่อนกล้องในฉากนั้นมันส่งผลกระทบทางอารมณ์กับเรามากๆ
และทำให้ฉากนั้นมันทรงพลังมากๆสำหรับเรา (ถ้าจำไม่ผิด กล้องจับที่ปลายมือพระเอก
แล้วเคลื่อนผ่านให้เราเห็นธนู ไปที่หน้าพระเอก แล้วกล้องก็แทนสายตาพระเอกที่มองไปยังตึกตรงข้าม)
การเคลื่อนกล้องในฉากนั้นทำให้เรานึกถึงการเคลื่อนกล้องในหนังเรื่อง KRISTY (2014, Oliver Blackburn,
A+30) ด้วย เพราะใน KRISTY มันมีฉากนึงที่นางเอกเริ่มเปลี่ยนจากการหนีผู้ร้าย
มาเป็นการไล่ฆ่าล้างแค้น โดยในฉากนั้นนางเอกพบว่าผัวเธอถูกฆ่าตาย
แล้วกล้องก็เคลื่อนจากใบหน้าซีกซ้ายของนางเอก อ้อมไปทางด้านหลังของนางเอก
แล้วมาจบที่ใบหน้าซีกขวาของนางเอก
คือเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ คือการเคลื่อนกล้องแบบนี้เราว่ามันสะท้อนอารมณ์เดือดแค้นโกรธเกลียดรุนแรงได้อย่างสุดๆมาก
และเราว่ามันคล้ายกับการเคลื่อนกล้องในฉากยิงธนูใน PARASYTE: PART 1 เพราะในฉากนั้นพระเอกก็รู้สึกโกรธเกลียดเคียดแค้นฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงเช่นกัน
เราชอบที่ฉากที่ตัวละครรู้สึกโกรธเกลียดเคียดแค้นอย่างรุนแรงแบบนี้
ไม่จำเป็นต้องนำเสนอผ่านทางการกรีดร้อง, ตะโกนด่า หรือบทสนทนา หรือการแสดงออกอะไรที่รุนแรงมากนัก
แต่เราสามารถทำให้อารมณ์ในฉากมันรุนแรงขึ้นมามากกว่าฉากปกติได้ผ่านทางการเคลื่อนกล้อง
--เนื้อหาใน PARASYTE: PART 1 ทำให้เรานึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง BLUE
SEAL (1991-1994) หรือมฤตยูสีน้ำเงินของ Shinohara
Chie ด้วย เพราะถ้าจำไม่ผิด การ์ตูนเรื่องนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับอสูร/ยักษ์
4 กลุ่มที่กินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งได้แก่กลุ่มมังกรฟ้าทิศตะวันออกของนางเอก,
พยัคฆ์ขาวทิศตะวันตกของพระเอก, เต่าทมิฬทิศเหนือของผู้ร้าย และปักษาแดงทิศใต้ของนางอิจฉา
โดยในการ์ตูนเรื่องนั้นมันจะมีการ debate กันว่าในเมื่อพวกเราเป็นยักษ์
พวกเราก็ควรจะมีสิทธิกินมนุษย์เป็นอาหาร เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา
อะไรทำนองนี้ แต่นางเอกซึ่งเป็นมังกรฟ้าต่อต้านการกินมนุษย์ ก็เลยมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง
และมีการโต้เถียงกันเหมือนใน PARASYTE ว่า เราควรจะทำอย่างไร
จะกินมนุษย์ หรือจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ แล้วจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
จนกระทั่งในที่สุดก็หาทางตกลงกันได้ในตอนจบว่า เหล่ายักษ์พวกนี้ที่กินมนุษย์เป็นอาหารควรจะมีหลักปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไร
พอเราคิดถึง PARASYTE และ “มฤตยูสีน้ำเงิน” แล้ว
เราก็เลยนึกถึงหนังเรื่อง DEATH NOTICE: IKIGAMI (2008, Tomoyuki Takimoto)
ด้วย ที่มันเหมือนจะสร้างระบบหรือสร้างความชอบธรรมในการให้รัฐบาลฆ่าคนบริสุทธิ์ขึ้นมา
คือเรารู้สึกว่าหนัง+การ์ตูนญี่ปุ่นพวกนี้มันน่าสนใจในแง่ที่ว่ามันสะท้อนความปรารถนาอะไรบางอย่างในสังคมญี่ปุ่นหรือเปล่า
มันสะท้อนความต้องการอยากลดจำนวนประชากรหรือเปล่า 555
เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมาก และคนมีอายุยืนมาก ก็เลยเกิดปัญหาคนแก่เยอะจนกลายเป็นภาระหนักด้านสวัสดิการสังคม
คือเนื้อหาในหนัง+การ์ตูนพวกนี้
มันเหมือนจะต้องการสร้างระบบอะไรบางอย่างในการลดจำนวนประชากรลงน่ะ โดยที่การลดจำนวนประชากรนั้นอาจจะรวมถึงการฆ่าผู้บริสุทธิ์ด้วย
เราไม่แน่ใจว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องบังเอิญ
หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง+การ์ตูนของชาติอื่นๆจนเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า
หรือมันมีปรากฏอย่างโดดเด่นแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น
พูดถึงระบบในการฆ่าคนบริสุทธิ์ในญี่ปุ่นแล้ว
เราก็นึกถึงตำนานญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับการเอาคนแก่ไปทิ้งไว้บนเขาเพื่อให้ตายไปเองด้วย
อย่างที่ปรากฏในหนังเรื่อง THE BALLAD OF NARAYAMA (1983, Shohei Imamura), ในการ์ตูนเรื่อง SUKEBAN DEKA ของ Shinji
Wada (มีตอนนึงที่นางเอกค้นพบถ้ำที่มีโครงกระดูกคนแก่เป็นจำนวนมาก)
และในหนังเรื่อง DENDERA (2011, Daisuke Tengan) ที่เราอยากดูมากๆ
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มหญิงชราที่ถูกชาวบ้านเอาไปทิ้งไว้บนเขา แต่หญิงชรากลุ่มนี้ไม่ตาย
แล้วก็รวมตัวกันหาทางแก้แค้นชาวบ้าน
สรุปว่าที่เขียนมาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ PARASYTE มากนัก
แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงประเด็นต่างๆเหล่านี้
No comments:
Post a Comment