THAI GAY FILMS SEEN ON FRIDAY, MAY 15, 2015
1.ห้องน้ำสำหรับคนหลากหลายทางเพศ (2015, Kasem Bundit University
students, documentary, A+)
ชอบที่สารคดีเรื่องนี้ทำให้เราได้รู้ว่า มีโรงเรียนมัธยมในศรีสะเกษและมีร้านอาหารในขอนแก่น
ที่มีห้องน้ำสำหรับเพศที่สามด้วย รู้สึกว่าคนทำสารคดีช่างค้นหาดี
เพราะเราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน
แต่จุดที่ชอบมากก็คือ ฉากที่นักเรียนกะเทยกลุ่มนึงให้สัมภาษณ์
เรารู้สึกว่าฉากนี้พีคมากๆ ทั้งๆที่เราแทบไม่เห็นหน้าคนพูด เพราะหนังเบลอหน้าคนพูดเอาไว้
แต่ทั้งๆที่หนังเบลอหน้าคนพูดไว้แล้ว เราก็ยังรู้สึกว่าคนพูดดูมีหัวหูการแต่งกายที่อิทธิฤทธิ์สูงมากอยู่ดี
คือดูแล้วนึกไปถึงตัวละครในละครทีวีชุด LADY BOYFRIENDS เพื่อนกันมันส์ดีเลยน่ะ
คือมันเหมือนกับได้เห็นตัวละครที่ดูแรงมากๆในโลก fiction กระโดดเข้ามาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
แต่ถึงแม้น้องกะเทยที่ให้สัมภาษณ์จะดูแต่งกายแรงๆ
แต่คำให้สัมภาษณ์ของเธอดูเรียบร้อยมากๆ มันก็เลยทำให้เราชอบมากๆ
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่ฉากนี้มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าหนังยอมรับตัวตนของกะเทยคนนี้มากๆน่ะ
คือไม่ว่ากะเทยคนนี้จะแต่งตัวยังไง หรือพูดจายังไง
หนังก็นำเสนอออกมาตามความเป็นจริงอย่างนั้นว่านี่คือตัวตนของเธอ
(เราเข้าใจว่าที่หนังเบลอหน้าผู้ให้สัมภาษณ์เพราะ “ความจำเป็น” น่ะ
ก็เลยไม่ติดใจกับจุดนี้)
2.การเมืองเรื่องเพศหลากหลายในโรงเรียนมัธยมชายล้วน (2015, Kasem Bundit University
students, documentary, A+)
ชอบน้อยกว่าเรื่องข้างบนนิดนึง แต่จุดที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือบทสรุปช่วงท้ายเรื่อง
ที่โยงความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งในโรงเรียนมัธยม ไปยังปัญหาเรื่องการไม่มีสิทธิเลือกตั้งของคนไทยในวงกว้างในตอนนี้ด้วย
3.BEING (2015, Aroonakorn Pick, A)
ชอบช่วงแรกๆของหนังมากในระดับประมาณ A+15 ถึง A+30
คือเรารู้สึกชอบวิธีการถ่ายทำแบบนี้มากๆ มันดูเป็นหนังดราม่าชีวิตที่คุมโทนอารมณ์ได้ดี
และตัวละครคู่รักเกย์สองคนก็ดูน่ารักดี
แต่ความชอบของเรามาหล่นวูบในฉากไคลแมกซ์
ที่ตัวละครด่าทอกับพ่ออย่างรุนแรง เราว่าฉากนั้นอารมณ์มันกระฉอกหรือล้นเกินมากๆ
คือเราว่าฉากนั้นนักแสดงก็เล่นไม่ดี, บทสนทนาก็ไม่ทรงพลัง
และหนังยังพยายามเร้าอารมณ์ให้หนักขึ้นไปอีกผ่านทางการถ่ายและการตัดต่อ
ฉากนั้นก็เลยทำลายหนังมากๆในความเห็นของเรา
แต่สาเหตุนึงอาจจะเป็นเพราะมันเป็น “หนังโครงการ” ด้วยหรือเปล่า
เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
คือพอมันเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่ทางโครงการตั้งไว้
หนังก็เลยพยายามจะตอบโจทย์นั้นผ่านทางบทสนทนาในฉากนั้น และการพยายามจะยัดเยียดสาระสำคัญลงไปในหนังให้ได้ในฉากนั้น
มันก็เลยทำให้ฉากนั้นเสียสมดุลไป
คือถ้ามันไม่ใช่หนังโครงการ แต่เป็นหนังที่สร้างขึ้นโดยไม่ต้องสนว่าจะตอบโจทย์โครงการได้หรือเปล่า
เราก็คิดว่าฉากนั้นสามารถแก้ใหม่ได้หมดเลยนะ
คือเราคิดว่าหนังมันจะเข้าทางเรามากกว่า ถ้าหากในฉากนั้นตัวเอกของเรื่อง
ไม่ต้องทะเลาะกับพ่อ แต่กลายเป็นว่าเขามองพ่อด้วยความน้อยใจเป็นเวลานิ่งนานประมาณ
1 นาที แววตาของเขาแสดงให้เห็นถึงความโกรธ, น้อยใจ, เสียใจ, เศร้าใจ และต่อมาแววตาก็ค่อยๆสงบนิ่งขึ้น
เขาตัดสินใจได้แล้ว แล้วเขาก็พูดว่า “พอกันที” แล้วเขาก็ขึ้นห้องไป เก็บข้าวของ
แล้วก็พาคนรักออกจากบ้านไป โดยบอกกับคนรักว่า “เราตัดสินใจแล้วว่าเราจะไม่กลับมาที่นี่อีก
ไปกันเถอะ”
คือเราว่าถ้าหากฉากนั้นไม่มีการระเบิดอารมณ์ แต่ทำออกมาแบบข้างต้น
มันจะเข้าทางเรามากกว่าน่ะ แต่ถ้าหากอยากทำฉากระเบิดอารมณ์ มันก็ยากพอสมควรนะ
เพราะมันต้องคิดบทสนทนาที่ดีมากๆ สำหรับฉากนั้น และนักแสดงก็ต้องเล่นดีมากๆด้วย มันถึงจะทำให้ฉากระเบิดอารมณ์ออกมาดี
ฉากระเบิดอารมณ์ในหนังเกย์ที่เราว่าดีที่สุดคือฉากที่ Anne Bancroft ปะทะกับ
Harvey Fierstein ใน TORCH SONG TRILOGY (1988, Paul Bogart)
น่ะ ถ้าหากใครอยากทำฉากระเบิดอารมณ์ในหนังที่แสดงถึงความคับแค้นใจในความเป็นเกย์
ก็อาจจะลองดูจาก TORCH SONG TRILOGY ได้ในฐานะตัวอย่างที่ดีและทรงพลังมากๆ
4.แด่ความสวยงามของทุกเพศสภาพบนโลกใบนี้ (2015, อนุพร พานแก้ว, A-)
เหมือนเป็นสปอตโฆษณามากกว่าหนังนะ เราชอบช่วงแรกๆ
แต่เราว่าบทสรุปช่วงท้ายที่บอกว่า ดอกไม้บนโลกนี้ควรมีมากกว่าสองสี
มันฟังดูกึ๋ยๆยังไงไม่รู้ คือคำพูดพวกนี้มันเป็นไอเดียที่ดีเวลาสอนเด็กอนุบาลหรือเด็กประถมให้ยอมรับความหลากหลายทางเพศ
แต่พอมันมาอยู่ในสปอตโฆษณาสำหรับคนทั่วไป เราว่ามันดูแปลกๆ
5.แอ๊บสเตชั่น (2015, ปฏิภาณ สุรภิญโญ, B+)
ชอบ mood&tone มากๆ 555 ในแง่ที่ว่า มันดูเป็น romantic
comedy แบบสุดๆมากๆ และจริงๆแล้วเราว่าหนังสั้นไทยหลายๆเรื่องก็คุมโทนอารมณ์แบบ
romantic comedy ได้ออกมาไม่สุดตีนเท่าเรื่องนี้
แต่เราว่าช่วงท้ายเรื่องมันดูรวบรัดเกินไป
คือดูแล้วงงว่าทำไมตัวละครตัวนั้นต้องแอ๊บขนาดนั้นตั้งแต่ต้นเรื่องด้วย
คือดูแล้วมันงงๆในตรรกะในช่วงท้ายเรื่องน่ะ
คือตัวละครอาจจะมีเหตุผลในการทำเช่นนั้นก็ได้นะ แต่ถ้าหากหนังรวบรัดเกินไปจนตัวละครไม่ได้ชี้แจงเหตุผลออกมา
เราก็จะรู้สึกงงๆและทำให้ไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วตรรกะของหนังมันล่ม
หรือหนังมันมีตรรกะ แต่เราคิดตามมันไม่ทันเอง
No comments:
Post a Comment