KAMIAS: MEMORY OF FORGETTING (2006, Khavn De La Cruz, Philippines,
documentary, A+30)
กะหล่ำแตกแดกดันจริงๆ นึกว่าต้องปะทะกับหนังของ “คมไผ่ แข็งแรง”
เท่านั้นถึงจะเรียกได้ว่ากินกันไม่ลง
ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้
1.เราเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้เป็นการนำฟุตเตจโฮมวิดีโอที่ Khavn ถ่ายไว้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ
1990 มารวมเข้าด้วยกัน ภาพในหนังจึงเหมือนถ่ายด้วยกล้องวิดีโอราคาถูก
(หากเทียบกับภาพในหนังโดยทั่วๆไป) และเราก็ชอบ texture ภาพจากกล้องวิดีโอยุคเก่าในหนังเรื่องนี้มากๆ
มันทำให้หนังเรื่องนี้นอกจากจะเป็นการบันทึก “อดีตของครอบครัวๆหนึ่ง” , บันทึกเพลงฮิตในอดีต
และบันทึกสภาพบ้านเรือนในย่านนั้นในยุคนั้นเอาไว้แล้ว มันยังเป็นการบันทึก “เทคโนโลยีการถ่ายวิดีโอในอดีต”
เอาไว้ด้วย เพราะ texture หรือลักษณะภาพที่ถ่ายจากกล้องวิดีโอแบบนี้
เป็นสิ่งที่เราแทบไม่ค่อยเห็นกันแล้ว เพราะแม้แต่กล้องมือถือในยุคปัจจุบัน
ก็อาจจะถ่ายภาพได้คมชัดกว่านี้ และตัวหนังเองก็ตอกย้ำ “ความ low tech” ของตัวเองอยู่เป็นระยะๆด้วยภาพคลื่นสัญญาณรบกวนแบบยุคโบราณด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้
เราจึงรู้สึก nostalgia ในสองระดับ ระดับหนึ่งคือ “เนื้อหาในหนัง
โดยเฉพาะเพลงในหนังที่ทำให้เรานึกถึงอดีต” และระดับที่สองคือ “ลักษณะของภาพที่เราเห็น หรือ texture ของภาพที่เราเห็น”
ซึ่งเป็นลักษณะของโฮมวิดีโอในทศวรรษ 1980-1990 ที่เราแทบไม่เห็นแล้วในยุคปัจจุบัน
(นอกจากในหนังของ “สำนักงานใต้ดิน” ของไทย)
2.เราว่าหนังเรื่องนี้มีทั้งจุดที่เหมือนกับหนังของสำนักงานใต้ดิน (Wachara Kanha, Teeranit
Siangsanoh, Tani Thitiprawat) และจุดที่ตรงข้ามกัน โดยจุดที่เหมือนกันก็คือว่า
2.1 หนังเรื่องนี้ถ่ายภาพสิ่งละอันพันละน้อยในครอบครัวของตัวเอง
สิ่งต่างๆที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ และสภาพย่านที่อยู่อาศัยของตัวเอง
การถ่ายครอบครัวของตัวเองในแบบที่เน้น “ความธรรมดา” หรือ “ชีวิตประจำวัน” แบบนี้
ทำให้เรานึกถึงหนังหลายๆเรื่องของสำนักงานใต้ดิน อย่างเช่น
2.1.1 THE ATMOSPHERE AT MY HOUSE AT 6.00AM บรรยากาศยามเช้าที่บ้านตอน
6 โมง (2011, Wachara Kanha)
2.1.2 TAKE GRANNY MORN TO THE GARDEN พายายหมอนไปชมสวน
(2011, Wachara Kanha)
2.1.3 25-08-2554 (2011, Wachara Kanha)
ใน KAMIAS มีฉากที่ Khavn บันทึกภาพ “ฝนตกหนัก”
บริเวณบ้านของเขา ฉากนั้นก็เลยทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง 25-08-2554 ของวชร
ที่เป็นการบันทึกภาพ “ฝนตกหนัก” แถวบ้านของตัวเองเหมือนกัน
และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มากๆ คือเหตุการณ์ “ฝนตกหนัก” มันเป็นเหตุการณ์ธรรมดาๆที่คนธรรมดาทุกคนเจอในชีวิตไง
แต่มีศิลปินเพียงแค่ไม่กี่คนที่คว้าจับเหตุการณ์ธรรมดาๆในชีวิตธรรมดาๆเหล่านี้แล้วทำออกมาเป็นหนังที่เราชอบมากๆได้
ซึ่ง Khavn และวชรเป็นส่วนหนึ่งของศิลปินไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ได้
2.1.4 ME AND MY VIDEO DIARY (2010, Tani Thitiprawat)
2.2 นอกจากการบันทึกภาพ “ครอบครัวและละแวกบ้านของตัวเอง”
แล้ว KAMIAS ยังมีฉากที่บันทึกภาพถนนรนแคมเอาไว้ด้วย
ในฉากที่ Khavn นั่งรถไปรับพี่สาวของตัวเองที่โรงเรียนและที่โบสถ์
ซึ่งมันเป็นภาพท้องถนนธรรมดาๆนั่นแหละ แต่ Khavn ก็บันทึกภาพมันเอาไว้อย่างจริงจัง
และเราก็มีความสุขกับการดูภาพพวกนี้มากๆ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน
สิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏในหนังหลายๆเรื่องของสำนักงานใต้ดินเช่นกัน เพราะหนังของสำนักงานใต้ดินชอบบันทึกภาพวิวข้างถนนเอาไว้
ทั้งวิวที่ถ่ายจากรถไฟฟ้า, รถเมล์ และรถแท็กซี่
3.อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตรงกันข้ามกับหนังของสำนักงานใต้ดิน
และหนังโฮมมูฟวี่ของไทยอีกหลายๆเรื่อง (อย่างเช่น HOME ของ Patiparn
Amornthipparat, SUNDAY ของ Siwapond
Cheejedreiw และ SLEEPING BEAUTY ของ Chulayarnnon
Siriphol) ก็คือว่า หนังโฮมมูฟวี่ของไทยหลายๆเรื่องจะเน้นถ่ายแบบ
long take และตั้งกล้องนิ่ง โดยแทบไม่มีเสียงบรรยาย แต่ KAMIAS
จะเน้นตัดต่อช็อตละประมาณ 1 วินาที และมีเสียง voiceover ของ Khavn ตลอดเวลา
เราเข้าใจว่าการตัดต่อช็อตละประมาณ 1 วินาทีนี้ คงจะเป็นสิ่งที่ Khavn เองชอบเป็นการส่วนตัว
และอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากหนังโฮมมูฟวี่ของ Jonas Mekas อย่างไรก็ดี
KAMIAS ก็ไม่เหมือนกับหนังของ Mekas ในแง่ที่ว่า
KAMIAS สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองของ Khavn ออกมาอย่างเต็มที่ นั่นก็คือความเป็นคนตลกของเขา เสียงบรรยายของเขาที่อยู่ในหนังเรื่องนี้มันสร้างความฮาให้กับหนังได้อย่างมากๆ
4.การถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน
และเสียงบรรยายแบบบ้าๆบอๆเสียสติไปเรื่อยๆของ Khavn ในหนังเรื่องนี้
มันให้อารมณ์แบบ stream of consciousness มากๆ และเราก็ชอบลักษณะแบบนี้มากๆ
คือมันไม่ใช่ stream of consciousness แบบฟุ้งฝันฉันเธอและจักรวาลแบบ
TO THE WONDER (2012, Terrence Malick) แต่มันเป็น stream
of consciousness แบบกะหล่ำแตกแดกดันจริงๆ
5.หนังเรื่องนี้เลือกฉากเปิดและฉากปิดมาได้อย่างทรงพลังมากๆ
โดยในฉากเปิดนั้นเราแทบไม่เห็นอะไรเลย เราเห็นแค่เพียงแสงรำไรๆจากไฟฉาย แต่เราได้ยินเสียงหมูถูกเชือดอย่างทรมานมากๆ
ส่วนฉากปิดของหนังเรื่องนี้ที่ยาวประมาณ 5 นาทีนั้น ถือเป็นฉากที่คลาสสิคไปแล้วในความเห็นของเรา
เพราะในฉากนี้ Khavn บันทึกภาพหมาสองตัวที่เอากันกลางถนนเป็นเวลาประมาณ
5 นาที โดยที่ Khavn, เด็กผู้ชายคนหนึ่ง กับหมาตัวที่สาม
ก็เฝ้าลุ้นว่าเมื่อไหร่หมาสองตัวนี้จะเอากันเสร็จสักที แต่หมาสองตัวนี้ก็เอากันต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่อนาทรร้อนใจ
Khavn ก็เลยบันทึกภาพการเอากันนี้ต่อไปเรื่อยๆตลอด 5 นาที
6.สรุปว่า KAMIAS: MEMORY OF FORGETTING จัดเป็นหนังที่บันทึกภาพ “ครอบครัวและละแวกบ้าน”
ของตัวผู้กำกับเองได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นตัวของตัวเองมากๆ สำหรับเราแล้ว เราอยากจัดฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังที่นำเสนอประเด็นใกล้เคียงกัน
อย่างเช่น
6.1 THE ATMOSPHERE AT MY HOUSE AT 6AM (Wachara Kanha)
6.2 AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW
BRIEF GLIMPSES OF BEAUTY (2000, Jonas Mekas)
6.3 DAGUERREOTYPES (1975, Agnès Varda) ที่เป็นการบันทึกภาพย่านที่อยู่อาศัยของตัวผู้กำกับ
6.4 GREEN HOUSE EFFECT I (2013, Kompai Kaengraeng)
เราว่าหนัง 5 เรื่องนี้ (รวม KAMIAS ด้วย) น่าสนใจดี
เพราะนอกจากมันจะสะท้อนส่วนเสี้ยวบางอย่างในชีวิตจริงของผู้กำกับออกมาได้แล้ว หนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้ยังสะท้อนลายเซ็นของผู้กำกับแต่ละคนออกมาได้เป็นอย่างดีด้วย
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่เว็บไซต์นี้ (แต่ต้องเสียค่าสมาชิกนะจ๊ะ)
No comments:
Post a Comment