THE QUEEN OF THE STOCK EXCHANGE (1918, Edmund Edel, Germany, A+15)
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของ Helene Netzler (Asta Nielsen) เจ้าแม่ตลาดหุ้น,
เจ้าแม่เหมืองแร่ และเจ้าแม่ทองแดง
เธอประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการทำธุรกิจของเธอ และเธอก็ตกหลุมรัก Lindholm
(Aruth Wartan) ผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี
ความรักของเธอเผชิญกับอุปสรรค เมื่อ Lindholm หันไปชอบพอกับ Lina
ลูกพี่ลูกน้องของ Helene ที่มีฐานะยากจนและทำงานเป็นสาวใช้ของ
Helene
ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้
1.ชอบช่วงแรกของเรื่องมากๆ เพราะเราชอบการสร้างตัวละครนางเอกที่มีบุคลิกเป็นเจ้าแม่แบบนี้น่ะ
มันแตกต่างจากหนังอีก 3 เรื่องของ Asta Nielsen ที่เราได้ดูก่อนหน้านี้ที่นางเอกมีบุคลิกเป็นสาวน้อยผู้อ่อนต่อโลกในระดับนึง
ดูนางเอกในหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงนางเอกในนิยายของ Sidney Sheldon อย่างเรื่อง MASTER OF THE GAME (1982) กับ THE
STARS SHINE DOWN (1992) ที่มีลักษณะเป็นเจ้าแม่ธุรกิจเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี พอครึ่งหลังของหนังมันไปเน้นเรื่องการชิงรักหักสวาท
เสน่ห์ของหนังก็เลยลดลงน่ะ
เพราะมันไม่ได้ทำให้นางเอกของหนังเรื่องนี้มีความแตกต่างไปจากนางเอกนิยายน้ำเน่าโดยทั่วไป
ในขณะที่ช่วงครึ่งแรกของเรื่อง นางเอกถือเป็นตัวละครที่โดดเด่นน่าสนใจมากๆ
2.ตอนที่เราดูหนัง 3 เรื่องของ Asta Nielsen ก่อนหน้านี้
ซึ่งได้แก่เรื่อง THE SUFFRAGATE (1913, Urban Gad, Germany, 60min, A-),
THE ABC OF LOVE (1916, Magnus Stifter, Germany, A-) และ
THE ESKIMOBABY (1918, Heinz Schall, Germany, A+25) เรารู้สึกว่า Asta
Nielsen มีบุคลิกแก่นแก้วแบบจารุณี สุขสวัสดิ์น่ะ
แต่พอมาในหนังเรื่องนี้
เรากลับรู้สึกว่าบุคลิกนางเอกของหนังเรื่องนี้เหมือนมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช
ในละครทีวีประเภท “โอ้มาดา” (1981, อดุลย์ ดุลยรัตน์)
3.เราว่าการถ่ายภาพในหนังเรื่องนี้มีจุดนึงที่แตกต่างไปจากหนัง 3
เรื่องของ Asta ที่เราได้ดูก่อนหน้านี้ เพราะหนัง 3
เรื่องที่เราได้ดูก่อนหน้านี้นำเสนอเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นใน “อาคาร” หรือ
“บ้าน” แต่ในหนังเรื่องนี้นั้น มีหลายฉากที่เป็นการถ่ายแบบ long shot เราเห็นทัศนียภาพของสถานที่ในมุมกว้างอย่างเต็มที่ อย่างเช่นในสวน,
ในสนามหญ้า, ในเหมือง, ในตลาดหุ้น
และมีหลายฉากที่ตัวละครเดินทางจากส่วนหลังของภาพเพื่อมายังส่วนหน้าของภาพ
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการถ่ายภาพแบบนี้ในหนังเรื่องนี้มีจุดประสงค์อะไร
แต่เราเดาว่ามันทำให้หนังเรื่องนี้ดูแตกต่างจากละครเวทีดี
เพราะถ้าหากเป็นฉากที่ตัวละครคุยกันในอาคารหรือบ้านนั้น
มันดูคล้ายๆกับเป็นสิ่งที่ละครเวทีก็สามารถทำได้
แต่ถ้าหากเป็นฉากที่ตัวละครวิ่งจากระยะไกลเป็นเวลานานเพื่อเข้ามายัง foreground ของภาพ
มันดูเป็นสิ่งที่ละครเวทีไม่สามารถทำได้ และเราเดาว่าสื่อภาพยนตร์ในยุคเริ่มต้นแบบในหนังเรื่องนี้อาจจะพยายามสร้างความแตกต่างจากละครเวที
4.ชอบการเก็บบรรยากาศของเหมืองในยุคนั้น
น่าประหลาดดีที่เราแทบไม่ค่อยได้เห็นหนังเยอรมันยุคปัจจุบันพูดถึงการทำเหมืองเลย
เราเดาว่าอาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจเยอรมนีคงเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว เราได้เห็น
“เหมือง” ในเยอรมนีในหนังแค่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งได้แก่เรื่องนี้กับในหนังเกาหลีใต้เรื่อง
ODE TO MY FATHER (2014, Youn Jk,
A+30)
5.ชอบการนำเสนอภาพตลาดหุ้นในยุคนั้นด้วย
ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง DR.MABUSE THE GAMBLER (1922, Fritz Lang, 270min) ที่นำเสนอภาพความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดหุ้นเยอรมนียุคนั้นเหมือนกัน
6.ตอนดูหนังเรื่องนี้แล้วเรางงกับช่วงท้ายเรื่องมากว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ตกลงใครทำอะไรยังไงกันแน่ ดูจบแล้วเราต้องไปอ่านสิ่งที่นักวิจารณ์เขียน เราถึงเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงท้ายเรื่อง
เราไม่แน่ใจว่านี่เป็นข้อจำกัดของหนังเงียบหรือเปล่า
เพราะหนังเงียบมันไม่ได้ขึ้นบทสนทนามาทุกประโยค มันเหมือนตัวละครพูดกัน 10 ประโยค
แต่หนังเงียบจะขึ้น intertitle มาให้เราเพียงแค่ 1 ประโยคเท่านั้น ส่วนอีก
9 ประโยค คนดูต้องจินตนาการกันเอง ซึ่งมันจะไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
ถ้าหากมันเป็นฉากตัวละครสรวลเสเฮฮาฮี้ห่ากันตามธรรมดา
แต่พอมันเป็นฉากที่ตัวละครวางแผนการลับแผนการร้ายกัน แล้วหนังไม่ขึ้น intertitle มา ตอนดูเราก็ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า
ตกลงตัวละครมันวางแผนอย่างไรกันแน่ ตกลงแล้วมันมีเจตนาอะไรกัน
เราก็เลยเดาบทสนทนาผิดไปจากสิ่งที่หนังตั้งใจเยอะมาก
สรุปว่าชอบ THE QUEEN OF THE STOCK EXCHANGE มากพอสมควร
ชอบที่หนังเรื่องนี้นำเสนอธุรกิจเหมืองแร่โลหะและตลาดหุ้นในยุคเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน
แต่น่าเสียดายที่หนังหันไปเน้นเรื่องชิงรักหักสวาท
แทนที่จะเน้นเรื่องการตบตีกันทางธุรกิจให้มากกว่านี้
เราว่าหนังที่มีประเด็นใกล้เคียงกันและทำออกมาได้ดีกว่า คือ THE LADY BANKER (1980, Francis
Girod) ที่นำแสดงโดย Romy Schneider ในบทของนักการธนาคารหญิงผู้โด่งดังในฝรั่งเศสในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่
20 หนังสร้างจากเรื่องจริง และถ้าเราจำไม่ผิด
หนังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการทำธุรกิจมากพอสมควร
แต่เราก็ไม่รู้บริบทของการดูภาพยนตร์ในปี 1918 นะ บางทีการที่ THE QUEEN OF THE STOCK EXCHANGE เน้นเรื่องชิงรักหักสวาท อาจจะไม่ใช่ข้อผิดพลาดใหญ่ของผู้สร้างหนังเรื่องนี้ก็ได้
บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้หนังขายได้ในยุคนั้น ส่วน THE LADY
BANKER เป็นหนังปี 1980
ซึ่งเป็นยุคที่ภาพยนตร์มีทางเลือกหลากหลายแล้ว
เพราะฉะนั้นมันก็เลยนำเสนอประเด็นซีเรียสๆได้เต็มที่
No comments:
Post a Comment