Friday, May 22, 2015

OLD SCAR (2014, Teeranit Siangsanoh, A+30)


OLD SCAR (2014, Teeranit Siangsanoh, 13min, A+30, ดูซ้ำ)
แผลเก่า

หนังเรื่องนี้เป็นการนำ “แผลเก่า” (1977, เชิด ทรงศรี) มาดัดแปลงใหม่โดยใช้มันในแบบ found footage โดยเราจะได้เห็นภาพบางภาพจากแผลเก่าเวอร์ชั่นปี 1977 และได้ฟังเสียงที่มาจากหนังเรื่องนั้น สำหรับเราแล้วมันเหมือนเป็นการคั้นเอา “หัวกะทิ” ของแผลเก่าปี 1977 ออกมา โดยผู้กำกับเลือกเอาเพียง 1% ของภาพและ 5% ของเสียงที่ตัวเองชื่นชอบจากหนังเวอร์ชั่นปี 1977 มาประกอบสร้างเป็นหนังเรื่องใหม่

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า เมื่อเทียบกับหนังประเภท found footage ด้วยกันเองแล้ว สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือหนังให้ความสำคัญกับ “เสียง” มากกว่า “ภาพ” เพราะหนัง found footage โดยทั่วไปมักจะใช้แต่ภาพจากหนังเก่า แต่ไม่เอาเสียงมาด้วย อย่างเช่นใน THE AGE OF ANXIETY (2013, Taiki Sakpisit) ที่มีการสร้างดนตรีใหม่ขึ้นมาใช้ประกอบภาพจากหนังเก่า, THE BRIGHT SUPERNATURAL POWER OF NAE WAT DAO (2013, Yingsiwat Yamolyong) ที่มีการพากย์เสียงตัวละครใหม่เข้าไปเพื่อสร้างความตลกขบขัน,  THE FOURTHLAND OF HEAVEN (2013, Pramote Sangsorn) ที่มีการใช้ voiceover ใหม่ประกอบกับภาพจากหนังเก่า หรือหนังอย่าง MERMAIDS WEARING PANTS (2009, Ratchapoom Boonbunchachoke) ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับภาพจากหนังเก่ามากกว่าเสียงเช่นกัน

การที่ OLD SCAR เวอร์ชั่นของ Teeranit ให้ความสำคัญกับเสียงมากกว่าภาพ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ และมันทำให้เราได้ตระหนักถึงความงดงามของบทสนทนาในหนังของเชิด ทรงศรี และความสามารถในการพูดบทสนทนาของสรพงษ์ ชาตรี ที่สามารถพูดบทสนทนาที่ดูเหมือนจะเป็นภาษาเขียน ออกมาได้อย่างไม่ขัดเขินและทรงพลังมากๆ องค์ประกอบด้านบทสนทนา+วิธีการพูดของตัวละครเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะเคยมองข้ามในอดีต แต่หนังเรื่องนี้ได้ช่วยขับเน้นมันออกมาให้เห็นเด่นชัด

 คือถ้าหากหนังเรื่องนี้ตัดมาทั้งภาพและเสียงจากหนังเก่า เราก็อาจจะมุ่งความสนใจไปที่ภาพเหมือนเดิมแทน เราอาจจะมุ่งความสนใจไปที่ความสามารถทางการแสดงออกทางร่างกายและใบหน้าของนักแสดง การจัดเฟรมภาพ ความงดงามในการถ่ายทำ ฯลฯ แต่พอ OLD SCAR ของ Teeranit เลือกมาแต่ภาพบางภาพจากหนังเก่า และใช้มันในฐานะของ “ภาพนิ่ง” แทนที่จะเป็นภาพเคลื่อนไหว และปล่อยให้เสียงจากหนังเก่าไหลเคลื่อนไปเรื่อยๆ เราจึงต้องมุ่งความสนใจไปที่ “เสียง” โดยอัตโนมัติ และมันทำให้เราได้ตระหนักถึงความงดงามและความทรงพลังขององค์ประกอบนี้ในหนัง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่อาจจะหาได้ยากในหนังของผู้กำกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้กำกับหนังกระแสหลักของไทยในยุคปัจจุบัน

น่าสนใจดีที่การทำหนังแบบ found footage นั้นมีหลากหลายวิธีการด้วยกัน มันมีทั้งการเอาหนังเก่าหลายๆเรื่องของผู้กำกับคนเดียวกันมาตัดเข้าด้วยกันเพื่อค้นหา motif ที่พบบ่อยๆในหนังของผู้กำกับคนนั้น (PHOENIX TAPES ของ Matthias Mueller + Christoph Girardet), การเอาหนังหลายๆเรื่องมาตัดเข้าด้วยกันเพื่อหาความเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง (LOVE ของ Tracey Moffatt และ WORKERS LEAVING THE FACTORY ของ Harun Farocki), การวิเคราะห์ประเด็นทางการเมืองจากฟุตเตจหนังเก่า (DIAL H-I-S-T-O-R-Y ของ Johan Grimonprez) และการสร้างจังหวะภาพแบบใหม่ให้กับหนังเก่า (หนังของ Martin Arnold) และผลงานหนังเรื่อง “แผลเก่า” กับ “เพื่อน แพง” ของ Teeranit ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างหนังแบบ found footage ที่น่าสนใจมากๆ




No comments: