Tuesday, May 05, 2015

I DON’T WANT TO BE A MAN (1918, Ernst Lubitsch, Germany, A+10)

I DON’T WANT TO BE A MAN (1918, Ernst Lubitsch, Germany, A+10)

Ossi (Ossi Oswalda) เป็นสาวน้อยที่ชอบกินเหล้า, สูบบุหรี่, เล่นไพ่กับผู้ชาย และออกไปเที่ยวนอกบ้าน เธอพบว่าการกระทำของเธอสร้างความไม่พอใจให้กับคุณลุง, ครูประจำบ้าน และผู้ดูแลหนุ่ม เธอก็เลยปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อออกไปเที่ยวนอกบ้านให้สะใจ

ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้

1.หนังเรื่องนี้มีปัญหาทางทัศนคติแบบเดียวกับหนังเรื่อง THE SUFFRAGATE (1913, Urban Gad, Germany, 60min, A-) และ THE ABC OF LOVE (1916, Magnus Stifter, Germany, A-) เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้ดูเหมือนจะมีจุดร่วมเดียวกันในการต่อต้านสิทธิสตรี และบอกว่าผู้หญิงก็ควรทำตัวแบบผู้หญิงน่ะดีแล้ว ไม่ควรจะทำตัวแบบผู้ชาย

แต่ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับทัศนคติของหนังสามเรื่องนี้ การได้ดูหนัง 3 เรื่องนี้ก็ทำให้เราเข้าใจสังคมยุคนั้นนะว่า ช่วงนั้นประเด็นเรื่องสิทธิสตรีกำลังมาแรงจริงๆ และสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคงจะเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลให้โครงสร้างสังคมแบบเก่าอ่อนแอลง และในที่สุดบางประเทศในยุโรปก็ต้องยอมให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

2.อย่างไรก็ดี เราชอบ I DON’T WANT TO BE A MAN มากกว่า SUFFRAGATE และ THE ABC OF LOVE มาก สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า Ernst Lubitsch เขาเก่งจริง เขาสามารถทำหนังให้ดูน่าเพลิดเพลินและรื่นรมย์ได้ ถึงแม้เราจะกังขากับทัศนคติของหนังอย่างมากๆก็ตาม

3.เราชอบ Ossi Oswalda นางเอกหนังเรื่องนี้มากๆ เราว่าเธอดูแหลนแต้มากๆ ถ้าเทียบกับนักแสดงไทยเราจะนึกถึงกนกวรรณ บุรานนท์ คือเป็นนักแสดงหญิงที่แสดงตลกได้แบบถึงขั้นมากๆน่ะ และเราว่าหนังเรื่องนี้ทำให้ Ossi ดูน่ารักซุกซนเหมือนเด็กดื้อดีด้วย

4.หนังเรื่องนี้มีบางฉากที่ดู homoerotic ดีด้วย

5.เราว่า Ernst Lubitsch เก่งมากๆในการกำกับฉากโรงระบำ เพราะมันเป็นฉากที่ผู้คนเยอะมาก และแต่ละคนก็เคลื่อนไหวพึ่บพั่บกันตลอดเวลา คือมันเป็นฉากที่ดูอลหม่านมากๆน่ะ แต่เราว่าจริงๆแล้วความอลหม่านในฉากนี้อยู่ภายใต้การควบคุมเป็นอย่างดี ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่ยากในระดับนึง คือคุณต้องกำกับตัวประกอบจำนวนมากให้เคลื่อนไหว+แสดงสีหน้าที่เหมาะสมภายในกรอบภาพน่ะ เราว่า Lubitsch เก่งมากๆตรงจุดนี้

มีจุดนึงที่ไม่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้โดยตรง แต่อยากจะกล่าวถึง นั่นก็คือเราเคยดูหนังของ Ernst Lubitsch อีกสองเรื่อง คือ THE DOLL (1919) กับ THE OYSTER PRINCESS (1919, A+30) โดยใน THE OYSTER PRINCESS มีฉากเด่นฉากนึงที่ประทับใจเรา นั่นก็คือฉากที่ผู้หญิงต่อยมวยกันเพื่อแย่งผู้ชาย

คือพอหลังจากเราดูหนังเรื่องนี้ได้ไม่กี่ปี ก็มีโฆษณา deodorant อันนึงทางโทรทัศน์ไทยที่นำเสนอภาพผู้หญิงต่อยมวยกันเพื่อแย่งผู้ชายน่ะ แล้วโฆษณาอันนี้ก็ถูกด่าทออย่างรุนแรงใน Pantip เหมือนกับว่ามันเป็นการกระทำที่เลวทรามต่ำช้ามากๆที่ทำโฆษณาแบบนี้ออกมา ในขณะที่เรามองว่าโฆษณานี้มันแปลกดี มันเหมือนเป็นไอเดียฮาๆอันนึง มันเป็นไอเดียแบบหนัง black comedy น่ะ แต่หลายคนใน Pantip มองว่ามันเลวทรามมาก

ตอนนั้นเราก็ได้แต่คิดว่า มันช่างเป็นเรื่องที่ประหลาดดี ที่เยอรมนีในปี 1919 สามารถนำเสนอภาพผู้หญิงต่อยมวยกันเพื่อแย่งผู้ชายได้โดยเสรี แต่พอภาพแบบนี้มาปรากฏในประเทศไทยในทศวรรษ 2000 หรืออีก 80 ปีต่อมา มันกลับกลายเป็นภาพที่ controversial และได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงมาก



No comments: