HOW TO WIN AT CHECKERS (EVERY TIME) (2015, Josh Kim, A+30)
“I shouldn’t mind learning why—why the sun do shine on the just and
the unjust alike, but that’s what books will not tell me.”—said Tess from TESS
OF THE D’URBERVILLES (1891, Thomas Hardy)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ตอนดูหนังเรื่องนี้จบ รู้สึกตกใจมากว่ามันจบแล้วเหรอ นึกว่าหนังมันยาวแค่
30 นาที หรือหนังเพิ่งดำเนินมาครึ่งเรื่องเอง คือเราไม่เคยรู้เรื่องย่อหนังเรื่องนี้มาก่อนน่ะ
และเราก็เห็นแต่ภาพโทนี่ รากแก่นจากหนังเรื่องนี้ เราก็เลยรอดูว่าเมื่อไหร่โทนี่
รากแก่นจะออกมาขับเคลื่อนเรื่องในฐานะพระเอกเสียที และขณะที่ดูเราก็จะนึกว่า อ๋อ
หนังอาจจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนของพี่ชาย และส่วนที่สองคงจะเป็นส่วนของน้องชาย
เรานึกว่าโทนี่ รากแก่นจะเป็นพระเอกในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง แต่ปรากฏว่าพอเขาออกมา
หนังก็จบไปเลย เราก็เลยงงๆ 555
2.อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า “หนังมันจบโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว”
ก็คือว่า ขณะที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราจินตนาการ “เส้นอารมณ์” หรือ “เส้นเรื่อง” ในแบบที่ผิดไปจากตัวหนังน่ะ
คือในช่วงต้นของหนังเรื่องนี้ เราเห็นตัวละครพี่ชายเป็นคนจนที่มีบุคลิกฮึดฮัด
ดูเหมือนเป็นคนเลือดร้อน เราก็เลยจินตนาการว่า ในช่วงท้ายเรื่องอาจจะมีฉากไคลแมกซ์
ประเภทที่พี่ชายระเบิดอารมณ์ออกมา บู๊ หรือล้างแค้น ชิบหายวายป่วง
วินาศสันตะโรกันใหญ่ หรือไม่ก็พอน้องชายโตเป็นโทนี่ รากแก่น
ก็อาจจะกลับมาแก้แค้นให้พี่ชาย อะไรทำนองนี้ 555 ปรากฏว่าหนังมันไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้เลย
มันไม่มีการระเบิดอารมณ์ในฉากไคลแมกซ์อะไรแบบที่เราคาดไว้ทั้งสิ้น
และนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่า
หนังมันจบลงโดยที่เรายังไม่ทันตั้งตัว
3.แต่เราชอบที่หนังมันมีเส้นอารมณ์หรือเส้นเรื่องที่ผิดไปจากที่เราคาดไว้มากนะ
คือเราว่าฉากที่หนักที่สุดในหนังฉากนึงสำหรับเรา
คือฉากที่พี่ชายเขย่าขวดแล้วเหมือนจะระงับอารมณ์ไม่อยู่น่ะ
คือในฉากนั้นพี่ชายคงรู้สึกแย่กับชีวิตตัวเองอย่างสุดๆ
และสติของเขาคงใกล้จะขาดผึงมากๆ เขาอาจจะอยากฆ่าตัวตายด้วยการเขย่าขวดเพื่อให้ไฟลุกพรึ่บขึ้นมาเผาเขาจนตายไปเลย
และในใจเขาตอนนั้นก็คงเหมือนถูกแผดเผาด้วยไฟอยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ทำแบบนั้น
เขาเกือบๆจะทำ แต่ไม่ได้ทำ
เราว่า moment แบบนี้มันดีมากๆ และมันโหดมากๆสำหรับเรา
มันดีมากๆในแง่ที่ว่า เราเองก็อาจจะเคยรู้สึกแบบนี้ รู้สึกเหมือนสติจะขาดผึง
รู้สึกเหมือนจะคุมตัวเองไม่อยู่อีกต่อไป รู้สึก nervous breakdown หรืออยากจะตายไปให้รู้แล้วรู้รอด เหมือนอยู่ตรงขอบเหว
แต่ตัดสินใจไม่กระโดดลงไปในท้ายที่สุด
คือฉากนี้มันดีมากๆสำหรับเราในแง่ที่มันสะท้อน moment บางอย่างในชีวิตเรา
แต่มันก็โหดมากๆในขณะเดียวกัน
เพราะมันส่งผลให้ตัวละครพี่ชายแทบไม่ได้ระบายอารมณ์ออกมาอย่างจริงๆจังๆเลย
คือในหนังเรื่องอื่นๆ
ปกติแล้วตัวละครแบบนี้จะได้มีโอกาสปลดปล่อยอารมณ์ออกมามากกว่านี้ ได้ตะโกนสุดเสียง
หรืออย่างน้อยๆก็ได้ฆ่าศัตรู มันมีการ release
ความทุกข์ทรมานใจออกมาในหนังเรื่องอื่นๆ แต่ในหนังเรื่องนี้
มันเหมือนตัวละครพี่ชายต้องกลืนก้อนความทุกข์นั้นกลับเข้าไปข้างในตัวเอง
และไม่ได้ระบายมันออกมาเลย การที่ตัวละครไม่ได้ “ปลดปล่อย” เลยนี้
มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้ “โหด” สำหรับเรามากกว่าหนังทั่วๆไป
4.การที่เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันจบลงโดยไม่ทันตั้งตัว
เป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้ไม่มีฉากไคลแมกซ์แบบที่ “พระเอกปะทะกับผู้ร้าย”
แบบที่เราคาดไว้ในตอนแรก ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้ไม่มี “ผู้ร้าย”
แบบในหนังทั่วๆไปน่ะ และจุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้
คือถ้าหากเป็นหนังทั่วๆไป หนังก็จะสร้างตัวละครผู้ร้ายที่เป็นรูปธรรม
เป็นมนุษย์เหี้ยๆขึ้นมาเลย และคงจะหาเรื่องให้ตัวละครเจ้าพ่อกับลูกชายเจ้าพ่อ
มารังแกครอบครัวตัวเอกอย่างตรงไปตรงมา
เพื่อนำไปสู่ฉากไคลแมกซ์ที่ตัวละครพี่ชายน้องชายปะทะกับผู้ร้ายในที่สุด
แต่ในหนังเรื่องนี้นั้น เจ้าพ่อกับลูกชายเจ้าพ่อ
ไม่ได้มาทำร้ายครอบครัวตัวเอกโดยตรง คือพวกเขาเป็นคนเลว แต่ดูเหมือนครอบครัวตัวเอกจะถูกทำร้ายจากสิ่งอื่นๆมากกว่า
ทั้งปัญหาการเงิน, ปัญหาชนชั้น, ระบบการเกณฑ์ทหาร, ความไม่เป็นธรรมในการเกณฑ์ทหาร,
ปัญหาชายแดนใต้ และชะตากรรม คือสิ่งที่ทำร้ายตัวเอกเหล่านี้ มันไม่ใช่ตัวละครที่เป็นมนุษย์น่ะ
แต่มันเป็น “ระบบ” เป็นนามธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่ว่าตัวพี่ชายกับน้องชายจะทำยังไง
ก็ไม่มีทางจะต่อสู้, เอาชนะ, เปลี่ยนแปลง หรือโค่นล้มระบบแบบนี้ได้
สิ่งที่ทำได้มีเพียงแค่การหาทางเอาตัวรอดภายในระบบแบบนี้เท่านั้น
คือพอ “ผู้ร้าย” ในหนังเรื่องนี้เป็นแบบนี้
มันก็เลยไม่มีฉากไคลแมกซ์แบบที่เราคาดไว้ในตอนแรก
และทำให้เส้นอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ออกมาผิดจากที่เราคาดไว้ในตอนแรกเป็นอย่างมาก
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ
5.และพอ “ผู้ร้าย” ในหนังเรื่องนี้เป็นแบบนี้ มันก็เลยทำให้เรานึกไปถึงนิยายเรื่องนึงที่เราชอบสุดๆ
ซึ่งแทบไม่มีอะไรใกล้เคียงกับหนังเรื่องนี้เลย ซึ่งก็คือนิยายเรื่อง TESS OF THE D’URBERVILLES 5555 ซึ่งสาเหตุที่เรานึกเชื่อมโยงสองสิ่งที่แตกต่างกันมากนี้เข้าด้วยกัน
เป็นเพราะว่า HOW TO WIN AT CHECKERS มันสร้างความสะเทือนใจเราตรง
“ความไม่เป็นธรรม” ในสังคม และในชะตาชีวิตมนุษย์น่ะ
และมนุษย์ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางออก ไม่มีทางต่อสู้
ไม่มีทางต่อต้านความไม่เป็นธรรมในระบบที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วย นอกจากต้องก้มหน้ายอมรับมันโดยดุษณี
และยิ่งคุณพยายามจะต่อต้านมันมากเพียงใด ชีวิตของคุณก็จะยิ่งชิบหายมากเพียงนั้น
เหมือนอย่างการที่น้องชายพยายามจะช่วยพี่ชายด้วยการขโมยของ
แต่กลับส่งผลให้ชีวิตพี่ชายต้องชิบหายหนักกว่าเดิมไปอีก
ประเด็นเรื่อง “ความไม่เป็นธรรม” ในสังคมและชะตาชีวิต
มันทำให้เรานึกถึง TESS น่ะ โดยเฉพาะ quote คำพูดจาก
TESS ที่เราใส่ไว้ข้างบน ที่ออกมาในทำนองที่ว่า “ฉันไม่อยากอ่านหนังสือนู่นนั่นนี่หรอก
แต่ฉันไม่รังเกียจหรอกนะถ้าหากจะได้เรียนรู้ว่า
เพราะเหตุใดพระอาทิตย์ถึงฉายแสงลงมาบนคนที่ยุติธรรมและคนที่ไร้ความยุติธรรมเหมือนๆกัน
แต่นั่นคือสิ่งที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนให้คำตอบแก่ฉันได้”
นอกจากประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมแล้ว อีกจุดที่ทำให้นึกถึง TESS ก็คือเรื่องการต่อสู้กับคนเลว
แล้วชีวิตยิ่งชิบหายหนักขึ้นไปอีกด้วย คือคนที่อ่านนิยายเรื่อง TESS คงรู้ดีว่า การที่เทสส์แก้แค้น ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย มีแต่จะทำให้ชีวิตชิบหายหนักยิ่งขึ้นเหมือนกับตัวน้องชายใน
HOW TO WIN AT CHECKERS
และอีกจุดที่ทำให้นึกถึง TESS ก็คือเรื่อง “ชะตากรรม” น่ะ
คือทั้งตัวละครพี่ชายใน HOW TO WIN และเทสส์
มันไม่ได้ถูกระบบสังคมทำร้ายอย่างเดียว มันเหมือนถูกโชคชะตากลั่นแกล้งด้วยน่ะ
มันเหมือนกับว่าโลกหรือจักรวาลหรือใครก็ตามที่มีอำนาจคุมจักรวาลอยู่
มันอยุติธรรมจริงๆ ตัวละครไม่มีทางหนีรอดพ้นเงื้อมมือของชะตากรรมไปได้
ทั้งๆที่ตัวละครเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวละครไม่ได้ทำผิด แต่ตัวละครก็ถูกชะตากรรมเล่นงานอย่างรุนแรง
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่าใน TESS มันจะให้ความรู้สึกถึง
“จักรวาลที่ไม่เป็นธรรม” มากกว่าใน HOW TO WIN ส่วนใน HOW
TO WIN มันจะให้รู้สึกถึง “สังคมที่ไม่เป็นธรรม” มากกว่า
6.ชอบคู่เกย์ในหนังมากๆเลยด้วย เป็นคู่ที่พาฝันมากๆ คนนึงผิวคล้ำดูบ้านๆ
ถึกๆหน่อย ส่วนอีกคนหล่อแบบสะอาดสะอ้าน กรี๊ดดดดดดดดดดดดด
7.ชอบมากๆที่สังคมในหนังดูเหมือนจะยอมรับเกย์ได้แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาชนชั้นและความไม่เป็นธรรมอยู่
คือในแง่นึงมันทำให้เรานึกถึงเรื่อง “สิทธิสตรี” และ “สิทธิของคนผิวสี” น่ะ คือสตรีและคนผิวสีในหลายๆประเทศก็เคยเป็นผู้ด้อยสิทธิมาก่อน
แต่ในเวลาต่อๆมา สตรีก็ได้รับสิทธิเท่ากับผู้ชาย
และคนผิวสีก็ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาว
และสังคมก็ปฏิบัติต่อความรักของคนต่างสีผิวในแบบที่มองว่ามันเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ปัญหาเรื่องชนชั้นและความไม่เป็นธรรมก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม คือมันเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่าน่ะ
8.การที่หนังนำเสนอภาพของสังคมไทยที่ยอมรับคู่เกย์ได้อย่างหน้าชื่นตาบานนี้
(ในแง่นึงก็ทำให้เรานึกถึง TROPICAL MALADY) มันทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นการผลักสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้องนะ
คือมันทำให้เรานึกถึงหนังฮอลลีวู้ดหลายๆเรื่องในอดีต ที่มีประธานาธิบดีสหรัฐเป็นคนผิวดำน่ะ
อย่างเช่น DEEP IMPACT (1998, Mimi Leder) ที่มี Morgan
Freeman รับบทประธานาธิบดี และในอีก 10 ปีต่อมา
สหรัฐก็มีประธานาธิบดีผิวดำจริงๆ
คือเราหวังว่าการที่หนังนำเสนอภาพสังคมที่ยอมรับเกย์แบบนี้
มันจะเป็นการทำนายอนาคตได้อย่างถูกต้อง ว่าในอนาคตสังคมไทยจะกลายเป็นแบบในหนังน่ะ นั่นก็คือสังคมที่คู่รักเกย์กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
:-)
9.สรุปว่าชอบ HOW TO WIN AT CHECKERS (EVERY TIME) อย่างสุดๆ เพราะมันมีบางจุดที่ทำให้เรานึกถึงหนึ่งในนิยายที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต
ซึ่งก็คือเรื่อง TESS OF THE D’URBERVILLES ซึ่งจุดที่ทำให้นึกถึงก็คือเรื่องของ
“ความไม่เป็นธรรม”, การหาทางออกไม่ได้, การต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับชะตาชีวิต
และการต้องใช้ชีวิตอยู่ในระบบ, ในสังคม, ในโลก หรือในจักรวาลที่เราแทบไม่มีทางต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมนั้น
No comments:
Post a Comment