NINANAIS (REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG, John Torres,
2010)
เขียนโดย Noel Vera ในวันที่ 17 ส.ค. 2010 จาก blog
แปลโดย จิตร โพธิ์แก้ว
เพลงบังเกิดขึ้นเหมือนท่อนซ้ำของการปฏิวัติ
ในช่วงต้นของหนังเรื่อง NINANAIS: REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A
SONG (2010) ซึ่งเป็นหนังเรื่องล่าสุดของจอห์น ตอร์เรสนั้น
เราได้ยินคำพูดเหล่านี้ (จากความทรงจำแบบคร่าวๆ):
“อย่ามองหาเราในประวัติศาสตร์หรือในหนังสือที่เขียนโดยผู้ชนะ
พวกนั้นเป็นสิ่งที่แม่นยำและแน่นอน
ส่วนเราเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญและเป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลาง
อย่ามองหาเรื่องราวของเราในนิทานปรัมปรา, ภาพที่ปรากฏ,
ตำนานที่อุดช่องว่าง สิ่งเหล่านั้นเป็นสะพานเชื่อม ส่วนเรายืดตัวและร่วงหล่น
จงฟังใบหน้าของเรา อย่ายึดมั่นในคำพูดของเรา
เรื่องรักของเราอยู่ที่สีสันแห่งเสียงของเรา
ในท้ายที่สุดแล้ว เราจะปฏิเสธการปฏิวัติและมาถึงความรัก”
ถ้อยคำเหล่านี้ได้กำหนดโทนของหนังเรื่องนี้
และบ่งชี้ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอะไร
มันไม่ใช่เรื่องของประวัติศาสตร์หรือบุคคลในประวัติศาสตร์
แต่เป็นเรื่องของคนธรรมดาที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์
มันไม่ใช่เรื่องของตำนานวีรบุรุษหรือมหากาพย์ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนใกล้ชิด
ถ้อยคำเหล่านี้ยังบ่งชี้อีกด้วยว่า
เราควรจะมองเนื้อเรื่องของสิ่งเหล่านี้และภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร
เราไม่ควรมองมันเป็นเรื่องเล่าแบบตรงไปตรงมาตามตัวอักษร
แต่มองมันเป็นชุดของอารมณ์, ภาพ, การเปรียบเทียบ
และการเชื่อมโยงที่ต้องอาศัยหัวใจและปฏิภาณในการเชื่อมโยง ไม่ใช่ตรรกะ
(ใครก็ตามที่มองหาเหตุและผลในหนังเรื่องนี้จะต้องรู้สึกหัวเสียอย่างรุนแรง)
อย่างไรก็ดี มีเนื้อเรื่องเรื่องหนึ่งอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
หรือถ้าหากกล่าวตามจริงแล้ว มีเนื้อเรื่องราวๆ 3 เรื่องอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
มันเป็นเรื่องของ “นากมาลิตง ยาวา”
สาวสวยที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายที่ไต่ลงไปในถ้ำที่มีชื่อว่า “คุรุนดาลัน”
เพื่อปลดปล่อย “ฮูมาดัปนอน” ชายคนรักของเธอที่ถูกคุมขังไว้ และที่จริงแล้ว เรื่องราวดังกล่าว
(ซึ่งเป็นเพียงส่วนแรกของนิทานมหากาพย์เรื่องหนึ่ง) ถูกเล่าโดย binakod ซึ่งเป็นสาวสวยที่ถูกชนเผ่า
Sulanon ในเกาะปานายเลือกไว้ตั้งแต่เด็ก
โดยเด็กหญิงที่ถูกเลือกนี้จะต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว (คำว่า binakod หมายถึง เก็บสงวนไว้) เพราะเธอมีหน้าที่เรียนรู้มหากาพย์ Hinilawod
และเรื่องราวความรักในมหากาพย์นี้ถือเป็นภารกิจตลอดชีวิตของ binakod
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของซาราห์ด้วย เธอกำลังตามหาเอมิลิโอ
ผู้ที่เธอเคยพบเจอเพียงแค่ในความฝัน
และวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เธอจะทำงานเป็นคนทวงหนี้
เธอกำลังตระเวนไปทั่วเมืองกูอิมบาลเพื่อทวงหนี้จากคนต่างๆ
และมีอยู่จุดหนึ่งที่เธอต้องข้ามแม่น้ำ และเด็กๆก็เห็นเธอในตอนนั้น
และคิดว่าเธอกำลังเดินบนผิวน้ำ และเด็กๆก็เข้าใจผิดคิดว่าเธอคือนากมาลิตง ยาวา
ทั้งนี้ เมื่อเธอไปเจอลูกหนี้คนถัดไป เขาก็รีบยื่นเงินให้เธอในทันที
โดยไม่มีการบ่นหรืออิดออด (เราเห็นเธอในระยะไกลขณะข้ามแม่น้ำ
และเธอก็ดูเหมือนกำลังเดินบนผิวน้ำ เธอ “คือ” นากมาลิตง ยาวา
พลังธาตุที่กำลังตามหาคนรักที่พลัดพรากไป และนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาพที่ดูเหมือนถ่ายแบบฉับพลันแต่สามารถกระตุ้นคนดูให้คิดประหวัดถึงสิ่งต่างๆได้
ซึ่งเป็นภาพแบบที่ตอร์เรสสามารถนำเสนอบนจอภาพยนตร์ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า)
ซาราห์เดินทางไปคุยกับตาตาง กิเยร์โม
ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าเธอคือบุตรีของเขาที่ตายไปนานแล้ว
และสิ่งนี้ก็นำไปสู่เรื่องราวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือเรื่องของนายพลกิเยร์โม
ผู้นำของกองกำลังโวลุนตาริออส และนายพลตัน มาร์ติน
ผู้นำของกองกำลังรีโวลูซิออนนาริออส ซึ่งเป็นกองกำลังคู่อริสองกลุ่มที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาเพื่อเอกราชของชาติ
กิเยร์โมอยู่ในความโศกเศร้านับตั้งแต่ลินซึ่งเป็นบุตรีของเขาเสียชีวิตไป
และเขาก็ดูเหมือนจะพบลินอีกครั้งในตัวซาราห์
ถึงแม้กาลเวลาและยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ตอร์เรสเล่าเรื่องนี้แล้วก็ไปเล่าเรื่องนั้น
เขานำเรื่องมาไขว้กันและฉีกออกจากกันท่ามกลางโยงใยอันซับซ้อน
และเขาผสมทั้งประวัติศาสตร์, ตำนาน และความคิดคำนึงส่วนตัวเข้าด้วยกัน
เขานำเรื่องราวเหล่านี้และบทกวีที่ถูกขับขานเป็นครั้งคราวมาสมรสกับภาพ
ซึ่งเป็นภาพที่ปฏิบัติตัวตามคำพูดเปิดเรื่องที่บอกเราว่า เราไม่ควรเชื่อฟังถ้อยคำ
แต่ควรเงี่ยหูฟัง “สีสันของเสียงของเรา” แทน เราไม่เห็นใบหน้าคนมากเท่ากับได้เห็นเสี้ยวหน้า
และหนังไม่ได้ติดตามผู้คนมากเท่ากับติดตามหัวเข่า, ข้อศอก และด้านหลังของศีรษะ
ตอร์เรสทำเหมือนกับโรแบร์ต เบรซองในแง่ที่ว่า เขาดูเหมือนจะไม่ต้องการถ่ายผู้คนในแบบเดียวกับหนังคลาสสิคของฮอลลีวู้ด
ซึ่งได้แก่การถ่ายภาพแบบโคลสอัพหรือลองช็อต
โดยให้ใบหน้าอยู่ตรงกลางและเผชิญหน้ากับกล้อง
แต่เขาต้องการชำเลืองดูคนเหล่านี้จากด้านข้าง และจากมุมภาพที่เอียงกะเท่เร่อย่างเป็นปริศนา
เราถูกกระตุ้นให้เพ่งความสนใจไปที่หนังตลอดเวลา
เพราะเราไม่รู้ว่าคนบนจอเป็นใครหรืออะไรกันแน่ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้
ในขณะที่ตอร์เรสคอยป้อนรายละเอียด, คำบอกใบ้
หรือเบาะแสให้แก่เราอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจ
อย่างไรก็ดี ตอร์เรสทำมากกว่าชำเลืองดูนักแสดงของเขา เขาดัดแปลงชื่อ Sulanon และ binakod
มาจาก Suludnon และ binukot ซึ่งเป็นคำเดิม
และเขาก็เอาชื่อคนในประวัติศาสตร์อย่างเช่นนายพลกิเยร์โมและนายพลตัน มาร์ตินมาใช้
แต่สร้างรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริงให้แก่คนเหล่านี้
เพราะเหตุใดเขาถึงทำเช่นนั้น หรือมีเหตุผลอะไรที่เขาไม่ควรทำเช่นนั้นกันล่ะ ถ้าหากคุณเชื่อฟังคำพังเพยที่เขาใช้ในช่วงเปิดเรื่อง
คุณก็ไม่ควรจะฟังถ้อยคำของเขาอย่างใกล้ชิดเกินไป แต่ควรจะฟังใบหน้าของตัวละครแทน
และควรจะฟัง “สีสันในเสียงของตัวละคร”
คุณไม่ควรจะมุ่งความสนใจไปยังข้อเท็จจริงที่เฉพาะเจาะจง
(ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องแต่งประมาณครึ่งหนึ่ง)
แต่ควรจะมุ่งความสนใจไปยังเรื่องราวของชีวิตคนธรรมดาต่างหาก
ถ้อยคำของตอร์เรส (ถึงแม้เขาแนะนำว่าไม่ควรเชื่อฟังมันก็เถอะ)
ในบางครั้งอาจจะฟังดูน่าขัน อย่างเช่นในตอนที่ซาราห์เล่าถึงความฝันที่ขากับครรภ์ของเธอบินออกไปและไปพันรอบต้นไม้ต้นหนึ่ง
(คุณคิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์แบบฟรอยด์ใช่ไหม)
และภาพในหนังของเขาในบางครั้งก็ดูน่าสะพรึง
อย่างเช่นในตอนที่มีการพูดกันอ้อมๆถึงสงคราม
และเราก็เห็นเด็กผู้ชายในท้องถนนฝุ่นคลุ้งในชนบทขายมีดพร้าด้ามใหญ่ โดยใบมีดส่องประกายแวววาวท่ามกลางแสงแดดจ้า
และน้ำหนัก, ความยาว
และความคมของใบมีดก็บ่งชี้ว่ามันสามารถตัดกิ่งไม้หรือแม้แต่แขนขาของมนุษย์ให้ขาดออกจากกันได้
ตอร์เรสดูเหมือนจะพัฒนาลักษณะภาพแบบเฉพาะขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์และหลุดโฟกัสในบางครั้ง
โดยมีการใช้บัญชรสีที่สดใส และหนังเรื่องนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นฟุตเตจฟิล์มประเภท
Super 8 ที่ถูกฉายโดยเครื่องฉายหนังโบราณ
มันเป็นเรื่องตลกดีที่สื่อประเภทนี้ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้เป็นประจำเพื่อสะท้อนถึงความทรงจำเก่าๆ
และความเบลอของภาพกับความไม่เสถียรของฟันเฟืองในเครื่องฉายก็มักจะบ่งชี้ถึงความทรงจำที่ลางเลือน
หนังเรื่องนี้มีความพิศวง แต่ก็ให้ความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสูงค่าในขณะเดียวกัน
มันเหมือนกับว่าใครบางคนค้นพบม้วนฟิล์มนี้ในตู้เก็บของฝุ่นเขรอะที่ถูกปิดล็อคไว้ในห้องที่ถูกหลงลืมในคฤหาสน์ใหญ่เก่าแก่หลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางดงต้นมะพร้าว
และคุณก็นำม้วนฟิล์มนี้มาใส่ในเครื่องฉายหนัง กดปุ่มเปิดมัน และมองดูแสงกะพริบบนจอที่เปิดประตูให้แก่โลกของภูติผี
หนังของตอร์เรสมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก
และการที่เขาให้เสียงบทบรรยายด้วยตัวเองในหนังเกือบทุกเรื่องของเขาทำให้มันมีลักษณะเช่นนั้น
ถึงแม้คุณอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่านั่นเป็นเสียงของเขา เสียงนั้นพูดอย่างเงียบๆ
และเกือบจะเหมือนกระซิบกับคุณ
มันเหมือนกับว่าตอร์เรสนั่งอยู่ข้างๆคุณและกระซิบข้างหูคุณ
ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้หนังเรื่องก่อนๆหน้านี้ของเขา ซึ่งได้แก่เรื่อง TODO TODO TEROS (2006) และ TAON NOONG AKO’Y ANAK SA LABAS (YEARS WHEN I WAS A CHILD
OUTSIDE, 2008) มีลักษณะเหมือนคำสารภาพ มันเหมือนกับว่าตอร์เรสเจาะกะโหลกของตัวเองและเปิดมันออกมาเพื่อให้คุณสำรวจอย่างใกล้ชิด
ส่วน NINANAIS นั้นทำงานในระดับที่ทะเยอทะยานมากยิ่งขึ้นไปอีก
มันเป็นการเล่าประวัติศาสตร์และตำนานผ่านทางสไตล์ภาพยนตร์ที่คลุมเครือและไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
ส่วนชื่อหนังเรื่องนี้นั้นเป็นที่แน่นอนว่ามันเป็นการเล่นคำที่มาจากชื่อหนังเรื่อง
REVOLUTIONS HAPPEN LIKE REFRAINS IN A SONG (1987) ของนิค
ดีโอแคมโป
ซึ่งเป็นชื่อหนังที่ดีโอแคมโปใช้สื่อถึงลักษณะการหมุนวนเป็นวงกลมของประวัติศาสตร์
ส่วนในชื่อหนังเรื่องนี้นั้น ตอร์เรสอาจจะสื่อถึงผลกระทบอันสับสนวุ่นวายที่ท่วงทำนองทางอารมณ์,
ทางสังคม และทางประวัติศาสตร์อาจจะส่งผลต่อชีวิตของเรา
โดยในฉากหนึ่งนั้นตัวละครเอมิลิโอที่อาจจะไม่มีตัวตนจริงได้ประกาศว่า
“สงครามทุกสงครามคือเรื่องราวของความรัก” ซึ่งเป็นการสะท้อนสิ่งที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในช่วงต้นเรื่อง
และบ่งชี้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มาถึงตอนจบ
แต่กลับมาถึงจุดเริ่มต้นและเริ่มดำเนินเรื่องไปอีกครั้ง
การปฏิวัติและท่อนซ้ำของเพลงเกิดขึ้นหมุนวนซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่มีวันจบสิ้น
นี่เป็นหนังที่อาจจะดูยาก แต่ก็งดงามจนไม่อาจจะบรรยายได้
และคงไม่จำเป็นจะต้องบอกแต่อย่างใดว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีเลิศที่สุดที่ผมได้ดูมาในปีนี้
No comments:
Post a Comment