Tuesday, June 30, 2015

MAPANG-AKIT (2011, John Torres, Philippines, A+30)

Films seen in John Torres’ Retrospective at Reading Room (Part 2)

8.MAPANG-AKIT (2011, 38min, A+30)
9.TODO TODO TEROS (2006, A+30)
10. YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE (2008, second viewing, A+30)
11. REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG (2010, A+30)
12. LUKAS THE STRANGE (2013, A+30)

ในบรรดาหนังของ Torres ที่ได้ดู เรื่องที่เราชอบมากที่สุดมีอยู่ 3 เรื่อง ซึ่งก็คือMAPANG-AKIT, YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE กับ LUKAS THE STRANGE ตอนนี้ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุดใน 3 เรื่องนี้ เราว่า LUKAS THE STRANGE อาจจะเป็นหนังที่ดีที่สุดใน 3 เรื่องนี้นะ แต่เราเหมือนมีความผูกพันเป็นการส่วนตัวกับ MAPANG-AKIT กับ YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE มากกว่า ส่วน TODO TODO TEROS กับ REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG นั้น เราก็ชอบสุดๆเหมือนกัน แต่เรารู้สึกเหมือนยังจูนตัวเองให้เข้ากับ wavelength ของหนังสองเรื่องนี้ไม่ได้อย่างสมบูรณ์ในการดูรอบแรก ถ้าวันหลังเราได้ดูหนังสองเรื่องนี้อีกที เราอาจจะจูนตัวเองให้เข้ากับหนังได้มากขึ้น ส่วน MAPANG-AKIT, YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE กับ LUKAS THE STRANGE นั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า wavelength ของหนังมันเข้ากับเราได้เองโดยปริยาย เราไม่ต้องพยายามจูนตัวเองให้เข้ากับมัน 555

เมื่อวานนี้เราเขียนว่าหนังของ John Torres มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้นึกถึงหนังของ Wachara Kanha กับสำนักงานใต้ดิน เราว่าเรื่อง MAPANG-AKIT นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับหนังของสำนักงานใต้ดินมากที่สุด เพราะเราว่าลักษณะที่มันคล้ายกันก็คือการถ่ายภาพเหตุการณ์ธรรมดาสามัญของผู้คนต่างๆ แล้วเอาภาพฉากเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านั้นมาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่ โดย Torres มักจะเอาภาพฉากเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านั้นมาใช้ในการเล่าเรื่องราวตำนานความเชื่อบางอย่าง ทั้งใน MAPANG-AKIT, REFRAINS และ LUKAS THE STRANGE แต่เรื่องราวใน REFRAINS และ LUKAS THE STRANGE มีความซับซ้อนสูงมาก และมีส่วนที่เป็นการแสดงแบบจงใจผสมอยู่ด้วยใน LUKAS THE STRANGE เพราะฉะนั้นหนังสองเรื่องนั้นก็เลยแตกต่างจากหนังของสำนักงานใต้ดินอยู่มาก ส่วน MAPANG-AKIT นั้นเล่าเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และมีฉากเอื่อยๆ อ้อยอิ่งอยู่บ้างพอสมควร เพราะฉะนั้น MAPANG-AKIT ก็เลยดูเหมือนจะทำให้เรานึกถึงหนังของสำนักงานใต้ดินมากที่สุด ถ้าหากเทียบกับหนังยาวเรื่องอื่นๆของ Torres

MAPANG-AKIT ทำให้เรานึกถึงหนังของสำนักงานใต้ดินอย่างเช่นเรื่อง VILLAGE OF MYSTERY บ้านน้ำเมา (2010, Teeranit Siangsanoh, 50min) และ THE COLD-SKULLED PEOPLE ไอ้กะโหลกเย็น (2013, Teeranit Siangsanoh, 33min) น่ะ เพราะหนังสองเรื่องนี้เป็นการถ่ายภาพเหตุการณ์ธรรมดา แล้วนำมาแต่งเรื่องแต่งราวเข้าไป โดย VILLAGE OF MYSTERY นั้น ถ้าเราจำไม่ผิด มันเกิดจากการที่สมาชิก 3 คนของสำนักงานใต้ดิน ซึ่งได้แก่ Wachara Kanha, Teeranit Siangsonoh กับ Tani Thitiprawat ไปเยี่ยมบ้านของครอบครัว Tani ที่โคราช หนังเริ่มเรื่องด้วยการทำตัวเป็นเหมือน home movie บันทึกภาพการท่องเที่ยว พูดคุยกับสมาชิกครอบครัวธรรมดาๆ แล้วอยู่ดีๆหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ก็เล่าถึงตำนานบ่อน้ำเมา ตำนานลึกลับอะไรสักอย่าง แล้วหลังจากนั้นฟุตเตจ home movie ธรรมดาๆ ก็เลยดูเหมือนมี aura ของความลึกลับเข้าไปครอบคลุมมันอยู่ด้วยโดยอัตโนมัติ แล้วก็ดูเหมือนจะมีผีหรืออะไรสักอย่างโผล่เข้ามาในช่วงท้ายเรื่องด้วย ซึ่งเราว่าการผสม home movie, สารคดี, ตำนานพื้นบ้าน, เรื่องเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกันแบบนี้ มันทำให้นึกถึงหนังของ John Torres อย่าง MAPANG-AKIT มากๆ

ส่วน THE COLD-SKULLED PEOPLE นั้น เป็นการจับภาพบ้านของชาวบ้านคนนึงในชนบทที่อยู่ใกล้ๆหนองน้ำเล็กๆแห่งนึง ถ้าจำไม่ผิด คือจากภาพในหนังเราแทบไม่เห็นเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากกิจวัตรประจำวันที่ไม่สลักสำคัญอะไรของชาวบ้านคนนั้น แต่ภาพเหตุการณ์ธรรมดาสามัญเหล่านั้นถูกตัดสลับกับ text ที่เล่าเรื่องราวแบบไซไฟเกี่ยวกับโลกอนาคต และมนุษย์กลุ่มนึงที่ถูกเรียกว่า “ไอ้กะโหลกเย็น” เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นหนังไซไฟไปโดยปริยายโดยที่ไม่ต้องมีฉากเทคนิคพิเศษอะไรเลย นอกจากฉากชาวบ้านคนนึงทำกิจวัตรประจำวันไปเรื่อยๆ

ส่วน MAPANG-AKIT นั้นก็มีลักษณะอะไรคล้ายๆกันนี้นั่นแหละ มันเป็นการจับภาพชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนึงที่ทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองไปเรื่อยๆ พวกเขาพูดคุยกัน และดูเหมือนแทบไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นในหนัง แต่ Torres แต่งบทสนทนาของคนเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่คนเหล่านี้สนทนากัน ซึ่งเรารับรู้ผ่านทาง subtitle มันก็เลยกลายเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและพิศวง เกี่ยวกับหญิงชราคนนึงที่อาจจะมีพลังพิเศษเหนือมนุษย์ หรือมีคำสาปติดตัวอะไรทำนองนี้

แต่ถ้าหากเทียบกันแล้ว เราก็ชอบ MAPANG-AKIT มากกว่า VILLAGE OF MYSTERY และ THE COLD-SKULLED PEOPLE นะ และมันเกิดจากสไตล์ที่แตกต่างกันระหว่าง Torres กับ The Underground Office น่ะแหละ คือถึงแม้หนังของ Torres กับสำนักงานใต้ดินจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่เหมือนกัน แต่มันก็มีจุดที่ต่างกัน คือ Torres จะเอาภาพธรรมดาสามัญ มาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่เป็นอย่างดี คือผู้ชมจะได้เห็นภาพธรรมดาสามัญ และได้รับรู้เรื่องราวที่ Torres แต่งใหม่เป็นอย่างดีด้วย โดยเฉพาะใน REFRAINS และ LUKAS ที่เรื่องราวมีความซับซ้อนสูงมาก แต่ในหนังของสำนักงานใต้ดินนั้น มันเป็นการเอาภาพธรรมดาสามัญ มาแต่งเติมบรรยากาศ และใส่เรื่องราวใหม่เข้าไปเพียงเล็กน้อย เหมือนใส่เข้าไปแบบเหยาะๆน่ะ และหนังหลายๆเรื่องของสำนักงานใต้ดิน ก็อาจจะไม่ใส่เรื่องราวเข้าไปเลย แต่ปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการเรื่องราวเอาเอง จากภาพธรรมดาสามัญที่ถูกเรียงร้อยใหม่ ใส่ดนตรีประกอบใหม่ และแต่งเติมบรรยากาศเข้าไป เพราะฉะนั้นถ้าหากเปรียบเทียบหนังของ Torres กับสำนักงานใต้ดินเป็นอาหารแล้ว มันก็เหมือนกับว่า หนังของทั้งสองใช้ “องค์ประกอบ” ในการทำอาหารเหมือนกัน แต่ของ Torres จะทำออกมาลงตัวกว่า สัดส่วนในการใช้องค์ประกอบต่างๆออกมาดีกว่า หรือของ Torres เหมือนกับอาหารที่ได้รับการปรุงรสชาติมาอย่างดีมากๆแล้ว แต่ของสำนักงานใต้ดิน ในบางครั้งมันเหมือนกับอาหารที่ใส่รสชาติมาเบาเกินไป หรือเหมือนกับก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ได้รับการปรุงรสชาติมาเลย แต่ปล่อยให้ผู้กินปรุงรสเอาเองตามใจชอบ

แต่มันก็มีหนังของสำนักงานใต้ดินบางเรื่องที่ออกมาดีสุดๆนะ และ VILLAGE OF MYSTERY กับ THE COLD-SKULLED PEOPLE ก็ไม่ใช่หนังของสำนักงานใต้ดินที่ดีที่สุดอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่ามันมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับ MAPANG-AKIT มากที่สุด

และจริงๆแล้วเราก็ชอบวิธีการทำหนังทุกแบบน่ะแหละ ทั้งการทำหนังแบบธรรมดา ที่เป็น fiction เล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาแบบของ Lav Diaz, การทำหนังแบบ John Torres ที่เอาภาพธรรมดาสามัญมาใช้ประกอบเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่เป็นอย่างดี และการทำหนังแบบสำนักงานใต้ดินที่เอาภาพธรรมดาสามัญ มาเรียงร้อยใหม่เพื่อกระตุ้นจินตนาการผู้ชมให้แต่งเรื่องขึ้นมาในหัวตัวเอง เราว่ามันน่าสนใจทั้ง 3 แบบ

ฉากที่เราชอบมากใน MAPANG-AKIT คือฉากท้ายเรื่องที่กล้องจับภาพหญิงชรา (หรือหญิงวัยกลางคน เราไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่หน้าเธอดูแก่) ขณะเดินไปเรื่อยๆ เราว่าฉากหญิงชราคนนี้เดิน, ฉากหนุ่มสาวเดินคุยกันเป็นเวลายาวนานใน YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE กับฉากคนสองคนขี่จักรยานใน HAI, THEY RECYCLE HEARTBREAKS IN TOKYO SO NOTHING’S WASTED (2009, John Torres) มันติดตาเรามากๆ เราไม่รู้ว่าการที่สามฉากนี้มันติดตาตรึงใจเรา มันเป็นเพราะ Torres มีความสามารถพิเศษในการถ่ายฉากคนเดินหรือคนขี่จักรยานได้อย่างทรงพลัง หรือมันเป็นเพราะ taste ส่วนตัวของเราที่ทำให้เราติดใจในฉากเหล่านี้เอง

ข้ามมา TODO TODO TEROS เราชอบการที่หนังให้เราดูฟุตเตจวิดีโอบันทึกภาพของ Olga เป็นเวลานานระยะนึง แล้วพอเข้าสู่ช่วงท้ายๆของเรื่อง ฟุตเตจวิดีโอนั้นก็กลายสภาพเป็นภาพยนตร์ที่ถูกฉายไปบนจอทีวีและฝาผนังห้อง เราว่า moment ที่ฟุตเตจกลายสภาพไปเป็นภาพยนตร์บนฝาผนังห้อง มันทรงพลังมากๆสำหรับเรา ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม แต่เราว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ moment นี้มากๆ มันเป็นเพราะว่ามันเหมือนเป็นการเล่นกับ memory น่ะ มันเหมือนกับว่า วันนึงเราอาจจะได้เจอคนคนนึงที่เราถูกใจมากๆ และเราได้ใช้เวลาระยะนึงอยู่กับคนๆนั้น แต่ไม่ว่าเราจะมีความสุขมากแค่ไหนในช่วงขณะนั้น ในอนาคต ช่วงเวลานั้นก็จะกลายเป็นเพียง memory เท่านั้นเอง กลายเป็นเหตุการณ์ในอดีต เหตุการณ์ที่เราอาจจะลืมเลือนไปบางส่วน จำได้รางๆ จำได้ไม่หมด เหตุการณ์ที่เราอาจจะมีความสุขเมื่อนึกถึง หรือมีความเศร้าเมื่อนึกถึง อะไรทำนองนี้

เราชอบการร่ายรำกับ projector ใน TODO TODO TEROS มากๆด้วย มันเป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน นึกว่า film performance  หรือการผสมผสาน performance art เข้ากับสื่อภาพยนตร์เข้าด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ คือแทนที่ภาพยนตร์จะทำหน้าที่แค่บันทึกภาพ performance art แบบในหนังทั่วๆไป แต่ในหนังเรื่องนี้ เราได้เห็นตัวละครถือ  projector ร่ายรำไปมา ขณะที่ projector ก็ฉายภาพไปตามฝาผนังห้องเรื่อยๆ เราว่ามันเป็นอะไรที่น่าเอามาทดลองทำเลียนแบบมากๆ


อีกฉากที่ชอบมากใน TODO TODO TEROS คือฉากที่ตำรวจลับคนนึงลอบดักฟังการสนทนาของผู้ก่อการร้ายหญิงชายคู่นึง คือเรื่องราวที่เราได้รับรู้จาก subtitle และ text มันเป็นเรื่องราวแบบหนัง thriller แต่ภาพที่เราได้เห็นจริงๆแล้วมันเป็นภาพธรรมดาสามัญของชายหญิงสองคนคุยกัน โดยมีคนขายอาหารแบกะดินนั่งอยู่ห่างออกไปในระยะ 5 เมตร มันเหมือนกับว่า Torres แอบถ่ายภาพคนธรรมดาคุยกันโดยมีคนขายอาหารนั่งอยู่ใกล้ๆ แล้วเอามาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่เป็นหนัง thriller (แต่จริงๆแล้วฉากนี้อาจจะเป็น “การแสดง” ก็ได้นะ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ก็เป็นการแสดงแบบเน้นความธรรมดาสามัญอยู่ดี)

No comments: