AMY (2015, Asif Kapadia, documentary, A+30)
--ชอบความรู้สึกของการมองภาพถ่ายเก่าๆหรือคลิปต่างๆในอดีตด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม
ซึ่งจริงๆแล้วอันนี้เป็นสิ่งที่คล้ายๆกับความรู้สึกที่เรามีต่อฉากสำคัญฉากนึงในหนังเรื่อง
IMAGES OF THE WORLD AND THE INSCRIPTION OF WARS (1988, Harun Farocki) ที่เป็นฉากที่เอาภาพถ่ายผู้หญิงคนนึงในค่ายกักกันชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สองมา
“มองใหม่” โดยมีการวิเคราะห์สายตาและความคิดคำนึงของผู้หญิงในภาพนั้น
จินตนาการถึงอดีตของผู้หญิงคนนั้น มีการโฟกัสไปที่จุดบางจุดในภาพนั้น หรือ reframe
ภาพถ่ายนั้นใหม่
คือหนังเรื่อง AMY มันทำให้เรารู้สึกคล้ายๆกัน
คือตอนที่เราเห็นภาพถ่ายหรือคลิปต่างๆของเอมี่ ไวน์เฮาส์ในหนังเรื่องนี้
เราพบว่าเราพยายามจะมองหา “ร่องรอยของความโศกเศร้า, ความกังวลใจ, ความไม่มั่นใจ,
ความทุกข์ใจ” ในใบหน้าและอากัปกิริยาของเอมี่ในภาพเหล่านี้
คือการมองแบบนี้เป็นการมองเพราะเรารู้แล้วว่า หลังจากนั้นเอมี่จะตายน่ะ
คือถ้าหากเราเห็นภาพถ่ายเหล่านี้หรือคลิปเหล่านี้ในอดีต
ตอนที่มันออกเผยแพร่ครั้งแรก เราคงไม่มองมันด้วยสายตาแบบนี้
เราคงมองมันด้วยความรู้สึกที่ว่า “นี่คือภาพถ่ายธรรมดาๆภาพนึงของเอมี่”
แต่พอเรามองมันในหนังเรื่องนี้
เรากลับมองมันด้วยสายตาของการค้นหาร่องรอยบางอย่างที่เราอาจจะเคยมองข้ามมันไปในอดีต
มันเหมือนเป็นการ reinterpret หรือ reframe ภาพถ่ายหรือคลิปต่างๆเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง
ซึ่งเราว่ามันเป็นกลวิธีที่น่าสนใจดี
--หนึ่งในสิ่งที่เราสนใจก็คือการหาวิธี reframe ภาพถ่ายเก่าๆหรือคลิปเก่าๆเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกับ
IMAGES OF THE WORLD AND THE INSCRIPTION OF WARS เพราะในหนังของ
Harun Farocki นั้น เขา reframe ภาพถ่ายเก่าๆด้วยการใช้กล้องหรือมือไปโฟกัสที่จุดนั้นๆของภาพเลย
แต่ในหนังเรื่องนี้ เราจะไม่เห็นตัวตนหรือมือของ Asif Kapadia โผล่เข้าไปในหนัง เขาทำเพียงแค่ “คัดเลือก” ภาพถ่ายเก่าๆแต่ละภาพ
และใส่มันเข้ามาในจังหวะที่ถูกต้องเท่านั้นเอง เพื่อปล่อยให้ผู้ชมบางคนค้นหา “ร่องรอย”
บางอย่างจากภาพถ่ายเหล่านั้นเอง
แต่สิ่งที่เราสนใจที่สุดก็คือ การจัดการกับคลิปเก่าๆของเอมี่ด้วยการเลือกที่จะ
“slow motion” ในบางส่วนของคลิป
เราว่ามันเป็นวิธีการหาจุดโฟกัสใหม่ที่น่าสนใจดีน่ะ เราว่าการ slow motion ในหนังเรื่องนี้ บางฉากอาจจะทำเพื่อส่งผลทางอารมณ์
แต่บางฉากอาจจะทำเพื่อให้ผู้ชมมุ่งความสนใจมากเป็นพิเศษไปยังช่วงนั้นๆของคลิป
เราก็เลยรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่น่าสนใจมากๆในแง่การเลือกที่จะ slow
motion ในจุดที่เฉพาะเจาะจงในฟุตเตจเก่าๆ
--ชอบความลุ่มๆดอนๆของชีวิตเอมี่ คือชอบที่เธอเหมือนจะเลิกยาเสพติดได้
แต่แล้วก็กลับไปติดใหม่ เหมือนเธอเอาชนะมันไม่ได้เสียที เหมือนเธอแพ้ชนะแพ้ชนะกับยาเสพติดสลับกันไปเรื่อยๆ
เราว่าตรงนี้มันทำให้นึกถึงสิ่งที่น่าเศร้าในชีวิตมนุษย์หลายๆคนน่ะ เหมือนมนุษย์หลายๆคน
รวมทั้งเราด้วย บางทีก็รู้ว่า “ไอ้นั่นมันไม่ดีนะ มันไม่ควรทำ”
และบางวันเราก็เอาชนะใจตัวเองได้สำเร็จ แต่พอวันรุ่งขึ้นเราก็กลับมาแพ้มันเหมือนเดิม
ซึ่งในกรณีของเรา “ไอ้สิ่งไม่ดี” นี่ก็คือการเสพติดเฟซบุ๊คนี่แหละ 555
เหมือนเราควรจะนอน 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งปลายปีที่แล้วเราทำได้ แต่ทำไมพอมาช่วงนี้
บางทีเราก็มัวแต่เล่นเฟซบุ๊ค จนนอน 5 ชั่วโมงต่อวัน
แล้ววันรุ่งขึ้นก็รู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น เพราะนอนน้อยเกินไป อะไรทำนองนี้
ศัตรูที่สำคัญที่สุดคนนึงของเรา ก็คือตัวเราเองนี่แหละ คือเราจะด่าเอมี่ว่า “ยาเสพติดไม่ดี
กินเหล้าไม่ดี แล้วมึงไปเสพทำไม รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี
แล้วมึงไปทำร้ายร่างกายตัวเองทำไม” เราก็ไม่สามารถด่าได้ถนัดปาก เพราะเราเองก็รู้ว่านอนน้อยไม่ดี
แต่เราก็ทำมันเหมือนกันในบางวัน
ไอ้ความลุ่มๆดอนๆ เลิกแล้วกลับมาติด เลิกแล้วกลับมาติดใน AMY มันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง
WE WILL NOT GROW OLD TOGETHER (1972, Maurice Pialat) ด้วยนะ
คือหนังของ Pialat เรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดแต่อย่างใด
แต่มันมีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงชายคู่หนึ่งที่รักกันแล้วก็เลิกกัน
รักกันแล้วก็เลิกกัน รักกันแล้วก็เลิกกัน ประมาณ 10
รอบได้มั้งกว่าหนังเรื่องนี้จะจบ แล้วหนังก็จบแบบที่เราเดาว่า
เดี๋ยวมันก็รักกันและเลิกกันแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆน่ะแหละหลังจากหนังจบไปแล้ว
คือตอนที่เราดู WE WILL NOT GROW OLD TOGETHER รอบแรกเมื่อ
15 ปีก่อน เราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆนะ
เพราะเรามองว่าพระเอกนางเอกแม่งทำตัวไร้เหตุผลซะเหลือเกิน
ทำไมมันไม่เลิกกันแบบเด็ดขาดไปเลย ทำไมใจมันไม่แข็งพอวะ คือถ้าภาษาธรรมะอาจจะเรียกว่า
ทำไมมันไม่ “สมุจเฉทประหาร” ไปเลยให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราววะ 555 แต่พอเราโตขึ้น
เราก็เริ่มเข้าใจว่า มนุษย์บางคนมันเป็นอย่างนี้จริงๆน่ะแหละ รู้ทั้งรู้ว่ารักคนนี้แล้วจะเป็นทุกข์
รู้ทั้งรู้ว่าทำสิ่งนี้แล้วจะเป็นทุกข์ แต่ก็ยังอดทำมันไม่ได้อยู่ดี
ขอโทษที่เขียนออกนอกเรื่องนอกราวไปเยอะ 555 แต่จริงๆแล้ว
สิ่งหนึ่งที่เราชอบสุดๆใน AMY มันตรงกับสิ่งหนึ่งที่เราชอบสุดๆใน
WE WILL NOT GROW OLD TOGETHER น่ะแหละ และสิ่งนั้นมันก็คือ “การสะท้อนความอ่อนแอในใจมนุษย์”
--จริงๆแล้วเราแทบไม่เคยฟังเพลงของเอมี่ ไวน์เฮาส์มาก่อนเลยนะ
คือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เราก็ไม่ได้ติดตามฟังเพลงใหม่ๆอีกต่อไป
เพราะเราหมดเวลาไปกับการดูหนังเพียงอย่างเดียว
เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ได้มีผลทางอารมณ์อะไรกับเรามากเป็นพิเศษ หรือทำให้เราร้องห่มร้องไห้
เพราะเราไม่เคยมีความรู้สึกผูกพันอะไรกับเอมี่มาก่อน
แต่พอเราดูจบแล้ว
เราก็อดไม่ได้ที่จะนำหนังเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังเรื่องต่างๆที่เคยดูมาก่อน
อย่างเช่นเรื่อง FROM THE JOURNALS OF JEAN SEBERG (1995, Mark Rappaport) ที่เป็นสารคดีเกี่ยวกับ Jean Seberg ดาราหนังที่โด่งดังเป็นพลุแตกจาก
BREATHLESS (1959, Jean-Luc Godard) แต่เธอได้ฆ่าตัวตายในปี
1979 หนังสารคดีสองเรื่องนี้พูดถึงชีวิตคนดังในวงการบันเทิงที่ตายก่อนวัยอันควรเหมือนๆกัน
แต่ความแตกต่างของหนังสองเรื่องนี้น่าสนใจดี ซึ่งความแตกต่างนั้นก็คือ
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะในหนังเรื่อง AMY นั้น
ผู้สร้างไม่ได้ให้ใครมาเล่นเป็นเอมี่เลย (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) เราได้เห็นคลิปของเอมี่ในวัยเด็ก
คลิปของเอมี่ในวัยรุ่น และคลิปที่เพื่อนสนิทของเอมี่ถ่ายไว้ เพราะในยุคสมัยนี้
การถ่ายคลิปต่างๆด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมากๆแล้ว
คือถ้าหากใครสักคนตายไปในยุคนี้ มันก็เป็นไปได้สูงมากที่เราจะสามารถรวบรวมคลิปต่างๆเกี่ยวกับตัวเขาได้มากมายเพื่อนำมาศึกษาชีวิตของเขาก่อนที่เขาจะตาย
โดยที่คนๆนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังก็ได้
แต่ใน FROM THE JOURNALS OF JEAN SEBERG นั้น หนังได้ให้
Mary Beth Hurt มารับบทเป็น “วิญญาณของ Jean Seberg” และมาพูดคุยกับผู้ชมโดยตรง เพราะในยุคที่ Jean Seberg มีชีวิตอยู่ มันเป็นยุคที่ยังไม่มีกล้องมือถือ และตอนที่จีน
ซีเบิร์กเป็นเด็ก มันก็ยังเป็นยุคที่ไม่มี “home video” ด้วย
เพราะฉะนั้นมันจึงแทบไม่มีคลิปที่บันทึกภาพจีน ซีเบิร์ก “นอกภาพยนตร์” เลย การจะเล่าเรื่องชีวิตใครสักคนในยุคนั้น
มันจึงไม่สามารถพึ่งพา archival footage ได้อย่างเดียว
แต่มันอาจจะต้องอาศัย staged scene ด้วย
คือเราชอบหนังสองเรื่องนี้สุดๆเหมือนกันแหละ
และเราก็พบว่ามันใช้วิธีการที่ตรงข้ามกัน แต่ทำออกมาได้ดีทั้งคู่ และเหมือนกับเป็น
“ตัวแทนของยุคสมัย” ของมัน คือ AMY มันใช้ภาพจาก archival
footage เพียงอย่างเดียวก็พอแล้ว
เพราะยุคสมัยนี้มันเป็นยุคที่คนเราถูกบันทึกภาพด้วยอุปกรณ์ต่างๆมากมายอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่ FROM THE JOURNALS OF JEAN SEBERG มันให้นักแสดงมาเล่นเป็น
“วิญญาณของ subject ของหนัง” เพื่อทดแทนการขาดแคลน archival
footage ที่บันทึกภาพชีวิตส่วนตัวของจีน ซีเบิร์กในยุคนั้น
--อีกประเด็นที่เราคิดเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ
ก็คือเรานึกถึงหนังกลุ่มที่แสดงให้เห็นว่า “มึงทะเยอทะยานไปจนรวย ก็เท่านั้นแหละ
เพราะถึงมึงรวย มึงก็ไม่มีความสุขหรอก” อย่างเช่นละครทีวี/เวทีเรื่อง “บัลลังก์เมฆ”
และหนังเรื่อง THERE WILL BE BLOOD (2007, Paul Thomas Anderson) คือเวลาเราดูหนังกลุ่มนี้
เรามักจะไม่ได้ชอบมันอย่างสุดๆ เพราะเราไม่สามารถ identify ตัวเองกับตัวละครเอกของเรื่องได้
เพราะเราเป็นคนที่ขี้เกียจและไม่มีความทะเยอทะยานจะรวยล้นฟ้าอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว
คือพอเวลาที่เราดูหนังกลุ่มนี้ เรามักจะคิดว่า “มึงจะมาสอนศีลธรรมตื้นๆแบบนี้ทำไมวะ
กูรู้เรื่องพวกนี้ดีอยู่แล้ว” อะไรทำนองนี้
แต่ AMY มันตรงข้ามกับหนังกลุ่มข้างต้นในแง่ที่ว่า
เอมี่มันไม่ใช่คนที่ทะเยอทะยานจะรวยล้นฟ้าน่ะ คือเธอเหมือนไม่ได้ไยดีกับความรวยของตัวเองมากนัก
และถึงแม้เธอจะไม่ใช่คนที่ทะเยอทะยาน บ้าเงิน เธอก็มีความทุกข์จากชื่อเสียง,
ความสำเร็จ และความร่ำรวยของเธออยู่ดี เพราะฉะนั้นกรณีของเอมี่มันจึงน่าสนใจกว่าตัวละครในหนังกลุ่มข้างต้นเป็นอย่างมาก
--ฉากของ Tony Bennett ในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงฉากก่อนจบในหนังเรื่อง
THE DEVIL, PROBABLY (1977, Robert Bresson) เพราะใน THE
DEVIL, PROBABLY นั้น พระเอกเดินผ่านสถานที่อะไรสักอย่างที่เขาเล่นดนตรีคลาสสิคกัน
พระเอกก็เลยยืนฟังเสียงดนตรีคลาสสิคที่งดงามนั้นสักพักนึง
เสียงดนตรีนั้นมันอาจจะแสดงให้เห็นว่า โลกเรานี้ยังมีสิ่งที่สวยงามจริงๆอยู่นะจ๊ะ
แต่หลังจากพระเอกยืนฟัง “ความงดงามของโลกใบนี้” ได้สักพักนึง
พระเอกก็เดินทางไปฆ่าตัวตาย
ฉากของ Tony Bennett ใน AMY มันทำให้เรานึกถึงอารมณ์คล้ายๆกันนี้น่ะ
มันเหมือนกับว่าตอนที่เอมี่ได้เจอกับโทนี่ เบนเนตต์ เธอเหมือนได้เจอน้ำทิพย์ชโลมใจ
หรือเทวดาอะไรสักอย่าง เธอเหมือนได้เจอ “เหตุผลดีๆที่เธอควรมีชีวิตอยู่ต่อไป”
แต่น่าเสียดาย ที่ในที่สุดแล้ว มันก็ช่วยอะไรไม่ได้
No comments:
Post a Comment