BEHIND THE PAINTING (2015, Chulayarnnon Siriphol, video
installation, A+30)
1.ตอนดูจะนึกถึงหนังสั้นเรื่อง 081-456-1286 (2011,
Chulayarnnon Siriphol, A+30) และสิ่งที่เพื่อนเราบางคนเคยพูดในทำนองที่ว่า
“เข้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่เลือดเย็นมาก”
ที่นึกถึงหนังสั้นเรื่องนั้นขึ้นมาเป็นเพราะว่า 081-456-1286
เป็นหนังสั้นแบบ found footage ที่เอาวีซีดีชักชวนคนให้มาทำงาน “ขายตรง”
มาตัดต่อใหม่น่ะ คือตัววีซีดีนั้นมันจงใจสร้างอารมณ์ดราม่า น้ำหูน้ำตาไหล
คือตัวต้นฉบับเดิมมันจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อเรียกน้ำตาคนดู เพื่อให้คนดูซาบซึ้งใจว่า
เนี่ย การมาทำงานขายตรงทำให้เราสามารถช่วยเหลือพ่อแม่ที่ยากลำบากของเราได้ ดูสิ
ที่เราลืมตาอ้าปากได้ทุกวันนี้ ที่พ่อแม่เรามีบ้านอาศัยอยู่สบายทุกวันนี้
เป็นเพราะเราทำงานขายตรงนะเนี่ย
แต่พอเข้เอาวีซีดีนั้นมาตัดต่อใหม่ “อารมณ์ซาบซึ้งเรียกน้ำตาคนดู”
ในตัวต้นฉบับเดิมก็ถูกเสียดสีอย่างรุนแรงและกลายเป็นสิ่งที่น่าขำมากๆในหนังของเข้
และการทำเช่นนี้ทำให้เพื่อนเราบางคนตั้งข้อสังเกตว่า
มันดูเป็นวิธีการที่เลือดเย็นดี และเราอาจจะพบสิ่งนี้ได้ในหนังเรื่องอื่นๆของเข้เช่นกัน
พอเรามาดู BEHIND THE PAINTING เวอร์ชั่นนี้
เราก็รู้สึกอะไรบางอย่างคล้ายๆกัน คือหนังเรื่อง “ข้างหลังภาพ” เวอร์ชั่นก่อนๆ
และแม้แต่หนังที่ได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนจาก “ข้างหลังภาพ” อย่างเช่นหนังเรื่อง ENDLESSLY
(2013, Sivaroj Kongsakul, A+30) มันเน้นไปที่ “ความซาบซึ้ง”
เป็นหลักน่ะ และพอเราดู ENDLESSLY เราก็ร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง
เราประทับใจกับความรักของตัวละครอย่างมากๆ
แต่พอเข้เอา “ข้างหลังภาพ” มาดัดแปลง อารมณ์ซาบซึ้งมันก็ยังคงมีอยู่นะ
แต่มันมีอารมณ์เสียดสี มีความน่าขำ และมีประเด็นอื่นๆแทรกเข้ามาด้วย
และหากมองในแง่นึง เราก็อาจจะกล่าวได้ว่า เข้เป็นคนที่เลือดเย็นมากเช่นกัน
ที่สามารถดัดแปลง “อะไรที่ซาบซึ้ง น้ำหูน้ำตาไหลพราก” ให้กลายเป็นอะไรที่ thought provoking เช่นนี้ได้
2.ปกติแล้วในการดูข้างหลังภาพเวอร์ชั่นก่อนๆ
เราจะร้องห่มร้องไห้กับบทพูดของคุณหญิงกีรติที่ว่า “ความรักของเราต่างหาก
นพพร ความรักของเธอ เกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่ง
ยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ” แต่ในเวอร์ชั่นของเข้นั้น
ฉากนี้ไม่ได้ทำให้เราร้องไห้ แต่เราจะไปรู้สึกซาบซึ้งกับฉากถัดไป
ซึ่งเป็นฉากที่นพพรมองภาพวาดด้วยความซาบซึ้งใจ
โดยที่ภรรยาของเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมภาพนั้นถึงมีความสำคัญทางจิตใจต่อเขาอย่างรุนแรงเช่นนั้น
คือในเวอร์ชั่นของเข้ อารมณ์ “ซาบซึ้งกินใจ” สำหรับเราก็ยังคงมีอยู่นะ
เพียงแต่มันย้ายไปอยู่ในฉากสุดท้ายแทน แทนที่จะอยู่ในฉากคุณหญิงสั่งลา
3.แต่สิ่งที่สำคัญมากๆก็คือ นอกจากฉากสุดท้ายมันจะทำให้เรารู้สึก “ซาบซึ้งกินใจ”
ต่อความรักของตัวละครแล้ว มันยังทำให้เรารู้สึก “ขนลุกซู่และสะพรึงกลัว”
กับความซาบซึ้งของนพพรที่มีต่อภาพนั้นด้วย คือเราว่าฉากนี้มันส่งผลกระทบต่อเราอย่างรุนแรงในสองมิติในเวลาเดียวกันน่ะ
ซึ่งมิติแรกก็คือความซาบซึ้งที่มีต่อความรักระหว่างตัวละคร
ดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว
ส่วนมิติที่สองนั้น มันเกี่ยวข้องกับ concept ของวิดีโอชุดนี้
คือวิดีโอชุดนี้มันมีอะไรหลายอย่างน่าสนใจ อย่างเช่น
3.1 การ “ไม่มีเวลาที่แน่นอน”
คือเนื้อเรื่องเหมือนไม่รู้ว่าเกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบันกันแน่
เนื้อเรื่องเหมือนเกิดในอดีต แต่หลายๆครั้งก็มีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกยุคปัจจุบันแทรกเข้ามา
การซ้อนทับกันระหว่างโลกยุคอดีตกับปัจจุบันอย่างจงใจแบบนี้ ทำให้เรารู้ว่า
เราไม่สามารถ treat เนื้อเรื่องของข้างหลังภาพเวอร์ชั่นนี้ได้ว่าเป็น
“เหตุการณ์ในอดีต” แต่เราต้อง treat มันเป็นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับโลกยุคปัจจุบันด้วย
3.2 การที่ภาพวาดใน BEHIND THE PAINTING เวอร์ชั่นนี้
ไม่ได้มีแค่ภาพเดียว แต่มีหลายๆภาพ ทั้งภาพเล็ก ภาพใหญ่ และแต่ละภาพ
ก็ล้วนมีเรื่องราวอยู่ข้างหลังภาพนั้นๆ คนดูนิทรรศการนี้
จะรู้สึกว่าตัวเองต้องพบเจอกับ “ภาพแห่งความซาบซึ้งประทับใจ” มากมาย
และการที่ภาพเหล่านี้สร้างความซาบซึ้งประทับใจได้
เป็นเพราะมันยึดโยงอยู่กับเรื่องราวข้างหลังภาพ ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักระหว่าง “ชนชั้นกลาง”
กับ elite ในยุค 2475
3.3 อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า วิดีโอชุดนี้เหมือนจะจงใจ “เน้นความไม่สมจริง”
ของเรื่องราวแห่งความซาบซึ้งเบื้องหลังภาพต่างๆเหล่านี้ด้วย
ตัวละครคุณหญิงกีรติกับเมียนพพรก็ใช้ผู้ชายแสดง ตัวละครเจ้าคุณก็ใช้คนวัยหนุ่มแสดง
และแม้แต่เราเองที่แสดงเป็นพ่อนพพรก็รู้สึกว่าตัวเองเล่นแข็งมาก
แต่เข้ก็ปล่อยผ่านไปเลย 555
คือตอนที่เราไปเล่นเป็นพ่อนพพร ตอนแรกเรานึกว่าเข้จะถ่ายหลายๆเทคนะ
คือตอนเทคแรก เรารู้สึกว่าเราเล่นแข็งมาก เราก็นึกว่าเดี๋ยวพอเทคต่อๆไปเราก็จะทำอารมณ์เข้ากับบทได้ดีขึ้น
แล้วแสดงได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจริงๆแล้วเข้ไม่ได้เรียกร้องการแสดงที่สมจริงเป็นธรรมชาติอะไรจากเรา
555 แล้วก็เอาการแสดงแข็งๆแบบนั้นมาใช้เลย
แล้วพอเรามาดูตัววิดีโอในงานนี้ เราก็เข้าใจแหละว่า บางที “ความไม่สมจริงในระดับนึง”
อาจจะเป็นสิ่งที่เข้ต้องการก็ได้ และเราคิดว่ามันเข้ากับ “ภาพแห่งความซาบซึ้งประทับใจ”
เหล่านี้ดี เพราะ “ภาพแห่งความซาบซึ้งประทับใจ” เหล่านี้
ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับเรื่องราวที่สมจริง แต่มันตั้งอยู่บนรากฐานของอะไรที่ไม่สมจริง
และโดยที่วิดีโอชุดนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ มันก็ทำให้เรานึกถึงความรู้สึกของคนบางกลุ่มที่มีต่อเหตุการณ์ในช่วงปี
2475 ความรู้สึกซาบซึ้งของคนเหล่านั้นที่มีต่ออะไรบางอย่าง
มันยึดโยงอยู่กับความจริงมากน้อยแค่ไหน พวกเขาได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดหรือไม่
พวกเขาได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปแล้วหรือไม่ สิ่งที่พวกเขารับรู้ เป็นเพียง “ความจริงบางส่วน”
ใช่หรือไม่
3.4 เราว่าตัวภาพวาดบางภาพก็น่าสนใจดี คือเราว่าบางภาพมันสวยมากๆนะ
แต่บางภาพมันทำให้นึกถึง “ภาพวาดในแบบเรียน” หรือเหมือนภาพวาดในหนังสือมานีชูใจ กับการ์ตูนเล่มละบาทผสมกันน่ะ
ซึ่งตรงนี้ไม่รู้ว่าตัวเข้ตั้งใจหรือเปล่า แต่เราว่าการที่บางภาพมันทำให้นึกถึง “หนังสือแบบเรียนชั้นประถมของเด็กไทย”
มันก็เข้ากับประเด็นเรื่องการปลูกฝังความซาบซึ้งแบบผิดๆให้กับเด็กๆเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตด้วย
3.5 การที่ในตัววิดีโอนั้น เราได้เห็นภาพวาดที่สวยๆค่อยๆเลือนหายไปทีละส่วน
ทีละส่วน มันก็น่าสนใจดีเหมือนกัน เราไม่รู้ว่าจริงๆแล้วตรงนี้ต้องการสื่ออะไร แต่สำหรับเรานั้น
มันตอกย้ำให้เรานึกถึง “ความไม่จริง” ของอารมณ์ซาบซึ้งที่เรามีต่อภาพวาดสวยๆเหล่านี้
3.6 จากสิ่งที่เข้พูดและเขียนไว้ใน catalogue ของนิทรรศการ
มันทำให้เรามองว่า การที่คุณหญิงนพพรและกีรติใช้คนแสดงคนเดียวกันนั้น
มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆน่ะ มันทำให้เรามองว่า ในอดีตยุค 2475 นั้น elite
กับชนชั้นกลางเหมือนเป็น “คนละคน” กัน แต่ในปัจจุบันนั้น มันยังเป็น
“คนละคน” กันอยู่หรือไม่ หรือว่า “ความซาบซึ้งที่มีต่อ elite ในยุค 2475” มันยังไม่ตาย แต่มันถูกปลูกฝังเข้าไว้ในมโนสำนึกของชนชั้นกลางจำนวนมากตั้งแต่เข้าเรียนชั้นประถม
จนทำให้ชนชั้นกลางหลายคนในปัจจุบัน เป็น “นพพรที่มีวิญญาณคุณหญิงกีรติสิงสู่อยู่”
3.7 ดังนั้นในฉากสุดท้ายของวิดีโอชุดนี้
เมื่อนพพรมองภาพวาดนั้นด้วยความซาบซึ้งอย่างรุนแรง เราจึงรู้สึกทั้ง “ซาบซึ้งและสะพรึงกลัว”
ไปด้วยในขณะเดียวกัน คือเราซาบซึ้งต่อความรักระหว่างนพพรกับคุณหญิงกีรติ
แต่เราสะพรึงกลัวกับความเห็นของชนชั้นกลางหลายคนในยุคปัจจุบันที่มีต่อเหตุการณ์ในยุค
2475
และไอ้ความรู้สึกที่รุนแรงสองอย่างที่มันผุดขึ้นมาในฉากเดียวกันนี่แหละ
ที่ทำให้เราเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า “เข้เป็นผู้กำกับที่เลือดเย็นมาก”
เพราะเขาสามารถทำให้ “สิ่งที่ดูซาบซึ้งกินใจสุดๆ” กลายเป็น “สิ่งที่น่ากลัวมากๆ”
ได้ด้วยในขณะเดียวกัน
4.มีหลายอย่างในวิดีโอชุดนี้ที่เข้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ
แต่มันทำให้เรานึกถึงไปเอง และเราก็ชอบมันมากๆ อย่างเช่น บทสนทนาที่ว่า
นพพร: ดอกอะไรครับ
กีรติ: forget me not
นพพร: ผมไม่เคยเห็น forget me not แบบนี้
กีรติ: นี่เป็นพันธุ์ใหม่ forget me not พันธุ์กีรติ
คือบทสนทนานี้ในวิดีโอที่ขึ้นจอใหญ่นี้
อยู่ดีๆก็ทำให้เรานึกถึงวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
หรืออะไรก็ตามที่ต่อท้ายด้วยคำว่า “แบบไทยๆ”
แล้วมันกลายเป็นการทำให้สิ่งนั้นไม่เป็นความจริงขึ้นมาโดยอัตโนมัติน่ะ อย่างเช่น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
จริงๆแล้วอาจจะหมายถึง “เผด็จการ” อะไรทำนองนี้
ซึ่งจริงๆแล้ววิดีโอชิ้นนี้คงไม่ได้ตั้งใจสื่อถึงอะไรแบบนี้นะ
แต่มันทำให้เรานึกถึงประเด็นนี้ขึ้นมาเอง 555
นอกจากนี้ คำว่า forget me not ที่คุณหญิงกีรติพูดกับนพพรนั้น
ในข้างหลังภาพเวอร์ชั่นอื่นๆ มันอาจจะสร้างความรู้สึกประทับใจต่อ “ความรักระหว่างตัวละครทั้งสอง”
แต่ในเวอร์ชั่นนี้นั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า มันคือ “คำสาปของคุณหญิงกีรติ”
มันคือคำสาปแช่งที่มีต่อชนชั้นกลางไทย และการที่หลายๆคนเลือกที่จะ ”จดจำความจริงที่ถูก
elite บิดเบือนไป” นี่แหละ ที่สร้างความทุกข์ให้แก่เราในปัจจุบัน
5.สรุปว่าชอบ BEHIND THE PAINTING ของเข้อย่างสุดๆ
เพราะมันทำให้เรานึกถึงการเชื่อมโยงกันระหว่าง ภาพ – อารมณ์ซาบซึ้ง/ประทับใจ/สะเทือนใจเมื่อมองดูภาพ
– ที่มาของอารมณ์ซาบซึ้ง/ประทับใจ/สะเทือนใจนั้น – และประเด็นสำคัญที่ว่า ที่มาของอารมณ์ดังกล่าว
ยึดโยงกับ “ความจริง” มากน้อยเพียงใด
6.เราอาจจะชอบวิดีโอนี้อย่างสุดๆ
เพราะมันทำให้เรานึกถึงอะไรหลายๆอย่างเกี่ยวกับยุค 2475
โดยที่ตัววิดีโออาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่สำหรับผู้ชมนิทรรศการคนอื่นๆนั้น
เราว่าวิดีโอชุดนี้ก็คงมีอีกหลายๆแง่มุมที่น่าสนใจ โดยไม่ต้องนำประเด็นเรื่อง 2475
มาใช้ในการมองวิดีโอชุดนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ไม่ได้สนใจประเด็นเรื่อง
2475 เราก็ยังคงแนะนำให้ไปชมวิดีโอชุดนี้นะ เพราะมันน่าจะมีแง่มุมอื่นๆและประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในวิดีโอชุดนี้จ้ะ
No comments:
Post a Comment