Films
seen lately
สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ดูหนังที่ชอบสุดๆหลายเรื่องมาก
แต่ไม่มีเวลาเขียนถึงเลย
1.BEHIND
THE PAINTING (2015, Chulayarnnon Siriphol, video installation, A+30)
2.A
CASTLE IN ITALY (2013, Valeria Bruni Tedeschi, France, A+30)
3.ONLY
ON MONDAYS (1964, Ko Nakahira, Japan, A+30)
4.ANJAAM
(1994, Rahul Rawail, India, A+30)
5.THE
ASSASSIN (2015, Hou Hsiao-hsien, Taiwan, A+30)
6.GERONTOPHILIA
(2013, Bruce La Bruce, Canada, A+25)
7.NO
ESCAPE (2015, John Erick Dowdle, A+)
--A
CASTLE IN ITALY ประสาทแดกของจริง ชอบความเป็นตัวของตัวเองของ Valeria
Bruni Tedeschi มากๆ มันเหมือนกับว่าหนังของเธอมันมีอิสระมากๆ
คือถ้าเป็นหนังทั่วๆไป เราจะคาดเดาจาก “genre” ของหนังเรื่องนั้น
หรือ “ประเด็น” ของหนังเรื่องนั้นได้ว่า
“เนื้อเรื่อง” ของหนังจะดำเนินไปในแนวทางใด
และตัวละครแต่ละตัวในหนังเรื่องนั้น จะทำตัวอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับ genre
และประเด็นของหนังเรื่องนั้นๆ แต่กับหนังฝรั่งเศสบางเรื่อง
อย่างเช่นหนังของ Valeria Bruni Tedeschi เราจะเดาไม่ค่อยออก
มันเหมือนกับว่าตัวละครแต่ละตัวในหนังมันมีอิสระมากๆ มันไม่ต้องทำตัวรองรับ genre
หรือประเด็นของหนังในทุกๆฉาก มันเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
มันจะทำตัวฮี้ห่าอะไรของมันขึ้นมาก็ได้ทุกเมื่อ
มีฉากคลาสสิคหลายฉากในหนังเรื่องนี้ ฉากนึงที่เราชอบสุดๆคือฉาก “พัดลม” ซึ่งเป็นฉากที่เราไม่รู้ว่าเราควรจะทำอารมณ์อะไรดีกับฉากนี้
เราควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ หรือเยาะเย้ย หรืออะไร
คือการที่วาเลอเรียเอาพัดลมเข้ามาในโรงพยาบาลมันน่าขันมาก
แต่พอเธอรู้ความจริงจากหมอ เราก็ไม่รู้ว่าเราควรจะยังขำขันกับพัดลมต่อไปหรือไม่
แล้วอีหมอก็ทำหน้าตานิ่งมาก เราก็ไม่รู้ว่าเราควรจะขำกับใบหน้านิ่งๆของหมอหรือไม่
หรือเราควรจะเครียดกับใบหน้าหมอ แล้วพอแม่ของวาเลอเรียโผล่มา
แล้ววาเลอเรียก็กรีดร้องเป็นเสียงแปลกๆโดยที่เราไม่เห็นหน้าของวาเลอเรีย
เราก็ไม่รู้ว่าเราควรจะหัวเราะหรือร้องไห้กับเสียงกรีดร้องที่แปลกประหลาดพิสดารมากๆนี้ดีหรือไม่
เราว่าหนังนำเสนอคนรวยได้เป็นมนุษย์มากๆพอกับ HI-SO (2010, Aditya Assarat) เลย
คือเราชอบทั้งหนังที่เสียดสีคนรวยอย่างรุนแรงแบบหนังของ Claude Chabrol นะ แต่เราก็ชอบหนังที่นำเสนอคนรวยในฐานะ “มนุษย์ธรรมดา”
แทนที่จะเป็น “ภาพแทนของชนชั้น” แบบใน HI-SO และ A CASTLE IN ITALY ด้วย คือในแง่นึงตัวละครในหนังสองเรื่องนี้มันก็มีความเป็น “ภาพแทนของชนชั้น” เหมือนกันน่ะแหละ
เพียงแต่ว่ามันมีความเป็นมนุษย์อยู่สูงมากๆในขณะเดียวกัน
ดู A CASTLE IN ITALY แล้ว
อยากฉายควบกับหนังอีก 3 เรื่อง ซึ่งก็คือ CONCRETE
CLOUDS (2013, Lee Chatametikool), SUMMER HOURS (2008, Olivier Assayas) และ BUTTERFLY CHASE (1992, Otar Iosseliani) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนรวยที่ต้องสูญเสียบ้าน
หรือคนรวยที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะเหมือนๆกัน
--GERONTOPHILIA
เป็นหนังที่งดงามสุดๆ และเข้ากับ THE WAY HE LOOKS (2014,
Daniel Ribeiro, Brazil, A+30) ที่จัดจำหน่ายในไทยโดยผู้จัดจำหน่ายรายเดียวกันมากๆ
เพราะหนังสองเรื่องนี้เป็นหนังเกย์ที่ใสมากๆ
แต่ไม่ใช่ใสแบบโง่ๆเหมือนหนังเกย์วัยรุ่นไทยหลายเรื่อง
แต่เป็นใสแบบมีประเด็นหนักแน่นน่าสนใจในตัวเอง ทั้งเรื่องคนตาบอดใน THE WAY
HE LOOKS และเรื่องความรักข้ามวัยและข้ามสีผิวใน GERONTOPHILIA
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่เราชอบ GERONTOPHILIA แค่ A+25 เป็นเพราะว่า
เรารู้สึกว่าหนังมันบางเกินไปน่ะ คือเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหนังของ Bruce La
Bruce นะ เพราะเราเคยดูหนังของเขาอีกแค่สองเรื่อง ซึ่งก็คือเรื่อง OTTO;
OR UP WITH DEAD PEOPLE (2008) กับ THE RASPBERRY REICH
(2004) แต่เราเดาว่า มีความเป็นไปได้ที่บรูซ
ลาบรูซจะถนัดกับการสร้าง “หนังประเด็น” มากกว่า “หนังมนุษยนิยม” น่ะ
คือเราเดาว่าสิ่งที่บรูซ ลาบรูซถนัดจะทำและรักจะทำจริงๆ คือการ “อ้างอิงถึงสิ่งต่างๆที่น่าสนใจมากมาย” แบบที่ตัวละครเพื่อนหญิงใน
GERONTOPHILIA ทำ ทั้งการพาดพิงถึง Margaret Atwood,
Anais Nin, Lizzie Borden, etc. เราว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่บรูซ
ลาบรูซถนัดจริงๆ และมันเป็นสิ่งที่เหมาะกับหนังประเด็นอย่าง OTTO และ THE RASPBERRY REICH ที่ตัวละครไม่ได้เป็น “มนุษย์จริงๆ” แต่เป็นภาพแทนอะไรบางอย่าง
หรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเสียดสีคนบางกลุ่ม
หรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อประเด็น
คือเราว่าเราอาจจะชอบ GERONTOPHILIA
มากกว่านี้ ถ้าหากหนังสามารถทำให้ตัวพระเอกดูเป็นมนุษย์มากกว่านี้
ไม่ได้เป็น angel ลอยไปลอยมาแบบนี้
หรือถ้าหากหนังเจาะลึกไปที่อดีตของตัวละครชายผิวดำมากกว่านี้
คือพอเทียบกับหนังอย่าง THE
WAY HE LOOKS แล้ว มันจะเห็นได้ชัดว่าตัวละครใน THE WAY HE
LOOKS มันเป็นมนุษย์มากกว่าเยอะ อย่างไรก็ดี เราก็ชอบที่ GERONTOPHILIA
ไม่ได้พยายามทำตัวดราม่าหนักๆแบบหนังแคนาดาของ Xavier Dolan นะ
ฉากที่เราชอบสุดๆใน GERONTOPHILIA
คือฉากที่พยาบาลผิวดำทำเป็นไม่เห็นพระเอกขณะพาแฟนหนีออกจากโรงพยาบาล
ไม่รู้ทำไมเราถึงชอบฉากแบบนี้มากๆ เรามักจะชอบฉากแบบนี้ในหนังหลายๆเรื่องน่ะ
ซึ่งก็คือฉากที่ตัวละครประกอบแสดงความประเสริฐทางจิตใจออกมาอย่างที่เราคาดไม่ถึง
โดยเราจะพบฉากแบบนี้ได้ในหนังอย่าง MY MOTHER’S COURAGE (1995, Michael
Verhoeven) ที่มีฉากกระเป๋ารถเมล์สาวใจเพชรเข้าช่วยเหลือนางเอกขณะถูกนาซีไล่ล่า
หรือในหนังเรื่อง LOLA AND BILLY THE KID (1999, Kutlug Ataman) ที่มีฉากคนขายหนังสือพิมพ์หรืออะไรสักอย่างให้ความช่วยเหลือพระเอก
--NO ESCAPE เป็นหนังที่สนุกดีสำหรับเรา 555 คือพอเราสมมุติว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์แบบในหนัง
เราก็จะรู้สึกเครียดมากๆและคอยลุ้นตามตัวละครไปด้วย เราว่ามันเหมือนกับเอา HOTEL
RWANDA มารวมกับหนังซอมบี้น่ะ มันก็เลยสนุกดี
เพราะเวลาเราดูหนังซอมบี้ เราจะรู้สึกว่ามันไกลตัวเรา
(หมายถึงว่ามีโอกาสน้อยที่เราจะเจอเหตุการณ์แบบในหนัง) เราก็เลยไม่ค่อยลุ้นมากนัก
ในขณะที่สถานการณ์แบบใน HOTEL RWANDA หรือใน WERCKMEISTER
HARMONIES (2000, Béla tarr) หรือใน THE ACT OF KILLING
(2012, Joshua Oppenheimer) ที่มีกลุ่มฝูงชนออกไล่ฆ่าคนบริสุทธิ์ตามท้องถนน
มันใกล้ตัวเรามาก
เพราะเรารู้สึกว่ามันสามารถเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในไทยได้ง่ายมาก
(อย่างเช่นในกรณี 6 ต.ค. 2519) เพียงแต่ว่าหนังอย่าง
HOTEL RWANDA, THE ACT OF KILLING และ WERCKMEISTER
HARMONIES มันไม่ได้ถูกออกแบบมาแบบ “วิดีโอเกม”
เพื่อให้คนดูลุ้นระทึกไปกับการหาวิธีการเอาตัวรอดของตัวละครน่ะ
เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นไอเดียที่น่าสนใจดี ในการ adapt เอาเหตุการณ์สังหารหมู่ที่น่ากลัวมากๆและสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
มาทำเป็นหนังที่มีลักษณะคล่ายวิดีโอเกมโง่ๆ หรือคล้ายหนัง exploitation เกรดบีอย่าง NO ESCAPE
No comments:
Post a Comment