--ขอบคุณทุกท่านที่มาชมงาน FILMVIRUS IN WEIMAR
GERMANY ในวันนี้นะครับ
--กราบขออภัยทุกท่านเป็นอย่างยิ่งในการฉาย THE SUFFRAGETTE (1913, Urban Gad)
ที่ฉายไปครึ่งเรื่อง แล้วอยู่ดีๆเสียงก็หายไปเลย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่
และผมก็นึกว่าทางเจ้าหน้าที่เขาคงแก้ไขได้เอง แต่พอเข้าเรื่องที่สอง
เสียงก็ยังไม่มา ผมก็เลยขอให้เจ้าหน้าที่เขาลองแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆดู แล้วพอเขาลองเปลี่ยนช่องสัญญาณเสียบสายอะไรสักอย่าง
เสียงก็กลับมาเป็นปกติ ก็เลยเดาว่าปัญหาคงเกิดจากช่องสัญญาณที่เสียบไว้ตอนแรก
ซึ่งตอนแรกเสียงจากช่องนั้นมันก็ใช้งานได้ดี
แต่อยู่ดีๆมันก็เจ๊งไปเองกลางเรื่องเฉยเลย
ซึ่งผมก็ไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อนเหมือนกันครับ
และหวังว่าคงไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ
--หนังเรื่อง THE SUFFRAGETTE (1913) เป็นหนังที่สร้างขึ้นก่อนที่ผู้หญิงจะได้รับสิทธิเลือกตั้งในหลายประเทศในยุโรป
โดยประเทศอย่างเช่นเยอรมนีและอังกฤษนั้น
ผู้หญิงส่วนใหญ่เพิ่งจะได้รับสิทธิเลือกตั้งช่วงปลายหรือหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี
1918
หนังเรื่อง THE SUFFRAGETTE เป็นหนังที่เราไม่เห็นด้วยกับทัศนคติอย่างรุนแรง
เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนกับจะไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง
และนำเสนอภาพว่าผู้หญิงควรจะออกลูก, เลี้ยงลูก และทำตัวเป็นภรรยาที่ดีของผู้ชาย แต่เราว่าหนังเรื่องนี้ควรดูเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจุบัน
เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คนเมื่อ 100 ปีก่อน “มองคนไม่เท่ากันอย่างไร” หรือมองว่า “ใครไม่ควรได้รับสิทธิเลือกตั้ง”
อย่างไร และทัศนคติของคนเมื่อ 100 ปีก่อน มันดูเป็นอย่างไรบ้างในสายตาคนยุคปัจจุบัน
และถ้าคนยุคปัจจุบันยังคงมองคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเลือกตั้ง คนยุคปัจจุบันนี้จะถูกมองอย่างไรในสายตาของคนอีก
100 ปีข้างหน้า
--ถ้าใครชอบตัวละครแนว “กลุ่มคุณป้า activists” ในหนังเรื่อง
THE SUFFRAGETTE เราขอแนะนำให้ชมหนังเรื่อง DIARY OF
A LOST GIRL (1929, G.W. Pabst, A+30) ที่จะฉายในวันอาทิตย์ที่ 27
ธ.ค.จ้ะ เพราะใน DIARY OF A LOST GIRL ก็มีตัวละครป้าๆแบบนี้เหมือนกัน
แต่ตัวละครกลุ่มนี้ใน DIARY OF A LOST GIRL มาเพื่อให้โดนตบของจริง
--ถ้าใครชอบ Asta Nielsen นางเอกของหนัง 4 เรื่องในวันนี้
ก็ขอแนะนำให้ชม HAMLET (1921, Sven Gade + Heinz Schall) ที่จะฉายในวันอาทิตย์ที่
18 ต.ค. กับ THE JOYLESS STREET (1925, G.W. Pabst) ที่จะฉายในวันอาทิตย์ที่
15 พ.ย. เพราะ Asta Nielsen ก็นำแสดงในสองเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
(แต่วันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.มีเทศกาล World Film Festival of Bangkok ด้วยนะ เพราะฉะนั้นต้องจัดตารางชีวิตกันให้ดีๆ)
--นอกจากหนังในโปรแกรม FILMVIRUS IN WEIMAR GERMANY จะสะท้อนสภาพสังคมและความคิดฝันของคนเยอรมันในยุคไวมาร์แล้ว
หนังกลุ่มนี้ยังสะท้อน “พัฒนาการด้านภาพยนตร์” ของยุค 1910-1930 ไว้ด้วยนะ
อย่างหนัง 4 เรื่องที่ฉายในวันนี้ เป็นหนังยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ซึ่งจะเป็นหนังพวก theatrical costume drama เป็นหนังที่เหมือนละครเวทีที่ตัวละครแต่งตัวสวยๆงามๆ
และยังไม่ใช่หนังกลุ่ม EXPRESSIONIST และกลุ่ม NEW
REALISM ที่จะเบ่งบานในเยอรมนีในช่วงต่อมา นอกจากนี้
หนังเกือบทั้งหมดในโปรแกรมนี้ก็เป็นหนังเงียบด้วย ยกเว้นเพียง MELODY OF
THE WORLD (1929, Walter Ruttmann) กับ THE THREEPENNY OPERA
(1931, G.W. Pabst) ที่เป็นหนังเสียง
นอกจากนี้ หนัง 4 เรื่องในยุค 1910 ที่ฉายในวันนี้
ส่วนใหญ่แล้วยังมีลักษณะที่เขาเรียกกันว่า tableau ด้วย ถ้าเข้าใจไม่ผิด
คือกล้องจะตั้งนิ่งๆเหมือนกับอยู่หน้าเวทีละคร
แล้วปล่อยให้ตัวละครแสดงอะไรไปเรื่อยๆ เคลื่อนไหวย้ายตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไปเรื่อยๆ
โดยที่กล้องจะยังไม่เคลื่อนไหวมากนักในยุคนี้ คือหนังในยุคนี้เราจะแทบไม่ค่อยเห็น “พลังของการ
close up” และ “พลังของการตัดต่อ” เท่าไหร่นัก และยังไม่มี shot
reverse shot อะไรพวกนี้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดของกล้องในยุคนั้น
และช่วงนี้เป็นช่วงที่เยอรมนียังทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เพราะฉะนั้นช่วงนี้เยอรมนีอาจจะยังไม่ได้ดูหนังจากสหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศสมากนัก
แต่พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี 1918 และเข้าสู่ยุคไวมาร์
เยอรมนีจะได้ดูหนังจากประเทศต่างๆมากขึ้น ได้เห็นเทคนิคการตัดต่อ
เทคนิคการถ่ายทำจากหนังต่างชาติมากขึ้น และพัฒนาการด้านการสร้างภาพยนตร์ก็จะก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมากในเยอรมนี
No comments:
Post a Comment