ผู้ชมหลายคนคงจะเคยดูหนังเกี่ยวกับนาซีและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน
ทั้งหนังอย่าง SCHINDLER’S LIST (1993, Steven Spielberg), SHOAH (1985, Claude
Lanzmann, 566min), THE SORROW AND THE PITY (1969, Marcel Ophuls, 262min),
GERMAN CONCENTRATION CAMPS FACTUAL SURVEY (2014), HITLER: A FILM FROM GERMANY
(1977, Hans-Jürgen Syberberg, 429min), COME AND SEE (1985, Elem Klimov), HEAL
HITLER! (1986, Herbert Achternbusch), MY MOTHER’S COURAGE (1995, Michael
Verhoeven), MUSIC BOX (1989, Costa-Gavras), NIGHT AND FOG (1955, Alain Resnais)
ฯลฯ แต่ขณะที่เราดูหนังเหล่านั้น เราเคยตั้งข้อสงสัยไหมว่า
เพราะเหตุใดคนเยอรมันในยุคนั้นถึงยอมปล่อยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดเหี้ยม
และการทำสงครามเข่นฆ่าคนในประเทศอื่นๆมากมาย
โดยที่มีคนเยอรมันหลายคนในยุคนั้นยินดีปรีดาและสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาต่อการกระทำที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนาเหล่านี้ด้วย
หรือจริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้โหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา
แต่การฝักใฝ่เผด็จการและการยินดีกับการเข่นฆ่า “คนอื่นๆที่แตกต่างจากตัวเอง” เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้วหลายคนในหลายๆประเทศและในหลายๆยุคสมัย
ซึ่งรวมถึงในตัวเพื่อนๆเราหรือคนที่เคยเป็นเพื่อนเราในยุคปัจจุบัน
บางทีคนเยอรมันในยุคนั้นอาจจะไม่ได้แตกต่างจากเรามากเท่าที่คาด เมื่อเราดูหนังเกี่ยวกับนาซี
แว่บแรกเราอาจจะนึกว่าคนพวกนั้นดูเป็นยักษ์มารที่แตกต่างจากคนดีอย่างพวกเราเสียเหลือเกิน
แต่จริงๆแล้วเราแตกต่างจากพวกเขามากขนาดนั้นจริงหรือ
หรือว่าจริงๆแล้วความฝักใฝ่เผด็จการมันแอบซ่อนอยู่ในตัวพวกเราบางคน
และรอวันที่จะถูกปลุกขึ้นมาเมื่อสภาพสังคมเอื้ออำนวย และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง
เราจะขับไล่ความฝักใฝ่เผด็จการออกไปจากตัวพวกเราได้อย่างไร
เราไม่มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้น
แต่บางทีเราอาจจะหาคำตอบเหล่านั้นได้จาก Facebook page “ในไวมาร์เยอรมัน”
และในหนังสือ “ในไวมาร์เยอรมัน ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ของคุณภาณุ
ตรัยเวช ที่อาจจะออกวางแผงในเดือนมี.ค. 2016 อย่างไรก็ดี
สำหรับผู้ที่สนใจว่าชาวเยอรมันเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรในยุคไวมาร์ หรือในปี
1919-1933 เราก็ขอเชิญชวนให้คุณมาชมภาพยนตร์เยอรมันในโปรแกรมนี้
โดยภาพยนตร์ในโปรแกรมนี้ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในยุคไวมาร์
และสะท้อนให้เห็นว่าคนเยอรมันในยุคนั้นเขาดูหนังเรื่องอะไรกันบ้าง
เขาชอบเรื่องราวแบบไหน เขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาคิดฝันถึงอะไร เขามองตนเองอย่างไร
มองโลก และมองจักรวาลอย่างไร เขามีค่านิยมแบบไหน
ค่านิยมอะไรที่หากมองด้วยสายตาของคนในยุคปัจจุบันแล้ว
มันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมากๆ และมันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง
“การมองคนไม่เท่ากัน” ของคนในยุคนั้น
หนังบางเรื่องในโปรแกรมนี้อาจจะไม่ใช่หนังที่มีคุณค่าดีเลิศในเชิงศิลปะ
และบางเรื่องอาจจะเป็นหนังที่สะท้อนทัศนคติที่เลวร้าย แต่เราเชื่อว่าหนังเหล่านี้มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์
และหนังที่สะท้อนทัศนคติที่เลวร้ายหรือผิดพลาดของคนในอดีต
อย่างเช่นทัศนคติเหยียดเพศหญิงว่าไม่ควรได้รับสิทธิทัดเทียมกับผู้ชายในหนังบางเรื่องในโปรแกรมนี้
อาจจะทำให้เราตั้งคำถามต่อตนเองในยุคปัจจุบันได้เช่นกันว่า ถ้าหากคนในปี 2100 มองย้อนกลับมายังเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในปี
2015 พวกเขาจะมองเราด้วยสายตาเช่นไร เราคิดว่าสิ่งที่เราคิด, เราเชื่อ
และเราทำในปัจจุบันนี้ มันจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ในสายตาของคนในปี 2100
เราลองนั่ง time machine ย้อนกลับไปในอดีตกัน
ไปดูว่าคนเยอรมันในยุคไวมาร์เมื่อ 80-100 ปีก่อน เขาดูหนังเรื่องอะไรกันบ้าง
เขาเหมือนกับเรามากแค่ไหน และเขาแตกต่างจากเรามากแค่ไหน
และถ้าหากเขาไม่ได้แตกต่างจากเรามากนัก
นั่นก็หมายความว่าเหตุการณ์เลวร้ายในยุคนาซีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
มันก็อาจจะกลับมาเกิดขึ้นได้อีกในปัจจุบัน และเมื่อใดก็ตามที่เรา “ตัดสิน”
คนเยอรมันในยุคไวมาร์ว่าดีชั่วหรือแตกต่างจากเรามากเพียงไร เราก็อย่าลืมเช่นกันว่า
คนในปี 2100 ก็อาจจะมองเราในปี 2015 ด้วยสายตาแบบเดียวกัน
Program IN WEIMAR GERMANY
27 SEP 2015
Week 1 BEFORE WEIMAR WITH ASTA NIELSEN
12.30hrs OPENING TALK WITH PANU TRIVEJ
SUFFRAGATE (1913, Urban Gad, 61min)
+ THE ABC OF LOVE (1916, Magnus Stifter, 50min)
15.30hrs ESKIMO BABY (1918, Heinz Schall, 65min)
+ THE QUEEN OF THE STOCK EXCHANGE (1918, Edmund Edel, 63min)
4 OCT 2015
Week 2 FRITZ LANG
12.30hrs THE SPIDERS (1919, Fritz Lang, 137min)
15.00hrs SPIES (1928, Fritz Lang, 145min)
11 OCT 2015
Week 3 ERNST LUBITSCH
12.30hrs SUMURUN (1920, Ernst Lubitsch, 103min)
14.30hrs ANNA BOLEYN (1920, Ernst Lubitsch, 118min)
18 OCT 2015
Week 4 CROSSDRESSING
12.30hrs I DON’T WANT TO BE A MAN (1918, Ernst Lubitsch, 45min)
+ THE WILDCAT (1921, Ernst Lubitsch, 82min)
14.45hrs HAMLET (1921, Sven Gade + Heinz Schall, 131min)
25 OCT 2015
Week 5 SEMI-DOCUMENTARIES: THE UNIVERSE, THE WORLD, AND GERMANY
12.30hrs OUR HEAVENLY BODIES (1925, Hans Walter Kornblum, 92min)
+ MELODY OF THE WORLD (1929, Walter Ruttman, 49min)
15.00hrs FROM THE REALM OF SIX DOTS (1927, Hugo Rütters, 100min)
1 NOV 2015
Week 6 EXPRESSIONISM AND F.W. MURNAU
12.30hrs FROM MORNING TILL MIDNIGHT (1920, Karlheinz Martin, 73min)
+ TARTUFFE (1926, F.W. Murnau, 64min)
15.00hrs PHANTOM (1922, F.W. Murnau, 120min)
15 NOV 2015
Week 7 THE RICH AND THE POOR
12.30hrs THE JOYLESS STREET (1925, G.W. Pabst, 151min)
15.15hrs SLUMS OF BERLIN (1925, Gerhard Lamprecht, 113min)
22 NOV 2015
Week 8 GERHARD LAMPRECHT
12.30hrs FOLKS UPSTAIRS (1926, Gerhard Lamprecht, 119min)
14.45hrs CHILDREN OF NO IMPORTANCE (1926, Gerhard Lamprecht, 96min)
29 NOV 2015
WEEK 9 RELIGIOUS TOLERANCE VS. LENI RIEFENSTAHL
12.30hrs NATHAN THE WISE (1922, Manfred Noa, 123min)
14.45hrs THE HOLY MOUNTAIN (1926, Arnold Fanck, 106min)
13 DEC 2015
Week 10 FOOTBALL
12.30hrs KING OF THE CENTER FORWARDS (1927, Fritz Freisler, 95min)
+ INTERNATIONAL COMPETITION GERMANY VS. ITALY IN THE DUISBERG STADIUM
(1924, documentary, 9min)
14.30hrs ELEVEN DEVILS (1927, Zoltan Korda + Carl Boese, 98min)
20 DEC 2015
Week 11 COUNTDOWN TO THE THIRD REICH
12.30hrs UNDER THE LANTERN (1928, Gerhard Lamprecht, 131min)
15.00hrs THE CITY OF TOMORROW (1930, Erich Kotzer + Maximilian von
Goldbeck, 33min)
+ WHERE OLD PEOPLE LIVE (1931, Ella-Bergmann Michel, documentary,
13min)
+UNEMPLOYED ARE COOKING FOR THE UNEMPLOYED (1932, Ella-Bergmann
Michel, documentary, 9min)
+FISHING IN THE RHÖN (AT THE SINN) (1932, Ella-Bergmann Michel,
documentary, 10min)
+ELECTION CAMPAIGN 1932 (LAST ELECTION) (1933, Ella-Bergmann
Michel, documentary, 13min)
+TRAVELLING HAWKERS IN FRANKFURT AM MAIN (1932, Ella-Bergmann
Michel, documentary, 46min)
+BLUE IS THE BEAT OF MY HEART (1989, Jutta Hercher + Maria Hemmleb,
documentary, 30min)
27 DEC 2015
Week 12 G.W. PABST
12.30hrs DIARY OF A LOST GIRL (1929, G.W. Pabst, 116min)
14.30hrs THE THREEPENNY OPERA (1931, G.W. Pabst, 110min)
+ BRECHT VS. PABST (2007, documentary, 49min)
WEEK ONE
THE SUFFRAGATE (1913, Urban Gad, 60min)
หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเนลลี (Asta Nielsen) หญิงสาวชาวอังกฤษที่มีชายหนุ่มหลายคนมาติดพัน
แต่เธอกลับหลงรักลอร์ด แอสคิว (Max Landa) นักการเมืองที่ต่อต้านการให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้ง
และนั่นก็ทำให้เนลลีกับลอร์ด แอสคิวต้องกลายเป็นศัตรูกัน
เพราะแม่ของเนลลีเป็นหนึ่งใน suffragette หรือนักเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในการเลือกตั้ง
และแม่ของเนลลีก็ได้ชักจูงให้เนลลีมาเข้าร่วมขบวนการของเธอด้วย
เนลลีได้กลายเป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรี เธอถูกจับเข้าคุก, เธออดอาหารประท้วง
และเธอก็ถูกบีบบังคับให้กินอาหารโดยไม่สมัครใจด้วย
THE ABC OF LOVE (1916, Magnus Stifter, 50min)
หนังโรแมนติกคอมเมดี้ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อ 99 ปีก่อน
หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับลิซ (Asta Nielsen) สาวแก่นแก้วที่เพิ่งได้เจอหน้าคู่หมั้นหนุ่มที่ชื่อฟิลิปป์
(Ludwig Trautmann) เป็นครั้งแรก พอลิซได้เห็นหน้าคู่หมั้น
เธอก็ไม่พอใจ เธอคิดว่าฟิลิปป์ดูเรียบร้อยเกินไป ดูไม่แมน
เธอก็เลยหลอกพาฟิลิปป์ไปปารีสเพื่อสอนให้ฟิลิปป์รู้จักทำตัวแมนๆ
โดยที่เธอเองก็ปลอมตัวเป็นผู้ชายด้วย แล้วเรื่องตลกชวนหัวต่างๆก็เกิดขึ้นตามมา
THE ESKIMOBABY (1918, Heinz Schall, 65min)
คนุด (Freddy Wingardh) ชายหนุ่มซึ่งมีคู่หมั้นอยู่แล้วได้เดินทางกลับมาจากการสำรวจกรีนแลนด์พร้อมกับนำของที่ระลึกติดตัวมาด้วย
แต่ของที่ระลึกของเขาคือหญิงสาวชาวเอสกิโมชื่ออีวิกตุท (Asta Nielsen) ที่แทบไม่รู้จักเทคโนโลยีเลย เธอสร้างความปั่นป่วนตั้งแต่ฉากแรกที่ปรากฏตัวด้วยการเล่นเบรกรถไฟจนทำให้รถไฟต้องหยุดวิ่ง
และเมื่อเธอมาอาศัยอยู่ในบ้านของคนุด
เธอก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายต่างๆนานามากมาย
และแน่นอนว่าเธอต้องมีฉากปะทะกับคู่หมั้นของคนุดด้วย
THE QUEEN OF THE STOCK EXCHANGE (1918, Edmund Edel, 63min)
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของ Helene Netzler (Asta Nielsen) เจ้าแม่ตลาดหุ้น,
เจ้าแม่เหมืองแร่ และเจ้าแม่ทองแดง
เธอประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการทำธุรกิจของเธอ และเธอก็ตกหลุมรัก Lindholm
(Aruth Wartan) ผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี
ความรักของเธอเผชิญกับอุปสรรค เมื่อ Lindholm หันไปชอบพอกับ Lina
ลูกพี่ลูกน้องของ Helene ที่มีฐานะยากจนและทำงานเป็นสาวใช้ของ
Helene
WEEK TWO
THE SPIDERS (1919, Fritz Lang, 137min)
หนังเล่าเรื่องราวของการผจญภัยของ Kay Hoog (Carl de Vogt) ชายหนุ่มในซานฟรานซิสโกที่ได้รับข้อความลึกลับที่บ่งชี้ว่า
มีชายชาวตะวันตกคนหนึ่งถูกชาวอินคาในเปรูจับตัวไว้
และชาวอินคากลุ่มนี้ครอบครองทองจำนวนมาก
เคย์ตัดสินใจว่าจะออกเดินทางไปค้นหาชาวอินคากลุ่มนี้
แต่เขาต้องเจออุปสรรคขัดขวางเป็นองค์การลึกลับชื่อ The Spiders ที่พยายามจะค้นหาชาวอินคากลุ่มนี้เช่นกันเพื่อแย่งชิงทองของชาวอินคา
การต่อสู้ชิงไหวชิงพริบกันระหว่างเขากับองค์การร้ายนี้นำพาเขาไปยังสถานที่ต่างๆทั่วโลก
ตั้งแต่เมืองใต้ดินในซานฟรานซิสโก ไปจนถึง เม็กซิโก, เปรู, อังกฤษ
และหมู่เกาะฟอล์คแลนด์
SPIES (1928, Fritz Lang, 145min)
นอกจาก Fritz Lang จะสร้างตัวละครจอมบงการขององค์การร้ายที่น่าประทับใจในหนังอย่าง
THE SPIDERS (1919) และหนังชุด DR. MABUSE แล้ว
เขายังสร้างตัวละครจอมบงการที่น่าประทับใจอีกตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้ด้วย โดย SPIES
มีเนื้อหาเกี่ยวกับฮากี (Rudolph Klein-Rogge) เจ้าพ่ออาชญากรรมที่ส่งสายลับไปแฝงตัวทำงานอยู่ในหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาล
ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถปราบองค์การร้ายนี้ได้สักที
และรัฐบาลก็เลยมอบหมายให้สายลับหนุ่มหน้าใหม่ที่มีชื่อรหัสว่า 326 (Willy
Fritsch) หาทางทำลายองค์การลับนี้ให้ได้ อย่างไรก็ดี
ฮากีรู้ข้อมูลนี้ดี ดังนั้นเขาจึงส่งซอนย่า (Gerda Maurus) สายลับสาวเซ็กซี่ชาวรัสเซียให้ไปจัดการกับ
326 ซะ ทั้งนี้ หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเหมือนกับต้นแบบของหนังชุด James
Bond ในเวลาต่อมา
WEEK THREE
SUMURUN (ONE ARABIAN NIGHT) (1920, Ernst Lubitsch, 103min)
SUMURUN ดัดแปลงมาจากการแสดงละครใบ้ 6 องก์ของ Friedrich
Freksa ซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานอาหรับพันหนึ่งราตรี
โดยหนังเรืองนี้ใช้ฉากหลังเป็นดินแดนตะวันออกที่ไม่ระบุชื่อ
และใช้ตัวประกอบหลายพันคน โดยมีลูบิทช์ร่วมแสดงด้วยในบทของตัวตลกหลังค่อมชื่อเยกการ์ที่อยู่ในคณะนักแสดงคาร์นิวาลร่อนเร่คณะหนึ่ง
เยกการ์ตกหลุมรักยานเนีย (Pola Negri) ซึ่งเป็นนักเต้นรำชาวยิปซี
แต่เธอกลับชอบโอรส (Carl Chewing ) ของชีคในฮาเร็มแห่งหนึ่ง
และเยกการ์ก็เลยหาทางตามยานเนียเข้าไปอยู่ในฮาเร็มของชีคใจร้าย (Paul
Wegener) คนนี้ด้วย นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังเล่าเรื่องของซูมูรุน
(Jenny Hasselqvist) ดาวเด่นของฮาเร็มแห่งนี้
โดยซูมูรุนตกที่นั่งลำบากเมื่อเธอปฏิเสธความรักจากชีค
เพราะเธอตกหลุมรักพ่อค้าขายเสื้อผ้าคนหนึ่ง (Harry Liedtke)
ANNA BOLEYN (1920, Ernst Lubitsch, 118min)
นอกจาก Ernst Lubitsch จะเก่งกาจในการสร้างหนังตลกอย่าง THE
DOLL (1919) และ THE OYSTER PRINCESS (1919) แล้ว
เขายังกำกับหนังพีเรียดดราม่าด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงเรื่อง MADAME DUBARRY
(1919) และ ANNA BOLEYN โดยหนังเรื่อง ANNA
BOLEYN นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของแอนนา โบลีย์น (Henny
Porten) นางกำนัลวัย 30 ปีที่อาศัยอยู่กับดยุคแห่งนอร์ฟอล์ค (Ludwig
Hartau) ผู้เป็นลุง เธอชอบพบกับเซอร์ เฮนรี่ นอร์ริส (Paul
Hartmann) แต่เขากลับปฏิเสธความรักของเธอ
เพราะเขาคิดว่าเธอเป็นชู้กับกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ของอังกฤษ (Emil Jannings)
ทางด้านกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ก็ชอบแอนนา โบลีย์นมาก
ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจหย่าขาดจากราชินีแคทเธอรีน (Hedwig
Pauly-Winterstein) เพื่อมาอภิเษกสมรสกับแอนนา
โดยอ้างว่าราชินีแคทเธอรีนไม่สามารถให้กำเนิดราชโอรสได้ แต่การอภิเษกสมรสกับแอนนาในปี
1533 ส่งผลให้อังกฤษแตกแยกกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
WEEK 4
I DON’T WANT TO BE A MAN (1918, Ernst Lubitsch, 45min)
Ossi (Ossi Oswalda) เป็นสาวน้อยที่ชอบกินเหล้า,
สูบบุหรี่, เล่นไพ่กับผู้ชาย และออกไปเที่ยวนอกบ้าน เธอพบว่าการกระทำของเธอสร้างความไม่พอใจให้กับคุณลุง,
ครูประจำบ้าน และผู้ดูแลหนุ่ม
เธอก็เลยปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อออกไปเที่ยวนอกบ้านให้สะใจ
THE WILDCAT (1921, Ernst Lubitsch, 82min)
THE WILDCAT มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารหนุ่มนิสัยเจ้าชู้ชื่ออเล็กซิส
(Paul Heidemann) ที่ถูกส่งไปประจำค่ายทหารในดินแดนห่างไกล
แต่เขาถูกกลุ่มกองโจรกลุ่มหนึ่งจับตัวไป และริชกา (Pola Negri) ลูกสาวหัวหน้ากองโจรที่ชอบแต่งตัวเป็นทอมบอยก็ตกหลุมรักเขา อย่างไรก็ดี
ผู้บัญชาการค่ายทหารแห่งนั้น (Victor Janson) ก็ต้องการให้เขาแต่งงานกับลิลลี่
(Edith Meller) ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้บัญชาการ
ดังนั้นอเล็กซิสจึงต้องเผชิญกับรักสามเส้าในหนังล้อเลียนทหารเรื่องนี้ ทั้งนี้
หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากในส่วนของงานด้านภาพที่มีความเป็น Expressionist
อย่างรุนแรง และในด้านการล้อเลียนสถาบันการแต่งงานด้วย
HAMLET (1921, Sven Gade + Heinz Schall, 131min)
เราเชื่อว่าผู้ชมหลายคนคงเคยดู HAMLET ของเชคสเปียร์มาแล้วในหลายเวอร์ชั่น
ทั้งเวอร์ชั่น HAMLET (1990, Franco Zeffirelli) ที่นำแสดงโดยเมล
กิบสัน, HAMLET (1996, Kenneth Branagh) ที่ยาว 4
ชั่วโมงเต็ม, HAMLET (2000, Michael Almereyda) ที่นำแสดงโดย
Ethan Hawke และดัดแปลงให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่
และ HAIDER (2014, Vishal Bhardwaj, 160min) ที่เพิ่งลงโรงฉายในปีที่แล้ว
และเป็นเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามแคชเมียร์
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ผู้ชมอาจจะเบื่อหน่าย HAMLET กันแล้ว แต่ HAMLET
เวอร์ชั่นปี 1921 นี้ก็ไม่เหมือนเวอร์ชั่นอื่นๆ
เพราะตัวละครแฮมเล็ตในเวอร์ชั่นนี้จริงๆแล้วเป็นผู้หญิง (Asta Nielsen)
แต่เธอถูกบังคับให้ปลอมตัวเป็นผู้ชายตั้งแต่เด็กเพื่อที่เธอจะได้สืบราชสมบัติได้
นอกจากนี้ การที่แฮมเล็ตเวอร์ชั่นนี้เป็น “หญิงที่ปลอมตัวเป็นชาย”
ยังส่งผลให้แฮมเล็ตเวอร์ชั่นนี้มีความโฮโมอีโรติกอยู่ด้วย
เพราะแทนที่แฮมเล็ตเวอร์ชั่นนี้จะตกหลุมรักโอฟีเลีย แฮมเล็ตกลับตกหลุมรัก Horatio
แทน นอกจากนี้ แฮมเล็ตยังดูเหมือนมีความสัมพันธ์แบบเกย์กับตัวละคร
Fortinbras ด้วย
WEEK 5
OUR HEAVENLY BODIES (1925, Hans Walter Kornblum, 92min)
OUR HEAVENLY BODIES เป็นหนังไซไฟเพื่อการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่าคนในทศวรรษ
1920 มองภาพจักรวาลอย่างไรบ้าง
โดยหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีเส้นเรื่องและตัวละครที่ชัดเจนแบบหนังเล่าเรื่องทั่วไป
แต่เป็นหนังที่ผสมผสานทั้งส่วนที่เป็นสารคดี, เรื่องแต่ง และแอนิเมชั่นเข้าด้วยกัน
เพื่อให้การศึกษาแก่ผู้ชมในยุคนั้นเกี่ยวกับจักรวาล, การเดินทางด้วยกระสวยอวกาศ
และวิธีการรับมือของมนุษย์ต่อวันสิ้นโลกที่อาจจะมาถึงในอนาคต
หนังเรื่องนี้ใช้ทีมงานด้านเทคนิคพิเศษเป็นจำนวนมาก
และสร้างขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างน้อย 4
คนที่มาร่วมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในหนังเรื่องนี้
MELODY OF THE WORLD (1929, Walter Ruttmann, 49min)
Walter Ruttmann เป็นผู้กำกับที่โด่งดังมากจากหนังเรื่อง
BERLIN: SYMPHONY OF A GREAT CITY (1927) แต่เนื่องจากหนังเรื่องนี้เคยฉายในกรุงเทพไปแล้ว
เราก็เลยเลือกเรื่อง MELODY OF THE WORLD มาฉายแทน โดย MELODY
OF THE WORLD เป็นการรวบรวมคลิปจากหลายประเทศทั่วโลกมาตัดต่อเข้าด้วยกัน
ซึ่งรวมถึงประเทศไทยหรือสยาม
เพื่อให้ผู้ชมชาวเยอรมนีในยุคนั้นได้เห็นว่าคนในประเทศต่างๆทั่วโลกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง
โดยการตัดต่อในหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการตัดต่อแบบแยกตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
แต่เป็นการตัดต่อที่นำกิจกรรมที่คล้ายๆกันของคนในหลายๆประเทศมาวางเรียงกัน
นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังเป็นหนังเสียงขนาดยาวเรื่องแรกของเยอรมนีด้วย
FROM THE REALM OF SIX DOTS (1927, Hugo Rütters, 100min)
FROM THE REALM OF SIX DOTS เป็นหนังกึ่งสารคดีที่เล่าเรื่องของคนงานโรงงานเหล็กกล้าวัยหนุ่มที่กลายเป็นคนตาบอด
และแฟนสาวของเขาที่พยายามเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนตาบอด
โดยเนื้อหาตรงส่วนนี้เป็นเรื่องแต่ง
แต่หนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นสภาพชีวิตของคนตาบอดในเมืองโคโลญจน์, นิววีด
และเดือเรนในยุคนั้นในแบบที่คล้ายหนังสารคดีด้วย และการที่หนังเรื่องนี้เคยบันทึกภาพเมืองเดือเรนในยุคนั้นเอาไว้ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
เพราะในเวลาต่อมาเมืองนี้ได้ถูกทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่สอง
ดังนั้นภาพเมืองเดือเรนยุคเก่าที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นสิ่งหายาก
โดยหนังเรื่องนี้เคยฉายที่เมืองเดือเรนครั้งแรกในปี 1927
และได้ถูกนำกลับมาฉายที่เมืองเดือเรนอีกครั้งในปี 2007 หรืออีก 80 ปีต่อมา ทั้งนี้
หนังเรื่องนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบหนังสั้นไทยเรื่อง “การ์ดป้องกัน” (THAT’S
HOW IT GOES) (2015, Prim-on Terdthai) และ GRAY SCALE
(2005, Dumrong Hodumrong) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ชีวิตของคนที่กลายเป็นคนตาบอดเหมือนกัน
WEEK 6
FROM MORNING TILL MIDNIGHT (1920, Karlheinz Martin, 73min)
หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนักงานธนาคารรายหนึ่ง (Ernst Deutsch) ที่เบื่อหน่ายกับชีวิตชนชั้นกลางในบ้านนอกของตนเอง
เขาก็เลยยักยอกเงินจำนวนมาก และเดินทางเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่
ก่อนที่ชีวิตของเขาจะเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก
หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นที่การจัดฉากและเครื่องแต่งกายในแบบ Expressionist ที่รุนแรงมากๆ แฟนๆหนังเรื่อง THE CABINET OF DR. CALIGARI (1920,
Robert Wiene) ที่ชอบฉากแบบ Expressionist ในหนังเรื่องนั้น
ไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ ฉากการแข่งรถจักรยานใน FROM MORNING
TILL MIDNIGHT ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในฉากที่น่าทึ่งที่สุดในยุคของภาพยนตร์เงียบด้วย
TARTUFFE (1926, F.W. Murnau, 64min)
TARTUFFE เป็นหนังซ้อนหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่กลับไปเยี่ยมปู่ของเขา
และพบว่าปู่ไม่ต้องการต้อนรับเขาอีกต่อไป
เพราะปู่ดันไปหลงเชื่อคำโป้ปดของสาวใช้ที่หลอกปู่ว่า หลานชายคนนี้เป็นคนไม่รักดี
และปู่ควรยกมรดกให้สาวใช้แทน ทางด้านหลานชายก็เลยแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปลอมตัวเป็นคนฉายหนังเร่
และฉายหนังเรื่อง TARTUFFE ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนเคร่งศาสนาที่ชอบหลอกลวงประชาชนให้ปู่ดู
โดยหวังว่าปู่จะเข้าใจความจริงเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้
TARTUFFE ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีของ Moliere ในปี 1664 และมีเนื้อหาเสียดสีสถาบันศาสนาและพวกมือถือสากปากถือศีล หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ไม่ค่อยดังของ
Murnau โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังอย่าง NOSFERATU
(1922), THE LAST LAUGH (1924), FAUST (1926) และ TABU
(1931) แต่เนื่องจากหนังดัง 4 เรื่องนี้เคยได้รับการจัดฉายในกรุงเทพไปแล้ว
เราก็เลยเลือกเรื่อง TARTUFFE มาฉายแทน
PHANTOM (1922, F.W. Murnau, 120min)
PHANTOM ไม่ใช่หนังผี
แต่เป็นหนังเมโลดราม่าที่เล่าเรื่องของลอเรนซ์ ลูโบตา (Alfred Abel) เสมียนหนุ่มยากจนผู้ใฝ่ฝันว่าตัวเองจะได้เป็นกวีที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงโด่งดัง
เขาตกหลุมรักเวโรนิกา ฮาร์ลาน (Lya De Putti) สาวสวยผมบลอนด์ผู้ร่ำรวยซึ่งอยู่คนละชนชั้นกับเขา
และเขาก็มองข้ามความรักที่หญิงสาวชื่อมารี (Lil Dagover) มอบให้แก่เขา ทั้งนี้
หนังสั่งสอนศีลธรรมเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอันชั่วร้ายของเงินตราและปัญหาอันเกิดจากบรรทัดฐานทางสังคม
นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังมีจุดเด่นที่งานด้านภาพอันงดงาม โดยมี Thea von
Harbou ภรรยาของ Fritz Lang มาร่วมเขียนบทให้หนังเรื่องนี้ด้วย
WEEK 7
THE JOYLESS STREET (1925, Georg Wilhelm Pabst, 151min)
Greta Garbo และ Asta Nielsen สองดาราดังแห่งหนังยุคโบราณได้โคจรมาพบกันในหนังเมโลดราม่าเรื่องนี้
ซึ่งใช้ฉากหลังเป็นกรุงเวียนนาของออสเตรียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปั่นตลาดหุ้นกันอย่างรุนแรง
และเกิดชนชั้นเศรษฐีใหม่ขึ้นมาในยุคนั้น หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยซับพล็อตมากมายอย่างน้อย
6 ซับพล็อต ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของกลุ่มคนไร้บ้านและคนตกงาน, ผู้หญิงที่ขายตัวเพื่อจะได้มีเงินซื้ออาหารกิน,
หนุ่มๆที่ขายตัวให้สาวไฮโซ, เรื่องของซ่องโสเภณี, การฆาตกรรม
และการประท้วงตามท้องถนน ทั้งนี้ ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีความยาว 151 นาที แต่หนังเรื่องนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์
เพราะฟิล์มหนังเรื่องนี้ยังคงหายสาบสูญไปเป็นความยาวอย่างน้อย 700 เมตร นอกจากนี้
นักวิจารณ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า หนังเรื่องนี้เป็นรอยต่อระหว่างหนังยุค Expressionism
กับหนังยุค new realism
SLUMS OF BERLIN (1925, Gerhard Lamprecht, 113min)
Gerhard Lamprecht อาจจะไม่ใช่ผู้กำกับแบบ auteur
ที่มีลายเซ็นชัดเจน แต่เขาก็ทำหนังดีเอาไว้หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงหนังเมโลดรามาเรื่อง
SLUMS OF BERLIN ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรเบิร์ต เครเมอร์ (Bernard
Geotzke) ชายที่ต้องโทษสามปีเนื่องจากเขาให้การเท็จต่อศาลเพื่อช่วยเหลือเกอร์ดา
(Hildegarde Imhof) ซึ่งเป็นคู่หมั้นของเขา
แต่เมื่อเขาออกจากคุก เขาก็พบว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการของพ่อ (Paul Bildt), คู่หมั้น หรือสังคมอีกต่อไป เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในสลัม
และคิดจะฆ่าตัวตาย แต่โชคยังดีที่เอ็มมา (Aud Egede Nissen) โสเภณีจิตใจงามได้ช่วยชีวิตเขาเอาไว้
และทำให้เขาอยากจะสู้ชีวิตต่อไป ทั้งนี้
หนังเรื่องนี้แนะนำชมเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ BERLIN
ALEXANDERPLATZ (1980, Rainer Werner Fassbinder) และ STORY
OF A DISCHARGED PRISONER (1967, Lung Kong) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอดีตนักโทษเหมือนกัน
WEEK 8
FOLKS UPSTAIRS (1926, Gerhard Lamprecht, 119min)
FOLKS UPSTAIRS เป็นหนึ่งในหนังไตรภาคเมโลดราม่าคนจนของ
Gerhard Lamprecht ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของ Heinrich
Zille โดยอีกสองเรื่องในไตรภาคนี้คือ SLUMS OF BERLIN และ CHILDREN OF NO IMPORTANCE ทั้งนี้ FOLKS
UPSTAIRS ใช้ฉากหลังเป็นอาคารอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
และสะท้อนชีวิตของชาวเยอรมันในยุคนั้นผ่านทางตัวละครมากมายที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์แห่งเดียวกัน
ซึ่งรวมถึงนักดนตรีชราผู้ยากจน, แม่ม่ายที่เคยมีฐานะร่ำรวยมาก่อน,
ครอบครัวพ่อค้าเครื่องประดับ, คนขายลูกโป่ง, เจ้าหน้าที่รัฐบาล (Alfred
Abel) ที่มีเมียติดคุก (Aud Egede Nissen)
และต้องคลอดลูกในคุก และเจ้าของอพาร์ทเมนท์ (Erika Glässner) ผู้พยายามหาผัวอย่างรุนแรง และเธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากแม่สื่อ
(Margarete Kupfer) ให้รู้จักกับสุภาพบุรุษคนหนึ่ง (Aribert
Wäscher) ทั้งนี้
หนังเรื่องนี้แนะนำชมเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบละครเวทีเรื่อง CACOPHONIES
(2014, Grisana Punpeng) หรือหนังเรื่อง A ROOM FOR RENT
(1959, Kawashima Yuzo) ที่เล่าเรื่องราวอลหม่านของคนที่อาศัยในอพาร์ทเมนท์เดียวกันเหมือนกัน
CHILDREN OF NO IMPORTANCE (1926, Gerhard Lamprecht, 96min)
CHILDREN OF NO IMPORTANCE เป็นหนังเมโลดราม่าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก
3 คนที่มีชื่อว่าปีเตอร์ (Ralph Ludwig), ล็อตเต้ (Margo
Misch) และฟรีดา (Fee Wachsmuth) ที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของพ่อบุญธรรมใจร้ายชื่อซีลเคอ
(Max Maximilian) และภรรยาของเขา (Margarete Kupfer) แต่เมื่อล็อตเต้ป่วยเป็นโรคนิวมอเนีย ปีเตอร์กับฟรีดาก็ถูกแยกจากกัน
และถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมครอบครัวอื่นๆ
และชีวิตของปีเตอร์ก็ไม่ได้พบกับความสุขเป็นเวลานานนัก ทั้งนี้
หนังเรื่องนี้แนะนำชมเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบหนังเรื่อง LITTLE
REBELS (1955, Jean Delannoy) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตเด็กยากจนเหมือนกัน
WEEK 9
NATHAN THE WISE (1922, Manfred Noa, 123min)
NATHAN THE WISE ดัดแปลงมาจากบทกวีของ Gotthold
Ephraim Lessing ในปี 1779
เพื่อต่อต้านอิทธิพลของกลุ่มเคร่งศาสนาในยุคนั้น
โดยเนื้อหาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเลมในคริสต์ศตวรรษที่ 12
ซึ่งเป็นยุคของสงครามครูเสด และเป็นยุคที่ชาวยิว, ชาวคริสต์
และชาวมุสลิมอาศัยอยู่ใกล้กันและมีโอกาสเผชิญหน้ากันบ่อยครั้ง
โดยหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นที่การเชิดชูมนุษยธรรม
และการสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดและการนับถือศาสนา อย่างไรก็ดี
หนังเรื่องนี้ได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมากจากกลุ่มนาซีในยุคนั้น
โดยเฉพาะในนครมิวนิคที่เป็นศูนย์กลางของนาซี
โดยเมื่อหนังเรื่องนี้มีโปรแกรมจะฉายที่มิวนิคในเดือนก.พ. 1923
โรงภาพยนตร์ที่จะฉายหนังเรื่องนี้ก็ได้รับจดหมายขู่ว่าจะถูก “ทำลายให้ราบ”
นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังได้รับข้อกล่าวหาว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยกย่องศาสนายิวด้วย
และกระแสต่อต้านที่รุนแรงจากนาซีก็ส่งผลให้ไม่มีโรงภาพยนตร์ใดในมิวนิคกล้าฉายหนังเรื่องนี้ในยุคนั้น
กองเซ็นเซอร์ของมิวนิคพยายามจะสั่งแบนหนังเรื่องนี้ในตอนแรกด้วย
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการเซ็นเซอร์ชุดที่สองอนุญาตให้ฉายหนังเรื่องนี้ได้
โดยลงความเห็นว่า ถ้าหากกลุ่มต่อต้านชาวยิวก่อการจลาจลเพราะหนังเรื่องนี้
ความผิดก็ไม่ได้เกิดจากตัวภาพยนตร์เรื่องนี้
แต่เกิดจากทัศนคติที่ไม่เหมาะสมของประชาชน และด้วยเหตุนี้
การสั่งแบนหนังเรื่องนี้จึงไม่สามารถรสกัดกั้นการกระทำที่เกินเลยใดๆของคนกลุ่มนั้นได้
THE HOLY MOUNTAIN (1926, Arnold Fanck, 106min)
Leni Riefenstahl เจ้าแม่นาซีเล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรืองแรก
ซึ่งเป็นหนึ่งใน “หนังที่ใช้ฉากหลังเป็นภูเขา”
ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนั้น โดยในเรื่องนี้เลนีรับบทเป็นดิโอติมา
นักเต้นรำมืออาชีพที่เผชิญกับรักสามเส้าเมื่อเธอตกเป็นที่หมายปองของนักปีนเขาหนุ่มสองคนในเวลาเดียวกัน
โดยจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ฉากหลังอันงดงาม, การถ่ายภาพ
และเทคนิคต่างๆที่ได้รับการพัฒนาเพือใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในยุคนั้น
หลังจากเลนีเล่นหนังเรื่องนี้ให้ Arnold Fanck แล้ว
เธอก็เล่นหนังอีก 5 เรื่องให้ผู้กำกับคนเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งได้แก่เรื่อง THE
BIG JUMP (1927), WHITE HELL OF PITZ PALU (1929), STORM OVER MONT BLANC (1930),
WHITE ECSTASY (1931) และ S.O.S. EISBERG (1933)
WEEK 10
KING OF THE CENTER FORWARDS (1927, Fritz Freisler, 95min)
KING OF THE CENTER FORWARDS ตั้งชื่อหนังตามสมญานามของ
Tull Harder ซึ่งเป็นนักกีฬาฟุตบอลในตำนานแห่งทศวรรษ 1920
แต่หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง
โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับลูกชายของผู้บริหารบริษัทการค้าแห่งหนึ่งที่ชอบเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมาก
แต่พ่อของเขาเกลียดฟุตบอล นอกจากนี้
ตัวพระเอกของเรื่องยังต้องเผชิญกับปัญหารักๆใคร่ๆด้วย
เพราะเขาตกหลุมรักลูกสาวของเจ้าพ่อธุรกิจน้ำมันชาวสหรัฐ
แต่เธอกลับสงสัยว่าเขาเพียงแค่อยากได้เงินเธอ
ดังนั้นเธอจึงซื้อบริษัทของพ่อเขาเพื่อเป็นการตอบโต้ ทั้งนี้ หนังเรื่องนี้ได้รับคำชมว่าสามารถนำเสนอสถานการณ์การเล่นฟุตบอลในสนามได้อย่างสมจริงมากเมื่อเทียบกับหนังในยุคเดียวกัน
INTERNATIONAL COMPETITION GERMANY VS. ITALY AT THE DUISBERG STADIUM
(1924, documentary, 9min)
หนังสารคดีที่บันทึกภาพการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมเยอรมนีกับอิตาลีในปี
1924 โดยจุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการสะท้อน “ความยากลำบากในการถ่ายทำภาพยนตร์”
ในยุคนั้น เพราะกล้องของหนังเรื่องนี้ต้องตั้งอยู่นอกสนาม
และไม่สามารถซูมเข้าไปโคลสอัพเหตุการณ์สำคัญๆในสนามได้
ดังนั้นกล้องของหนังเรื่องนี้จึงไม่สามารถจับภาพเหตุการณ์สำคัญๆในระหว่างการแข่งขันนัดนี้ได้
ก่อนที่เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์จะเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆในเวลาต่อมา
ELEVEN DEVILS (1927, Zoltan Korda + Carl Boese, 98min)
Zoltan Korda เป็นผู้กำกับชาวฮังการีที่เคยทำหนังทั้งในฮังการี,
เยอรมนี, อังกฤษ และสหรัฐ และเขาเป็นน้องชายของ Alexander Korda ผู้กำกับชื่อดัง ส่วน ELEVEN DEVILS นี้จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังยาวเรื่องแรกๆของโลกที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับฟุตบอลเหมือนกับหนังเรื่อง
KING OF THE CENTER FORWARDS และหนังสองเรื่องนี้ก็เป็นหนังกระแสหลักที่มีองค์ประกอบหลายๆอย่างเหมือนกับหนังสูตรสำเร็จในยุคปัจจุบันด้วย
โดยเนื้อหาของ ELEVEN DEVILS นั้นเกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอลสองทีมที่เป็นคู่อริกัน
ทีมหนึ่งเป็นทีมของกรรมกรยากจนใจซื่อที่ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ
และต้องอาบน้ำในที่โล่งแจ้ง
ส่วนอีกทีมหนึ่งเป็นทีมของสโมสรร่ำรวยที่สามารถซื้อตัวนักเตะชั้นเยี่ยมได้ตามสบาย
และมีสระว่ายน้ำในร่มเป็นของตนเอง นอกจากนี้
ทีมรวยนี้ยังจ้างสาวร้ายให้คอยทำงานสกปรกให้ทีมตนเองด้วย ทั้งนี้
จุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ความรักของผู้สร้างหนังที่มีต่อกีฬาฟุตบอล
และเทคนิคการถ่ายทำในยุคนั้น
โดยเฉพาะการถ่ายโคลสอัพและการตัดต่ออย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความตื่นเต้นในระหว่างที่ผู้ชมชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
WEEK 11
UNDER THE LANTERN (1928, Gerhard Lamprecht, 131min)
UNDER THE LANTERN มีเนื้อหาเกี่ยวกับเอลเซอ (Lissy
Arna) หญิงสาวฐานะดีที่ทะเลาะกับพ่อผู้เคร่งครัดจนเกินไป เธอระเห็จออกจากบ้านและไปอาศัยอยู่กับแฟนหนุ่มชื่อฮันส์
(Mathias Weiman) และเพื่อนของเขาที่ชื่อแม็กซ์ (Paul
Heidemann) ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการคาบาเรต์เพื่อแสวงหาความสำเร็จ
แต่ชีวิตของเอลเซอต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ และกลายเป็นโสเภณีในเวลาต่อมา
THE CITY OF TOMORROW (1930, Erich Kotzer + Maximilian von Goldbeck,
Germany, documentary, 33min)
THE CITY OF TOMORROW เป็นหนังสารคดีเงียบที่ไม่มีแม้แต่ดนตรีประกอบ
หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวางผังเมือง โดยหนังแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ
โดยส่วนแรกเป็นการแสดงให้เห็นว่าชนบทที่พัฒนามาเป็นเมืองใหญ่แบบที่ไม่มีการวางผังเมืองมันจะเลวร้ายมากเพียงใด
มันจะเต็มไปด้วยอาคารสูง ไม่มีสนามเด็กเล่น เด็กๆต้องมาเล่นตามท้องถนน
เสี่ยงต่อการถูกรถยนต์และรถไฟชน เต็มไปด้วยมลพิษ
ผู้คนอาศัยอยู่ในตึกสูงๆและตรอกแคบๆ
โดยที่แทบมองไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันจากหน้าต่าง
ซึ่งดูๆไปแล้วก็ไม่ต่างจากกรุงเทพในปัจจุบัน และในส่วนที่สองของหนังนั้น
หนังแสดงให้เห็นว่า เมืองที่มีการวางผังเมืองมันจะออกมางดงามมากเพียงใด
มันจะมีการแบ่งเขตกันอย่างดีระหว่างเขตอุตสาหกรรมกับเขตที่อยู่อาศัย มีการวางถนน,
ทางรถไฟ
และคูคลองต่างๆเพื่อเอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมจากเหมืองไปยังเมืองท่า โดยไม่รบกวนเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน
ผู้คนจะอาศัยอยู่ในตึกเล็กๆที่จัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ มีสวนดอกไม้
มีสวนสาธารณะ มีสนามเด็กเล่น มีอากาศหายใจ มีแสงตะวัน
WHERE OLD PEOPLE LIVE (1931, Ella Bergmann-Michel, documentary,
13min)
Ella Bergmann-Michel เป็นศิลปินที่เริ่มต้นจากการทำงานศิลปะแนว
collage, แนว dadaist-surrealist และแนว
constructivist ก่อนจะเริ่มทำงานเป็นตากล้องภาพนิ่ง
และหันมาจับกล้องถ่ายหนังในเวลาต่อมา ทั้งนี้ หนังเรื่อง WHERE OLD PEOPLE
LIVE เป็นหนังสารคดีเรื่องแรกของเธอ โดยสร้างขึ้นตามคำแนะนำของ Mart
Stam สถาปนิกชาวดัทช์
และมีเนื้อหาเกี่ยวกับอาคารทันสมัยที่ใช้เป็นที่อยู่ของคนชราในแฟรงค์เฟิร์ต
โดยหนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก
และพยายามแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมยุคใหม่สามารถให้ความสะดวกสบายแก่ชีวิตคนชราได้ดีเพียงใด
โดยเฉพาะการสร้างห้องที่มีระเบียงและอาคารที่มีระบบทำความร้อนแบบรวมศูนย์กลาง
โดยในปี 1931 นั้นหนังเรื่องนี้มักจะได้ฉายควบกับ THE NEW APARTMENT (1931)
ที่กำกับโดย Hans Richter นักสร้างหนังทดลองชื่อดังในยุคนั้นด้วย
UNEMPLOYED ARE COOKING FOR THE UNEMPLOYED (1932, Ella Bergmann-Michel,
documentary, 9min)
หนังเรื่องนี้เป็นโฆษณาเพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมกันบริจาคเงินค่าอาหารให้แก่คนตกงาน
โดยในยุคนั้นมีคนตกงานหลายหมื่นคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ
และต้องคอยรับอาหารแจกฟรีตามศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ แต่ศูนย์ช่วยเหลือเหล่านี้ก็ประสบปัญหาขาดแคลนเงิน
และได้ขอร้องให้บริษัทภาพยนตร์ขนาดใหญ่บางแห่งช่วยสร้างหนังเพื่อกระตุ้นให้คนดูบริจาคเงินให้ทางศูนย์
อย่างไรก็ดี บริษัทภาพยนตร์เหล่านี้ปฏิเสธคำร้องขอจากทางศูนย์ โดยให้เหตุผลว่า
“แม้แต่ค่าอุปกรณ์จัดไฟก็สูงเกินกว่าที่เราจะช่วยได้แล้ว” ดังนั้น Ella Bergmann-Michel จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือศูนย์เหล่านี้
และได้สร้างภาพยนตร์โฆษณานี้ขึ้นมา โดยในช่วงนั้น
เอลล่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังของ Joris Ivens และ Dziga
Vertov ด้วย
FISHING IN THE RHÖN (AT THE SINN) (1932, Ella Bergmann-Michel,
documentary, 10min)
หนังเชิงกวีเรื่องนี้เน้นการถ่ายทอดทัศนียภาพเป็นหลัก
และเป็นการบันทึกภาพ Robert Michel สามีของเอลล่าขณะตกปลา
โดยหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการทำนายอนาคตของสามีภรรยาคู่นี้ด้วย
เพราะพอฝ่ายนาซีเข้ายึดครองอำนาจในเยอรมนีในปี 1933 สามีภรรยาคู่นี้ก็ถูกห้ามแสดงผลงานศิลปะ
และต้องหันมาประกอบอาชีพเพาะพันธุ์ปลาและทำการเกษตรในช่วงที่นาซีครองอำนาจ
ELECTION CAMPAIGN 1932 (LAST ELECTION) (1933, Ella Bergmann-Michel,
documentary, 13min)
หนังสารคดีเรื่องนี้บันทึกภาพการหาเสียงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในเยอรมนีในปี
1932 ก่อนที่นาซีจะเข้ายึดอำนาจ
โดยในหนังเรื่องนี้เราจะเห็นโปสเตอร์หาเสียงของพรรคต่างๆ
ซึ่งรวมถึงพรรคนาซีที่ใช้เครื่องหมายสวัสติกะ
และพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้สัญลักษณ์รูปค้อนกับเคียว
และเห็นผู้คนพูดคุยกันอย่างคึกคักตามท้องถนน
โดยบทสนทนาของแต่ละคนสามารถบ่งชี้ได้ว่าเขามีความเห็นทางการเมืองเอนเอียงไปทางฝ่ายใด
อย่างไรก็ดี เอลล่าไม่สามารถถ่ายทำหนังเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ได้
เพราะเธอถูกตำรวจจับขณะถ่ายหนังเรื่องนี้
และสามีของเธอต้องใช้เส้นสายในการช่วยให้เธอได้รับการปล่อยตัวออกมา
โดยหลังจากนั้นเอลล่าได้ซุกซ่อนฟิล์มหนังที่เธอถ่ายไว้เพื่อให้พ้นจากเงื้อมมือของเผด็จการนาซี
TRAVELLING HAWKERS IN FRANKFURT AM MAIN (1932, Ella
Bergmann-Michel, documentary, 46min)
หนังสารคดีเรื่องนี้เป็นหนังเงียบที่ไม่มีแม้แต่ดนตรีประกอบ
โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนตกงานหลายคนที่พยายามหาเลี้ยงชีพตนเองในช่วงนั้นด้วยการซื้อผักผลไม้ราคาถูกจากตลาดค้าส่ง
และนำมาขายตามท้องถนนในนครแฟรงค์เฟิร์ต แต่เนื่องจากคนตกงานเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาต
ดังนั้นพวกเขาจึงต้องคอยเข็นรถเข็นหนีตำรวจอยู่เป็นประจำ
และไม่ต่างไปจากพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพที่ต้องคอยหนีเทศกิจเป็นประจำเมื่อ
20-30 ปีก่อน นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังบันทึกภาพคนขายหนังสือพิมพ์,
คนขายล็อตเตอรี่
และผู้ขายสินค้าต่างๆที่พยายามคิดหาวิธีการแปลกใหม่ในการโปรโมทสินค้าของตนเองเพื่อแลกกับเศษเงินเพียงเล็กน้อยที่จะช่วยให้ตัวเองมีชีวิตรอดได้ต่อไป
BLUE IS THE BEAT OF MY HEART (1989, Jutta Hercher + Maria Hemmleb,
documentary, 30min)
หนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของ Ella Bergmann-Michel
WEEK 12
DIARY OF A LOST GIRL (1929, G.W. Pabst, 116min)
DIARY OF A LOST GIRL เป็นหนังเรื่องที่สองที่ Louise
Brooks ได้ร่วมงานกับ Pabst หลังจากทั้งสองประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามมาแล้วจากหนังเรื่อง
PANDORA’S BOX (1928) โดย DIARY OF A LOST GIRL มีเนื้อหาเกี่ยวกับไธเมียน (Louise Brooks) สาวน้อยใสซื่อในครอบครัวชนชั้นกลาง
พ่อของเธอเป็นเจ้าของร้านขายยาที่ทำสาวใช้ท้อง เขาก็เลยไล่สาวใช้คนนั้นออกจากบ้าน
ก่อนจะเริ่มคบหากับสาวใช้คนใหม่ ส่วนไธเมียนนั้นรู้สึกเหินห่างจากครอบครัว
เธอมีความสัมพันธ์กับลูกจ้างหนุ่มในร้านจนตั้งครรภ์
และเธอก็เลยถูกส่งตัวเข้าโรงเรียนดัดสันดานเพื่อเป็นการกลบข่าว
แต่เธอต้องเผชิญกับผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นสาวเลสเบียนซาดิสท์ เธอกับเพื่อนหญิงอีกคนก็เลยหนีออกจากโรงเรียนดัดสันดาน
ก่อนจะไปทำงานในซ่องโสเภณี
THE THREE PENNY OPERA (1931, G. W. Pabst, 110min)
THE THREE PENNY OPERA ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งของหนังเสียงในยุคแรก
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากละครเพลงที่โด่งดังของ Kurt Weill และ
Bertolt Brecht ในปี 1928 โดยใช้ฉากหลังเป็นกรุงลอนดอนในยุควิคตอเรียน
และมีเนื้อหาเกี่ยวกับแมคกี เมสเซอร์ หรือ Mack the Knife (Rudolf Forster)
ซึ่งเป็นทั้งแมงดา, โจร และฆาตกร
เขาปฏิเสธความรักจากโสเภณีชื่อเจนนี (Loretta Lenya) และพยายามตามจีบพอลลี
(Carola Nesher) ซึ่งเป็นบุตรีของโจนาธาน พีชชุม (Fritz
Rasp) ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น “ราชาแห่งขอทาน” ในกรุงลอนดอน
อย่างไรก็ดี พีชชุมไม่ต้องการให้ลูกสาวของตนเองไปครองรักกับฆาตกรรายนี้
เขาก็เลยบีบบังคับให้ตำรวจใหญ่ชื่อไทเกอร์ บราวน์ (Reinhold Schunzel) ไปตามจับแมคกีมาให้ได้
ไม่เช่นนั้นกลุ่มขอทานจะเดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอนเพื่อขัดขวางพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีองค์ใหม่
BRECHT VS. PABST (2007, documentary, 49min)
ในการดัดแปลงละครเพลงเรื่อง THE THREE PENNY OPERA ของ Kurt
Weill และ Bertoldt Brecht มาเป็นภาพยนตร์นั้น
Pabst มีเรื่องขัดแย้งกับ Brecht อย่างรุนแรง
และ Pabst ได้สร้างหนังที่มีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นละครเพลงเป็นอย่างมาก
โดยตัวหนังนั้นได้ตัดทิ้งเพลงของ Kurt Weill ลงไปราวครึ่งหนึ่ง
และตัดทิ้งลักษณะ “ต่อต้านความสมจริง” และ “ต่อต้านความเป็นละครเวที” ของ Brecht
ทิ้งไปด้วย
เพื่อให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังเล่าเรื่องตามขนบดั้งเดิม
โดยหนังสารคดีเรื่องนี้จะเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวความขัดแย้งในการสร้างหนัง THE
THREE PENNY OPERA ในครั้งนั้น
หมายเหตุ:
1.หนังในโปรแกรมนี้พยายามหลีกเลี่ยงหนังดังที่หลายคนเคยดูแล้วหรือเคยฉายในกรุงเทพไปแล้วในช่วง
10-20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในโปรแกรมนี้จึงไม่มีหนังอย่าง THE CABINET OF DR. CALIGARI (1919,
Robert Wiene), NERVEN (1919, Robert Reinert), THE OYSTER PRINCESS (1919, Ernst
Lubitsch), THE GOLEM (1920, Paul Wegener + Carl Boese), BACKSTAIRS (1921,
Leopold Jessner + Paul Leni), DESTINY (1921, Fritz Lang), THE MYSTERIES OF A
HAIRDRESSER’S SHOP (1923, Erich Engel + Bertolt Brecht), METROPOLIS (1927,
Fritz Lang), PEOPLE ON SUNDAY (1929, Robert Siodmak + Edgar G Ulmer), THREE
FROM THE GASOLINE STATION (1930, Wilhelm Thiele), THE BLUE ANGEL (1930, Josef
von Sternberg), KUHLE WAMPE OR: TO WHOM DOES THE WORLD BELONG? (1932, Slatan
Dudow), VIKTOR AND VIKTORIA (1933, Reinhold Schünzel) และหนังที่กำกับโดย
Viking Eggeling, Oskar Fischinger, Lászlo Moholy-Nagy และ Lotter
Reiniger เพราะเราเชื่อว่า cinephiles ชาวกรุงเทพหลายคนคงดูหนังกลุ่มนี้จนเบื่อไปแล้ว
2.หนังไวมาร์ที่น่าสนใจมีเป็นจำนวนมากมาย
และเราไม่สามารถจัดฉายในโปรแกรมนี้ได้หมด ผู้สนใจหนังไวมาร์สามารถหาดูหนังเพิ่มเติมได้อีกหลายเรื่อง
อย่างเช่นเรื่อง
DIFFERENT FROM THE OTHERS (1919, Richard Oswald)
THE PLAGUE IN FLORENCE (1919, Otto Rippert)
ROSE BERND (1919, Alfred Halm)
TO KILL NO MORE! MISERICORDIA (1919, Lupu Pick)
THE MISTRESS OF THE WORLD PART 1-8 (1919-1920)
THE DEVIL’S MARIONETTES (1920, Johannes Brandt + Friedrich Feher)
POWER (1920, Hans Werckmeister)
THE SILENCE ON STARNBERGERSEE (1920, Rolf Raffé)
THE BROTHERS KARAMAZOV (1921, Carl Froelich + Dimitri Buchowetzki)
THE LIAISONS OF HEKTOR DALMORE (1921, Richard Oswald)
THE LOST SHADOW (1921, Rochus Gliese)
SAPPHO (1921, Dimitri Buchowetzki)
VILLAGE AND CITY (1921, Carl Wilhelm)
CROWN OF THORNS (1923, Robert Wiene)
FRIEDRICH SCHILLER – A YOUNG POET (1923, Curt Goetz)
WARNING SHADOWS (1923, Arthur Robison)
DAS BLUMENWUNDER (1926, Max Reichmann)
ASPHALT (1929, Joe May)
LUDWIG II (1930, Wilhelm Dieterle)
MÄDCHEN IN UNIFORM (1931, Leotine Sagan + Carl Froelich)
No comments:
Post a Comment