EMAIL OR PHONE, PASSWORD. KEEP ME LOGGED IN (2015, Thamsatid
Charoenrittichai, 8min, A+30)
อีเมลหรือโทรศัพท์, รหัสผ่าน. ให้ฉันอยู่ในระบบต่อไป
1.จุดที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ
เป็นเพราะว่าเราไม่เคยเจอหนังสั้นไทยยุคใหม่ที่เอา intertitle แบบหนังเงียบมาใช้แบบนี้เลยน่ะ
เหมือนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกหรือหนึ่งในเรื่องแรกๆที่เราเจอ
ถึงแม้เราจะดูหนังสั้นไทยยุคใหม่มาแล้ว 20 ปีก็ตาม
เราก็เลยดีใจมากๆที่มีคนเอาลักษณะของหนังเงียบแบบนี้มาใช้
คือหนังสั้นไทยหลายๆเรื่องที่เราเจอ มันจะเป็นเพียงแค่ “หนังที่ไม่มีบทสนทนา”
น่ะ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหนังที่ทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์ที่อาจารย์ตั้งไว้
เพื่อฝึกทักษะในการเล่าเรื่องด้วยภาพ เพราะฉะนั้นหนังสั้นไทยของนักศึกษากลุ่มนั้น
ก็เลยไม่มีบทสนทนา และไม่มี intertitle ไปด้วย
ซึ่งจะแตกต่างจากหนังเงียบในยุคโบราณที่มันมีบทสนทนา เพียงแต่บทสนทนามันถูกสื่อสารด้วย
intertitle แทนที่จะสื่อสารด้วยเสียง
หนังไทยอีกกลุ่มที่เรามักจะเจอ ก็คือหนังที่ขึ้น text กลางจอ แต่
text ส่วนใหญ่ที่ขึ้นมากลางจอในหนังกลุ่มนี้มันไม่ใช่บทสนทนาแบบหนังเงียบ
เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยถือเป็นหนังสั้นไทยยุคใหม่เรื่องแรกๆที่เราเคยดูที่ใช้
intertitle แบบนี้
2.นอกจากการใช้ intertitle แล้ว
หนังเรื่องนี้ยังทำกรอบภาพของ intertitle ให้สวยงาม
และมีการใช้ดนตรีประกอบแบบหนังเงียบยุคโบราณด้วย คือพอดูอะไรแบบนี้แล้วก็เลยรู้สึกว่า
นอกจากผู้กำกับหนังเรื่องนี้จะเป็นคนไทยคนแรกๆที่เอาลักษณะนี้ของหนังเงียบมาประยุกต์ใช้แล้ว
เขาน่าจะเป็น cinephile ด้วย
คือถ้าหากผู้กำกับไม่ใช่คนที่รักการดูหนัง เขาไม่น่าจะทำหนังแบบนี้ออกมาได้
และนั่นก็เลยทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะปกติเรามักจะชอบหนังที่มีความเป็น cinephile
อยู่ในตัวหนังอยู่แล้ว
นั่นก็คือหนังที่มีการอ้างอิงถึงเนื้อหาหรือสไตล์ของหนังเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะหนังนอกกระแส
อย่างเช่นหนังเรื่อง I HATE YOU, BUT I LIKE YOU TO STAY (2015, Teerath
Whangvisarn, A+30) ที่เรารู้สึกว่ามีความเป็น cinephile อยู่ในตัวหนังมากๆเช่นกัน
3.เข้าใจว่าหนังเรื่องนี้ต้องการเปรียบเทียบหรือผสมผสานลักษณะของหนังเงียบยุคโบราณ
เข้ากับวิธีการสื่อสารของคนยุคปัจจุบันนะ โดยเฉพาะคนที่สื่อสารกันทางแชท
โดยหนังเรื่องนี้เก็บลักษณะของการแชท อย่างเช่น การพิมพ์ผิดและเสียงเคาะแป้นพิมพ์ และใส่ลักษณะดังกล่าวเข้าไปในหนังด้วย
ซึ่งจุดนี้ก็น่าสนใจดี เพียงแต่เรารู้สึกว่าประเด็นนี้มันอาจจะไม่ได้ลึกมากนัก
หรือไม่ได้นำพาไปสู่อะไรที่รุนแรงมากนัก
4.แต่ยังไงเราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆอยู่ดีแหละ
อีกจุดที่ชอบก็คือมันเป็นหนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ “สไตล์กลายเป็นเนื้อหาของหนัง”
ในแบบที่ถูกต้องน่ะ คือหนังโดยทั่วๆไปแล้ว เนื้อหาของหนังมันอยู่ใน “เนื้อเรื่องที่เล่า”
แต่มันมีหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ “สไตล์สำคัญกว่าเนื้อเรื่อง”
เพราะจุดสำคัญของหนังคือ “สไตล์” หรือ form หรือวิธีการเล่าเรื่องมากกว่าเนื้อหาที่มันเล่า
โดยตัวอย่างของหนังแบบนี้อาจจะมีเช่นหนังของ Raya Martin หลายๆเรื่อง
อย่างเช่น THE GREAT CINEMA PARTY (2012) ที่เรารู้สึกว่า “สไตล์”
หรือ “form” ของแต่ละช่วงของหนัง อาจจะมีความสำคัญมากกว่าเนื้อเรื่องที่มันเล่า
เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่อง “อีเมลหรือโทรศัพท์” เรื่องนี้ มีความโดดเด่นมากๆ
เพราะมันเป็นหนึ่งในหนังสั้นไทยไม่กี่เรื่องที่ทำแบบเดียวกันนี้ด้วย
แต่ที่เราบอกว่า “สไตล์กลายเป็นเนื้อหาของหนัง” ในแบบที่ถูกต้อง
เพราะเราไม่ต้องการให้คนสับสนกับหนังไทยที่เน้น “สไตล์” แต่เนื้อหากลวงโบ๋นะ
เราหมายถึงหนังไทยบางเรื่องที่อาจจะเน้นถ่ายสวยๆ เก๋ๆ stylish มากๆ
แต่เนื้อหาไม่มีอะไรน่ะ คือหนังกลุ่มนั้นมันเน้นสไตล์ แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
ในขณะที่หนังอย่าง “อีเมลหรือโทรศัพท์” และหนังของ Raya Martin บางเรื่องมันเป็นหนังที่เน้น style หรือ form
แต่ style หรือ form ของมันเป็นอะไรที่น่าสนใจ
และเป็น “เนื้อหา” ที่น่าคิดจริงๆ
5.ตอนแรกนึกว่าหนังเรื่องนี้กำกับโดยเด็กมัธยม
เพราะคนเล่นดูเหมือนเด็กมัธยมากๆ เนื้อเรื่องก็ใสๆแบบเด็กมัธยมมากๆ
ตอนดูก็เลยดีใจมากๆว่า ตายแล้ว มีเด็กมัธยมที่เป็น cinephile แล้วคลั่งไคล้หนังเงียบด้วยเหรอ
น่าดีใจจริงๆ
พอให้เกรดเสร็จแล้ว เพิ่งมารู้ทีหลังว่า
จริงๆแล้วผู้กำกับเรียนมหาลัยแล้ว และเป็นเพื่อนเรานี่เอง 55555
แต่ก็ยังชอบหนังเรื่องนี้มากเท่าเดิมแหละ เพราะมันเป็นหนึ่งในหนังไทยยุคใหม่เรื่องแรกๆที่เอา
intertitle แบบนี้มาใช้,
เรารู้สึกว่ามันมีความเป็น cinephile อยู่ในหนัง
และเราชอบการที่ “form หรือ style กลายเป็นเนื้อหาของหนัง”
6.จริงๆแล้วมีหนังอีกเรื่องที่ form หรือ style กลายเป็นเนื้อหาของหนังในงานมาราธอนปีนี้นะ
ซึ่งก็คือเรื่อง WE ARE TELLING YOU (พรทิพย์
เกียรตินิรันดร์, A+10) ที่เล่าเรื่องออกมาใน 3 สไตล์ ซึ่งได้แก่สไตล์หนัง
gangster, หนัง film noir และหนัง sci-fi
ซึ่งจริงๆแล้วเราว่าไอเดียตรงนี้ดีมาก โดยเฉพาะการเอารูปแบบหนัง film
noir มาใช้ แต่โดยรวมแล้ว มันไม่น่าตื่นเต้นสำหรับเราเท่ากับการเอา style
ของหนังเงียบยุคโบราณมาใช้น่ะ และเราว่าโทนหนังโดยรวมๆของ WE
ARE TELLING YOU ที่ออกมาตลกๆ มันไม่เข้ากับรสนิยมส่วนตัวของเราด้วย
เราก็เลยไม่ได้ชอบ WE ARE TELLING YOU มากนัก
ถึงแม้ว่าเราจะชอบไอเดียบางอย่างของหนังเรื่องนี้มากๆ
หรือชอบโครงสร้างของหนังเรื่องนี้มากๆก็ตาม
No comments:
Post a Comment