SECRET KEEPER (2015, Dujdao Vadhanapakorn, stage performance, A+30)
--สารภาพว่าจริงๆแล้วเราไม่ค่อยมีสมาธิเต็มที่ในการดูเท่าใดนัก
โดยเฉพาะช่วงที่มีตัวละครออกมาเต้นๆกัน แต่เราก็ชอบการแสดงนี้มากๆอยู่ดี
และเราคิดว่าการที่เราไม่ค่อยมีสมาธิในการดู
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลพวงโดยตรงของการแสดงนี้ก็ได้
--คือการแสดงนี้มันเกี่ยวข้องกับ “ความลับ” ที่อยู่ในใจคนแต่ละคนน่ะ
ความลับนั้นอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น “การแอบตดในที่ที่ไม่ควรตด” ก็ได้
หรืออาจจะเป็น “ความเห็นทางการเมือง” ก็ได้ เพราะในยุคล่าแม่มดแบบนี้ การแสดงความเห็นทางการเมืองอาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่กล้าทำกัน
และการแสดงความคิดจริงๆที่อยู่ในใจเราออกมา
อาจจะทำให้เราติดคุกหรือถูกฆ่าตายได้ทุกเมื่อ และเราไม่สามารถไว้วางใจใครได้เลยแม้แต่คนเดียว
โดยเฉพาะพวกเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานานหลายสิบปีนี่แหละ ชีวิตในช่วงนี้มันไม่ต่างไปจากโซเวียตในยุค
Stalin, หรือในเยอรมันตะวันออกที่เต็มไปด้วยตำรวจลับ
Stasi หรือในโรมาเนียยุคเชาเชสกู
หลายครั้งเราต้องเลือกว่าเราจะทำอย่างคุณ Nattanan Warintarawet ที่กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดจริงๆ หรือว่าจะทำแบบนางเอกหนังเรื่อง TEMPERATURE
OF ROOMTONE (ในวันที่พระอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันตก) (2015, Pamornporn
Tandiew, A+30) ที่แต่งกลอนเทิดทูนพระคุณแม่ของตัวเอง
ทั้งที่ในใจจริงแล้วเธอไม่ได้รักแม่เลย แต่เธอก็แต่งกลอนเทิดทูนพระคุณแม่ไป
เพื่อจะได้อยู่รอดได้ในสังคมจอมปลอมแบบนี้
และแน่นอนว่าในชีวิตจริงนั้นเราแทบไม่เคยเลือกทำแบบคุณ Nattanan หรอก เพราะเราเป็นคนขี้ขลาด เราไม่มีความกล้าหาญแบบคุณ Nattanan และนั่นก็เลยทำให้เราเป็นคนที่ได้แต่คิด
แต่ไม่กล้าพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา มันเหมือนกับมีภูเขาอยู่ในอก
--และพอการแสดงนี้มันพูดถึงความลับในใจคนเรา
เราก็เลยมัวแต่คิดถึงความลับในใจตัวเองน่ะ
เราก็เลยไม่มีสมาธิดูการเต้นมากเท่าที่ควร 555 คือสมมุติเล่นๆว่า
ความลับในใจเราก็คือ “เราเคยถูกผู้ชายกลุ่มหนึ่งรุมข่มขืนมาก่อน”
เราก็เลยมัวแต่คิดถึงเรื่องนี้ และพยายามหาทาง deal กับความรู้สึกเลวร้าย,
ความรู้สึกกังวลใจ และพยายามหาทางออกให้กับจิตใจตนเอง พยายามคิดว่าเราจะจัดการกับเรื่องนี้ยังไงดี
เพื่อที่เราจะได้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป ใช้ชีวิตต่อไปได้
มันเหมือนกับว่าเราเก็บเรื่องนี้ใส่ลิ้นชักในใจเราไปนานแล้ว
เรื่องนี้มันเหมือนเป็นตะกอนที่นอนแน่นิ่งอยู่ก้นบ่อในจิตใจเราไปแล้ว
แต่พอการแสดงนี้พูดถึงความลับในใจคนเรา เราก็เลยคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา
ตะกอนที่นอนแน่นิ่งอยู่ก้นบ่อ ก็เลยเหมือนถูกกวนให้ลอยฟุ้งขึ้นมา
ใจเราที่ควรจะสดใสและควรจะโฟกัสไปที่การเต้นของตัวละครได้ 100% เต็ม ก็เลยกลายเป็นจิตใจที่ขุ่นมัว
และเราต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการทำจิตให้นิ่ง
เพื่อไม่ให้ตะกอนก้นบ่อมันผุดขึ้นมามากยิ่งขึ้น
และต้องใช้เวลานานระยะหนึ่งกว่าที่ไอ้ตะกอนความกังวลใจกับความลับเรื่องที่ตัวเองเคยถูกผู้ชายรุมโทรมมาก่อน
จะค่อยๆทยอยร่วงกลับลงไปสู่ก้นบ่อได้อีกครั้ง
--ในแง่นึงมันก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก คือปกติแล้ว “การที่เราไม่มีสมาธิในการชมการแสดง”
มันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนั้นน้อยลง แต่สำหรับเรื่องนี้ การที่เราไม่มีสมาธิชมการแสดง
มันเกิดจากตะกอนความลับในใจเราที่ลอยฟุ้งขึ้นมา และเราก็ต้องเผชิญกับความกังวลใจ+ความไม่แน่ใจ+การพยายามหาทาง deal กับความลับในใจตนเองอย่างรุนแรงมากในระหว่างที่ชมการแสดง
ซึ่งเราสามารถพูดได้ว่ามันเป็นผลโดยตรงจากการชมการแสดงเรื่องนี้ และเราก็รู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่มหัศจรรย์มาก
คือเหมือนเราต้องรับมือกับ drama สองอย่างในเวลาเดียวกัน
คือเราต้องแบ่งสมองครึ่งนึงไปชมการแสดง เพื่อรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในฉากข้างหน้า ตัวละครทำอะไรกัน
เต้นหัวหกก้นขวิดอะไรกันบ้าง แต่เราต้องแบ่งสมองอีกครึ่งนึงไปรับมือกับตะกอนความลับในใจเราด้วย
ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในการรับชมการแสดงละครเวทีเรื่องอื่นๆมาก่อน
--นอกจากการต้องรับมือกับ drama ในใจตัวเองอย่างรุนแรงแล้ว อีกจุดที่เราชอบมากๆในการแสดงอันนี้
ก็คือการที่มันดูเหมือนเป็นทั้งวิทยาศาสตร์+ไสยาศาสตร์ผสมกัน 555
คือถ้าหากดูผิวเผินแล้ว มันอาจจะดูเหมือนเป็นวิทยาศาสตร์เชิงจิตวิทยาน่ะ
เป็นเหมือนกับ session therapy ในโรงพยาบาลบ้าอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าหากมันพลิกนิดเดียว
มันจะกลายเป็นฉากที่ทรงพลังมากๆในหนังสยองขวัญเกี่ยวกับลัทธิแม่มดได้ เพราะเรารู้สึกว่าพิธีกรรมในละครเวทีเรื่องนี้มันดู
“ขลัง” มากๆน่ะ และมันก็ทำให้เรานึกถึง “การสารภาพบาป” ตามความเชื่อทางศาสนาด้วย
เราก็เลยชอบการแสดงนี้มากๆ เพราะเราว่ามันมีเสน่ห์แบบแปลกๆ
คือเราสามารถดัดแปลงมันให้กลายเป็นฉากแนวจิตวิทยาก็ได้
หรือจะดัดแปลงมันให้กลายเป็นฉากพิธีกรรมทางศาสนา/ลัทธิลี้ลับก็ได้
--การใช้บ่อน้ำและน้ำแข็งหยดในละครเวทีเรื่องนี้
มันเก๋มาก และมันทำให้เรานึกเชื่อมโยงไปถึงหนังหลายๆเรื่องด้วย
เพราะหนังหลายๆเรื่องก็ชอบใช้ “สระว่ายน้ำ” เป็นสถานที่เชิงจิตวิทยาเหมือนๆกัน
มันเหมือนกับว่าสระว่ายน้ำเป็น “พื้นที่ทางจิต” อะไรซักอย่าง
ซึ่งเราก็ไม่รู้แน่ชัดว่าทำไม “สระว่ายน้ำ”
ถึงมักมีผลทางจิตใจกับตัวละครในหนังหลายๆเรื่อง ตั้งแต่ LA PISCINE (1969,
Jacques Deray), SWIMMING POOL (2003, François Ozon), SWIMMING POOL (2011,
Puangsoi Aksornsawang), I LIKE YOU A LOT
(2014, Kanokpan Oraratsakul), MENSTRUAL SYNCHRONY (2014, Jirassaya Wongsutin) เรื่อยมาจนถึง THE BLUE HOUR (2015, Anucha Boonyawatana)
แต่หนังที่ใช้สระว่ายน้ำได้ใกล้เคียงกับการแสดงนี้มากที่สุด
อาจจะเป็นหนังเรื่อง PISCINE (2002, Jean-Baptiste Bruant + Maria Spangaro, A+30) โดยในหนังเรื่องนี้ เราจะเห็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งเดินไปเดินมาในสระว่ายน้ำ
แล้วก็ท่องบทสวดอะไรสักอย่าง เป็นเวลา 60 นาทีเต็ม
โดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลย มีเพียงแค่การเดินไปเดินมาในสระว่ายน้ำเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เรากลับชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะเรารู้สึกเหมือนกับว่า เรา “ได้รับการชำระล้างจิตใจ”
อย่างมากๆขณะที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมหนังเรื่อง PISCINE
ถึงส่งผลกระทบกับจิตใจเราอย่างมากๆได้แบบนั้น
--สรุปว่าชอบ SECRET KEEPER มากๆ ทั้งในแง่ที่มันทำให้เรานึกถึงสภาพแวดล้อมทางการเมืองในตอนนี้,
ความเก๋ไก๋ไม่ซ้ำแบบใครในการแสดง, ความขลังมากๆของฉาก และการที่ละครเรื่องนี้ทำให้เราต้องใช้สมองมากกว่าปกติในการรับชม
เพราะนอกจากสมองเราต้องประมวลผลจากภาพที่เราเห็นตรงหน้าแล้ว
เรายังต้องหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆในใจเราอย่างรุนแรงด้วยในขณะที่รับชมการแสดง
No comments:
Post a Comment