INSIDE
OUT (2015, Pete Docter + Ronaldo Del Carmen, USA, animation, A+30)
1.ปกติแล้วเรามักจะมีปัญหากับหนังที่ตัวละครเอกอาศัยอยู่ใน “ครอบครัวอบอุ่น” หรือมี “ชีวิตที่ดีงาม
เพียบพร้อม” มากๆแบบในหนังเรื่องนี้ เพราะมันทำให้เรา identify
กับตัวละครไม่ได้ แต่กับหนังเรื่องนี้เราไม่มีปัญหาตรงจุดนี้
เพราะในแง่นึงเราก็คิดว่าถ้าหากเราจะทำหนังเกี่ยวกับ “องค์ประกอบในจิตใจและอารมณ์”
ของมนุษย์ เราก็ต้องเริ่มต้น step แรกหรือภาคแรกด้วยการสร้างตัวละครเอกที่มี
“ปัญหาชีวิตน้อยมากๆๆๆๆ” แบบนางเอกหนังเรื่องนี้นี่แหละ
เพราะเราเชื่อว่าจริงๆแล้วจิตใจมนุษย์มันซับซ้อนอย่างรุนแรงมากๆ
และไม่มีทางที่เราจะ represent องค์ประกอบทางจิตของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ในภาพยนตร์อย่างแน่นอน
แต่ในแง่นึงเราก็เชื่อว่า “หนังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสะท้อนความจริงอย่างสมบูรณ์”
เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราก็เลยยอมรับได้ที่หนังเรื่องนี้ simplify
จิตใจของมนุษย์จนเกินจริง เพราะหนังไม่มีทางที่จะสะท้อนความซับซ้อนของมันได้ทั้งหมดอยู่แล้ว
ในเมื่อจิตใจของมนุษย์มันซับซ้อนมากๆ
เพราะฉะนั้นหนังที่ต้องการนำเสนอประเด็นนี้ควรทำอย่างไร
วิธีหนึ่งที่หนังทำได้ก็คือการทำให้เห็นว่า แม้แต่ในชีวิตที่ธรรมดาที่สุด
เรียบง่ายที่สุด เพียบพร้อมที่สุด ปัญหาน้อยที่สุดแบบนางเอกหนังเรื่องนี้
จิตใจของนางเอกก็เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางอารมณ์และองค์ประกอบต่างๆทางจิตที่วุ่นวายและซับซ้อนอยู่ดี
คือแม้แต่ปัญหาที่ “ขี้ปะติ๋ว” มากๆที่นางเอกเผชิญในหนังเรื่องนี้
แต่เมื่อเรามองลึกลงไปในอารมณ์และจิตใจภายใต้สถานการณ์ขี้ปะติ๋วนั้น เราก็จะเห็นความเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนมากๆอยู่ภายในจิตได้
คือเรามองว่าในแง่นึงหนังเรื่องนี้ก็เป็นเหมือน “การสอน ก-ฮ” หรืออะไรที่พื้นฐานที่สุดเพื่อให้เราเอาไปจินตนาการต่อเองน่ะ
คือตัวละครในหนังเรื่องนี้มันเหมือน “มานี ปีติ ชูใจ”
ที่ทำกิจกรรมธรรมดาที่สุดอย่างเช่น “มานีเห็นปีติกับวีระเล่นน้ำด้วยกัน
มานีจึงเกิดความรู้สึกปีติ” อะไรทำนองนี้
เพียงเพื่อให้เราเข้าใจเรื่องพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์แค่นั้นเอง
เรายังไม่ต้องเรียนเรื่องคำครุ ลหุ เพื่อเอาไปแต่งวสันตดิลกฉันท์ในขั้นตอนนี้
คือเราคงไม่เอาตัวละครนางเอกหนังเรื่อง PERSONA (Ingmar Bergman) หรือพระเอกเรื่อง THE DEVIL, PROBABLY (1977, Robert Bresson) มาใช้ในการสอนเด็กป.1 หรือนำมาวิเคราะห์ทางจิตในขั้นพื้นฐานน่ะ
มันต้องเป็นตัวละครที่ชีวิตแม่งแทบไม่มีปัญหาอะไรเลยแบบนี้นี่แหละ
2.สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้ ก็คือมันสอดคล้องกับความเชื่อของเราเองที่ว่า
ในหลายๆครั้ง “ความสุขเป็นบ่อเกิดของความทุกข์” น่ะ โดยเฉพาะ memory ที่มีต่อความสุขในอดีต
คือเวลาที่เราคิดถึงความสุขที่เราเคยมีสมัยเรียนอยู่มัธยมหรือมหาลัย
สมัยที่เราได้อยู่กับเพื่อนๆพร้อมหน้าพร้อมตากัน ความทรงจำนั้นมันทำให้เรารู้สึก “สุขใจ” เมื่อนึกถึงมันก็จริง แต่มันไม่ได้เป็น “ความสุข 100%” เพราะมันเจือไปด้วยความเศร้าที่ว่า “มันเป็นอดีตที่หวนคืนมาไม่ได้แล้ว” ด้วย
เราก็เลยชอบมากที่ก้อนความทรงจำดีๆในอดีตในหนังเรื่องนี้
มันไม่สามารถเป็นสีแห่งความสุขได้ 100% เต็มตลอดไป
เพราะเมื่อเวลามันผ่านไป มันย่อมมีสีแห่งความเศร้าเจือเข้ามาด้วย
โดยเฉพาะถ้าหากนั่นเป็นความทรงจำดีๆถึงสถานการณ์ในอดีตที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกแล้วในชีวิตเรา
3.การล่มสลายของเกาะ personalities ต่างๆก็เป็นสิ่งที่เราชอบมากนะ
ในแง่นึงมันทำให้เรานึกถึงตัวเราเองที่มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเราเติบโตขึ้นน่ะ
555 มันเหมือนกับว่าตอนที่เรายังเป็นเด็ก
เรามีพื้นที่แห่งความเชื่อมั่นในความดีงามอะไรบางอย่างอยู่ในใจเรา
แต่พอเราเจอความเลวร้ายต่างๆเข้ามาในชีวิต เจอครูเหี้ยๆ เจอเพื่อนทรยศหักหลัง
เจอกับการถูกลิดรอนสิทธิและความเสมอภาคอย่างรุนแรง ฯลฯ พื้นที่แห่งความ optimistic
ในใจเราก็ล่มสลายลงไปเรื่อยๆ และบุคลิกภาพของเราก็เปลี่ยนไปด้วย
แต่การเจอคนดีๆบางคนเข้ามาในชีวิตก็อาจช่วยฟื้นฟูให้พื้นที่ดีงามในใจเราบางส่วนกลับคืนมา
4.ชอบที่ในตัวละครนางเอกมันมีเกาะ personalities หลายเกาะด้วย
ในแง่นึงมันเหมือนกับบทเรียนเรื่อง “การสร้างตัวละครให้กลม”
น่ะ 555 คือเหมือนกับว่า
เวลาคุณจะสร้างตัวละครขึ้นมาตัวนึง มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆแค่ว่า คุณกำหนดคำคุณศัพท์
“น่ารัก” ให้ตัวละครตัวนั้น แล้วก็จบ
แต่มันอาจจะรวมถึงการจินตนาการด้วยว่า ตัวละครตัวนั้นรู้สึกยังไงกับครอบครัวตัวเอง
รู้สึกยังไงกับเพื่อนในวัยประถม รู้สึกยังไงกับเพื่อนแต่ละคนในวัยมัธยม
เขาชอบเล่นกีฬาอะไร เขาชอบทำพฤติกรรมอะไรในวัยเด็ก
และเขายังทำพฤติกรรมแบบนั้นอยู่หรือเปล่าเมื่อเขาโตขึ้น
คือถ้านางเอกโตขึ้น เกาะ personalities
มันคงมีเป็นร้อยเกาะน่ะ เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมันมีหลายด้านในตัวเอง
และมันจะหันด้านที่ไม่ซ้ำกันเข้าใส่คนต่างๆที่ไม่ซ้ำกันในชีวิตตัวเอง
อย่างเช่นนางสาว A มักทำตัวหงอเมื่ออยู่กับ B แต่ทำตัวก๋ากั่นเมื่ออยู่กับ C และชอบพูดมากเมื่ออยู่กับ
D แต่ชอบทำหน้าหงิกเมื่อเจอ E อะไรทำนองนี้
ซึ่งหนังที่ดีควรจะสร้างตัวละครที่ “กลม” หรือมีบุคลิกภาพหลายๆด้านแบบนี้ 555
5.อีกสาเหตุที่เราชอบหนังเรื่องนี้
เป็นเพราะเราชอบหนังเกี่ยวกับการผจญภัยเข้าไปในโลกทางจิตแบบนี้อยู่แล้วด้วยแหละ
ซึ่งอาจจะรวมถึงหนังเรื่อง THE CELL (2000, Tarsem Singh) และ
INCEPTION (2010, Christopher Nolan) ด้วย ที่มีการ visualize
จิตของมนุษย์ออกมาเป็นภาพโลกที่น่าสนใจเหมือนกัน แต่จริงๆแล้ว “โลกทางจิต” ที่เราชอบมากที่สุดอยู่ในหนังเรื่อง DREAMCATCHER
(2003, Lawrence Kasdan, A+30) ที่ตัวละครตัวนึงสร้างโลกทางจิตของตัวเองขึ้นมาเป็น
“ห้องสมุด” และสามารถใช้ห้องสมุดในโลกทางจิตของเขาในการต่อกรกับมนุษย์ต่างดาวได้
6.ชอบที่หนังเรื่องนี้มีลักษณะคล้าย “แบบเรียน”
น่ะ คือเรามักจะชอบหนังทำนองนี้
หนังที่เหมือนกับการดัดแปลงแบบเรียนในห้องเรียน หรือ “ชุดความรู้”
หรือสาระอะไรบางอย่างให้กลายเป็นหนังบันเทิงได้ ตัวอย่างหนังกลุ่มนี้ก็อาจจะมีเช่น
6.1
JURASSIC PARK (1993, Steven Spielberg) ที่เหมือนกับให้ความรู้เรื่องไดโนเสาร์ไปด้วย
6.2 LINCOLN (2012, Steven Spielberg) ที่เหมือนกับเป็นการนั่งเรียนประวัติศาสตร์ยุคนั้น
6.3 DEUX AMIS (2014, Natalia Chernysheva, France, animation, A+30) ที่เพิ่งฉายในเทศกาลหนังสั้นเมื่อไม่กี่วันก่อน มันเป็นหนังแอนิเมชั่นที่โหดร้ายทางจิตใจพอสมควร แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนสอนเด็กๆเรื่อง metamorphosis ของสัตว์สปีชีส์ต่างๆไปด้วย
6.4 หนังกลุ่ม “โรงพยาบาล” หลายๆเรื่อง ที่สอนผู้ชมเรื่องโรคภัยต่างๆ อย่างเช่น
6.4.1 ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง (2013, Chulayarnnon Siriphol)
https://www.youtube.com/watch?v=oeuzOxHW11Y
6.4.2
HOW ARE YOU สบายดีมั้ยครับ (2015, Nuttawat Attaswat) ที่สอนเรื่องการใช้ยาผิดวิธี
7.หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งคุยกับเพื่อนเมื่อเร็วๆนี้ด้วย
ซึ่งก็คือเรื่องที่ว่า
จริงๆแล้วมันมีอะไรไทยๆหรือพุทธๆหลายๆอย่างที่มันเหมาะจะนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มากๆ
แต่เสียดายที่ไม่มีคนทำกัน
คือจริงๆแล้วเราก็ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาหรอกนะ
แต่เราว่ามันมีความเชื่อทางพุทธหลายๆอย่างที่เหมาะกับการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์น่ะ
อย่างเช่นพอเราดู INSIDE OUT ปุ๊บ
เราก็นึกถึงความเชื่อทางพุทธที่ว่า “จิตคนเราเกิดดับ 230,000
ล้านครั้งต่อวินาที” และความเชื่อเรื่อง “เวทนา” ที่ว่ามันที่ 108 เวทนาอะไรทำนองนี้
(6 ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คูณกับอารมณ์ 3 สุข ทุกข์ อทุกขมสุข แล้วก็คูณ 2 กายิกเวทนา
กับเจตสิกเวทนา แล้วก็คูณ 3 อดีต ปัจจุบัน อนาคต สรุป 6x3x2x3
= 108 เวทนา) ที่เราว่ามันเหมาะเอามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แบบ INSIDE
OUT มากๆ
เพียงแต่ว่าต้องไม่ทำเป็นภาพยนตร์สั่งสอนศีลธรรมแบบตื้นเขินนะ แต่เป็นภาพยนตร์แบบ “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” ของ Chulayarnnon
Siriphol น่ะ 555
นอกจากการดัดแปลงความเชื่อเรื่องจิตทางพุทธแล้ว
ความเชื่อแบบไทยๆที่เหมาะนำมา visualize
เป็นภาพยนตร์มากๆก็คือความเชื่อเรื่องเปรต 20 กว่าประเภทหรือสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์สูงต่างๆในป่าหิมพานต์นี่แหละ
คือคุณลองคิดดูสิว่าถ้า Spielberg เอาสัตว์ต่างๆในป่าหิมพานต์มาทำเป็นภาพยนตร์
มันจะสนุกแค่ไหน หรือเปรตอย่างกุมภัณฑเปรต ที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก อะไรแบบนี้
ก็เหมาะเอามาทำเป็นตัวละครหนึ่งในภาพยนตร์เหมือนกัน
No comments:
Post a Comment