Wednesday, August 05, 2015

FORGET LOVE (2015, Papitchaya Chantalajesdakorn, A+30)


ลืม รัก (2015, ปพิชญา จันทรเจษฎากร, 28min, A+30)

--สิ่งที่ชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือการที่หนังให้ความสำคัญมากพอสมควรกับอาชีพของตัวละครน่ะ คือตัวละครทั้ง 3 คนเป็นสถาปนิกหมดเลย และดูเหมือนหนังให้ความสำคัญกับจุดนี้มากกว่าหนังไทยโดยทั่วไป

คือพล็อตหลักของหนังจริงๆแล้วเราเฉยๆนะ เพราะพล็อตเรื่องพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติโกโหติกาเป็นอัลไซเมอร์นี่ เป็นพล็อตที่เราเคยเจอในเทศกาลหนังสั้นไทยมาแล้วประมาณ 50 เรื่องได้มั้ง และเราก็คิดว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอในส่วนของพล็อตหลักได้ดีแบบเสมอตัว คือจริงๆแล้วมันก็ทำได้ดีมากแหละในส่วนนี้ เพียงแต่ว่ามันอาจจะมีหนังสั้นไทยอีกประมาณ 20-30 เรื่องที่ทำส่วนนี้ได้ดีพอๆกัน เพราะฉะนั้นถึงแม้หนังเรื่องนี้จะนำเสนอเรื่องราวซึ้งๆของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ดีมาก แต่มันก็ “ดีมาก” ในระดับที่เท่ากับหนังสั้นเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องน่ะ

แต่เป็นสิ่งที่ดีที่หนังเรื่องนี้มีจุดเด่นเป็นของตัวเองเมื่อเทียบกับหนังอัลไซเมอร์เรื่องอื่นๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นเมื่อเทียบกับหนังสั้นของนักศึกษาไทยโดยทั่วไปก็ได้ เพราะหนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญมากพอสมควรกับอาชีพของตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยพบในหนังสั้นของนักศึกษาไทยโดยทั่วไป เพราะในหนังสั้นของนักศึกษาไทยนั้น เรามักจะพบแค่ “ตัวละครที่ทำงานออฟฟิศ” แต่เราแทบไม่เคยรู้เลยว่าออฟฟิศนั้นเป็นของบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทอะไร เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง “ลืม รัก” ก็เลยมีจุดเด่นขึ้นมาได้ในแง่นี้ และไม่จมหายไปกับหนังสั้นไทยอัลไซเมอร์จำนวนมาก

--การที่ตัวละครหลักทั้ง 3 คนเป็นสถาปนิกนั้น ยังเกี่ยวข้องกับอีกปัจจัยนึงที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ด้วย นั่นก็คือ “บ้าน” ที่ตัวละครอยู่ เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับ “บ้าน” ที่ตัวละครอยู่จนเหมือนกับมันเป็นตัวละครอีกตัวนึงเลยน่ะ และเราว่าหนังเรื่องนี้เลือกโลเกชั่นบ้านที่ใช้ถ่ายหนังได้ดีมากๆด้วย

--สำหรับเราแล้ว เราคิดว่าฉากไคลแมกซ์ของหนังเรื่องนี้ หรือฉากที่ประทับใจเรามากที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือฉากตอนท้ายๆเรื่องที่พระเอกเดินไปตามจุดต่างๆในบ้านเพื่อหาพ่อของตัวเองน่ะ ฉากนั้นถ่ายดีมาก และมันเหมือนกับว่า โครงสร้างสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ มันกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญขึ้นมาในฉากนั้น เราว่าจุดนี้เป็นอีกจุดนึงแหละที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังทั่วๆไป เพราะหนังทั่วๆไปมันไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็น material ของบ้านมากเท่านี้ คือหนังเรื่องอื่นๆอาจจะพูดถึง “บ้าน” ในแง่จิตใจ แต่เราว่าหนังเรื่องนี้ “บ้าน” มันมีพลังทั้งในทางวัตถุและในทางจิตใจด้วย

--เราชอบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของพระเอกกับพ่อด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด พระเอกเหมือนจะมีฐานะเป็น “ลูกศิษย์” ของพ่อตัวเองด้วย เหมือนกับว่าเขาเคยเรียนรู้เรื่องสถาปัตย์จากพ่อด้วย เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของเขากับพ่อก็เลยซับซ้อนยิ่งขึ้น

--ในส่วนของพล็อตหลักเรื่องอัลไซเมอร์นั้น เราว่าหนังเรียบเรียงอารมณ์ต่างๆได้ดีนะ คือทั้งๆที่เราเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ว่าในหนังแบบนี้ มันต้องมีฉากที่พ่อก่อเหตุจนสร้างความลำบากใจให้ลูกอย่างมาก จนลูกทนไม่ไหว และต้องมีการ reconcile อะไรกันสักอย่างในตอนจบ แต่ถึงแม้เราจะเดาเนื้อเรื่องได้ล่วงหน้า หนังก็ไม่ทำให้เราเบื่อเลยน่ะ ในฉากที่ลูกโมโหอย่างรุนแรงตอนคุยโทรศัพท์เรื่องงานนั้น เราอินกับตัวลูกมากๆเลยนะ คือถ้าเราเป็นลูกที่เครียดเรื่องงานอย่างรุนแรง แล้วมาเจออะไรแบบนี้ มันก็ยากที่จะไม่ระเบิดอารมณ์ออกมา ถึงแม้เราจะรู้ตัวว่าเราไม่ควรทำแบบนั้นก็ตาม คือเราว่าหนังสร้างสถานการณ์ในฉากนั้นได้ดีพอสมควร มันเป็นสถานการณ์ที่เครียด น่าโมโห และน่าเศร้าใจ และ “ไม่มีใครผิด” ในฉากนั้น

--อีกอย่างที่ดีมากๆ ก็คือ หนังไม่ได้มีท่าทีสั่งสอนอะไรคนดู และไม่พยายามสร้างความซาบซึ้งมากเกินไป คือหนังอัลไซเมอร์บางเรื่อง มันมีท่าทีสั่งสอนคนดูว่า เราต้องให้อภัยผู้ป่วยอัลไซเมอร์นะ เราต้องสำนึกในบุญคุณพ่อแม่ บลา บลา บลา ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ เพราะมนุษย์ปกติที่มีสามัญสำนึกมันก็น่าจะสำเหนียกเรื่องนี้ได้เองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีการชี้นิ้วประณามว่าลูกทำผิดที่ไปโมโหใส่พ่อ และไม่ได้มีการพยายามสร้างความซาบซึ้งมากเกินไป คือเรามองว่าสถานการณ์ในช่วงท้ายของหนัง มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆน่ะ หลายคนถ้าเจอแบบนั้นก็ต้องอดโมโหพ่อไม่ได้ในฉากนั้น และต้องรับมือกับปัญหาชีวิตต่างๆที่จะตามมาในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ต่อไป

--ส่วนเรื่องที่ว่า หนังเรื่องนี้ควรปรับปรุงในด้านไหนบ้างนั้น ตอนนี้เรานึกไม่ออกนะ เพราะเราชอบหนังเรื่องนี้มากๆน่ะ เราว่าต้องให้คนที่ไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้มากนักมาเป็นคนที่ให้คำแนะนำในเรื่องนี้

--สรุปว่าชอบ “ลืม รัก” มากๆเพราะการให้ความสำคัญกับอาชีพของตัวละคร, การที่ “บ้าน” กลายเป็นเหมือนตัวละครสำคัญตัวนึงในเรื่อง, การที่หนังทำได้ดีพอสมควรในการเล่าเรื่องผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และเพราะว่าพระเอกหล่อมากๆๆๆๆ 555

ส่วนต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับหนังเรื่อง “ลืม รัก” แต่เป็นความคิดเห็นเพิ่มเติมของเราเกี่ยวกับหนังกลุ่มนี้จ้ะ

เนื่องจากมีหนังสั้นเกี่ยวกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวนมาก เราก็เลยลองนึกเล่นๆดูว่า ทำไมคนไทยถึงชอบทำหนังสั้นเกี่ยวกับประเด็นนี้กันมากนัก เราก็เลยเดาว่า สาเหตุน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

1.มีการประกวดหนังสั้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยเฉพาะหนังสั้นอัลไซเมอร์กลุ่มแรกๆที่ออกมาเมื่อราว 10 ปีก่อน ที่น่าจะเป็นหนัง “โครงการ” คือเป็นหนังที่ทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่องอัลไซเมอร์โดยเฉพาะ

2.มันเป็นปัญหาที่ไม่ไกลตัว เพราะเราคิดว่าหลายๆคนคงมีเพื่อนที่มีญาติเป็นโรคนี้จริงๆ อย่างเราก็พบว่าเพื่อนในเฟซบุ๊คบางคนก็มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

3.เราว่าโรคนี้มันเหมาะกับ “ภาพยนตร์” น่ะ คือมันเป็นโรคที่สร้าง dilemma ให้ตัวละครต่างๆได้ดี ตัวละครจะหาทางรับมือกับการจัดแบ่งตารางชีวิตยังไงในการดูแลญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้ และโรคนี้ยังนำมาซึ่งสถานการณ์ดราม่าต่างๆได้ง่ายด้วย เพราะฉะนั้นโรคนี้ก็เลยเป็นโรคที่ “เอื้อต่อการสร้างภาพยนตร์” มากๆ ในขณะที่ถ้าหากตัวละครป่วยเป็นโรคอื่นๆ อย่างเช่น “โรคไข้กาฬหลังแอ่น” มันก็คงยากที่จะคิดว่าจะสร้างหนังที่น่าประทับใจได้อย่างไรเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคนี้

4.อีกจุดที่สำคัญมากๆที่ทำให้โรคอัลไซเมอร์ “เอื้อต่อการสร้างภาพยนตร์” เป็นเพราะว่าโรคนี้มันเกี่ยวข้องกับ “ความทรงจำ” น่ะ และเราว่าประเด็นเรื่อง “ความทรงจำ” มันเป็นประเด็นที่นำมาเล่นกับภาพยนตร์ได้ง่าย และถ้าเล่นกับมันดีๆ หนังมันก็จะออกมาดีมากๆ

ขอแถมท้ายด้วยรายชื่อหนังไทยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อมที่เราชอบมากๆ เราว่าหนังแต่ละเรื่องในกลุ่มนี้ก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป บางทีควรจะมีใครสักคนหยิบหนังกลุ่มนี้มาวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบ-เปรียบต่างระหว่างกัน

1.เหมือนเคย (2006, Sivaroj Kongsakul)
2.MEMORIES (2006, ธีระพล สุเนต์ตา)
3.IN AFRICA (2010, ปัญจพล ทรงวิศวะ)
4.ENDLESSLY ตลอดไป (2014, Sivaroj Kongsakul)
5.นาฬิกา (2014, ณัฐชา ขจรเกียรติสกุล)
6.เลือนราง (2015, สุธีกานต์ ศุภมิตร์)

และก็มีหนังอีกเรื่องที่เราไม่แน่ใจว่าตัวละครคุณยายป่วยเป็นอัลไซเมอร์หรือแค่มีอาการประสาทแดก ซึ่งก็คือเรื่อง GRANDMA CHA WANTS TO BE SURREAL ยายชาอยากเซอร์เรียล (2009, Saowapak Suriyawongpaisal) 



No comments: