Saturday, August 08, 2015

GOODBYE LASTED FOREVER (2015, Natchanon Vana, 15min, A+25)


HAPPY WHEN IT RAINS (2015, Natchanon Vana, 2min, A+5)
GOODBYE LASTED FOREVER (2015, Natchanon Vana, 15min, A+25)
vs. SOLOS (2014, Teeranit Siangsanoh, 79min, A+30)

1.รู้สึกว่า Natchanon ดูเหมือนจะทำหนังที่ตัวละครมีความเป็นมนุษย์ธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราว่าตัวละครในหนังเรื่องแรกของเขา DARLING, MORNING, GOODNIGHT (2012, A+30) ของเขา ดูหลุดโลกมากที่สุด และหนังทั้งเรื่องเหมือนอยู่ในโลกเซอร์เรียล ส่วนหนังเรื่องที่สองของเขา  LIFE ON MARS (2013, A+10) เหมือนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงครึ่งหนึ่ง และอยู่ในโลกแฟนตาซีอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนหนังเรื่องที่สามของเขา ซึ่งได้แก่ LE ROMAN DE MICHELLE ET FRANCISCO (2014, A+15) เหมือนจะเข้าใกล้โลกมนุษย์ปกติมากขึ้นมาอีก แต่ก็ยังไม่ปกติซะทีเดียว จนกระทั่งมาถึง HAPPY WHEN IT RAINS นี่แหละ ที่ตัวละครของเขาดูเป็นมนุษย์ธรรมดา มนุษย์เดินดินมากๆ

2.แต่ทำไมเราถึงชอบหนังเรื่อง HAPPY WHEN IT RAINS น้อยสุด แต่ชอบ DARLING, MORNING, GOODNIGHT มากสุด อันนี้ย่อมไม่เกี่ยวกับคุณภาพ ความดีงามของหนังแน่นอน แต่มันขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของผู้ชมแต่ละคน และประสบการณ์ชีวิตของผู้ชมแต่ละคน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่า ในบรรดาเพื่อนๆ cinephiles ของเราเองนั้น ก็มีบางคนที่ชื่นชอบ HAPPY WHEN IT RAINS และ GOODBYE LASTED FOREVER ในระดับที่สูงกว่าเรามากๆ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า หนังของ Natchanon มันมี wavelength บางอย่างที่จูนติดกับเพื่อนๆของเราอย่างรุนแรง แต่มันไม่ตรงกับ wavelength ของเราซะทีเดียว ในขณะที่หนังของผู้กำกับคนอื่นๆ อย่างเช่น Teeranit Siangsanoh อาจจะมี wavelength ที่ไม่ตรงกับเพื่อนๆบางคนของเรา แต่ตรงกับของเราอย่างรุนแรง

ที่เขียนมาข้างต้น ก็เพื่อที่จะบอกว่า ถึงแม้เราอาจจะชอบหนังเรื่อง HAPPY WHEN IT RAINS น้อยสุด แต่เราก็ว่ามันไม่ใช่ความผิดของหนัง, ของผู้กำกับ หรือของตัวเราเองด้วย มันเป็นเรื่อง wavelength ของผู้ชมแต่ละคนที่แตกต่างกันน่ะ

3.เราว่าการที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ “ความสัมพันธ์รัก” กับใครมาก่อนเลย (มีแต่รักเขาข้างเดียว) อาจจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถจูนติดกับ HAPPY WHEN IT RAINS ได้ คือตามหลักเหตุผลแล้ว หนังอย่าง HAPPY WHEN IT RAINS มันเป็นหนังที่น่าจะเข้าทางเรามากๆนะ เพราะมันเป็นการคว้าจับห้วงเวลาธรรมดาที่งดงามห้วงหนึ่งมานำเสนอต่อผู้ชม ห้วงเวลาเล็กๆที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่ยากจะอธิบายบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น

แต่เนื่องจากเราไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครมาก่อน เราก็เลยไม่สามารถจูนติดกับหนังได้ในทันทีน่ะ และหนังเรื่องนี้มันก็สั้นมากๆด้วย เราก็เลยไม่มีเวลา “ปรับตัว” ให้เข้ากับหนังและตัวละครได้เลย

คือปัจจัยเรื่อง “ความยาวของหนัง” มีผลต่อเรานะ ในแง่ของหนังที่เราไม่เคยมีประสบการณ์หรืออารมณ์ร่วมกับตัวละครมาก่อนน่ะ คือหนังที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับกรณีนี้ได้ก็คือ –ed (2015, ตรีนุช ลีลาวศิน, 10min) ที่นำเสนอ “ห้วงเวลาสั้นๆของหญิงสาวคนหนึ่งที่อยู่ในห้องตามลำพัง” เหมือนกัน คือเราเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครใน –ed มาก่อน แต่หนังเรื่องนี้มันยาว 10 นาที และมันให้เวลากับเราในการค่อยๆเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกและประวัติชีวิตของตัวละครน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยเกิดความรู้สึกร่วมอะไรบางอย่างอย่างรุนแรงกับตัวละครได้ ในขณะที่เราไม่มีเวลา “จูนอารมณ์ตัวเองให้เข้ากับหนัง” ใน HAPPY WHEN IT RAINS

อีกกรณีหนึ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันได้ก็คือหนังเรื่อง CD (1997, Campanilla, Spain, A+30) ที่ยาวเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้น แต่กลายเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต คือหนังเรื่อง CD นำเสนอห้วงเวลาสั้นๆ 4 ห้วงของหญิงสาวคนหนึ่งที่อยู่ในห้องตามลำพัง โดยแต่ละห้วงอาจจะยาวประมาณ 15 วินาทีเท่านั้น (ถ้าเราจำไม่ผิด) และใน 15 วินาทีนี้ หญิงสาวคนนั้นก็จะทำกิจกรรมยำถ่อย 1 อย่าง อย่างเช่นเล่นกับไม้ขีดไฟด้วยกลวิธีพิสดาร หรือไถลเริงร่าไปมาในห้องโดยใช้ม้านั่งล้อเลื่อนเป็นยานพาหนะ คือหนังเรื่อง CD นี้มันก็สั้นมากๆ และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชมจูนตัวเองเข้ากับหนังเหมือนกับ HAPPY WHEN IT RAINS เช่นกัน แต่สาเหตุที่เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เป็นเพราะว่า “ความยำถ่อย” ของนางเอกในหนังเรื่องนี้ มันจูนติดกับความยำถ่อยในใจเราอย่างรุนแรงได้ในวินาทีแรกเลยน่ะ เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง CD ก็เลยไม่ต้องให้เวลากับเราในการจูนหาคลื่นแต่อย่างใด เพราะเราจูนติดกับมันได้ในทันทีอยู่แล้ว

สรุปว่า HAPPY WHEN IT RAINS เป็นหนังที่น่าสนใจมากๆเรื่องนึง แต่เราอาจจะไม่ได้จูนติดกับหนังเรื่องนี้มากนัก เพราะรสนิยมส่วนตัวและประสบการณ์ชีวิตของเรา และอาจจะเป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้สั้นเกินไปจนไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชมแบบเรามีเวลาจูนติดกับหนังด้วย

4.ส่วน GOODBYE LASTED FOREVER นั้น ช่วงแรกของหนังเป็นช่วงที่เรามีปัญหากับมันมากพอสมควร แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของหนังนะ มันเป็นเรื่องรสนิยมของผู้ชมแต่ละคนที่แตกต่างกันเช่นกัน

คือช่วงแรกของหนัง ที่เป็นพระเอกอยู่ตามลำพัง เหงาๆ นั้น เราไม่มีอารมณ์ร่วมกับมันเลย เพราะเรารู้สึกว่าพระเอกดูเท่เกินไป ดูดีเกินไป อาการเหงาๆของพระเอก ก็ดูเหมือนการโพสท่าถ่ายแบบในนิตยสารเก๋ๆน่ะ และเราจะไม่ identify ตัวเองกับผู้ชายเท่ๆในบรรยากาศที่ดูดีแบบนี้

แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความผิดของหนังเรื่องนี้ เพราะในขณะที่เรารู้สึกว่าตัวเองถีบตัวออกห่างจากหนังในช่วงแรกของเรื่องนั้น เพื่อน cinephiles บางคนของเราและผู้ชมคนอื่นๆอาจจะถูกดึงดูดจากมันก็เป็นได้

คือกรณีที่อาจจะนำมาเปรียบเทียบกันได้ อาจจะเป็นหนังเรื่อง SOLOS โสฬส (2014, Teeranit Siangsanoh, A+30) น่ะ คือช่วงแรกของ SOLOS มันนำเสนอภาพชายหนุ่มคนนึงนั่งอยู่ในห้องตามลำพัง ฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ต สูบบุหรี่ไปเรื่อยๆ โดยที่เราแทบไม่เห็นหน้าตัวละครเลย แต่เรากลับรู้สึกว่า เราจูนติดกับอะไรแบบนี้อย่างรุนแรงในทันที เราถูกดึงดูดด้วยอะไรแบบนี้อย่างรุนแรงในทันที ทั้งความซอมซ่อของห้องหับของพระเอก อุปกรณ์ต่างๆในห้องที่ดูเป็นของคนหาเช้ากินค่ำ บรรยากาศขมุกขมัว ทุกอย่างดูใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของคนจนอย่างเรามากๆ และการที่เราแทบไม่เห็นหน้าตัวละครเลย ก็เหมือนกับหนังเปิด “ช่องว่าง” บางอย่างเอาไว้ เพื่อที่ผู้ชมบางประเภทอย่างเช่นเราจะได้ถอดจิตเข้าไปขดตัวอยู่ในช่องว่างนั้นอย่างมีความสุข

แต่แน่นอนว่า ในขณะที่เราถูกดึงดูดอย่างรุนแรงด้วยฉาก “ชายหนุ่มนั่งอยู่ตามลำพัง และฟังเพลงกับดูดบุหรี่ไปเรื่อยๆอย่างยาวนาน” ใน SOLOS เราก็เดาว่า ต้องมีผู้ชมคนอื่นๆที่รู้สึกเหมือนถูกถีบออกมาจากหนังน่ะ ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาของผู้ชมคนอื่นๆ ไม่ใช่ปัญหาของเรา และในทางกลับกัน การที่เรารู้สึกว่าตัวเองถูกถีบออกมาจากหนังในช่วงแรกของ GOODBYE LASTED FOREVER ในขณะที่ผู้ชมคนอื่นๆอาจจะถูกดึงดูดอย่างรุนแรงก็ได้นั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวหนัง มันเป็นเพียงเรื่องรสนิยมของผู้ชมแต่ละคนที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง

5.แต่ช่วงกลางของหนัง ที่เป็นฉากสัมภาษณ์นั้น เป็นช่วงที่ทำให้เราจูนติดกับหนังเรื่องนี้ เพราะเราว่าการแสดงในฉากสัมภาษณ์นั้นดีมากๆ และสิ่งที่พูดคุยกันในฉากสัมภาษณ์นั้นก็น่าสนใจมากๆ

คือเราชอบที่พระเอกของ GOODBYE LASTED FOREVER ดูเหมือนจะมีประวัติชีวิตที่รุนแรงมาก แต่หนังไม่ได้นำเสนออะไรพวกนี้ออกมาในแบบเมโลดราม่าน่ะ คือประวัติชีวิตของตัวละครแบบนี้ มันเอามาทำเป็นหนังสองชั่วโมงได้สบายๆเลย คือเหมือนผู้สร้างหนัง “คิดประวัติชีวิตของตัวละครมาแล้วในแบบที่สร้างเป็นหนังได้ยาวสองชั่วโมง” แต่ผู้กำกับเลือกที่จะไม่ไปโฟกัสตรงจุดนั้นน่ะ แต่หันมาโฟกัสที่ห้วงอารมณ์ความรู้สึกอะไรบางอย่างแทน คือแทนที่ผู้กำกับจะเสนอว่า “เคยเกิดอะไรขึ้นมาบ้างในอดีตที่น่าสนใจมากๆของพระเอกและครอบครัวพระเอก” ผู้กำกับกลับนำเสนอเพียงแค่ตะกอนทางอารมณ์ที่ตกค้างอยู่ในใจพระเอกเท่านั้น ซึ่งวิธีการแบบนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ

จริงๆแล้วเราว่านี่เป็นจุดที่น่าสนใจที่พบได้ในหนังเรื่องอื่นๆของ Natchanon ด้วยนะ เพราะตัวละครเอกใน LIFE ON MARS, THE ROMANCE OF MICHELLE AND FRANCISCO และ HAPPY WHEN IT RAINS ต่างก็ล้วน “เคยผ่านอะไรที่สำคัญมาบางอย่าง” ก่อนที่หนังจะเริ่มต้นขึ้น หนังเรื่อง LIFE ON MARS ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า คนคนนั้นตายอย่างไร แต่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า นางเอก deal กับความรู้สึกของตนเองอย่างไรหลังจากคนคนนั้นตายไป ส่วน THE ROMANCE OF MICHELLE AND FRANCISCO ก็ดูเหมือนจะจมจ่อมไปกับห้วงอารมณ์ความรู้สึกของนางเอก แทนที่จะนำเสนอว่าชีวิตนางเอกเป็นมาอย่างไรก่อนที่จะมาถึงจุดนั้น และ HAPPY WHEN IT RAINS ก็จมจ่อมไปกับห้วงอารมณ์ของนางเอกเช่นกัน โดยที่เราไม่รู้ประวัติอะไรของนางเอกและความสัมพันธ์ของนางเอกมาก่อนเลย เราว่าการที่ Natchanon เลือกที่จะดำดิ่งไปยัง “อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร” แทนที่จะนำเสนอว่า “เคยเกิดอะไรขึ้นมาบ้างในชีวิตของตัวละคร” เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ และเขาก็ทำสิ่งนี้ได้อย่างงดงามมากๆด้วย บางทีนี่อาจจะลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในความเป็น auteur ของเขาก็ได้

6.ส่วนช่วงท้ายของหนัง ที่เป็นพระเอกอยู่กับแฟนนั้น เรารู้สึกกลางๆนะ ไม่บวกไม่ลบ คือฉากนี้อาจจะคล้ายๆกับ HAPPY WHEN IT RAINS แต่เนื่องจากเราจูนติดกับ GOODBYE LASTED FOREVER ไปบ้างแล้วในช่วงกลางของเรื่อง เราก็เลยปล่อยอารมณ์ของตัวเองให้ไหลไปได้กับช่วงท้ายของหนัง ถึงแม้เราอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์อะไรแบบเดียวกับตัวละครในช่วงท้ายของหนังก็ตาม

7.เนื่องจากเราเปรียบเทียบ GOODBYE LASTED FOREVER กับ SOLOS ไปแล้ว เราก็เลยขอเปรียบเทียบต่ออีกหน่อยแล้วกัน 555 เพราะปัจจัยที่ทำให้เราชอบ GOODBYE LASTED FOREVER มากๆ ก็คือปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เราชอบ SOLOS มากๆ เพราะตัวละครของ SOLOS ก็มีประวัติชีวิตที่รุนแรงมากๆเช่นกัน แต่หนังกลับไม่ได้ “สร้างความดราม่า” จากประวัติชีวิตที่รุนแรงของพระเอกเลย โดยใน SOLOS นั้น หลังจากเรานั่งดูพระเอกนั่งอยู่คนเดียวในห้องมานานราว 30 นาทีแล้ว เราก็ได้เห็นพระเอกคุยโทรศัพท์กับเพื่อน เพื่อคุยกันเรื่องที่พระเอกไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของพ่อแม่ตัวเอง อะไรทำนองนี้ คือประวัติชีวิตของพระเอก SOLOS มันรุนแรงมากๆในแบบที่สร้างเป็นหนังยาว 2 ชั่วโมงได้เหมือนกันเลยน่ะ แต่หนังกลับเลือกที่จะไม่โฟกัสตรงจุดนี้ แต่เล่าเรื่องนี้ผ่านทางการให้พระเอกคุยโทรศัพท์กับเพื่อนเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น แล้วก็ให้พระเอกนั่งอยู่ในห้องเฉยๆต่อไป

คือเราว่าทั้ง SOLOS และ GOODBYE LASTED FOREVER มันนำเสนอ “ประวัติชีวิตที่รุนแรงมากๆของพระเอก” ได้ในแบบที่ minimal สุดๆเหมือนกันเลยน่ะ เราก็เลยชอบตรงจุดนี้มากๆ

แต่เราจะอินกับช่วงครึ่งหลังของ SOLOS อย่างรุนแรงนะ เพราะช่วงครึ่งหลังของหนัง เราจะเห็นพระเอกของ SOLOS เดินไปเดินมาในตึกร้าง หรือตึกเก่าๆ ขณะที่แสงพระอาทิตย์ค่อยๆเลือนหายไป ทีละน้อย ทีละน้อย คือเราเป็นคนที่มีความสุขกับการดูหนังที่คว้าจับความงามของตึกเก่าๆโทรมๆท่ามกลางแสงพระอาทิตย์ยามเย็นแบบนี้น่ะ มันจูนติดกับเราอย่างรุนแรง ในขณะที่ฉากพระเอกนั่งกับแฟนในช่วงท้ายของ GOODBYE LASTED FOREVER มันจูนติดกับเราแค่ในระดับ “ปานกลางค่อนข้างบวก” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครมาก่อน

สรุปว่าทั้ง HAPPY WHEN IT RAINS กับ GOODBYE LASTED FOREVER ทำให้เรารู้สึกว่า หนังของ Natchanon มีความเป็นมนุษย์ธรรมดามากขึ้น หรือนำเสนอห้วงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ธรรมดาได้มากขึ้น หนังของเขายังคงถ่ายสวยมากๆ และจุดเด่นที่เราชอบมากในหนังของเขาคือการที่หนังดำดิ่งไปกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร มันเป็นหนังประเภท “how does it feel” มากกว่าหนังประเภท “what happens” แต่เราอาจจะไม่ได้ชอบหนังสองเรื่องนี้ในระดับ A+30 ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดของหนัง มันเป็นเพียงเรื่องของรสนิยมและประสบการณ์ชีวิตของผู้ชมแต่ละคนที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง



No comments: