Tuesday, January 11, 2022

4 KINGS IN THE 90'S

 

4 KINGS อาชีวะยุค 90’s (2021, Phuttiphong Nakthong พุฒิพงษ์ นาคทอง, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

1.ตลกดีที่ 4 KINGS, WEST SIDE STORY (2021, Steven Spielberg, A+25) กับ TOKYO REVENGERS (2021, Tsutomu Hanabusa) เข้าฉายในไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน และหนังทั้ง 3 เรื่องนำเสนอ “วัฒนธรรมแก๊งนักเลงหนุ่มหล่อ” เหมือนกัน 5555 นึกว่าเราเป็นคนจัดโปรแกรมฉายหนังเหล่านี้ควบกันเอง อยากได้กลุ่มนักแสดงใน 3 เรื่องนี้มาก ๆ 55555

 

2.ในด้านศิลปะภาพยนตร์ ความแพรวพราวทางการกำกับแล้ว คิดว่า WEST SIDE STORY กินขาดใน 3 เรื่องนี้นะ แต่ปรากฏว่าเราชอบ WEST SIDE STORY น้อยสุด เพราะความสุขในการดูหนังของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับศิลปะภาพยนตร์เป็นหลักแต่อย่างใด 55555 และเราว่าเราประทับใจกับ 4 KINGS มากสุดใน 3 เรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ 4 KINGS มีจุดอ่อนเยอะสุดใน 3 เรื่องนี้ โดยเฉพาะบทภาพยนตร์ที่เราว่าอาจจะมีปัญหามากที่สุดใน 3 เรื่องนี้ อย่างเช่นฉากที่รูแปงไปสู้กับคนบนสะพาน แล้วหนังก็ตัดไปเลย สรุปว่าไม่รู้สู้กันแล้วเกิดอะไรขึ้น เราก็นึกว่ารูแปงตายหรือได้รับบาดเจ็บ ปรากฏว่าต่อมารูแปงก็เป็นปกติดี

 

3.สาเหตุที่ชอบ 4 KINGS มากสุดใน 3 เรื่องนี้ เพราะมัน “ใกล้ตัวมากที่สุด” และเป็นเรื่องที่เราสนใจหรืออยากรู้อยากเห็นมากที่สุดมั้ง มันก็เลยส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อเรามากที่สุด ในขณะที่ WEST SIDE STORY มันไกลตัว และ TOKYO REVENGERS ก็แฟนตาซีมาก ๆ

 

คือเหมือนเราอยากรู้มานานแล้วว่า สังคมของเด็กอาชีวะเหล่านี้เป็นอย่างไรน่ะ และเราก็เหมือนแทบไม่ได้ดูหนังที่พูดถึงเรื่องนี้เลย เหมือนเรื่องเดียวที่เราได้ดูคือ ถนนนี้หัวใจข้าจอง MEAN STREET BLUES (1997, คิด สุวรรณศร) ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบมาก ๆ แต่ถ้าหากเราจำไม่ผิด หนังเรื่องนั้นเน้นไปที่พระเอกที่เป็น “เด็กดี” ในโรงเรียนอาชีวะน่ะ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนั้นก็เลยไม่ได้เดือดพล่านเท่าหนังเรื่องนี้ ส่วนหนังสั้นส่วนใหญ่ที่เราได้ดูมา มักจะพูดถึง “ผลกระทบอันเลวร้าย” ที่เกิดจากการตีกันของนักเรียนอาชีวะเป็นหลัก ทั้งเรื่องของคนที่ถูกลูกหลงจนตาย, เรื่องของแม่ที่เสียใจที่ลูกไปมีเรื่องกับคนอื่น ๆ  หรืออย่างปีนี้ก็มีหนังสั้นที่พูดถึงนักเรียนตีกันอยู่บ้าง แต่พอมันเป็นหนังสั้น มันก็เลยเน้นให้เห็นได้แต่ผลอันเลวร้ายของการตีกัน ล้างแค้นกัน แต่ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะทำให้เราได้มองเห็นแง่มุมอื่น ๆ ของตัวละครกลุ่มนี้ด้วย

 

4.เพราะฉะนั้น 4 KINGS ก็เลยเหมือนตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของเราได้ดีมาก ๆ และพอหนังใช้ฉากเป็นยุค 90s เราก็เลย nostalgia มาก ๆ ด้วย เพราะยุคนั้นเราก็เคยมีประสบการณ์ฝังใจกับการตีกันเหมือนกัน เราจำปีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ได้ แต่น่าจะเป็นช่วงปลายทศวรรษ 1990 นี่แหละ เราอยู่บนรถเมล์เล็กแถวปิ่นเกล้า ซึ่งก็คงมีนักเรียนช่างกลหรืออาชีวะบนรถ รถแล่นไปจอดแถวป้ายรถเมล์หน้าโรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา แล้วเราก็ได้ยินเสียงเหมือนคนตะโกนท้าทายกัน เหมือนเด็กอาชีวะบนรถกับกลุ่มเด็กอาชีวะที่ป้ายรถเมล์ตะโกนด่ากัน ท้าทายกัน แล้วเด็กอาชีวะบนรถก็ตะโกนว่า “แน่จริงมึงยิงขึ้นมาสิ แน่จริงมึงยิงขึ้นมาสิ” หรืออะไรทำนองนี้

 

คือตอนนั้นเราใจหายวาบเลย คือกูก็อยู่บนรถเมล์เล็กคันนั้นด้วยนะ ถ้ามันยิงขึ้นมาจริง ๆ กูก็อาจจะตายได้นะ แต่โชคดีที่ไม่มีใครยิงเข้ามาในรถ แล้วรถก็แล่นออกจากป้ายไป ถือเป็นประสบการณ์เฉียดตายของเราที่ผ่านมานาน 20 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังลืมไม่ลง

 

ส่วนอีกเหตุการณ์ที่เราไม่ได้เจอโดยตรง แต่ฝังใจเรามาก ๆ ก็คือเหตุการณ์ที่มีเด็กช่างกลปทุมวันถูกแทงที่รถเมล์สาย 47 หน้าตึกอับดุลราฮิมในปี 2004 เพราะว่าเราก็เคยขึ้นรถเมล์สาย 47 เป็นประจำ และยุคนั้นเราทำงานที่ตึกอื้อจื่อเหลียง ที่ติดกับตึกอับดุลราฮิม เพราะฉะนั้นทั้งรถเมล์ที่มีการแทงกันตาย และจุดที่มีการแทงกันตาย ก็เลยถือว่า “ใกล้ตัว” เรามาก ๆ เราก็เลยฝังใจกับข่าวนี้มาก ๆ

https://www.decha.com/article/section/Counsel/2667

 

และด้วยปัจจัยอะไรแบบนี้ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า 4 KINGS มันใกล้ตัวเรามาก ๆ และก็เลยทำให้เราประทับใจกับหนังเรื่องนี้มากที่สุดในบรรดาหนัง juvenile delinquents 3 เรื่องนี้

 

5.ชอบที่หนังมันไม่ได้มีแต่บทเรียนจากการตีกัน แต่ทำให้เราได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของตัวละครเหล่านี้ด้วย ทั้งเรื่องของการเข้าสถานดัดสันดาน, ปัญหากับเด็กค้ายา หรือปัญหาชีวิตของตัวละครแต่ละตัว เราว่าเรื่องราวในสถานดัดสันดานมันดีมาก ๆ และน่าสนใจมาก ๆ

 

6.ฉากที่ดา อินทร (เป้ อารักษ์) ร้องไห้อ้อนวอนหน้าบ้านคนรัก เราชอบอารมณ์ในฉากนี้มากนะ เหมือนเราว่าฉากนี้มันเค้นอารมณ์ได้ดีสำหรับเราน่ะ และน่าจะเป็นฉาก climax ฉากนึงในหนังเรื่องนี้ (แน่นอนว่าฉาก climax อีกฉากก็คือการตีกัน 3 ฝ่ายในตอนท้าย) คือตอนแรกเรานึกว่าฉาก climax ของหนังจะเป็นฉากตีกันอย่างเมามันสุดขีดแบบใน TOKYO REVENGERS แต่ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลือกที่จะเน้นความเมามันในการตีกัน เพราะการตีกันที่หนักที่สุดจริง ๆ น่าจะเกิดในคอนเสิร์ตหินเหล็กไฟ แต่หนังก็เลี่ยงที่จะนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นตรงๆ และตัดไปเป็นฉากตัวละครเข้าโรงพยาบาลเลย ส่วนฉากตีกัน 3 ฝ่ายในตอนท้าย (อินทร-ประชาชล-เด็กบ้าน) ก็ไม่ได้เน้น “ความเมามันในการตีกัน” แต่เน้นให้บทเรียนกับตัวละครมากกว่า

 

เราก็เลยพบว่ามันเป็น “การผิดคาดในทางที่ดี” ที่ 4 KINGS ไม่ได้เน้นความเมามันในการตีกันแบบที่เราคาดไว้ แต่ไปให้ความสำคัญทางอารมณ์กับฉากการอ้อนวอนต่อหน้าบ้านคนรัก เหมือนเราชอบเส้นอารมณ์ในฉากนั้นน่ะ จากอารมณ์โกรธที่ถูกพ่อคนรักขัดขวาง มาเป็นการยอมคุกเข่าอ้อนวอนขอร้อง และส่งผลให้แก๊งประชาชลตัดสินใจไม่เข้ามาทำร้าย

 

7.แต่ moment ที่เราชอบที่สุดจริง ๆ ในหนังคือ moment ที่โอ๋ ประชาชล (ณัฏฐ์ กิจจริต) จับแขนมด ประชาชล (โจ๊ก อัครินทร์) ไม่ให้เข้าไปฟันกลุ่มเด็กอินทรนะ ชอบ moment นั้นอย่างสุด ๆ เหมือนในวินาทีนั้น โอ๋ต้องเลือกว่าจะเข้าข้างฝ่ายไหน และต้องเลือกว่าจะกล้าขัดขวางเพื่อนรักเมื่อเพื่อนรักตัดสินใจจะทำในสิ่งที่ผิดหรือไม่ และโอ๋ก็ตัดสินใจขัดขวางเพื่อนรักจากการทำในสิ่งที่ผิด เราชอบอะไรแบบนี้มาก ๆ

 

8.ผู้ชายในหนังเรื่องนี้น่ากินมาก ๆ คนที่เราชอบที่สุดก็คือ บิลลี่ อินทร (จ๋าย ไททศมิตร) นี่แหละ น่ารักน่ากินที่สุด ส่วนอันดับสองก็คือโอ๋ ประชาชล ส่วนอันดับสามก็คือรูแปง อินทร (ภูมิ รังษีธนานนท์) ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเกลียดตัวละครตัวนี้มาก เรารำคาญคนประเภทนี้อย่างสุด ๆ แต่พอในช่วงท้าย มีฉากเขาตอนโตแล้ว ดูเป็นผู้ใหญ่ สุขุม ไม่พูดมากจนน่ารำคาญเหมือนตอนเป็นวัยรุ่น เราก็พบว่าเขาน่ากินที่สุดค่ะ 55555

 

ส่วนเอก บุรณพนธ์ (ทู สิราษฎร์) นั้น เราไม่ชอบผู้ชายที่ไว้ทรงผมแบบนี้ค่ะ ไม่ใช่สเปคเรา เอกก็เลยตกกระป๋องไปในเรื่องความ desirable สำหรับเรา ถึงแม้ทู สิราษฎร์ตัวจริงจะ desirable มาก ๆ ก็ตาม 555

No comments: