Sunday, January 02, 2022

THE MONOPOLY OF VIOLENCE

 THE MONOPOLY OF VIOLENCE (2020, David Dufresne, France, documentary, A+30)


ไม่นึกว่าการประท้วงในยุคของ Macron จะถูกตำรวจปราบปรามอย่างรุนแรงขนาดนี้

น่าสนใจที่หนังเปรียบเทียบกับ Putin ด้วย  คือตำรวจฝรั่งเศสดูเหมือนใช้ความรุนแรงเกินเหตุ แต่ Putin เหี้ยกว่า
--
I AM NOT ALONE (2020, Garin Hovannisian, Armenia, documentary, A+30)

หนึ่งในหนังที่ดูแล้วให้ความหวังมากที่สุดในปีนี้ ให้ความหวังกับเรามากพอ ๆ กับ TOMORROW TRIPOLI  (2019, Florent Marcie, Libya) และหนังเรื่องนึงของคุณทวีโชค ผสม
--

ส้มปลาน้อย SOMPLANOI (2021, Petchtai Wongkumlao, Bodeekorn Lohachala, A+25)
--

HARD GOOD LIFE I & II (2003+ 2008, Hsu Hui-ju, Taiwan, documentary, A+30)

ไม่แน่ใจว่าใครที่เคยพูดว่า "ภาพยนตร์คือการบันทึกยมทูตขณะทำงานอยู่" (Film is death at work) เพราะนักแสดง หรือ subjects ทุกคนแก่ตัวลงในทุก ๆ วินาทีขณะปรากฏตัวต่อหน้ากล้อง เพราะฉะนั้นกล้องถ่ายหนังจึงช่วยบันทึก "การเดินหน้าเข้าใกล้ความตายไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วินาที" ของนักแสดงหรือ subjects เอาไว้ได้

เหมือนหนังเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำคำพูดข้างต้นได้อย่างรุนแรง ภาคแรกของหนังเป็นการบันทึกชีวิตประจำวันที่ธรรมดาสามัญอย่างถึงที่สุดของพ่อของผู้กำกับ แต่พอภาคสองเริ่มต้น  เราก็ร้องไห้เลย เพราะผู้กำกับ voiceover ไว้ในฉากแรก ๆ เลยว่า ตอนนี้พ่อป่วยเป็นมะเร็ง มันทำให้ภาคแรกของหนังกลายเป็นการบันทึกภาพสิ่งที่กำลังจะหายไปตลอดกาล

แล้วหนังภาคสองก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อตัวผู้กำกับเองก็ป่วยเป็นมะเร็งในระหว่างการถ่ายทำเหมือนกัน นี่แหละชีวิตมนุษย์

--

SUNG'S FAMILY (2020, Sung Yan-fei, Taiwan, documentary, A+30)

หนังที่ผู้กำกับถ่ายพ่อกับแม่ที่หย่าร้างกัน นึกว่าต้องปะทะกับ IMAGES OF THE ABSENCE (1999, German Kral)
--
MS. LIN -- THE RETOUCHING LADY (2020, Lin Shih-chun, Taiwan, documentary, A+30) เราชอบกลุ่มหนังสารคดีที่พูดถึงอาชีพที่หายไป หรือกำลังจะหายไป ซึ่งก็รวมถึงหนังเรื่องนี้ที่พูดถึงคนทำงานถ่ายรูป, ล้างรูป, รีทัชรูปที่ถ่ายด้วยฟิล์มแบบเก่า บางทีอาจจะเป็นเพราะเราอายุ 48 ปีแล้วก็ได้มั้ง ก็เลยใจหายเวลาเห็นอาชีพต่าง ๆ สาบสูญไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
--
TODAY, YOU ARE YOU (2020, Chen Kuan-chun, Taiwan, documentary, A+30)  สารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่แปลงเพศเป็นผู้ชาย และทำงานเป็นครูสอนการเต้น
--
NING (2020, Chen Wei-chieh, Taiwan, documentary, A+30)
--
BENEDETTA (2021, Paul Verhoeven, France, A+30)

Spoilers alert

--
--
--
--
--
1.สุดฤทธิ์ รัก Paul Verhoeven ที่สุด ตัวละครหญิงของเขาไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลยจริง ๆ เพราะตัวละครหญิงในหนังหลาย ๆ เรื่องของเขามันใกล้เคียงกับตัวละครหญิงในโลกจินตนาการของเรามาก ๆ เพราะพวกเธอเงี่ยนมาก, ร้ายมาก, เข้มแข็งมาก ไม่มีความแอ๊บแบ๊ว คิกขุ ใส ๆ อ่อนแอปวกเปียกแต่อย่างใด ทั้งในหนังที่ผู้หญิงเป็นตัวเอก อย่าง THE 4TH MAN (1983), BASIC INSTINCT (1992), SHOWGIRLS (1995), BLACK BOOK (2006), ELLE (2016) และ BENEDETTA และแม้แต่ในหนังที่ผู้ชายเป็นตัวเอก อย่าง FLESH + BLOOD (1985), ROBOCOP (1987), TOTAL RECALL (1990), STARSHIP TROOPERS (1997) ตัวละครหญิงในหนังกลุ่มนี้ก็แข็งแกร่งสุด ๆ อยู่ดีฉากที่นางเอกกับนางตัวร้ายบู๊กันในช่วงต้นของ TOTAL RECALL ยังคงฝังใจเราแม้เวลาผ่านมานาน 30 ปีแล้ว

2. ชอบตัวละครหญิงหลายตัวใน  BENEDETTA มาก ๆ ทั้ง Beenedetta, Bartolomea, Felicita (Charlotte Rampling), Christina,
แม่ชีที่เคยเป็นกะหรี่มาก่อน, แม่ชีจากครอบครัวยิว, แพทย์หญิงที่หิวเงิน และ "สาวใช้ที่บีบนมตัวเองต่อหน้าบาทหลวง" 

เราขอจองเป็นสาวใช้ที่บีบนมตัวเองในเรื่องนี้ เหมือนเธอโผล่มาฉากเดียว แต่เธอโคตรจะ memorable และกาฬโรคทำอะไรเธอไม่ได้เลย เธออิทธิฤทธิ์สูงมาก

3.ชอบ "ความเปลี่ยนแปลง" ของตัวละครด้วย ทั้ง Benedetta ที่ตอนแรกรังเกียจ Bartolomea ที่มากระตุ้นราคะในตัวเธอ จนเธอถึงขั้นทำร้ายร่างกาย Bartolomea แต่ตอนหลัง Benedetta ก็มาหลงระเริงในราคะซะเอง

และชอบ  Bartolomea ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะตอนแรกเรานึกว่าเธอจะเป็นแค่ลูกสมุนโง่ ๆ ของ  Benedetta แต่พอ Bartolomea ตัดสินใจไม่กลับเข้าเมืองตาม Benedetta เราก็รู้สึกชอบเธอมาก ๆ เพราะเราเองก็คงตัดสินใจแบบนั้นเช่นกัน

4.ชอบที่ทุกอย่างมันเทามาก ๆ มันไม่ใช่เรื่องของความดีปะทะความชั่ว เพราะทุกคนก็ชั่ว ๆ ดี ๆ ขี้ ๆ เยี่ยว ๆ กันหมด Benedetta ก็ไม่ใช่คนดี แต่ศาสนจักรหรือบาทหลวงที่จะมากำราบ Benedetta ก็ไม่ใช่คนดี และฝูงม็อบคลุ้มคลั่งที่มาปะทะกับบาทหลวงจริง ๆ แล้วก็อาจจะทำไปเพราะความงมงาย

5. สิ่งที่สะเทือนใจเรามากที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือการที่  Christina "พูดโกหกด้วยเจตนาที่น่าจะดี" (เธอไม่เห็นกับตาว่า Benedetta กรีดหน้าผาก แต่เธอบอกว่าเธอเห็น ) และการที่ Felicita  "พูดความจริง" (Felicita บอกว่า Christina ไม่เห็นกับตา) แต่ไม่ว่าการเลือกพูดจริงหรือพูดเท็จต่างก็นำมาซึ่งความชิบหายทั้งนั้น มันก็เลยเศร้ามาก ๆ
--
DETECTIVE CONAN: THE SCARLET BULLET (2021, Tomoka Nagaoka, Japan, animation, A+25)

ประหลาดดีที่หนังเรื่องนี้มีจุดสำคัญบางจุดคล้ายกับ SHOCK WAVE 2 (2020, Herman Yau, A+30) โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เราชอบ SHOCK WAVE 2 มากกว่าเยอะ เพราะ SHOCK WAVE 2 มันทำให้เรารู้สึกถึง "ความเจ็บจริง" ได้มากกว่าน่ะ ซึ่งเป็นเพราะ SHOCK WAVE 2 มันได้เปรียบตรงที่ใช้คนแสดง มันก็เลยถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ดีกว่า และเพราะ SHOCK WAVE 2 มันเน้นถ่ายทอด "ความรู้สึกเจ็บช้ำของผู้ก่อวินาศกรรมทางรถไฟ" ด้วย หนังมันก็เลย "เจ็บจริง" มาก ๆ สำหรับเรา ส่วน THE SCARLET BULLET มันเล่าเรื่องผ่านทางโคนันเป็นหลัก มันก็เลยไปเน้นที่การสืบสวน ไม่ได้เน้นไปที่ "ความรู้สึกเจ็บช้ำของผู้ก่อการร้าย" อารมณ์ของหนังก็เลยด้อยกว่า SHOCK WAVE 2 ไปโดยปริยาย
--

SEEING IN THE DARK (2021, Taiki Sakpisit, video installation, A+30)

1.ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เคยมีความสำคัญตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคจอมพลป.

2.เรื่องการต่อสู้ที่เขาค้อก็น่าสนใจมาก เหมือนมันเริ่มต้นด้วยคอมมิวนิสต์ ที่ดึงชนกลุ่มน้อย (ชาวม้ง) เข้าร่วม แล้วพยายามจูงใจชาวบ้าน แล้วต่อมาพอนักศึกษาถูกกดดัน นักศึกษาเลยไปเข้าร่วมด้วยในภายหลัง

แต่ปัญหาคอมมิวนิสต์ก็สลายไปเมื่อรัฐไทยไปผูกมิตรกับจีน และใช้ "ไม้อ่อน" ในการดึงคนออกจากป่าในยุคเปรม

3.พอ video นี้มีการตัดภาพจากยุคปัจจุบันแทรกเข้ามา เราก็เลยนึกเทียบเคียงกับยุคปัจจุบันโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ เพราะความเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบันก็เริ่มจากคนเสื้อแดงเมื่อสิบกว่าปีก่อน แล้วเหมือนได้รับการสานต่อจากนักศึกษาในช่วงต่อมา เพราะความเหี้ยอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล

แต่เหมือนความคล้ายคลึงก็อาจจะจบลงเพียงแค่นั้น เพราะตอนนี้ "จีน" อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนักศึกษาแล้ว และเราไม่ได้อยู่ในป่าแบบเดิมกันอีกต่อไป

4. การที่ video นี้เน้นไปที่ค้างคาวในช่วงท้ายเป็นสิ่งที่ thought provoking ดีมากๆ เพราะค้างคาวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ เหมือนกับจะ see in the dark ได้
--
BARBARIAN INVASION (2021, Tan Chui Mui, Malaysia, A+30)

1. ถ้าบรรดาครูสอน martial arts จะล่ำบึ้กกันขนาดนี้ (ไม่นับ James Lee) ดิฉันก็ขอไปเรียนด้วยคนค่ะ ฮิฮิ

2. ชอบทุกฉากที่เจอพระ รู้สึกว่ามันล้อเลียนตัวละครพวกปรมาจารย์ลึกลับในหนังจีนกำลังภายในได้อย่างฮามาก ๆ อยากให้มีคนทำหนังที่จริง ๆ แล้วพ่อค้าขายเต้าฮวยและแม่ค้าขายข้าวแกงในซอยจริง ๆ แล้วเป็นจอมยุทธ์ที่ซ่อนตัวอยู่

3.การเป็นหนังซ้อนหนัง เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนก็น่าสนใจมาก ๆ นึกถึงหนังของ Anocha Suwichakornpong แบบที่หลายคนบอก และนึกถึงหนังแบบต่อไปนี้ด้วย

3.1 BEING JOHN MALKOVICH (1999, Spike Jonze)

3.2  ADAPTATION. (2002, Spike Jonze)

3.3 CLOSE-UP (1990, Abbas Kiarostami)

3.4 CERTIFIED COPY (2010, Abbas Kiarostami)

3.5 THE MIRROR (1997, Jafar Panahi)

3.6 BARBARA (2017, Mathieu Amalric)

รู้สึกว่า BARBARIAN INVASION เหมาะปะทะกับ BARBARA มากที่สุด เพราะมันเป็นหนังซ้อนหนังซ้อนชีวิตผู้กำกับเหมือนกัน 55555 เพราะ BARBARA เล่าเรื่องของ Yves Zand (Mathieu Amalric) ผู้กำกับที่ต้องการสร้างหนังเกี่ยวกับดาราที่มีตัวตนจริงชื่อ Barbara  ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ในระหว่างการสร้างหนัง เขาเหมือนเบลอระหว่างนักแสดงที่เล่นเป็น Barbara กับ Barbara ตัวจริง และตัวนักแสดงเองก็เหมือนเบลอ ๆ ระหว่างเส้นแบ่งนี้ มันก็เลยเหมือนเกิดการเหลื่อมกันระหว่างหนังซ้อนหนัง แล้วพอ Amalric ผู้กำกับหนังเรื่องนี้แสดงเป็นผู้กำกับหนังซะเอง เราก็เลยสงสัยว่า ตัวจริงของ Amalric หลงใหล Barbara มาก ๆหรือเปล่า เขาก็เลยสร้างหนังที่เหมือนล้อเลียนตัวเองเรื่องนี้

เราก็เลยรู้สึกว่า ทั้ง  BARBARIAN INVASION กับ BARBARA เป็นอะไรที่เหมาะจะเปรียบเทียบกันมาก ๆ ค่ะ ในเรื่องการเล่นกับ layers การเล่าเรื่อง

--

No comments: