Sunday, January 09, 2022

ETERNAL VOID (2021, Pavaret Udompatthanakit, short film, A+30)

 ETERNAL VOID (2021, Pavaret Udompatthanakit, short film, A+30)

ร่างอันตรธาน

 

1.ชอบประเด็นที่หนังพูดถึง ซึ่งก็คือเรื่อง “การบังคับสูญหาย” และเราว่ามันน่าสนใจมาก ๆ ที่หนังนำเสนอประเด็นนี้ในแบบ fiction

 

เราว่าทั้ง fiction และ documentary มันก็มีข้อดีข้อด้อย มีจุดแข็งจุดอ่อนในแบบของตนเองนะ ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าหนังกลุ่มไหนดีกว่าหนังกลุ่มไหน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่สามารถบอกได้หรอกว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้ทำออกมาเป็นสารคดี แล้วมันจะ “ดีกว่า” หนังแบบที่เป็นอยู่นี้หรือเปล่า แต่เราคิดว่าถ้าหากมันเป็น “สารคดี” มันก็จะมีทั้งส่วนที่แข็งกว่าและส่วนที่อ่อนกว่าหนังเรื่องนี้ หรือมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างจากหนังเรื่องนี้

 

2.ในส่วนของเรา เราดูออกว่าเป็น fiction ตั้งแต่แรกนะ เพราะเราจำหน้านักแสดงที่เล่นเป็นพ่อได้ เพราะเขาเล่นหนังสั้นหลายเรื่อง

 

3. ในส่วนของจุดแข็งนั้น เราว่าพอมันเป็น fiction แบบนี้ มันจะดูเป็นการสะท้อน “ภาพรวม” มากกว่าสะท้อนกรณีการบังคับสูญหายของแต่ละบุคคลน่ะ คือถ้าหากมันเป็นการสัมภาษณ์ญาติมิตรของเหยื่อการเมืองแต่ละคนที่มีตัวตนจริง มันก็จะดูมีความ specific มากขึ้น ดูเป็น “ภาพเล็ก” แต่พอมันเป็น fiction มันก็จะดูเป็น “ภาพใหญ่” ได้ง่ายขึ้น เหมือนเป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนหลาย ๆ คนได้โดยผ่านทางการพูดถึงตัวละครสมมุติเพียงคนเดียว

 

4.จุดแข็งอีกจุดนึงของความเป็น fiction ก็คือมันอาจจะสะท้อนสิ่งที่สารคดีสะท้อนไม่ได้นะ อย่างเช่นการจำลองฉากอดีตต่าง ๆ ของตัวละครที่หายสาบสูญไป หรือการให้ตัวละครพ่อแม่ได้พูดในสิ่งที่พ่อแม่ของเหยื่อจริง ๆ อาจจะไม่ได้พูด เพราะเวลาที่คนจริง ๆ เจอกับกล้องถ่ายหนัง บางทีคน ๆ นั้นอาจจะพูดแจกแจงได้ไม่หมดของสิ่งที่อยากจะพูดน่ะ เพราะปัจจัยหลายประการ อย่างเช่น คิดไม่ทันในตอนนั้น, เป็นคนพูดไม่เก่ง, พอเจอกล้องแล้วเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติ, ไม่อยากให้ทางการหรือพวกลิ่วล้อรัฐบาลมารังควาน ฯลฯ

 

5.แล้วเรารู้สึกว่า ถ้าหากเราอยากให้ญาติมิตรของเหยื่อพูดระบายกับเราได้อย่างเต็มที่ บางทีมันอาจจะต้องใช้เวลานานด้วยแหละ ในการสร้างความไว้วางใจให้กับ subjects แต่ละคน เพื่อที่ subjects แต่ละคนจะสามารถระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกมาได้ หรือเพื่อที่หนังสารคดีเรื่องนั้นจะสามารถคว้าจับความเจ็บปวดของตัว subjects และถ่ายทอดมันออกมาในหนังได้ ซึ่งเราว่า หนังอย่าง  “แม่นาปอย” (2021, Chaweng Chaiyawan), ไกลบ้าน (2019, Teeraphan Ngowjeenanan), THE PURPLE KINGDOM (2016, Pimpaka Towira) ถ่ายทอดอะไรแบบนี้ออกมาได้อย่างดีมาก ๆ และเราก็เชื่อว่า ในการที่จะทำหนังแบบ 3 เรื่องนี้ออกมาได้นั้น มันไม่น่าจะเป็นเรื่องของคนแปลกหน้าที่อยู่ดี ๆ ก็ไปขอถ่าย แล้วก็ได้ถ่ายเลย แต่มันต้องอาศัยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจมากในระดับนึง  มันถึงจะถ่ายทอดความเจ็บปวดของ subjects ออกมาได้

 

เพราะฉะนั้นสำหรับผู้กำกับบางคนที่อาจจะมีข้อจำกัดต่าง ๆ หรือสำหรับ subjects บางคนที่อาจจะมีข้อจำกัดต่าง ๆ การเลือกสร้างออกมาเป็น fiction อาจจะเป็นสิ่งที่สะดวกกว่า

 

6.จุดแข็งอีกจุดนึงของ fiction ก็คือเนื้อหาของมันจะไม่ซ้ำกับคลิปสัมภาษณ์จริง หรือรายงานข่าวบทสัมภาษณ์ญาติมิตรของเหยื่อการเมืองจริง ๆ ที่อาจจะได้รับการเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไปแล้วด้วย

 

7.แต่จุดอ่อนของ fiction ในกรณีแบบนี้ก็คือว่า การทำหนังแบบนี้มันสุ่มเสี่ยงมาก ๆ เหมือนกันนะ เพราะเราว่าถ้าหากมันฟูมฟายเกินไปปุ๊บ หรือถ้าหากมีฉากไหนดูเฟค ๆ ปุ๊บ มันจะกลายเป็น “ตลก” ไปในทันที แต่เราว่าหนังเรื่องนี้รักษาเส้นอันตรายตรงนี้ได้ดีนะ มันไม่ฟูมฟายเกินไป และไม่มีฉากไหนที่ทำให้เรารู้สึกตลก

 

8.แต่เราก็ยอมรับว่า ส่วนที่เป็น fiction เราดูแล้ว “ไม่ค่อยสะเทือนใจ” นะ เหมือนมันดีมาก ๆ แหละ แต่ไม่ได้ทำให้เราร้องห่มร้องไห้หรืออะไรทำนองนั้น

 

9.แต่พอหนังใส่ส่วนที่เป็นสารคดีจริง บทสัมภาษณ์จริง เข้ามาในช่วงท้ายนี่แหละ โอ้โฮ อารมณ์เราทะลักจุดแตกไปเลย รู้สึกว่าส่วนที่เป็น “ของจริง” นี่มันสะเทือนใจเรามาก ๆ

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่า ผู้สร้างหนังเลือกใส่ส่วนที่เป็น “ของจริง” เข้ามาได้ถูกจังหวะมาก ๆ เหมือนพอของจริงปรากฏออกมาในช่วงท้ายนี่ เรารู้สึกเหมือน “เขื่อนอารมณ์แตก” เลย

 

10.สรุปว่า ชอบประเด็นของหนังมาก ๆ และวิธีการของหนังก็น่าสนใจมาก ๆ เราก็ยอมรับตามตรงว่า ส่วนที่เป็นสารคดีช่วงท้ายนี่ ส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อเราอย่างรุนแรงกว่าส่วนที่เป็น fiction มาก ๆ แต่เราก็คิดว่า การเป็น fiction มันก็อาจจะมีข้อดีอย่างอื่น ๆ ในแบบที่สารคดีไม่มี ดังที่เราได้เขียนมาแล้วจ้ะ

No comments: