SPENCER (2021, Pablo Larraín, UK, A+30)
สิ่งที่เขียนไม่ได้เกี่ยวกับหนังโดยตรงนะ แต่เป็นประเด็นที่ว่า
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งใด โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจเลย 55555
1.ชอบการแสดงของ Kristen Stewart ในหนังเรื่องนี้อย่างสุด
ๆ ซึ่งเธอเล่นได้เหมือนไดอาน่าหรือไม่ เราไม่รู้
เพราะเราแทบไม่เคยสนใจเลดี้ไดอาน่าตัวจริงมาก่อน 55555 เรารู้แต่ว่าการแสดงของเธอทำให้เราอินกับตัวละครอย่างถึงขีดสุด
รู้สึกเหมือนจะระเบิดเกือบตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเธอจะแสดงดีหรือไม่
หรือเหมือนกับตัวจริงหรือไม่ เราไม่แคร์เลยแม้แต่นิดเดียว
ขอแค่เธอทำให้เราอินกับตัวละครอย่างถึงขีดสุดแบบนี้ เราก็พอใจแล้ว
เหมือนหนังเรื่องนี้เปิดโอกาสให้เธอได้แสดงอารมณ์อย่างละเอียดมากกว่าหนังเรื่องอื่น
ๆ ด้วยแหละ และเปิดโอกาสให้เธอได้แสดงด้านเปราะบางออกมาด้วย เราก็เลยดีใจกับเธอมาก
ๆ ที่เธอได้บทดี ๆ แบบนี้ คือปกติแล้วเราชอบเธออย่างมาก ๆ อยู่แล้วนะ ยกเว้นเธอใน TWILIGHT คือเราชอบหนังเรื่อง
TWILIGHT แต่ไม่อินกับบทของเธอใน TWILIGHT เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นบทของ “สาวสวยที่มีหนุ่มหล่อ ๆ มาหมายปอง”
ซึ่งเราไม่อินกับบทแบบนี้เลย
แต่หลังจากนั้นเธอได้แสดงหนังหลายเรื่องที่เป็นบทของผู้หญิงที่มี “ธาตุความแข็งแกร่ง”
บางอย่างอยู่ข้างในน่ะ หรือไม่ใช่ผู้หญิงที่เน้นทำตัวน่ารัก ทำตัวสวย ๆ อะไรแบบนี้
เราก็เลยชอบบทของเธอมาก ๆ ทั้งใน PERSONAL SHOPPER (2016, Olivier
Assayas), J.T. LEROY (2018, Justin Kelly), SEBERG (2019, Benedict Andrews),
CHARLIE’S ANGELS (2019, Elizabeth Banks), UNDERWATER (2020, William Eubanks),
HAPPIEST SEASON (2020, Clea DuVall), etc.
อย่างไรก็ดี ถึงแม้บทของเธอในหนังส่วนใหญ่จะเข้าทางเรามาก ๆ (คือแค่เธอทำหน้าแข็ง
ๆ วีน ๆ เราก็ชอบเธอมาก ๆ แล้ว) แต่เหมือนเรายังไม่ค่อยได้เห็นเธอต้องเล่นอารมณ์ที่ละเอียดขนาดนี้มาก่อนน่ะ
เราก็เลยดีใจมาก ๆ ที่เธอได้แสดงบทนี้ และแสดงออกมาในแบบที่เข้าทางเราอย่างสุด ๆ
การแสดงของเธอในบางช่วงของ SPENCER ทำให้เรานึกถึง Nicole
Kidman ใน BIRTH (2004, Jonathan Glazer) และบทของเธอในบางช่วงของหนังเรื่องนี้
ก็ทำให้เรานึกถึง IN MY SKIN (2002, Marina de Van) ด้วย
อย่างเช่นการประสาทหลอนระหว่างแดกอาหาร และการกรีดเฉือนร่างกายตัวเอง
2.ชอบตั้งแต่คำว่า fable ปรากฏขึ้นมาบนจอแล้ว
เหมือนคำนี้ทำให้เรานึกถึง fairy tale โดยไม่ได้ตั้งใจ และเราก็เติบโตมากับ
fairy tales หลายเรื่องที่จบลงด้วยประโยคที่ว่า “หลังจากนั้นนางเอกก็ได้เจ้าชายเป็นผัว
และ live happily ever after” ซึ่งเท่ากับว่าตอนจบของ fairy
tales ส่วนใหญ่ที่เราเคยฟังมาในวัยเด็ก มันจบลงด้วยฉากที่คล้าย ๆ
กับฉากที่ไดอาน่าแต่งงานกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์น่ะ
แต่หลังจากนั้นทุกคนก็รู้ดีว่า fairy tales กับความเป็นจริงนั้น
มันแตกต่างกันอย่างรุนแรงเพียงใด fairy tales ส่วนใหญ่มักจะตัดจบ
ก่อนที่ความทุกข์สาหัสของตัวละครกำลังจะเริ่มขึ้นในเวลาต่อมา
และเช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้ เหมือนหนังเรื่องนี้ก็เลือกที่จะตัดจบด้วยฉาก
happy ending เหมือนกัน
แต่หนังมันก็รู้ตัวดีว่ามันไม่ได้หลอกลวงคนดูให้เข้าใจผิดแต่อย่างใดว่า ตัวละครจะ live
happily ever after หลังจากหนังจบลง เพราะคนดูทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่า
ตัวละครในหนังเรื่องนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากฉาก happy ending ฉากนั้น และมีจุดจบของชีวิตอย่างไร
เราก็เลยชอบที่หนังเรื่องนี้มันทำให้เรานึกถึง fairy tales โดยไม่ได้ตั้งใจมาก
ๆ และถึงหนังมันจะเลือกจบด้วยความสุขคล้าย ๆ fairy tales มันก็ตรงข้ามกับ
fairy tales ในเวลาเดียวกัน เพราะ “นางเอกหย่ากับเจ้าชาย
และไม่ได้ live happily ever after แต่อย่างใด”
และถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็น fairy tales ควีนอลิซาเบธก็คงเป็นหนึ่งในแม่มด
และการที่ไดอาน่าฉีกสร้อยไข่มุก (ซึ่งทำให้เรานึกถึงปลอกคอสุนัข 55555) ในช่วงท้าย
ก็คงคล้าย ๆ กับการ break the spell ของเหล่าพ่อมดแม่มดที่สาปเธอเอาไว้ไม่ให้เป็นอิสระ
3.ชอบการที่นางเอกตั้งคำถามกับธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ มาก ๆ
ซึ่งก็เหมือนกับเรา คือธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง
มันไม่ควรนำมาใช้กับคนที่ไม่เต็มใจ โดยเฉพาะถ้าหากมันขัดกับ “จุดประสงค์ดั้งเดิม”
ของธรรมเนียมประเพณีนั้น ๆ อย่างเช่น ถ้าหากธรรมเนียมไหนตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการ “สร้างความสนุก”
แล้วจะเอาธรรมเนียมประเพณีนั้นไปใช้กับคนที่ไม่เต็มใจเพื่ออะไรมิทราบ
มันจะเป็นการสร้างความสนุกให้กับคนที่ไม่เต็มใจได้ยังไงเหรอ
คือถ้าหากธรรมเนียมประเพณีนั้นมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างความสนุก
หรือความสุขให้กับคนต่าง ๆ จริง ๆ แล้ว มันก็ต้องไม่นำธรรมเนียมประเพณีนั้น ๆ ไปใช้กับคนที่ไม่เต็มใจสิ
แต่ตัวละครต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็คงคล้าย ๆ กับหลาย ๆ คนในโลกแห่งความเป็นจริง
ก็คิดเพียงแค่ว่า พอมันได้ชื่อว่าธรรมเนียมประเพณี กูก็มีหน้าที่ทำตาม ๆ มันไป
แล้วก็บังคับให้คนอื่น ๆ ทำตามไปด้วย คนอื่น ๆ จะเป็นทุกข์ เดือดร้อน
อะไรกูไม่แคร์ กูขอแค่ให้ได้ชื่อว่าทำตามธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม
กูไม่สนหรอกว่าคนอื่น ๆ จะเป็นทุกข์สักเท่าไหร่
4.สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้
และทำให้หนังเรื่องนี้ติดอันดับประจำปีของเราอย่างแน่นอน ก็คือการที่ตัวละคร Major Gregory (Timothy Spall) ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจแต่อย่างใด
ถ้าหากเราจำไม่ผิด หรือถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด ตัวละคร Gregory นี้เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่เพื่อนทหารถูกยิงตายต่อหน้าต่อตาในไอร์แลนด์เหนือ
แล้วหลังจากนั้นเขาก็ถามตัวเองว่า เขาเป็นทหารไปทำไม เขาทำสิ่งนี้ไปทำไม
แล้วเขาก็ตอบตัวเองว่า เขาทำเพื่อราชวงศ์อังกฤษ
และพอเขาบอกตัวเองว่า เขามีชีวิตอยู่เพื่อราชวงศ์อังกฤษ
ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อราชวงศ์อังกฤษ ต้องอุทิศตัวเพื่อราชวงศ์อังกฤษ เพราะมันคือเครื่องช่วยพิสูจน์ว่าชีวิตเขามีคุณค่า
ชีวิตเขาไม่ได้ว่างเปล่า ไม่ใช่ทหารโง่ ๆ ที่ถูกหลอกให้ไปตาย
เขาก็เลยเหมือนยึดมั่นกับสิ่งนี้มากเกินไป
ดังนั้นเมื่อเขาเผชิญกับไดอาน่าผู้ซึ่งทำตัวไม่เข้ากับสิ่งที่เขายึดถือ
เขาก็เลยอาจจะเกิดความขัดแย้งในใจ เพราะเราว่าจริง ๆ แล้วเขาก็น่าจะมีสามัญสำนึก
เห็นใจไดอาน่าในฐานะเพื่อนมนุษย์อยู่บ้าง แต่ “ความเห็นใจในเพื่อนมนุษย์” กับ “การยึดมั่นในธรรมเนียมประเพณี
ระเบียบปฏิบัติของราชวงศ์อังกฤษ” เป็นสิ่งที่ขัดกันเองในบางสถานการณ์ และพอเขาต้องเผชิญกับความขัดแย้งในใจเช่นนี้
เขาก็เลยเหมือนจะยึดมั่นในการทำเพื่อราชวงศ์อังกฤษเป็นหลัก และดับความเห็นอกเห็นใจไดอาน่าในฐานะเพื่อนมนุษย์ไป
เพราะถ้าหากเขาไม่ยึดมั่นในสรณะอะไรสักอย่างแล้ว เขาอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า
ชีวิตของเขากับเพื่อนทหารของเขาที่ตายไปอาจจะไม่ได้มีคุณค่าอย่างแท้จริงก็เป็นได้
แล้วเราก็จินตนาการต่อเอาเองตามประสาของเราว่า จริง ๆ
แล้วตัวละครตัวนี้ก็คงเหมือนกับคนหลาย ๆ คนในโลกแห่งความเป็นจริงนั่นแหละ
คือคนหลาย ๆ คนต่างก็เหมือนจะติ๊ต่างหาสรณะหรือหลักยึดอะไรสักอย่างเพื่อบอกว่าชีวิตของตัวเองมีคุณค่า
ไม่ไร้ความหมายเหมือนกัน หลาย ๆ คนอาจจะยึดมั่นใน “หลักศาสนา” ของตัวเอง
เอาคำสอนของศาสนาตัวเองเป็นสรณะ หรือบางคนอาจจะใช้สถาบันบางอย่างเป็นหลักยึดทางใจ
หรือบางคนอาจจะใช้แนวคิดทางการเมือง หรือความเชื่อทางสังคมบางอย่างเป็นหลักยึดทางใจ
เป็นสิ่งที่ตัวเองจะต้องอุทิศตัวให้ เป็นสิ่งที่ตัวเองจะต้องยอมลำบากต่อสู้เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิ่งนี้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราว่า Major Gregory และคนอื่น ๆ บางคนในโลกแห่งความเป็นจริงต่างก็เหมือนจะไม่ยอมรับว่า
มันคือสิ่งที่ตัวเองสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เพราะคนอื่น ๆ
ที่ไม่ได้ใช้หลักยึดเดียวกับเรา ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับเรา
ชีวิตของเขามันก็ไม่ได้ไร้คุณค่า ชีวิตของเขามันก็ไม่ได้เต็มไปด้วยความทุกข์ใจอะไรสักหน่อย
แล้วทำไม Major Gregory ผู้ยึดถือราชวงศ์อังกฤษเป็นสรณะ
จะต้องไปมีปัญหากับเลดี้ไดอาน่าผู้ไม่ได้ยึดถือสรณะเดียวกันด้วย
เราว่าเราเองก็เป็นแบบ Major Gregory เหมือนกัน
ถึงแม้เราจะมีหลักยึดทางใจที่ไม่เหมือนกับตัวละครตัวนี้
เพราะเราพบว่าตัวเองมักจะรู้สึกหงุดหงิด โมโหโกรธา เคียดแค้น อยากตบคนบางคน
ที่ไม่ได้ยึดถือสรณะเดียวกับเรา หรือไม่ได้ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับ “ธรรมเนียมปฏิบัติ”
หรือ “ความเชื่อ” ที่เรายึดถือ เรามักจะหงุดหงิดมาก ๆ เวลาเจอคนตามท้องถนน
ผู้คนต่าง ๆ ที่ทำตัวผิดกฎบางอย่างที่เราตั้งขึ้นมาเองในใจ มันเหมือนกับว่าเราตั้งกฎบางอย่างขึ้นมาในใจเรา
เราปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัด เราทนลำบากเพื่อความเชื่อนั้น ๆ ของเรา
เราคิดว่าความเชื่อนั้นๆ ของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
และยิ่งพอเรายึดมั่นในความเชื่อหรือกฎบางอย่างในใจเรามากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งหงุดหงิดหรือเกลียดชังคนอื่น
ๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎสมมุติในใจเรามากเท่านั้น
และเราก็พบว่า ถึงแม้เราจะเชื่อว่ากฎสมมุติต่าง ๆ
ในใจเราเป็นสิ่งที่ดี แต่พอเรายึดมั่นกับกฎเหล่านี้มากเกินไป มันกลับไปทำลาย “ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์”
ในหลาย ๆ ครั้ง คือพอเราพบเห็นคนที่ไม่ทำตามกฎสมมุตินั้นปุ๊บ เราก็โมโหโกรธา
หงุดหงิด อารมณ์เสียอย่างรุนแรงขึ้นมาในทันที
โกรธเกลียดคนคนนั้นอย่างรุนแรงในทันที แทนที่จะมองว่า เขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนนึงที่ไม่ได้ยึดถือในกฎสมมุติเดียวกันกับเราก็เท่านั้น
เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละคร Major Gregory นั้น
ทำให้เราเข้าใจตัวเองอย่างมาก ๆ เหมือนเราก็ไม่อยากยอมรับความจริงว่าบางทีชีวิตเราอาจจะว่างเปล่า
ไร้คุณค่าก็ได้ เราก็เลยต้องหาอะไรสักอย่างมายึด อาจจะเป็นความเชื่อทางการเมือง
ความเชื่อในหลักปฏิบัติบางอย่างทางสังคม ความเชื่อว่าทำอย่างนู้นอย่างนี้แล้วจะดี
ซึ่งความเชื่อของเรามันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่พอเรายึดมั่นกับมันมากเกินไป
มันกลับไปทำลายความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ของเราในหลาย ๆ ครั้ง อาจจะคล้าย ๆ
กับที่ Major Gregory พยายามจะทำกับไดอาน่า
No comments:
Post a Comment