ONCE
UPON A TIME IN BANGKOK, THERE USED TO BE CINEPHILIC HEAVENS CALLED
“INTERNATIONAL FILM FESTIVALS”. (รำลึกถึงหนังที่ชอบสุด ๆ
ที่เคยดูในเทศกาลภาพยนตร์ของพี่วิคเตอร์ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง)
7.SUBARNAREKHA (1965, Ritwik Ghatak,
India)
เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในเทศกาลภาพยนตร์
Bangkok International Film Festival ในปี 2003 ที่พี่วิคเตอร์เป็น programmer ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราได้ดูหนังของ
Ritwik Ghatak ปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์จากอินเดีย
เหมือนก่อนหน้านั้นพอพูดถึงปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์จากอินเดีย
เราก็รู้จักแต่ Satyajit
Ray น่ะ และถ้าหากพูดถึงหนังเก่า ๆ ของอินเดีย เราก็เคยดูแต่หนังของ
Satyajit Ray ในช่วงนั้น
เรียกได้ว่าความรู้เรื่องประวัติศาสตร์หนังอินเดียของเราต่ำมาก เหมือนเราแทบไม่เคยได้ยินชื่อของ
Ritwit Ghatak, Shyam Benegal, Mani Kaul, Bimal Roy, Mrinal Sen, etc. อะไรพวกนี้มาก่อนเลยด้วย
จนกระทั่งเราได้มาดูหนังของ Ghatak ในงานนี้ เราถึงได้ตระหนักว่า
อินเดียนี่ยังมีผู้กำกับระดับปรมาจารย์อีกหลายคนมาก ๆ ไม่ได้มีแค่ Satyajit
Ray คนเดียว
ฉากนึงที่เราติดใจมาก
ๆ ใน SUBARNAREKHA
คือฉากที่ตัวละครนั่งรถไปในเมืองใหญ่ท่ามกลางแสงไฟนีออนมั้ง เหมือนเรามักจะถูกโฉลกกับฉากแสงไฟนีออนในเมืองใหญ่ในหนังเรื่องต่าง
ๆ มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในหนังขาวดำยุคเก่า ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม นอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว
เราก็ชอบฉากแสงไฟนีออนในเมืองใหญ่ใน ELEVATOR TO THE GALLOWS (1958, Louis
Malle, France) กับใน THE BREAD OF THOSE EARLY YEARS (1962,
Herbert Vesely, West Germany) มาก ๆ เลยด้วย
สิ่งหนึ่งที่เราฝังใจมาก
ๆ กับ Ritwit
Ghatak ก็คือว่า ในยุคนั้นร้านแว่นวิดีโอที่จตุจักร ออกดีวีดีหนังของ
Ghatak มาขายด้วย ซึ่งก็คือเรื่อง SUBARNAREKHA กับ THE CLOUD-CAPPED STAR (1960) แต่มีเพื่อนคนนึงมาเมาท์มอยให้เราฟังว่า
(ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นความจริงหรือเปล่า) หนังของ Ghatak ขายในไทยแทบไม่ได้เลย
เหมือนนักดูหนังนอกกระแสหลายคนในไทยในยุคนั้นชอบดูแต่ “หนังรักโรแมนติกของเอเชีย”
พวกหนังโรแมนติกของญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน ดูแต่หนังแบบ CHRISTMAS IN
AUGUST (1998, Hur Jin-ho) อะไรทำนองนี้ ส่วน Ghatak นั้น ต่อให้หนังของเขาจะดีเยี่ยมยอดสักเพียงใด
นักดูหนังในไทยในยุคนั้นก็ไม่ค่อยสนใจจะดู ซึ่งเราฟังข่าวลือนี้แล้วก็แอบสงสารทั้งร้านแว่นวิดีโอ,
Ritwit Ghatak และผู้กำกับระดับปรมาจารย์จากอินเดียคนอื่น ๆ มาก ๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควรจากนักดูหนังชาวไทยในยุคนั้น
ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เพื่อนเรามาเมาท์ให้ฟังนี้เป็นเรื่องจริงมากน้อยเพียงใดนะ
แต่พอพูดถึง Ghatak ทีไร
เราก็มักจะนึกถึงข่าวลือนี้ และเราก็ชอบจินตนาการเห็นภาพวิดีโอหรือดีวีดีหนังของ
Ghatak วางอยู่บนแผง แต่มีฝุ่นจับเต็ม ไม่มีใครสนใจจะซื้อไป
อย่างไรก็ดี
พอย้อนคิดถึงเรื่องนี้เราก็ดีใจเป็นอย่างมากที่นักดูหนังชาวไทยในปัจจุบันไม่เป็นเหมือนในอดีตแล้ว
อย่างน้อย ๆ ก็ในบรรดาเพื่อน Facebook ของเรานี่แหละที่มีหลายคนตามดูหนังอินเดียทั้งในกระแสและนอกกระแสอย่างจริงจัง
และเพื่อน ๆ หลายคนก็มีความรอบรู้เรื่องหนังอินเดียสูงกว่าเราอย่างมาก ๆ เราก็เลยดีใจที่
range ความสนใจของนักดูหนังชาวไทยในปัจจุบันมันดูกว้างขวางครอบคลุมกว่าในอดีตมาก
ๆ
ส่วนเราเองก็ยังคงได้ดูหนังของ Ghatak แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว, ดูหนังของ Shyam
Benegal ไปหลายเรื่อง เพราะพี่วิคเตอร์เคยจัดงาน retrospective
ของ Shyam Benegal ในปี 2008, ดูหนังของ Bimal Roy แค่เรื่องเดียว ซึ่งก็คือ
TWO ACRES OF LAND (1953) , ดูหนังของ Mani Kaul แค่เรื่องเดียว ซึ่งก็คือ DUVIDHA (1973) และยังไม่ได้ดูหนังของ
Mrinal Sen เลย สรุปตัวกูเองนี่แหละที่ไม่ค่อยได้ตามดูหนังของปรมาจารย์ภาพยนตร์ชาวอินเดีย
55555
No comments:
Post a Comment