Saturday, April 30, 2022

THE HOUSE OF THE LOST ON THE CAPE

 FATE/KALEID LINER PRISMA ILYA -- LICHT NAMELESS GIRL (2021, Shin Oonuma, Japan, Animation, A+15)


เป็นหนังตระกูล FATE ภาคที่ 6 ที่เราได้ดู และเราก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับมันแล้ว 555 คือก่อนหน้านี้เราเคยชอบหนังชุดนี้มาก ๆ เพราะมันเต็มไปด้วยตัวละครหญิงสาวอิทธิฤทธิ์แรง ๆ ที่บู๊สะบั้นหั่นแหลกน่ะ เหมือนเอาตัวละครจาก SAILOR MOON มาใส่ในการ์ตูนบู๊ ๆ ของผู้ชาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าทางเรามาก ๆ

แต่พอเราดูมาแล้ว 6 ภาค (เหมือนเราพลาดไป 2 ภาคจากที่เข้ามาฉายในไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา) เราก็เริ่มรู้สึกว่า อยากให้หนังชุดนี้มันมีอะไรมากกว่านั้นบ้าง 555
---
ปีนี้ครบรอบ 40 ปีที่วรายุฑ มิลินทจินดา ถูกโฉมฉาย ฉัตรวิไล ใช้ทุเรียนตบหน้า?

หนึ่งใน "ฉากคลาสสิค" ที่ดูเหมือนจะหายสาบสูญไปแล้วตลอดกาล น่าจะเป็นฉากจากละครโทรทัศน์เรื่อง "สงครามพิศวาส" (1982) ที่วรายุฑ ถูกโฉมฉาย ฉัตรวิไลใช้ "ทุเรียน" ตบหน้า

คือเราก็ไม่ได้ดูละครเรื่องนี้นะ ไม่รู้ว่าฉากดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดออกมาบนจอทีวีอย่างไร แต่เหมือนในยุคนั้นคนจำนวนมากพูดกันถึงเนื้อหาจุดนี้ของละครอย่างรุนแรงมาก ๆ จนเราคิดว่า ฉากการใช้ทุเรียนตบหน้านี่มันต้องเป็นฉาก classic อมตะนิรันดร์กาลฉากนึงแน่ ๆ น่ะ คนเลยพูดถึงอย่างรุนแรงขนาดนี้

แต่เหมือนไม่มีใคร upload ฉากนี้ลงยูทูบหรืออะไรเลย ฉากคลาสสิคฉากนี้ก็เลยเหมือนหายสาบสูญไปตลอดกาล เสียดายที่สุด ไม่งั้นฉากนี้อาจจะกลายเป็น gif หรือมีม หรือมีคนทำ tribute ให้ใน tiktok เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีไปแล้วก็ได้ แบบซื้อทุเรียนมาถ่าย tiktok ถ่ายเสร็จก็แดกทุเรียนต่อ

มีใครทันได้ดูฉากคลาสสิคฉากนี้บ้างไหมคะ

ภาพจากเพจ "ภาพจากหนังสือเรื่องย่อละครไทย" ใน facebook
---

เมื่อวานนี้เรานั่งรถไฟฟ้าสายสีทอง เห็นผู้โดยสารหญิงคนนึงในโบกี้หน้าไปยืนติดหน้าต่างด้านหน้าโบกี้ และใช้มือถือถ่ายวิวรางรถไฟด้านหน้าโบกี้ไปเรื่อย ๆ เราก็เลยนึกถึงหนังเรื่อง CHICAGO (1996, Juergen Reble) ขึ้นมาเลย (ภาพจากสูจิบัตรเทศกาลภาพยนตร์ทดลองกรุงเทพครั้งที่ 3 ในปี 2001)
---

MARONA'S FANTASTIC TALES (2019, Anca Damian, France/Romania/Belgium,, animation, A+30)

Spoilers alert
--
--
--
--
--

1.ชอบงานด้านภาพของ animation นี้อย่างสุด ๆ รู้สึกว่ามันงดงามในแบบที่ตรงใจเรามาก ๆ นึกว่าต้องปะทะกับ THE BOY AND THE WORLD (2013 Ale Abreu, Brazil) ที่เป็นหนัง animation ที่มีงานด้านภาพสวยสุดขีดเหมือนกัน

2.หนังเล่าเรื่องชีวิตหมาตัวนึง แต่หนังมันสะท้อนชีวิตมนุษย์ได้อย่างน่าสะเทือนใจมาก ๆ เหมือนมันสะท้อนขีดจำกัดของมนุษย์ผ่านทางชีวิตของเจ้านายแต่ละคนของมัน

2.1 เจ้านายคนแรกรักมันมาก เขาเป็นนักแสดงมายากลข้างถนน แต่พอ cirque du soleil หรืออะไรทำนองนี้มาชวนเขาเข้าร่วมทีมเพื่อออกทัวร์ เขาก็เลยต้องแยกทางกับหมาตัวนี้

2.2 หมาตัวนี้ได้ไปอยู่กับหญิงชรา แต่หญิงชราที่เดินไม่ค่อยสะดวกสดุดหมาล้ม ทั้งสองก็เลยต้องแยกทางกัน

2.3 หมาตัวนี้ได้ไปอยู่กับลูกชายหญิงชรา เขารักหมามาก แต่เมียเขาเกลียดหมา หมากับคนก็เลยต้องแยกทางกัน ถ้าจำไม่ผิด

2.4 เด็กหญิงคนนึงเก็บหมาไปเลี้ยง เธอรักหมามาก แต่พอเธอโตขึ้นเป็นสาว เธอก็เน้นเอาเวลาไปหาผัว ไม่มีเวลาให้หมามากเหมือนแต่ก่อน

2.5 แม่ของเด็กหญิงก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัวตามลำพัง เลี้ยงทั้งลูก ทั้งพ่อของเธอในวัยชรา เธอก็เลยเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับชีวิตอย่างรุนแรง

พอดูแล้วก็เลยรู้สึกว่าหนังมันสะท้อนข้อจำกัดต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ได้ดีมากน่ะ ก็เลยชอบหนังอย่างสุดขีด

---

C'MON C'MON (2021, Mike Mills, A+25)

1.ชอบส่วนที่เป็นการสัมภาษณ์เด็ก ๆ มาก ๆ

2. รู้สึกว่าหนังมันดีมาก แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราดูแล้วไม่ค่อยอิน 555 ตอนแรกก็นึกว่าอาจจะเป็นเพราะเราไม่มีสมาธิในการดูมากเท่าที่ควร แต่คิดดูแล้ว เราก็ไม่ได้อินเป็นการส่วนตัวกับ 20TH CENTURY WOMEN (2016, Mike Mills, A+30) เหมือนกัน ก็เลยคิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องของ wavelength ของเราที่ไม่ตรงกับของผู้กำกับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถอธิบายได้

3.แต่รู้สึกได้เลยว่า เราคล้ายกับ "พ่อเด็ก" มากกว่าพระเอกในหนังเรื่องนี้ เหมือนอย่างที่เราให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า เราเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองแบกรับปัญหาชีวิตไว้มากเกินพอแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาชีวิต หรือภาระเหี้ยห่าอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง กูจะทนไม่ไหวและจะไม่ทนอะไรอีกต่อไป เราก็เลยเหมือน identify ตัวเองกับพ่อเด็กที่ nervous breakdown มากกว่าจะ identify ตัวเองกับพระเอก



---
THE END OF THE PALE HOUR (2021, Hana Matsumoto, Japan, A+30)

Spoilers alert
--
--
--
--
--
1.เป็นหนังที่ "จริงจนเจ็บ" สำหรับเรา พระเอกเพิ่งจบมหาลัย ไขว่คว้าดิ้นรนที่จะประสบความสำเร็จทั้งในด้านความรักและหน้าที่การงาน แต่ในที่สุดก็ล้มเหลว อยู่เป็นโสด และทำงานต๊อกต๋อยต่อไป

แน่นอนว่าดูแล้วนึกถึงชีวิตตัวเอง และรู้สึกว่ามันช่วยเติมเต็มหนังเรื่อง FAST & FEEL LOVE ได้ดีมาก เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นแชมป์โลก หรือเป็นพนักงานระดับล่าง ชีวิตมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์และความไม่สมหวังแบบนี้นี่แหละ
ดูแล้วนึกถึง one of my most favorite TV series of all time เรื่อง "จุดนัดฝัน" (1995) ด้วย

รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามของหนังอย่าง THE SECRET OF MY SUCCESS (1987, Herbert Ross) ที่ทำให้เรามีความหวังว่าจะประสบความสำเร็จในระบบทุนนิยม คือเหมือนหนังฮอลลีวู้ดยุคทศวรรษ 1980  มันบรรจุความฝันที่หอมหวานของระบบทุนนิยมแบบนี้ไว้เยอะมั้ง ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด บางทีอาจเป็นเพราะยุคนั้นมันเป็นยุคสงครามเย็น

2.รู้สึกว่า Takumi Kitamura ในเรื่องนี้ ดูคล้ายสันติสุข พรหมศิริ ในบางมุม 555
---
THE BATMAN (2022, Matt Reeves, A+30)

1. นึกว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก "กาหลมหรทึก" 55555  ฆาตกรต่อเนื่องที่ทิ้งปริศนาพาสนุกไว้ในการฆ่าแต่ละครั้ง

ดูแล้วนึกถึงหนังชุด SAW มาก ๆ ด้วย แต่เราชอบเรื่องนี้มากกว่า SAW เพราะ SAW มันโหดไปสำหรับคนใส ๆ อย่างเรา 555

2. กลายเป็นแบทแมนภาคที่ชอบที่สุด คงเป็นเพราะการออกแบบบรรยากาศและตัวละครพระเอกที่เข้าทางเรามาก ๆ ชอบพระเอกที่มีอาการหมดอาลัยตายอยาก เซ็งโลกแบบนี้ เพราะมันเข้ากับอารมณ์ของเรา

แต่อย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่า พระเอกโทนหม่นแบบนี้ ทำให้เรานึกถึง "โป้วอั้งเสาะ" ใน จอมดาบหิมะแดง แต่ยังไงก็ชอบ โป้วอั้งเสาะ มากที่สุดอยู่ดีนะ

3.เหมือนเราเฉยมาก ๆ กับ BATMAN ยุค Michael Keaton, Val Kilmer, George Clooney  เราเริ่มมาชอบหนังชุดนี้ก็ยุคของ Christian Bale + Christophet Nolan นี่แหละ

เหมือน BATMAN ยุคก่อนหน้านั้นเข้าทางเราแค่ 15% ส่วน BATMAN ยุคของ Bale เข้าทางเราประมาณ 60%  ส่วน BATMAN ภาคนี้เข้าทางเราประมาณ 75%

4. ชอบช่วงท้ายของหนังมาก ๆ เพราะมันพูดถึงหนึ่งในสิ่งที่เราหวาดกลัวที่สุด นั่นก็คือการกราดยิงแบบ ISIS หรือแบบที่เคยเกิดขึ้นในงานคอนเสิร์ตในบางประเทศ

คือก่อนหน้านั้นเราไม่ค่อยกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังน่ะ เพราะเหมือน RIDDLER มันฆ่าแต่ผู้มีอิทธิพลเลว ๆ เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะชอบบรรยากาศของหนังอย่างรุนแรงที่สุด หนังก็ไม่ได้จี้จุดความกลัวของเรา

แต่ช่วงท้ายนี่แหละที่จี้จุดความกลัวของเรา เรื่องของกลุ่มคนที่ร่วมกันกราดยิงฆ่าคนบริสุทธิ์ เพราะเรารู้สึกว่าอะไรแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตเราหรือในชีวิตของเพื่อน ๆ เรา
---
THOSE WHO CARE (DEBOUT LES FEMMES) (2021, Gilles Perret, Francois Ruffin, France, documentary, A+30)

ดีงามมาก ๆ หนังสารคดีที่ติดตามนักการเมืองฝรั่งเศสในการไปสำรวจปัญหาการทำงานของ caretakers พวกคนที่ดูแลคนชรา คนพิการตามบ้านในยุคโควิด เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ลูกจ้างประจำของบริษัท เพราะฉะนั้นเงินชดเชยโควิด สวัสดิการอะไรต่าง ๆ จึงมีปัญหา และเหมือนไม่มีสหภาพแรงงานของคนอาชีพนี้ด้วย

เหมือนจุดเริ่มต้นมันเกิดจากการที่สส.ฝรั่งเศสคนนึงสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของภารโรงประจำรัฐสภาฝรั่งเศสมั้ง คือเริ่มจากอะไรใกล้ตัวเลย คือในขณะที่สส.ทำงานกันอยู่ ภารโรงในรัฐสภาได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแล้วยัง ได้สวัสดิการที่เป็นธรรมแล้วยัง เหมือนภารโรงบางคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อจะได้เดินทางมาทำงานให้ทัน อะไรทำนองนี้

ถ้าเข้าใจไม่ผิด สส.ที่มีแนวคิดเอียงซ้ายคนนี้ ได้รับความช่วยเหลือจาก celebrity ฝ่ายขวาคนนึงในประเด็นนี้ด้วย เพราะคนดังคนนั้นมีลูกพิการที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจาก  caretaker อย่างรุนแรง คนดังคนนั้นเลยเหมือนเข้าใจหัวอกของ caretaker

พอสส.สำรวจข้อมูลปัญหาได้เยอะมากแล้ว เขาก็เสนอร่างกม.เพื่อแก้ปัญหา แต่ร่างกม.ของเขาก็ถูกปัดตกเกือบหมด หรือถูกแปรญัตติจนแทบไม่มีค่าอะไร

แต่หนังเรื่องนี้เหมือนหาทางลงที่ดี ด้วยการให้แรงงานกลุ่มนี้มาส่งเสียงแสดงความต้องการของตนเองร่วมกันในช่วงท้าย คือถึงแม้ยังออกกม.ใหม่ไม่ได้ดังใจ อย่างน้อยปัญหาและเสียงของคนกลุ่มนี้ก็ได้รับการบันทึกไว้แล้ว

เหมือนฝรั่งเศสน่าจะเป็นประเทศที่มีหนังเกี่ยวกับแรงงานออกมามากที่สุดแล้วมั้ง ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงทั้ง PRECARIAT WOMEN (2005, Marcel Trillat, documentary) และ COUP POUR COUP (1972, Marin Karmitz)
--
COMPARTMENT NO. 6 (2021, Juho Kuosmanen, Finland/Russia, A+30)

1.แน่นอนว่าดูแล้วนึกถึง WISH US LUCK (2013, Wanweaw Hongwiwat + Weawwan Hongwwat, documentary) 555

2.ปรากฏว่าชอบมากกว่า THE WORST PERSON IN THE WORLD ถึงแม้เราคิดว่า THE WORST ดีกว่าในแง่การกำกับนะ ส่วน COMPARTMENT นั้น การกำกับอาจจะธรรมดา แต่เราดูแล้วอินกว่ามาก ๆ เพราะอย่างที่เราเคยเขียนไว้แล้วว่า นางเอก THE WORST เป็นประเภท "สวยเลือกได้"น่ะ เราก็เลยไม่อินมากนัก แต่นางเอก COMPARTMENT ดูติดดินกว่ามาก ๆ เราก็เลยอินกว่ามาก ๆ

3. COMPARTMENT มันมีความ "พาฝัน" ที่ตอบโจทย์เรามากกว่า THE WORST ด้วยแหละ เหมือน THE WORSTมันสะท้อนความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ที่น่าเจ็บปวด ส่วน COMPARTMENT มันพาฝัน แบบฉันอยากไปเที่ยว แล้วเจอหนุ่มห่าม ๆ ทึ่ม ๆ ทื่อ ๆ แต่จริงใจแบบนี้ 555

4.แต่ชอบสุด ๆ นะ ที่มันกลายเป็น "มิตรภาพ" ไม่ใช่ความรักแบบผู้หญิงผู้ชาย มันดูเป็นความสัมพันธ์ที่อิสระและสบายใจดี

5.แต่เรารับไม่ได้นะที่พระเอกไปขโมยรถคนอื่นเขามา 555

6.ชอบเพลงตอนจบมาก ๆ VOYAGE, VOYAGE ของ DESIRELESS

7.อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เพราะมันทำให้นึกถึง one of my most favotite films of all time เรื่อง THE GREN RAY (1986, Eric Rohmer) เพราะมันเป็นเรื่องการเดินทางของผู้หญิงที่ไม่ได้สวยมากนัก, มีปัญหาในการเข้าสังคม และมีความหงุดหงิดงุ่นง่านบางอย่างในใจเหมือนกัน แต่ THE GREEN RAY มหัศจรรย์กว่าหนังเรื่องนี้มาก ๆ
--
GANGUBAI KATHIAWADI (2022, Sanjay Leela Bhansali, India, A+30)

1.หนังเล่าเรื่องชีวิตกะหรี่สาวที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นแม่เล้า และกลายเป็น "เจ้าแม่" ในที่สุด ชอบมาก ๆ หนังเรื่องนี้สามารถปะทะกับ "เทพธิดาโรงแรม"  HOTEL ANGEL (1974, Chatrichaloem Yukol) ได้สบาย ๆ

2.ปัจจัยนึงที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดขีดมาก ๆ ในแบบส่วนตัว คือตัวละครผู้ร้ายของหนังที่เป็นกะเทย และเป็นเจ้าแม่ที่คุมย่านค้ากาม เธอมีชื่อว่า Raziabai

คือในการที่นางเอกจะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแม่คุม "ย่านพัฒน์พงศ์ของอินเดีย" ได้นั้น  เธอต้องโค่นอำนาจของเจ้าแม่คนปัจจุบันให้ได้ก่อน และเจ้าแม่คนนั้นก็คือ Raziabai เราชอบพล็อตตรงนี้มาก ๆ

ชอบตัวละคร Raziabai อย่างสุด ๆ เพราะเป็นตัวละครกะเทยที่ทรงพลัง สง่า น่าเกรงขามมาก ๆ ฉากแรกที่เธอปรากฏตัวบนขบวนแห่นี่ทรงพลังสุด ๆ

ถึงตัวละครตัวนี้เป็นตัวร้าย แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เกลียดเกย์/กะเทยแต่อย่างใดนะ เหมือนความเลวของตัวละครตัวนี้เป็นเพราะเธอเป็นมนุษย์คนนึง ไม่ได้เป็นเพราะว่าเธอเป็นกะเทย

และสิ่งที่ทำให้ชอบหนังเป็นการส่วนตัว เพราะ Raziabai ทำให้เรานึกถึงอดีตเพื่อนกะเทยคนนึงที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทของเราสมัยมัธยม คือดูแล้วได้แต่นึกในใจว่า ถ้าหากเราจะสร้างนิยาย/ละคร/หนัง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอดีตเพื่อนสนิทคนนี้ ตัวละครตัวนั้นก็อาจจะออกมาแบบ Raziabai นี่แหละ

สรุปว่าขอยกให้ Raziabai เป็น one of my most favorite characters of the year ไปเลย

3. ดูแล้วนึกถึงนิยายเรื่อง "คลื่นชีวิต" ของทมยันตีมาก ๆ เลยด้วย ที่เล่าเรื่องของ "อ้อย บีเอ็ม"  ซึ่งเป็นนิยายที่เราชอบสุด ๆ

เราก็เลยสงสัยว่า ทำไมถึงไม่เคยมีใครเอา "คลื่นชีวิต ของทมยันตี" มาสร้างเป็นหนังหรือละครบ้างเลย หรือเพราะว่ากลัวไม่มีคนดู ผู้ชมส่วนใหญ่อาจจะอยาก identify ตัวเองเป็นนางเอกคู่กรรมหรือทวิภพ อาจจะมีเพียงแค่ไม่กี่คนที่อยากดูชีวิตอ้อย บีเอ็มเหมือนเรา

แต่ถ้าหากจะมีการเอา "คลื่นชีวิต ของทมยันตี" มาสร้างเป็นหนังจริง ๆ เราก็อยากให้เอามาตีความใหม่เป็นหนังแนว "กระแสสำนึก" ไปเลยนะ 55555 คือไม่ต้องเล่าชีวิตของอ้อย บีเอ็ม เรียงตามลำดับเวลา แต่เล่าเป็นห้วงความคิด ความทรงจำ fragments ต่าง ๆ ในชีวิตเธอแทน
--
 
THE HOUSE OF THE LOST ON THE CAPE (MISAKI NO MAYOIGA) (2021, Shinya Kawatsura, Japan, animation, A+30)

ชอบแบบสุดขีดมาก ๆ ชอบโลกจินตนาการที่หนังสร้างขึ้นมาก ๆ โลกที่ภูตผีปีศาจและตัวละครในตำนานปรัมปราต่าง ๆ มีจริง และมาปะทะกัน บางจุดของหนังทำให้นึกถึงนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์ด้วย พวกตำนานลี้ลับของสถานที่ในชนบท

ปีศาจในหนังทำให้นึกถึงปีศาจของคริสต์ในแง่นึงนะ เพราะมันเป็นปีศาจที่ได้รับพลังจากจิตด้านมืดของมนุษย์ และจิตด้านมืดของมนุษย์ในเรื่องนี้ก็น่าสนใจ เพราะมันไม่ใช่ "คนเลว" ที่คิดชั่วทำเลว แต่เป็น "ความเศร้าโศก" ของกลุ่มคนที่รอดชีวิตจากแผ่นดินไหว

ฉากที่ตัวละครตัวนึงมองทะเลยามพระอาทิตย์ตกดิน แล้วปีศาจก็แอบมาสูบพลังจากตัวละครตัวนั้นไป เป็นฉากที่ฝังใจเรามาก ๆ เหมือนหนังไม่บอกว่าตัวละครตัวนั้นคิดอะไรอยู่ในใจ แต่เราก็เดาได้เองว่าเธอคงคิดถึงคนรักหรือสมาชิกครอบครัวที่เสียชีวิตจากแผ่นดินไหว แล้วเกิดความอาดูรขึ้นมา

ตัวละครเด็กหญิงใส่ชุดกิโมโนที่อยู่ใน "บ้านลวงตาแบบทันสมัย" คือใครน่ะ มันคงเป็นตัวละครในตำนานที่คนญี่ปุ่นรู้จักดี แต่เราไม่รู้จัก

ดูแล้วนึกถึง DESTINY: THE TALE OF KAMAKURA (2017, Takashi Yamazaki) มาก ๆ ในแง่การผสาน โลกผี+ตำนานเทพนิยาย+โลกมนุษย์ เข้าด้วยกันได้ในแบบที่ตรงใจเราอย่างสุด ๆ

---

No comments: