Wednesday, April 13, 2022

SUPER 8 FILM WORKSHOP

 

KINDNESS (2022, Tseng Yen-yu, Taiwan, video installation, A+30)

 

วิดีโอที่ Jim Thompson เล่าถึงเรื่องของจิม ทอมป์สัน กับเรื่องของ Wu-Shi Dai จากเมือง Hsinchu ในไต้หวัน ซึ่งแน่นอนว่าเราดูเรื่องของ Wu-Shi Dai อะไรนี่แล้วก็ไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคือใคร google หาข้อมูลของเขาก็ไม่เจอ

 

แต่ชอบวิธีการนำเสนอของวิดีโอนี้มาก เพราะมันเป็นวิดีโอที่เหมือนเล่าเรื่องผ่านทางกลวิธีแบบการเล่านิทานเด็ก มีการใช้กระดาษตัดแปะและตุ๊กตาผ้ามาประกอบในการเล่าเรื่อง มันเลยเหมือนมีการใช้ทั้ง photos+ ประติมากรรม + ศิลปะภาพเคลื่อนไหวมาประกอบรวมเข้าด้วยกัน

 

แต่ตัววิดีโอไม่มีเสียงบรรยายนะ มีแต่เสียงดนตรี เพราะฉะนั้นมันก็เลยดูไม่รู้เรื่อง แต่การที่ตัววิดีโอเหมือนตัดเสียงเล่าเรื่องทิ้งไป มันก็เลยทำให้เราเพ่งความสนใจไปยัง “อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่าเรื่อง” แทนที่จะเพ่งความสนใจไปยังตัวเนื้อเรื่อง และตัวอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่าเรื่องนี่ก็น่ารักน่าสนใจดีมาก ๆ

 

ตัว installation มีตุ๊กตุ่นตุ๊กตา + ไฟฉาย สำหรับให้ผู้ชมใช้ในการเล่นแสงเงาด้วย

 

PATHS TO UTOPIA (2020-2022, Cheng Ting-ting, Taiwan, video installation, A+30)

 

video ที่ Jim Thompson น่าสนใจดีที่วิดีโอนี้นำเอาหนังเรื่อง THE BEACH (2000, Danny Boyle) กับฟุตเตจการประท้วงในไทยมาผสมรวมเข้าด้วยกัน

 

ตัว installation มีแผนที่โลกขนาดยักษ์ให้ผู้ชมร่วมเล่นสนุกได้ด้วย

 

สิ่งหนึ่งที่วิดีโอนี้ไม่ได้ตั้งใจก็คือว่า พอเราดูวิดีโอนี้แล้ว เราก็นึกถึงสิ่งที่ subject คนนึงในหนังเรื่อง THE MONOPOLY OF VIOLENCE (2020, David Dufresne, France, documentary, A+30) พูดไว้ด้วย เหมือนเธอพูดในแง่ที่ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่สามารถ reach ได้ แต่เป็น horizon ที่เราควรพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใกล้ horizon นั้น

 

มันเหมือนกับว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ภาวะสมบูรณ์แบบที่พอบรรลุถึงแล้ว ทุกอย่างจะดีงามไปหมดมั้ง เหมือนกับว่าเราไม่ควรพอใจเพียงแค่ว่า ตอนนี้ประเทศอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แล้วก็จบ แต่เราควรพยายามพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาของประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อย่างเช่น ฝรั่งเศส, สหรัฐ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, อินเดียมั้ง ที่ประชาชนควรผลักดันให้มีการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ กันต่อไป ถึงแม้ประเทศอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

 

THE TUTORIAL (2022, Enkaryon Ang, Taiwan, video installation, 8min) + CLIMATE BARBARIANS (2022, Enkaryon Ang, adapted audio, 15min)

 

ไม่แน่ใจว่า งาน audio + video นี้แอบด่าจีนหรือเปล่า 55555 เพราะถึงแม้ตัวภาพในวิดีโอจะเป็น found footage ที่ไม่เกี่ยวข้องกับจีนแต่อย่างใด แต่ตัวเสียงนั้น มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่พูดถึงปัญหาในแม่น้ำโขง และต้นตอของปัญหามันก็มาจากรัฐบาลจีนนั่นแหละ 55555

 

 

PARENTHESIS (ECHOES IMPACT CRATER BY A NATIONAL BANNER) (2022, Sornrapat Pattharakorn)

 

(DIS)GUISE (2022, Panachai Chaijirarat)

 

วัตถุเซรามิกย้อมคราบกาแฟ ซึ่งเป็นกาแฟที่ผลิตโดยทหารก๊กมินตั๋งที่อพยพมาอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย

 

เห็นงานนี้แล้วนึกถึงหนังสารคดีเรื่อง STRANGER IN THE MOUNTAINS (2018, Lee Li-shao, Taiwan) กับ HUAI MO VILLAGE (2012, Hsu Chia Wei) ที่พูดถึงทหารก๊กมินตั๋งในไทยเหมือนกัน

 

THIBAAN THE SERIES: DOCTOR PLAWAL (2022, Surasak Pongsorn, Kayanatonmai, A+30)

ไทบ้านเดอะซีรีส์: หมอปลาวาฬ (2022, สุรศักดิ์ ป้องศร, ขยะหน้าต้นไม้, A+30)

 

1. ถ้าหากเราจำไม่ผิด ในการ์ตูนเรื่อง “หน้ากากแก้ว” (1976-ongoing, Suzue Miuchi) คิตะจิมะ มายะ ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่อง เคยได้รับบทให้แสดงละครเวทีเป็นตัวประกอบเล็ก ๆ โดยเธอแสดงเป็น “หญิงบ้า” คนนึง ที่เสนอตัวที่จะแต่งงานกับ “นักโทษประหาร” เพราะกฎของเมืองนั้นระบุว่า ถ้าหากมีหญิงคนใดยอมแต่งงานกับนักโทษประหารคนนี้ นักโทษคนนั้นก็จะไม่ต้องถูกประหารชีวิต แต่นักโทษคนนั้น (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเจ้าชายปลอมตัวมา เพื่อหาว่ามีหญิงสาวคนไหนในเมืองนี้ที่มีจิตใจดีงาม หรืออะไรทำนองนี้) กลับตอบว่า ถ้าหากเขาจะต้องแต่งงานกับหญิงบ้าคนนี้ เขายอมถูกประหารชีวิตเสียดีกว่า

 

ผู้สร้างละครเวที+ผู้กำกับ ต้องการให้ตัวละครหญิงบ้าคนนี้ ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับคำพูดของนักโทษประหาร (หรือเจ้าชาย) โดยเธอจะต้องทำตัวขำขัน ตลกบ๊อง ๆ ต่อไป แม้นักโทษประหารเลือกที่จะตาย ดีกว่าจะต้องแต่งงานกับเธอ

 

แต่มายะไม่สามารถแสดงตามที่ผู้สร้างละครเวทีต้องการได้ เธอฝืนทำตัวบ๊อง ๆ ตอนซ้อมได้ แต่เธอก็รู้สึกว่ามันฝืนมาก และพอเธอขึ้นเวทีจริง ๆ เธอก็อินกับบท (มากเกินไป?) จนร้องห่มร้องไห้ออกมาอย่างรุนแรงหลังจากนักโทษประหารปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเธอ ซึ่งส่งผลให้ผู้สร้างละครเวทีโกรธมาก ๆ

 

2.เหมือนสิ่งที่เราชอบสุด ๆ สิ่งหนึ่งใน “หมอปลาวาฬ” มันคล้าย ๆ กับสิ่งที่มายะทำในละครเวทีเรื่องนั้นน่ะ เพราะในหนัง/ละครทีวีหลาย ๆ เรื่องที่เราเคยดูในอดีตนั้น บางทีมันจะมีตัวละครประเภทที่ถูกทำให้ไร้มิติความเป็นมนุษย์ เพราะมันเป็นเพียง “ตัวละครประกอบ” โดยเฉพาะ “ตัวตลก”, “นางอิจฉา” หรือ “ดาวยั่ว” ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่หนัง/ละครทีวีบางเรื่องจะสร้างตัวละครประเภทนี้ขึ้นมา และจำกัดหรือลดทอนมิติความเป็นมนุษย์ของมัน เพื่อให้มันมี function ที่คับแคบเป็นเพียงแค่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม (ในกรณีของ “ตัวตลก”) คล้าย ๆ กับนิทาน “ซินเดอเรลล่า” หรือ “สโนว์ไวท์” ที่ “แม่เลี้ยงใจร้าย” หรือ “พี่เลี้ยงใจร้าย” ก็ถูกทำให้กลายเป็นนางอิจฉาที่แบนราบ ไร้มิติความเป็นมนุษย์เช่นกัน

 

ถึงแม้เราไม่คิดว่าการที่หนัง/ละครทีวีบางเรื่องทำอะไรผิดในการนำเสนอตัวตลกหรือนางอิจฉาแบบแบนราบเช่นนี้ แต่เราคิดว่ามันทำให้หนัง/ละครทีวีเหล่านั้น กลายเป็น “อะไรที่ธรรมดา ๆ ไม่ค่อยน่าสนใจ” สำหรับเราในจุดนั้นน่ะ  ยกเว้นแต่ว่ามันจะมีองค์ประกอบส่วนอื่น ๆ ของหนังที่ทำได้ถึงจริงๆ มันก็จะกลบข้อด้อยตรงนั้นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น RRR (2022, S.S. Rajamouli, India) และ THE NIGHTINGALE (2018, Jennifer Kent) ที่ตัวร้ายอาจจะดูแบนราบ มีแต่ความชั่วสุดๆ อยู่ในตัวเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าส่วนอื่น ๆ ของหนังทำถึง มันก็จะกลบข้อด้อยตรงนั้นไปได้

 

หนังที่เราสนใจ ก็เลยเป็นหนังที่พยายามเพิ่มมิติความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละครประกอบน่ะ โดยเฉพาะตัวละครประเภทตัวตลก, นางอิจฉา หรือดาวยั่ว เพราะมนุษย์จริงๆ ก็เป็นแบบนั้น มันไม่ได้มีคนที่คิดว่ากูคือนางอิจฉา หรือกูคือตัวตลก เพราะฉะนั้นกูก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำตัวเป็นนางอิจฉาหรือตัวตลกต่อมนุษย์คนอื่น ๆ ตลอดทุก 24 ชั่วโมง เพราะแต่ละคนที่คิดว่าตัวเองเป็นนางร้าย หรือคิดว่าตัวเองชอบสร้างเสียงหัวเราะให้เพื่อน ๆ ต่างก็เป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจเป็นของตัวเองเช่นกัน มีความรัก ความทุกข์ ความสุขเป็นของตัวเองเช่นกัน

 

เราว่าสิ่งที่มายะทำใน “หน้ากากแก้ว” มันก็คล้าย ๆ กับการเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้กับ “ตัวตลก” ของละครเวทีเรื่องนั้นน่ะ ผู้สร้างละครเวทีเรื่องนั้นต้องการขจัดความเป็นมนุษย์ของตัวละครตัวนี้ออกไป เพื่อให้ตัวละครตัวนี้ทำหน้าที่เพียงแค่ “เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม” เท่านั้น แต่มายะทำแบบนั้นไม่ได้ ตัวละครหญิงคนนั้นมีหัวใจเป็นของตัวเอง เธอไม่ได้ exist เพียงเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม

 

เราก็เลยชอบหนังเรื่อง “หมอปลาวาฬ” อย่างสุดขีดในแบบที่คล้าย ๆ กันนี้ คือเหมือนหนังชุดนี้สามารถ treat ตัวละครจาลอด, หมอปลาวาฬ, ครูแก้ว ให้มีหน้าที่หลักเพียงแค่ “เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม” และ “ตอบสนอง romantic fantasy ของผู้ชาย” ก็ได้ แต่หนังชุดนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้น คือตัวละครกลุ่มนี้ในหนังอาจจะยังคงทำหน้าที่แบบนี้ต่อไป แต่มันได้ถูกเพิ่มมิติความเป็นมนุษย์เข้ามาด้วย โดยเฉพาะในภาคนี้ที่หนังได้ treat ตัวละครเหล่านี้ให้กลายเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจมาก ๆ  จาลอดไม่ได้ exist เพียงเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมอีกต่อไป และครูแก้วกับหมอปลาวาฬก็ไม่ได้ exist เพียงเพื่อตอบสนอง romantic fantasy ของผู้ชมเพศชายเท่านั้น (คือก็ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่ แต่พวกเธอก็เป็นมนุษย์ที่มีหัวใจและความเจ็บปวดด้วยเช่นกัน)

 

เราก็เลยชอบจุดนี้ของหนังมาก ๆ เหมือนหนังมันตั้งคำถามว่า ถ้าหากตัวละครพวกนี้เป็นมนุษย์ที่มีหัวใจจริง ๆ มีความรักจริง ๆ พวกเขาไม่ได้รักกันเพียงเพื่อ “manipulate อารมณ์ของผู้ชม” แต่พวกเขารักกันเพราะพวกเขารักกันจริงๆ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาจะเป็นเช่นไร พวกเขาจะ deal กับความรู้สึกของตัวเองอย่างไร จะพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีใด และมันจะเกิดผลเช่นไรตามมา และเราว่าหนังมันซื่อสัตย์กับตัวละครของตัวเอง หรือกับความเป็นมนุษย์ของตัวละครของตัวเองมาก ๆ

 

3.แต่ถึงแม้เราจะชอบ “ความพยายาม” ของหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะมันตรงกับสิ่งที่เราต้องการเห็นในภาพยนตร์โดยทั่วไป (การ treat ตัวละครต่าง ๆ ในฐานะมนุษย์) แต่ในด้านผลลัพธ์ทางอารมณ์แล้ว หนังเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้บรรลุจุดสุดยอดในแบบที่เราต้องการนะ เหมือนมันยังพัฒนาในด้านนี้ได้อีกแหละ

 

คือในส่วนของรสนิยมส่วนตัวของเรา เราต้องการให้หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรง ร้าวรานกับความรัก 3 เส้าของจาลอด, หมอปลาวาฬ และครูแก้วน่ะ คือหนังก็ทำได้ในระดับนึงแหละ ทั้งฉากที่ครูแก้วทำร้ายจาลอดบนเตียง และฉากงานแต่งงาน แต่เราว่ามันยังพีคกว่านี้ได้อีก ร้าวรานกว่านี้ได้อีก คือถ้าหากทำดี ๆ มันอาจจะร้าวรานได้ถึงขั้นแบบ THE THINGS OF LIFE (1970, Claude Sautet) หรือ THE HEART OF ME (2002, Thaddeus O’Sullivan) ก็ได้

 

เราว่าสาเหตุส่วนนึงที่มันยังไม่พีค อาจจะเป็นเพราะหนังมันยังมีความ “ยักแย่ยักยัน” อยู่กับความเป็นหนังตลกด้วยแหละ คือเหมือนหนังมันยังต้องการจะรักษาเสียงหัวเราะและความตลกเพื่อเอาใจผู้ชมส่วนใหญ่ด้วย และความยักแย่ยักยันนี้มันก็เลยอาจจะทำให้ทั้งผู้กำกับ, คนเขียนบท และนักแสดง ไม่สามารถผลักดันอารมณ์ของหนังให้ไปในทางร้าวรานสุด ๆ ในแบบที่เราต้องการได้ เราก็เลยเสียดายตรงจุดนี้

 

4.ดู “หมอปลาวาฬ” แล้วก็นึกถึง ONE OF MY MOST FAVORITE ROMANTIC FILMS OF ALL TIME นะ ซึ่งก็คือ CORRINA, CORRINA (1994, Jessie Nelson) ที่เป็นเรื่องของพ่อม่ายหนุ่มหล่อ (Ray Liotta) ที่ตกหลุมรักสาวใช้ (Whoopi Goldberg)

 

สาเหตุที่นึกถึงเป็นเพราะเรารู้สึกเหมือนกับว่า ถ้าหากหนังชุดไทบ้านเดอะซีรีส์ โดยเฉพาะภาค “หมอปลาวาฬ” เป็นการตอบสนอง romantic fantasy ของผู้ชมเพศชาย ผ่านทางตัวละครแบบจาลอด ที่ไม่หล่อ ไม่รวย แต่ก็ได้สาวสวย ๆ มาเป็นแฟน หนังแบบ CORRINA, CORRINA ก็คือการตอบสนอง romantic fantasy ของเราได้อย่างตรงจุดที่สุดเหมือนกัน เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า เราแทบไม่เคย identify ตัวเองกับตัวละครประเภท “นางเอกสาวสวย” แบบ Setsuko Hara หรืออะไรทำนองนี้ได้เลยน่ะ (ยกเว้นในหนังเรื่อง THE IDIOT กับ SOUND OF THE MOUNTAIN 555) แต่กับหนังรักโรแมนติกที่นำแสดงโดยวูปี้ โกลด์เบิร์กในบทสาวใช้นี่ กู identify ตัวเองได้ในทันทีเลยค่ะ 55555 และถ้าหากวูปี้ โกลด์เบิร์กสามารถเอา Ray Liotta มาเป็นผัวได้นี่ หนังเรื่องนั้นก็ไม่แคล้วที่จะกลายเป็น one of my most favorte films of all time ไปโดยปริยาย

 

เราก็เลยไม่มีปัญหากับความสมจริงหรือไม่สมจริงของการที่ตัวละครจาลอดจะมีสาว ๆ สวยๆ มาหลงรักนะ เพราะสำหรับเราภาพยนตร์สามารถที่จะสะท้อนความฝันหรือความปรารถนา หรือสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพอมันเป็นหนังที่ตอบสนอง romantic fantasy ของผู้ชาย เราก็เลย “ไม่อิน” กับมันเท่านั้นเอง แต่เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการที่หนังนำเสนอตัวละครแบบนี้ เพราะถ้าหากเรามีปัญหากับอะไรแบบนี้ CORRINA, CORRINA ก็คงไม่กลายเป็น one of my most favorite films of all time เช่นกัน (แต่จริงๆ  แล้ว CORRINA, CORRINA สร้างจากชีวิตจริงของผู้กำกับนะ)

 

สาเหตุที่นึกถึง CORRINA, CORRINA เป็นเพราะว่า วูปี้ก็มีสถานะคล้าย ๆ กับจาลอดด้วยแหละ คือวูปี้มีสถานะเป็น “นักแสดงตลก” น่ะ เราก็เลยชอบสุด ๆ ที่ CORRINA, CORRINA เปิดโอกาสให้วูปี้ได้สำแดงฝีไม้ลายมือในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เธอไม่ได้แสดงได้ดีแต่หนังตลกเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ถ้าหากเปรียบเทียบกันจริง ๆ เราก็รู้สึกว่า CORRINA, CORRINA ประสบความสำเร็จทางอารมณ์ต่อเราเหนือกว่า “หมอปลาวาฬ” อย่างมาก ๆ นะ เพราะว่า  CORRINA, CORRINA  มีความได้เปรียบเหนือ “หมอปลาวาฬ” อย่างสำคัญน่ะ เพราะว่าถึงแม้วูปี้มีความเป็น “ตัวตลก” ก็จริง แต่ความเป็นตัวตลกของเธอคือสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากหนังเรื่องนี้น่ะ เหมือนเป็นแค่ aura ของเธอที่ติดมาจากหนังเรื่องอื่น ๆ เท่านั้นเอง เพราะบทของเธอในหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความยักแย่ยักยัน หรือไม่ได้ require ให้เธอต้องพยายามเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูไปด้วย และพอหนังมันไม่ได้ยักแย่ยักยัน หนังมันก็เลยเดินหน้าสร้างอารมณ์ไปในทาง romantic ได้เต็มที่

 

ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า CORRINA, CORRINA เหมือนเป็นหนังที่พยายามสร้างก้อนสี่เหลี่ยมขึ้นมาน่ะ พอมันพยายามจะสร้างก้อนสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว มันก็เลยเหมือนวางรากฐาน ตอกเสาเข็มอะไรให้มั่นคง และบิ๊วอารมณ์ผู้ชมอย่างเราให้ไปสู่จุดสูงสุดตามต้องการได้

 

แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า “หมอปลาวาฬ” คือความพยายามจะสร้างก้อนสี่เหลี่ยมทับไปบน “ยอดปิรามิด” น่ะ คือเหมือนไทบ้านเดอะซีรีส์สร้างตัวละครจาลอดมาให้เป็นตัวตลก หรืออะไรทำนองนี้ หรือเหมือนวางรากฐานความเป็น “มนุษย์จริงๆ” ที่มีหัวจิตหัวใจร้าวราน เจ็บปวด รักจริง เจ็บจริง เปราะบางจริง ยังไม่แน่นหนาเพียงพอ ให้กับตัวละครจาลอดในภาคก่อน ๆ หน้านี้ เพราะฉะนั้นพอมาในภาคหมอปลาวาฬนี้ หนังพยายามจะทำให้ตัวละครจาลอด+ครูแก้ว+หมอปลาวาฬ ให้กลายเป็นมนุษย์จริง ๆ แต่เหมือนหนังยังไม่แม่นยำพอ หรือเหมือนยังวางรากฐานจากภาคก่อน ๆ มาไม่มากพอ หรือเหมือนหนังมันยังยักแย่ยักยันกับความเป็นหนังตลกเอาใจคนดูอยู่ เราก็เลยรู้สึกเหมือนอารมณ์ของหนังมันยังไม่สุดจริง ๆ สำหรับเราน่ะ และความยักแย่ยักยันนี้ก็คล้าย ๆ กับความพยายามจะสร้างก้อนสี่เหลี่ยมทับไปบนยอดปิรามิด ในความเห็นของเรา ซึ่งก็เป็นความพยายามที่กล้าหาญมาก เราชื่นชมสุด ๆ แต่อารมณ์ของหนังมันก็เลยอาจจะยังไม่พีคเท่าที่เราต้องการจ้ะ

 

แดง พระโขนง (2022, เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์, วัชระพงษ์ ปัทมะ, A-)

 

1.สำหรับเรา หนังเรื่องนี้แยกองค์ประกอบออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นหนังตลก, ส่วนที่เน้นความสัมพันธ์ซาบซึ้งระหว่างแดงกับเพื่อนผู้หญิงและแก๊งเด็กผู้ชาย และส่วนที่เราเรียกว่า “คำพิพากษา ชาติ กอบจิตติ” 555555 ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นความขัดแย้ง, ความเข้าใจผิดที่ชาวบ้านมีต่อแดง และการที่ชาวบ้านเหมือนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างแดงกับเพื่อนผู้หญิง

 

2.ซึ่งเราชอบส่วนที่เป็น “คำพิพากษา” นี้มาก ๆ เลยนะ คือถ้าหนังไปเน้นจุดนี้หรือทำจุดนี้ให้ดี ๆ มันก็จะเข้าทางเรามาก ๆ แบบหนัง “คำพิพากษา” (1989, เพิ่มพล เชยอรุณ) และ “ไอ้ฟัก” (2004, Pantham Thongsang)  คือเราอยากให้หนังเน้นอารมณ์ของแดงที่ต้องการมีเพื่อน แต่ก็ถูกชาวบ้านพิพากษาว่าเป็นฆาตกร และเน้นอารมณ์ของเด็กผู้หญิงที่ยังคงต้องการเป็นเพื่อนกับแดง ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผี และถึงแม้ว่าความสัมพันธ์นี้จะถูกชาวบ้านต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม คือถ้าหนังไปเน้นจุดนี้ มันก็จะทรงพลังมาก ๆ สำหรับเรา

 

3.ส่วนที่เป็น “หนังตลก” เราเฉย ๆ เพราะ sense ความตลกของเราไม่ค่อยตรงกับหนังตลกโดยทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่านักแสดงที่เล่นเป็น “เด็กดำ” ในหนังเรื่องนี้มีพรสวรรค์ในการแสดงตลกนะ เขาน่าจะไปได้ไกลถ้าหากเอาดีทางนี้

 

4.แต่ส่วนที่ผิดหวังมาก ๆ คือการที่หนังพยายามจะรีดเอาความซาบซึ้ง อารมณ์ดราม่าในช่วงท้าย ๆ ระหว่างแดงกับเพื่อน ๆ น่ะ คือเราว่าหนังล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัดตรงจุดนี้ เพราะตลอดทั้งเรื่องที่ผ่านมา เราแทบไม่รู้สึกได้ถึงความรักความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างเพื่อน ๆ กลุ่มนี้เลย เหมือนหนังแสดงให้เราเห็นว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้เคยเล่นสนุกด้วยกันเท่านั้นเอง แต่หนังไม่สามารถทำให้เราเข้าใจหรือรู้สึกได้ว่า พวกเขารักและผูกพันกันจริง ๆ เพราะฉะนั้นอารมณ์ซาบซึ้งหรือดราม่าที่หนังต้องการให้ผู้ชมรู้สึกในช่วงท้าย มันก็เลยดูหลอกมาก ๆ

 

คิดว่าหนังควรจะต้องคิดซีนต่าง ๆ ให้ดีกว่านี้ในช่วงก่อนหน้านั้นน่ะ เพื่อทำให้เราเข้าใจความรักความผูกพันของพวกเขา อาจจะให้พวกเขาเคยผจญภัย ฝ่าฟันอะไรมาด้วยกัน เคยช่วยเหลือกัน แบบในหนัง STAND BY ME (1986, Rob Reiner) และ IT เพื่อที่หนังจะได้ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งได้จริงถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อนในช่วงท้าย

 

5.แต่ก็ชอบที่หนังพยายามสร้าง character ให้ “เด็กอ้วน” เป็นเด็กที่ลังเลระหว่างการจะอยู่หรือไม่อยู่ฝ่ายเดียวกับแดงนะ เหมือนอะไรแบบนี้นี่แหละที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับตัวละครขึ้นมาได้นิดนึง

 

6.ถึงแม้จะผิดหวังกับ “แดง พระโขนง” แต่ก็อย่างที่บอกว่าเราก็ชอบส่วนที่เป็น “คำพิพากษา” ของหนังมากพอสมควร และชอบที่หนังตลกพยายามใส่อะไรที่น่าสนใจเข้ามาด้วย ไม่ได้ทำอะไรโง่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ (แต่ถ้าทำโง่ ๆ แล้วออกมาตลกจริง เราก็ไม่ว่าอะไร 555)

 

ถ้าวัดจากความรู้สึกของเรา เราก็ชอบที่หนัง mainstream ของไทยหลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมา ที่มีความเป็น “หนังตลก” พยายามจะใส่ส่วนที่มีเนื้อหาสาระเข้ามาด้วยน่ะ อย่างเช่น “ส้มป่อย” ที่จริง ๆ แล้วมีประเด็นที่ดีมาก ๆ, “พี่นาค 3” ที่มีพล็อตเรื่องที่จริงจังมาก ๆ ไม่ได้มีแต่กะเทยร้องวี้ดกับบ้าผู้ชายเพียงอย่างเดียว และ “แดง พระโขนง” ที่มีเรื่องราวความขัดแย้งแบบคำพิพากษาเข้ามาด้วย

 

มันเหมือนกับหนังตลกของไทยพยายามจะหาส่วนผสมใหม่ ๆ อยู่มั้ง ซึ่งก็อาจจะออกมาไม่ลงตัวในช่วงแรก ๆ เหมือนการทดลองคิดสูตรผสมอาหารแบบใหม่ ๆ ที่ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ก็ได้แต่หวังว่าผู้สร้างหนังไทยจะพยายามพัฒนากันต่อไปเรื่อย ๆ นะ และสามารถหาส่วนผสมที่ลงตัวได้ในที่สุด

 

7.แต่ก็ยอมรับว่า มุกตลกบางอัน ที่มันดูโง่มาก ๆ มันก็ฝังใจเราแบบลืมไม่ลงนะ 55555 โดยมุกตลกที่ดูโง่มาก แต่มันฝังใจเรามากในหนังไทยช่วงหลังก็คือ

 

7.1 ใน “แดง พระโขนง” ฉากที่พระขึ้นให้พรบนเวที แต่หันหน้าผิดด้าน แล้วนึกว่าชาวบ้านหายตัวไปกันหมดแล้ว

 

7.2 ใน “ส้ม ปลา น้อย” (2021, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, บดีกร โลหะชาละ, A+25) ฉากพระเดินบนน้ำได้ กับฉากพระเหาะได้

 

7.3 ฉากการขายประกันชีวิตใน “พี่นาค 3”

 

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ตอน ดนตรีหัวใจไม่แพ้ (2022, produced by สุพงษ์ จิตต์เมือง, documentary, A+30)

 

เพิ่งเคยดูรายการนี้เป็นครั้งแรก ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครจริงๆ เรื่องของชายหนุ่มที่แต่งงานไปได้ราว ๆ 2 ปี ก็ประสบอุบัติเหตุไฟช็อต ทำให้เสียมือกับแขนบางส่วนไปทั้งสองข้าง และเหมือนเสียขาด้วยข้างนึง ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด แต่เขาก็สู้ชีวิตต่อไป และกลับมาทำงานเป็นมือกลองได้ด้วย ทั้ง ๆ ที่ต้องใส่แขนเทียมทั้งสองข้าง

 

เห็นแล้วก็ทึ่งมาก ๆ ทั้งกำลังใจของเขาและของครอบครัวของเขา ทั้งพ่อ,แม่, เมีย และลูกสาวคนโต ที่น่าจะอายุใกล้ 10 ขวบได้มั้ง โดยทั้ง 4 คนนี้ต่างก็ช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพพร้อมกับเขาไปด้วย เราก็ได้เลยเห็นฟุตเตจการทำงานสอยใบตองลงจากต้นกล้วย และการทำงานร้อยผักเข้าเส้นลวดหรืออะไรทำนองนี้ในหนังเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเป็นอาชีพที่แปลกตาสำหรับเราเหมือนกัน

 

SUPER 8 FILM WORKSHOP “SPECIAL EVENT: PERFORMATIVE SCREENING”

 

เป็นงานที่สนุกดี เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นงานทดลองคิดไอเดียแปลก ๆ ใหม่ ๆ

 

เราว่าการฉายในงานนี้มีอุปสรรคพอสมควร เพราะคนเยอะมากจนบังกัน เราดูหนังไม่เห็นในหลายๆ เรื่อง แต่คิดว่าความสนุกของงานนี้คือการคิดวิธีแปลก ๆ ใหม่ ๆ ในการฉายหนังมั้ง ซึ่งงานนี้ก็บรรลุวัตถุประสงค์นั้นแล้ว แต่ตัวหนังจริง ๆ อาจจะเหมาะจะนำมาฉายแบบปกติอีกสักครั้ง เพราะงานนี้เหมือนเราได้ experience “การได้ดูการฉายหนัง” มากกว่า “การได้ดูหนัง” 55555

 

เราดูงานนี้ไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ. แต่เพิ่งมีเวลามาจดบันทึกความทรงจำก็วันนี้ ซึ่งเราก็แทบจำอะไรไม่ได้แล้ว 55555 ถ้าหากจำอะไรผิดไป ก็ขออภัยด้วยนะคะ ท้วงติงมาได้นะคะ

 

หนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มซูเปอร์ 8 ที่ฉายในงาน

 

1.หนังของ Sippakorn Aotrakul

 

เหมือนเห็นซีนที่คล้ายกับซีนจากหนังสั้นเรื่อง HEAVEN NO.1504 AND SEDIMENTATION OF THE RENEWAL (2018) อยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย 555

 

2.หนังของ ภาริณี บุตรศรี + Sikarnt Skoolisrayiporn

 

เป็นหนังที่จอเล็กมาก ๆ จดไว้แต่ว่ามีฉากเผากระดาษกับมีไก่อยู่ในหนัง

 

3.หนังของ Tulapop Saenjaroen

 

หนึ่งในหนังที่ชอบที่สุดในงานนี้ เหมือนมีความเป็นหนังไซไฟ สยองขวัญอยู่ด้วยมั้ง ถ้าหากเราจำไม่ผิด และเราติดใจก้อนขาว ๆ ในหนังมาก ๆ เรามองไม่ออกว่ามันคืออะไร ปุยเมฆ หรือ ยาสีฟัน หรืออะไร

 

4.หนังของ Lee Anantawat

 

จำได้แต่ว่ามีส่วนคล้ายภาพวาดจิตรกรรมนามธรรม อาจจะไปกันได้ดีกับหนังแนวนามธรรมของ Stan Brakhage, Len Lye, Viking Eggeling, Hans Richter

 

5.หนังของ ปรัชญา พิณทอง

 

เก๋ไก๋มากที่ใช้จอฉายหนังเป็นเครื่อง Xerox

 

6.หนังของ Tanatchai Bandasak

 

เรายังคงขอยกตำแหน่ง “เจ้าพ่อแห่งหนัง minimal” ให้แก่ Tanatchai เหมือนเดิม 55555 เหมือนหนังเรื่องนี้เป็นภาพลิงประมาณ 30% ของหนังมั้ง ส่วนอีก 70% เหมือนเป็นการให้เราเพ่งพินิจไปที่ฝาผนังที่ถูกใช้เป็นจอหนังหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน คือมันมีแสงฉายไปที่ฝาผนัง แต่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเห็นมันคือจุดกระดำกระด่างที่มีอยู่แล้วบนฝาผนัง หรือมีภาพอะไรจากหนังรวมอยู่ในนั้นด้วย

 

7.หนังของ จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส

 

หนังถ่ายภาพหินงอกหินย้อยในถ้ำออกมาได้งดงามมาก ๆ และมีการเล่นกับ filter หน้าเครื่องฉายหนัง และมีการใช้กระจกสะท้อนภาพไปมาด้วย ถ้าจำไม่ผิด

 

ก่อนหน้านี้คุณ Jeanne Penjan Lassus เคยทำ video installation EYE YOUR EARS (2019) ที่เราชอบมาก ๆ

 

8.หนังของ Pam Virada (วิรดา บรรเจิดรุ่งขจร)

 

เสียดายเรามองหนังเรื่องนี้ไม่เห็น เพราะคนยืนบังหมด รู้แต่ว่ามีการอ่านบทกวีประกอบการฉายหนังด้วย ถ้าจำไม่ผิด

 

9. CEILING FAN AND LOOKING AT THE SKY (2022, Pathompon Tesprateep)

 

ชอบสุดขีด หนังเอาเพลง ESPECIALLY FOR YOU ของ Kylie Minogue + Jason Donovan มาใช้ได้อย่างดีงามมาก ๆ ภาพพัดลมเพดานในหนังก็ออกมามีมนตร์เสน่ห์ดีมาก

 

10. บางแสนที่รัก (2022, Nuttapon Sawasdee)

 

หนึ่งในหนังที่ unforgettable ที่สุดในงานนี้ หนังทำเป็นเหมือน comedy silent film ในทศวรรษ 1920 + หนัง 16 มม.พากย์สดของไทย และพากย์ออกมาได้ฮาครื้นเครงบันเทิงจริง ๆ

 

11. หนังของ Rajchapruek Tiyajamorn

 

ดูเป็นอะไรที่ mainstream ที่สุดแล้วในงานนี้หรือเปล่า เพราะมันเป็นเหมือน music video เพลงรักหนุ่มสาว และด้วยเหตุนี้มันก็เลยกลายเป็นอะไรที่โดดเด้งขึ้นมาในงานนี้ เพราะมันแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ 55555 คือถ้าหากหนังเรื่องนี้ไปฉายในงานรวม music video มันก็อาจจะไม่โดดเด้งเท่านี้ เพราะมันก็ดูเป็นมิวสิควิดีโอที่แตกต่างจาก MV อื่น ๆ แค่ตรงจุดที่ texture ของภาพมันดูเก่าๆ โบราณ ๆ เพราะมันถ่ายด้วยฟิล์ม แต่พอมันมาฉายในงานที่คล้าย ๆ เป็นการรวมหนังทดลองแบบนี้ ความเป็น mainstream ของมันเลยช่วยให้มันโดดเด้งขึ้นมาจากหนังเรื่องอื่น ๆ

 

12. หนังของ Chanasorn Chaikitiporn

 

จำได้แต่ว่าหนังมีการเล่นกับจอเล็ก ๆ หลาย ๆ  จอซ้อนกันอยู่ในภาพมั้ง หรือ split screen, frame within frame อะไรทำนองนี้ แต่ไม่รู้จำผิดหรือเปล่า

 

13. หนังของ Namfon Udomlertlak

 

ไอเดียเก๋มาก ที่มีการใช้กระจกกับ “เงาสะท้อนบนพื้นน้ำที่เจิ่งนองบนถนน” ในการสะท้อนภาพจากเครื่องฉายหนังด้วย

 

14. หนังของ Danaya Chulphuthiphong

 

หนังสวยดี จำได้แต่ว่ามีพระอาทิตย์ตกกับแมวอยู่ในหนัง

 

15. TWO PEOPLE SPENDING THEIR TIME (2022, Supamas Boonnil)

 

จำได้แต่ว่ามีฉากผู้หญิงตัดผม และก็เป็นหนังอีกเรื่องที่มีแมวอยู่ในหนัง

 

16. หนังของ Sathit Sattarasart

 

จำได้แต่ว่ามีการให้คนมายืนถือจอหนัง และหนังสั้นมากจนเราดูไม่ทันว่ามันมีภาพอะไรในหนังบ้าง 55555

 

17. หนังของ Chalida Uabumrungjit

 

เหมือนเป็นภาพ portrait ขาวดำของคนต่าง ๆ ถ้าจำไม่ผิด

 

18. หนังของเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์

 

เป็นการแนะนำหอภาพยนตร์มั้ง ถ้าจำไม่ผิด

 

19. แตงโมแตกเมื่อฆ่าดวงอาทิตย์ (2022, Dome Sukvong)

 

งดงาม เราเข้าใจว่านี่คือภาคสองของ “ดวงอาทิตย์แตกเมื่อฆ่าแตงโม” (1973, Dome Sukvong) ถือเป็นภาคสองที่ใช้เวลาห่างจากภาคแรกนานถึง 49 ปีเลยนะเนี่ย มีหนังภาคสองเรื่องไหนที่ใช้เวลาสร้างห่างจากภาคแรกนานถึง 49 ปีแบบนี้หรือเปล่า

No comments: