Wednesday, April 13, 2022

SHORT FILM PROGRAM A NOS AMOURS

 

โปรแกรมหนังสั้นชุด  A NOS AMOURS

 

1. CONCRETE WALL (2020, Phetcharat Klinthet, 39min, A+30)

 

สงสารทั้งสองตัวละครเลย สงสารทั้งเอกและหมิง โดยในกรณีของเอกนั้น เรารู้สึกว่าเราก็อาจจะตัดสินใจคล้าย ๆ เขาถ้าหากหมิงไม่ยอมมี sex ด้วย 55555 คือในเรื่องรสนิยมอะไรต่าง ๆ นั้น มันอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับเรา แต่ถ้าหากหมิงไม่ยอมมี sex ด้วยซักทีเนี่ย มันถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรามาก ๆ แล้วเราจะคบกันไปทำไมถ้าคุณไม่อยากมี sex กับผม งั้นเราก็เป็นเพื่อนกันดีกว่านะ ส่วนผมขอไปหาผัวใหม่ดีกว่า 555

 

ส่วนในกรณีของหมิงนั้น ความรู้สึกแปลกแยกอะไรแบบนี้ทำให้เรานึกถึงตัวเองเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับหมิงซะทีเดียว เพราะเราเป็นคนกรุงเทพตั้งแต่เกิด แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความแตกต่างทางฐานะการเงินและชนชั้นด้วยน่ะ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจถูกหรือเปล่า แต่มันทำให้นึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเราเองที่อาจจะไม่ตรงกับหมิง แต่หนังมันทำให้เรานึกถึงโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ

 

คือในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นั้น เราชอบเที่ยวสีลมซอยสอง กับสีลมซอยสี่เป็นอย่างมาก และเรารู้สึกได้ว่า เราอยาก approach ฝรั่งมากกว่า เพราะฝรั่งส่วนใหญ่ที่เราเจอในยุคนั้นเขามักจะไม่ดูถูกเราเรื่องฐานะน่ะ คือเราจน แต่ฝรั่งเขาจะไม่ mind เรื่องที่เราจน มันเหมือนประเด็นเรื่องฐานะของเราไม่ใช่สิ่งที่สำคัญในสายตาของฝรั่งส่วนใหญ่ที่เราเจอในตอนนั้น

 

แต่กับคนไทยและคนเอเชียมันไม่ใช่ มันเหมือนเรารู้สึกได้เองว่า คนไทยกับคนเอเชียมองเรื่อง “ฐานะ” ของคู่เดทว่าเป็นประเด็นสำคัญ มากกว่า “ฝรั่ง” น่ะ เราก็เลยไม่ค่อยอะไรกับคนไทยและคนเอเชียมากนักในตอนนั้น มันเหมือนมีความแปลกแยกบางอย่างที่เรารู้สึกได้กับเกย์ไทยและเกย์เอเชียที่เราเจอในตอนนั้น ซึ่งเป็นความแปลกแยกเรื่องสถานะทางการเงินนี่แหละ แต่ก็ไม่ใช่คนเอเชียทุกคนที่เป็นแบบนั้นนะ เพราะจะมีเกย์เอเชียแนว “อาเสี่ย” ที่ไม่ mind เรื่องความจนของเราเช่นกัน 55555

 

เพราะฉะนั้นพอเราดู CONCRETE WALL หนังเรื่องนี้ก็เลยทำให้เรานึกถึงกำแพงบางอย่างที่เรามีกับเกย์ไทยและเกย์เอเชียที่เป็นชนชั้นกลางระดับสูงหรือคนรวยในยุคนั้นขึ้นมา มันเป็นกำแพงล่องหนสำหรับเรา แต่เราจะไม่รู้สึกถึงกำแพงล่องหนนี้เมื่ออยู่กับฝรั่งหรืออาเสี่ยชาวเอเชีย 55555

 

แต่แน่นอนว่าฝรั่งที่เราเจอมันก็ไม่สามารถ represent ตัวแทนของฝรั่งได้ทั้งหมดอยู่แล้วล่ะ เราพูดถึงแค่เกย์ฝรั่งส่วนใหญ่ที่เราเคยเจอในสีลมซอยสองกับซอยสี่และในซาวน่าเกย์ในยุคปลายทศวรรษ 1990 เท่านั้น (ซึ่งก็อาจจะอนุมานได้ว่า ฝรั่งกลุ่มนี้ไม่ได้ตั้งเป้าอยู่แล้วว่าอยากได้แฟนเอเชียรวย ๆ)  แน่นอนว่ามันมีฝรั่งที่ snobbish อย่างมาก ๆ อยู่ด้วย แต่คนพวกนี้แทบไม่เคยโคจรเข้ามาอยู่ในแวดวงเดียวกับเราอยู่แล้ว 5555 แต่ถ้าเราได้ไปใช้ชีวิตที่เมืองนอก เราก็คงต้องเจอกับคนประเภทนี้

 

ตอนแรกเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมคนเอเชียทำให้เรารู้สึกถึงกำแพงล่องหนนี้ แต่ฝรั่งที่เราเจอไม่ทำให้เรารู้สึก แต่พอในอีกหลายปีต่อมา เราได้เจอเพื่อนคนนึงที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปหลายปี เขาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนผู้หญิงของเขาที่เป็นคนยุโรป ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่อง “ฐานะของผู้ชาย” แต่สนใจเรื่อง “ขนาดจู๋ของผู้ชาย”  อะไรแบบนี้มากกว่า 5555 คือขนาดจู๋อาจจะเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าเงินเดือนของผู้ชายอะไรทำนองนี้ (สำหรับผู้หญิงบางคน) ซึ่งนี่เป็นเพราะว่า ยุโรปมันมี “สวัสดิการสังคม” ที่ดีสุด ๆ น่ะ คือคุณได้ผัวจนหรือรวย ถ้าคุณป่วยขึ้นมา คุณก็มีเงินค่ารักษาพยาบาลอยู่ดี เพราะสวัสดิการของรัฐครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลของคุณหมด และสวัสดิการของรัฐช่วยอะไรอื่นๆ มาก ๆ ด้วยโดยเฉพาะในเรื่องเด็กๆ ลูก ๆ แต่ในส่วนของไทยและบางประเทศในเอเชียนั้น ถ้าคุณได้ผัวจน แล้วคุณจะเอาเงินที่ไหนเข้าโรงพยาบาล เอาเงินที่ไหนส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ เราก็เลยตั้งข้อสงสัยว่า อะไรแบบนี้มันคือปัจจัยสำคัญอันนึงหรือเปล่าที่หล่อหลอมความคิดของคนเอเชียบางประเทศตั้งแต่เกิด ทำให้ “ฐานะ” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ และทำให้เกิด “กำแพงล่องหน” สำหรับเรา เมื่อเราอยู่กับเกย์ไทย/เกย์เอเชียที่เป็นชนชั้นกลางระดับสูงหรือคนรวย แต่มันไม่มีกำแพงล่องหนนี้เมื่อเราอยู่กับฝรั่ง

 

ประเด็นใน CONCRETE WALL ทำให้เรานึกถึงหนังที่พูดถึงความแตกต่างทางรสนิยมและชนชั้นในหนังรักเรื่องอื่น ๆ ที่เราชอบมาก ๆ ด้วย ซึ่งได้แก่ THE LACEMAKER (1977, Claude Goretta, Switzerland), EVERYONE ELSE (2009, Maren Ade, Germany), BLUE IS THE WARMEST COLOUR (2013, Abdellatif Kechiche, France), NOT MY TYPE (2014, Lucas Belvaux, France) ซึ่งหนังเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วความแตกต่างทางชนชั้นก็สร้างปัญหาใหญ่ให้กับคู่รักฝรั่งบางคู่ได้เช่นกัน

 

2. BANGKOK DEPARTMENT (2021, Nuttawat Attasawat, second viewing, A+30)

 

ทำไมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเขียนถึงหนังเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เช็คข้อมูลเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ 55555 บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเพื่อน ๆ เราเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในแบบที่ตรงใจเราไปแล้วตั้งแต่เดือนพ.ค. 2021 มั้ง เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้เขียนถึงหนังเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆแล้วเรายังไม่ได้เขียน

 

เหมือนเราก็ไม่มีประเด็นอะไรจะเสริมมากไปกว่าที่เพื่อน ๆ เคยเขียนไปด้วยแหละมั้ง 55555 ชอบหนังอย่างสุด ๆ ชอบหนังแนวนี้มากๆ ที่ตัวละครคุยกันไปเรื่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ และหนังสามารถเก็บเกี่ยวบรรยากาศสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้ได้อย่างดีงามมาก ๆ ด้วย

 

บทสนทนาของหนังก็ดีมาก ๆ ด้วยแหละ เพราะมันเล่าได้ทั้งประวัติของนางเอก ทั้งประวัติการทำงานและประวัติครอบครัว และการเล่นดนตรีของพระเอกด้วย

 

ชอบ “ความกร้าน” บางอย่างในใบหน้าของพระเอกมาก ๆ จริง ๆ แล้วตัวละครพระเอกของหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงพระเอกของหนังสั้นเรื่อง DREAM BURG (2019, สุกานดา เปียนขุนทศ) ซึ่งเป็นพนักงานร้านอาหารที่เริ่มมีความใฝ่ฝัน อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น คือเราว่าถ้าหากพระเอกของ DREAM BURG ฝันสลาย และต้องกลับมาทำงานไปวัน ๆ เป็นลูกจ้างในห้าง เขาก็อาจจะกลายเป็นคนที่กร้านโลก และความฝันในแววตาเหือดหายไปแบบพระเอกของ BANGKOK DEPARTMENT ก็ได้

 

คือเหมือนใบหน้าของพระเอกหนังเรื่องนี้มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า พระเอกเป็นคนที่เคยผ่าน “คืนวันที่ฝันพลุ่งพล่าน” มาแล้วหรืออะไรทำนองนี้น่ะ เหมือนเป็นคนที่เคยฝันว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ และทนอยู่อย่างต๊อกต๋อยต่อไป อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราเข้าใจตัวละครตัวนี้ถูกหรือเปล่านะ แต่มันมีความกร้านบางอย่างในใบหน้าของเขา มันมีบางอย่างในแววตาของเขา ที่ทำให้เราจินตนาการว่าเขาเป็นคนที่เคยมีฝัน แต่ฝันนั้นได้ดับไปแล้ว

 

ช่วงที่เต้นรำกันบนสะพานก็งดงามมาก และช่วงที่นางเอกเล่าถึงชีวิตของตัวเองตอนที่เคยมาวางแผงขายของก็ดีงามมาก

 

นอกจากหนังเรื่องนี้จะทำให้เรานึกถึง BEFORE SUNRISE เหมือนอย่างที่หลายคนเขียนถึงไปแล้ว หนังเรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึง EVERYTHING I DIDN’T SAY (2016, Kattika Tanyong, 29min, A+30) ด้วย ที่เป็นเรื่องของหนุ่มสาวเดินคุยกันในกรุงเทพเกือบตลอดทั้งเรื่องเหมือนกัน แต่อันนั้นจะไม่ romantic แบบนี้มั้ง ถ้าหากเราจำไม่ผิด

 

3. IN THE NAME OF LOVE (2021, Thanawin Pattana, 29min, A+30)

ในนามของความรัก

 

สุดยอดมาก ๆ ที่หนังสามารถพูดถึงทั้งประเด็นการอุ้มหายนักเคลื่อนไหว และเรื่องสมรสเท่าเทียมไว้ในหนังเรื่องเดียวกัน และทำออกมาได้อย่างเจ็บปวดมาก ๆ ด้วย

 

ถือเป็นหนังที่คงติดอยู่ทั้งในลิสท์ “หนัง LGBTQ ของไทย” และ “หนังการเมืองไทย” ที่เราชอบสุด ๆ

No comments: