Monday, April 18, 2022

A GRIN WITHOUT A CAT (1977, Chris Marker, France, documentary, A+30)

 

A GRIN WITHOUT A CAT (1977, Chris Marker, France, documentary, A+30)

 

1.ชอบสุดขีด เป็นหนังที่ออกมาในแนวทางที่ตรงกับเราอย่างสุด ๆ เพราะเหมือนหนังมันมองโลกด้วยสายตาแบบเดียวกับเราน่ะ นั่นก็คือมองว่าโลกมันซับซ้อนสุด ๆ และเต็มไปด้วยหลาย ๆ ปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน และคนแต่ละคนหรือประเทศแต่ละประเทศต่างก็มีทั้งด้านดีและด้านเลว พระเอกก็กลายเป็นผู้ร้าย และผู้ร้ายก็พร้อมจะกลายเป็นพระเอกได้ในแต่ละสถานการณ์

 

2.หนึ่งในสิ่งที่ชอบสุดขีดในหนังเรื่องนี้ ก็คือการที่หนังเรื่องนี้นำเสนอทั้งความเลวของค่ายสหภาพโซเวียตและค่ายสหรัฐในยุคสงครามเย็นในหนังเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแทบไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนเคยทำมาก่อน เพราะหนังส่วนใหญ่ที่เราเคยดูในช่วงก่อนหน้านี้ มักจะเป็นหนังที่ถ้าไม่ด่าสหรัฐไปเลย ก็ด่าโซเวียตไปเลย แต่ไม่เจอหนังที่ด่าทั้งสองฝั่งในหนังเรื่องเดียวกัน

 

เราก็เลยชอบสุด ๆ ที่หนังเรื่องนี้พูดถึงความเลวร้ายของฝ่ายทุนนิยมในฝรั่งเศส, ความเลวร้ายของฝ่ายพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน, ความเลวร้ายที่สหรัฐกระทำต่อเวียดนามและชิลี แต่หนังก็พูดถึงความเลวร้ายที่โซเวียตกระทำต่อเชคโกสโลวาเกียด้วย

 

ชอบสุด ๆ ที่หนังนำเสนอ Fidel Castro ในทั้งสองด้าน ในแง่นึงหนังก็เหมือนชื่นชมเขาในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา แต่หนังก็แสดงให้เห็นว่า Castro ก็ไม่กล้าประณามโซเวียตในสิ่งที่โซเวียตกระทำต่อเชคโกสโลวาเกีย

 

เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้ตรงจุดนี้มาก ๆ เพราะก่อนหน้านี้หนังส่วนใหญ่ที่เราดูมา มักจะเลือกประณามฝ่ายเดียวน่ะ อย่างเช่น

2.1 หนังประณามฝ่ายจักรวรรดินิยมสหรัฐ ก็มีอย่างเช่น I AM CUBA (1964, Mikhail Kalatozov), THE INEXTINGUISHABLE FIRE (1969, Harun Farocki, West Germany), THE WILD FIELD (1979, Nguyen Hong Sen, Vietnam),  MISSING (1982, Costa-Gavras), CASUALTIES OF WAR (1989, Brian De Palma), SEBERG (2019, Benedict Andrews), หนังของ Patricio Guzman, etc.

 

2.2 หนังประณามค่ายโซเวียต อย่างเช่น THE UNBEARABLE LIGHTNESS OF BEING, EAST/WEST (1999, Régis Wargnier), BEFORE NIGHT FALLS (2000, Julian Schnabel), CHILDREN OF GLORY (2006, Krisztina Goda, Hungary), THE LIVES OF OTHERS (2006, Florian Henckel von Donnersmarck, Germany), SILENT WEFDING (2008, Horatiu Malaele, Romania), PUSKÁS (2009, Tamás Almási, Hungary, documentary), etc.

 

เพราะฉะนั้นพอ A GRIN WITHOUT A CAT นำเสนอทั้งความเลวร้ายที่สหรัฐกระทำต่อชิลี และความเลวร้ายที่โซเวียตกระทำต่อเชคโกสโลวาเกียในหนังเรื่องเดียวกัน มันก็เลยสั่นสะเทือนเรามาก ๆ และทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนในยุคนั้นมากยิ่งขึ้น มันเหมือนกับว่าหนังหลายเรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น (ทศวรรษ 1960-1970) ให้เราดูภาพของยุคสมัยนั้นแค่ “ครึ่งซ้ายของภาพ” เราก็เลยรู้สึกว่า “คนในยุคนั้นกำลังหนีเสือ” ในขณะที่หนังบางเรื่องนำเสนอภาพของยุคสมัยนั้น โดยให้เราดูแค่ “ครึ่งขวาของภาพ” เราก็เลยรู้สึกว่า “ตัวละครในยุคนั้นกำลังหนีจระเข้” แต่ A GRIN WITHOUT A CAT ให้เราดูเต็มๆ ภาพ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของภาพในเวลาเดียวกัน เราก็เลยเพิ่งสำเหนียกว่า จริง ๆ แล้วคนในยุคนั้นอยู่ในภาวะ “หนีเสือปะจระเข้” ต่างหาก กราบหนังเรื่องนี้มาก ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ได้

 

3.ชอบพรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศสในหนังเรื่องนี้ เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ถึงแม้ทางพรรคจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เหมือนทางพรรคก็ประณามโซเวียตที่บุกเชคโกสโลวาเกีย

 

4.ชอบมาก ๆ ที่หนังนำเสนอเรื่องการประท้วงของคนฝรั่งเศสในทศวรรษ 1960-1970 และเรื่องการประท้วงต่อต้านบริษัทในญี่ปุ่นที่แพร่สารพิษจนชาวบ้านล้มป่วย เข้าใจว่าคลิปบางส่วนใน A GRIN WITHOUT A CAT อาจจะมาจากหนังสารคดีเรื่อง MINAMATA (1971, Noriaki Tsuchimoto)

 

5.คือการที่ A GRIN WITHOUT A CAT นำเสนอทั้งความเลวร้ายของโซเวียตและสหรัฐ, ความเป็นทั้งพระเอกและลิ่วล้อผู้ร้ายของ Fidel Castro, Che Guevara, ปัญหาอิหร่าน, ปัญหา Minamata, กลุ่ม Black Panthers, สงครามเวียดนาม, การประท้วงในฝรั่งเศส, etc ในหนังเรื่องเดียวกัน หนังเรื่องนี้ก็เลยเข้าทางเราอย่างสุดๆ  และช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราต้องการอย่างตรงจุดน่ะ

 

 คือเหมือนก่อนหน้านี้เรามักจะได้ดูแต่หนังที่เจาะแค่ปัญหาหลัก 1 อย่างในหนังหนึ่งเรื่องน่ะ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่หนังแบบนี้มันก็เป็นการลดทอนความซับซ้อนของโลกไปโดยปริยาย หรือทำให้เรามองภาพรวมได้ยาก หรือไม่สามารถสะท้อนความรู้สึกของเราได้จริง เพราะอารมณ์ความรู้สึก, ความคิดหรือสภาพจิตของเรามันไม่ได้ประกอบขึ้นจาก "ปัญหาเดียว" หรือ "ประเด็นเดียว" น่ะ เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า ความรู้สึกของเราภายในเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงในตอนนี้มันถูกทับถมทับซ้อนทั้งเรื่องปัญหาประชาธิปไตยในไทย, การหาผัวไม่ได้, ปัญหาพม่า, ปัญหาการเงินของเรา, ปัญหายูเครน, เมื่อไหร่ลูกหมีจะกลายร่างเป็นผู้ชาย, ปัญหาชายแดนใต้, เอ๊ะ ปลาที่กูกินเข้าไปมันมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่หรือเปล่า, ปัญหาโควิด, ปัญหาครอบครัวของเราเอง, etc.

 

คือเหมือนหนังส่วนใหญ่มันจะพูดถึงประเด็นเดียวไปเลย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดอะไร แต่เราก็อยากได้หนังที่มันทำตัวใกล้เคียงกับห้วงความคิดของเราในแบบข้างต้นด้วย ห้วงความคิดที่เต็มไปด้วยมิติต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ และปัญหาเหี้ยห่าสารพันบนโลกนี้ทับซ้อนอยู่ในหัวของเราภายในเวลาเดียวกัน แทนที่จะแยกต่างหากจากกัน เพราะเราว่าการที่ปัญหาเหล่านี้มันทับซ้อนอยู่ในหัวของเราในเวลาเดียวกันมันคือความจริงของเรา เราก็เลยอยากได้หนังที่สะท้อนความจริงของเราแบบนี้มาก ๆ เพราะฉะนั้น A GRIN WITHOUT A CAT ก็เลยตอบสนองความต้องการของเราได้ตรงจุดมาก ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะชอบหนังของ Patricio Guzman น้อยลงแต่อย่างใด

 

6.พอดู A GRIN WITHOUT A CAT แล้วตอนแรกก็เลยจินตนาการเล่น ๆ ว่า อยากให้มีคนสร้างหนังแบบนี้ในไทยด้วย (หรืออาจจะมีคนสร้างไปแล้ว แต่เราไม่ได้ดูเอง) โดยที่หนังเรื่องนั้นจะมีพูดถึงทั้งปัญหาประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่ปี 1932, การสังหารคนมากมายในยุคจอมพลสฤษดิ์, 14 ต.ค. 1973, 6 ต.ค. 1976, พฤษภาทมิฬ, สงครามยาเสพติด, กรือเซะ, ทนายสมชาย นีละไพจิตร, คดีของคุณสุภิญญา กลางณรงค์, การสังหารหมู่คนเสื้อแดง, เหมืองทองอัครา, กฎหมายนิรโทษกรรม, ปัญหาความยากจน, etc. ในหนังเรื่องเดียวกัน แต่คิดไปคิดมาแล้ว หนังที่ออกมาก็คงลำเอียงเข้าข้างฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ดี เพราะพอมองจากมุมมองของเราเอง เราก็นึกถึงปัญหาในยุคทักษิณได้ไม่มากเท่าไหร่ 55555 ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครที่ทำหนังแบบนี้แล้วออกมา balance ทั้งสองฝั่งได้จริงหรือเปล่า แต่คิดว่าตัว subject ที่น่าสนใจมาก ๆ ในหนังแบบนี้ก็คงเป็นคุณจำลอง ศรีเมือง กับคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลนี่แหละ เพราะเรารู้สึกว่า subjects แบบนี้มีความกลมดี ไม่ขาวไม่ดำมากเกินไปในความเห็นของเรา

No comments: