Thursday, October 08, 2015

MAY WHO? (2015, Chayanop Boonpragob, A+30)

MAY WHO? (2015, Chayanop Boonpragob, A+30)
เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ตอนช่วงแรกๆของหนังเราจะไม่ได้ชอบหนังมากนัก คือรู้สึกว่ามันเล่าเพลินๆดี set up โลกของเนื้อเรื่องในหนังได้เก๋ไก๋ดี แต่ตัวละครมันยังดูเป็นตัวละครอยู่น่ะ เรายังไม่ได้รู้สึกผูกพันกับมัน หรือไม่สามารถเชื่อมโยงตัวละครต่างๆในหนังเข้ากับความรู้สึกส่วนตัวได้ คือช่วงแรกๆของหนังเราจะรู้สึกว่า ตัวละครในหนังมันเหมือนกับตัวละครที่เราพบได้ทั่วๆไปในหนังเกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมในไทย หรือแม้แต่ในหนังฮอลลีวู้ดบางเรื่องที่ชอบเล่าเรื่องเพื่อนสองคนปิ๊งกันเอง

และสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เรา underestimate ช่วงแรกของหนัง (คือช่วงแรกของหนังทำให้เราเดาล่วงหน้าว่า เราน่าจะชอบหนังเรื่องนี้ไม่เกินระดับ A+15) เพราะช่วงแรกของหนังมันเป็นการจัดแบ่งเด็กนักเรียนมัธยมเป็นกรุ๊ปต่างๆน่ะ ซึ่งมันเป็นกรุ๊ปที่เราไม่ค่อย identify กับชีวิตส่วนตัวของตัวเองในวัยมัธยมเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมันแตกต่างกัน หรือประสบการณ์ส่วนตัวในวัยมัธยมของแต่ละคนมันแตกต่างกันด้วยมั้ง เราก็เลยรู้สึกเหินห่างมากพอสมควรกับการ “จัดแบ่งกรุ๊ป” ของเด็กนักเรียนในช่วงต้นของหนังเรื่องนี้

ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือว่า เรารู้สึกว่าในวัยมัธยมนั้น เพื่อนๆเราแต่ละคนมันซับซ้อนเกินกว่าจะจัดแบ่งกรุ๊ปกันได้ง่ายๆแบบนั้นน่ะ คือแต่ละคนมันมีความไม่สามารถ categorise กันได้ง่ายๆอยู่ในตัวเอง บางคนที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ก็สอบเทียบติดแพทย์จุฬาตั้งแต่ม.5 หรือเพื่อนผู้หญิงบางคนที่เรียนเก่งสุดๆ ยามว่างเธอก็เอาเพลง WHERE’S THE PARTY ของ Madonna มาดัดแปลงใหม่เป็น WHERE’S THE PENIS? แล้วร้องว่า “Where’s the penis? I wanna free my soul. Where’s the penis? I wanna lose my hole.” อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นในหลายๆครั้ง “ความเป็นเด็กเรียน” กับ “ความเป็นกะหรี่” จึงอยู่ในตัวคนคนเดียวกัน และเพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกค่อนข้างเหินห่างกับช่วงแรกของหนังในระดับนึงที่มันทำเหมือนกับว่า เราสามารถ categorise เด็กมัธยมได้ง่ายๆ

2.แต่พอช่วงต่อๆมาของหนัง ก็กลับกลายเป็นว่าเราชอบหนังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในแง่นึงหนังมันก็อาจจะแสดงให้เห็นว่า บางครั้งเราก็ categorise คนไม่ได้ง่ายๆหรอก และมันเหมือนกับว่าหนังสร้างตัวละครหลักทั้ง 4 ตัวให้ดูเป็นมนุษย์ในสายตาของเราได้มากในระดับนึงน่ะ เราว่าเราเริ่มชอบตั้งแต่ตอนที่หนังแสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นของพระเอกที่มีต่อการเขียนการ์ตูนแล้วล่ะ คือเราชอบที่หนังมันให้ความสำคัญกับงานอดิเรกนี้ของพระเอกอย่างจริงจังมากๆ มันเหมือนกับหนังยอมรับว่า ตัวละครแต่ละตัวมันมี “ด้านอื่นๆ” ในชีวิตของมันด้วย มันไม่ได้มีหน้าที่ “เรียนรู้เรื่องความรักในวัยมัธยม” ตามกรอบ genre ของหนังเพียงอย่างเดียว

3.อีกสิ่งที่ชอบสุดๆก็คือ หนังไม่ได้หาทางออกง่ายๆด้วยการทำให้ตัวละครพี่เฟม (ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร) กลายเป็นคนเลว คือหนัง genre นี้มักจะหา “ข้ออ้างโง่ๆ” ให้นางเอกหันมาชอบพระเอก ด้วยการทำให้นางเอกพบว่าที่จริงแล้วตัวละครประเภทพี่เฟม เป็นคนเจ้าชู้ ไม่จริงใจ อะไรทำนองนี้ แต่หนังไม่ได้หาทางออกง่ายๆแบบนั้น เพราะพี่เฟมเป็นคนดีจริง และชอบนางเอกจริงๆ เราก็เลยชอบมากที่หนังไม่ได้หาทางออกง่ายๆให้กับนางเอก

4.ชอบมากๆที่พระเอกเหมือนกับพยายามบอกตัวเองในทำนองที่ว่า “แค่ได้เห็นเธอในบางครั้ง เราก็พอใจแล้ว เราไม่ต้องสารภาพรักกับเธอหรือจีบเธออย่างตรงไปตรงมาก็ได้” เพราะนั่นก็เป็นสิ่งที่เรามักจะบอกกับตัวเองเหมือนกัน 555 เพราะเราก็ชอบผู้ชายหลายคนที่เราเจอบ่อยๆในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือพนักงานชายบางร้านที่เราไปอุดหนุนร้านของเขาเป็นประจำ แต่เราก็บอกกับตัวเองว่า เราพึงพอใจที่ได้เห็นเขาบ่อยๆหรือพูดคุยกับเขาเล็กน้อยก็พอแล้วล่ะ เราขี้เกียจเสยหีใส่เขา เพราะแค่นี้ปัญหาชีวิตเราก็มากพอแล้ว

แต่ถ้าเป็นคนที่เรารู้ตัวว่าชอบจริงๆ เราก็ทำแบบพระเอกเหมือนกันนะ นั่นก็คือสารภาพรักไปเลย ซึ่งเกย์คนนั้นก็ไม่ได้ชอบเราตอบ แต่เราก็สบายใจ เพราะเราสารภาพไปแล้ว โล่งอก พอเขาไม่ได้ชอบเรา เราก็หาผู้ชายคนใหม่ต่อไป 555

เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกอินกับหนังเรื่องนี้มากในระดับนึงน่ะ มันเหมือนกับว่าคนเขียนบทหนังเรื่องนี้มีความเข้าอกเข้าใจหัวอกของ “คนที่แอบหลงรักเขาข้างเดียว” แบบเรามากพอสมควร ทั้งในเรื่องของ “การหาข้ออ้างต่างๆนานาให้กับตัวเอง เพื่อจะได้ไม่สารภาพรัก” และ “การสารภาพรักเสร็จแล้ว ก็สบายใจ”

5.อีกสิ่งที่อินกับพระเอกมากๆก็คือ ความรู้สึกของการ “ช่วยคนที่เราชอบให้ได้รักกับคนอื่น” น่ะ เพราะมันคือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับเรา อย่างเช่น เราชอบเกย์หนุ่มหล่อ  A และเราก็ชอบเกย์หนุ่มหล่อ  B แต่ A กับ B ไม่ได้ชอบเรา และทั้งสองก็กลายเป็นแฟนกัน และเราก็มีหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแก่ทั้งคู่เวลาทั้งคู่ทะเลาะกันอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นฉากที่พระเอกพยายามเขียนการ์ตูนเชียร์ให้นางเอกรักกับพี่เฟม ก็เลยเป็นอะไรที่เรา identify กับตัวเองได้อย่างรุนแรงมาก เพราะเราก็มักจะพยายามช่วยเหลือ/ปลอบใจ/ให้คำปรึกษาแก่ A และ B เพื่อที่ทั้งสองจะได้ประคับประคองความรักกันไปได้นานๆ ทั้งๆที่จริงๆแล้วเราอยากได้ทั้ง A และ B เป็นผัว

6.เราว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้เก่งในการจับ target group ได้หลายกลุ่มนะ คือมันมีนักแสดงอย่าง “ต่อ ธนภพ” ที่หล่อถูกใจเรามากๆ เพื่อดึงดูดให้คนดูอย่างเรายอมจ่ายเงินเข้าไปดูในโรงน่ะ แต่จริงๆแล้วเราจะเกลียดตัวละครแบบแก๊งเมย์หลีดมากๆ คือถ้าแก๊งเมย์หลีดมาอยู่ในหนังของเรา แก๊งนี้อาจจะตายใน 3 วินาที หรือไม่ก็ต้องได้ปะทะกับตัวละคร “สาวร้าย” แบบผู้ร้ายในหนังเรื่อง KRISTY (2014, Oliver Blackburn, A+30) แน่ๆ แต่พอดูปฏิกิริยาจากผู้ชมคนอื่นๆ เราก็พบว่าตัวละครที่เราเกลียด คือตัวละครที่คนอื่นๆชอบมากๆ เราก็เลยทึ่งที่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้สามารถจับ target group ได้หลายกลุ่ม คือมันมีตัวละครแบบพี่เฟมเพื่อสร้าง pleasure ให้กับคนดูอย่างเรา และมีตัวละครแบบแก๊งเมย์หลีดเพื่อสร้าง pleasure ให้กับคนดูกลุ่มอื่นๆน่ะ


7.สรุปว่าจริงๆแล้ว “เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ” ไม่ใช่หนังสไตล์แบบที่เราชอบเลยนะ คือถ้าหากเป็นหนังสไตล์แบบที่เราชอบ มันต้องเป็นเรื่อง BU SU (1987, Jun Ichikawa) ที่เล่าเรื่องของเด็กสาวมัธยมที่ “แทบไม่สุงสิงกับใคร” เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ถึงแม้เมย์ไหนจะไม่ใช่หนัง “สไตล์” แบบที่เราชอบ แต่พอเราได้ดูจริงๆแล้ว เรากลับพบว่าเราชอบมันกว่าที่คาดไว้เยอะมาก คือพอดูๆไปแล้ว เรารู้สึกว่าตัวละครในหนังมันมีมิติมากกว่าที่คาด หรือมีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่เราคาดไว้ก่อนจะเข้าไปดูน่ะ มันเหมือนกับว่าเราคาดว่าเราจะได้ดูอะไรแบบ 2 มิติ แต่พอดูจริงๆแล้วมันกลับเป็น 3 มิติ อะไรทำนองนี้

No comments: