Tuesday, October 06, 2015

RIP CHANTAL AKERMAN

RIP CHANTAL AKERMAN

หนึ่งในสิ่งที่ประทับใจมากๆเกี่ยวกับ Chantal Akerman คือเธอทำหนังสั้นเรื่องแรกตอนอายุ 18 ปีเท่านั้น เพราะเธอได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เธอได้ดูหนังของ Jean-Luc Godard และหนังสั้นเรื่องแรกของชองตาลก็คือเรื่อง BLOW UP MY TOWN (1968, A+30) ซึ่งเป็นหนังที่สุดตีนมากๆ และพอBLOW UP MY TOWN ได้ออกฉาย ในวันต่อมา Andre Delvaux ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งภาพยนตร์เบลเยียม” ก็ออกมาพูดชื่นชมหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงมากๆ และการที่ Delvaux ออกมาชื่นชมยกย่องผู้กำกับหน้าใหม่อายุเพียง 18 ปีคนนี้ ก็เลยมีส่วนทำให้ชองตาลได้แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว

เพื่อนเราเคยเล่าว่า เขาเคยจัดฉาย JEANNE DIELMAN, 23, QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman, 200min, A+30) ในงานสิทธิสตรีอะไรสักอย่างที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งในงานฉายนี้มี feminists มาดูหนังเรื่องนี้กันอย่างคับคั่งเต็มโรง แต่พอหนังฉายจบ ปรากฏว่าเหลือคนดูอยู่ 4 คน

Chantal Akerman เสียชีวิตขณะอายุ 65 ปี, Werner Schroeter เสียชีวิตขณะอายุ 65 ปี ส่วน Harun Farocki เสียชีวิตขณะอายุ 70 ปี ผู้กำกับที่เราชอบสุดๆทั้ง 3 คนนี้เสียชีวิตในช่วงอายุใกล้ๆกันเลย


หนังของ  Chantal Akerman ที่เราเคยดู เรียงตามลำดับการฉายในเมืองนอก

1.BLOW UP MY TOWN (1968) ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2.JEANNE DIELMAN, 23, QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975)

3.JE, TU, IL, ELLE (1976)

4.NEWS FROM HOME (1977) ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

5.THE EIGHTIES (1983) ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

6.I’M HUNGRY, I’M COLD (1984) ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

7.GOLDEN EIGHTIES (1986) ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

8.NIGHT AND DAY (1991)

9.FROM THE EAST (1993)

10.CHANTAL AKERMAN PAR CHANTAL AKERMAN (1997) ดูที่หอศิลป์จามจุรี

11.TOMORROW WE MOVE (2004)

ในบรรดาหนัง 11 เรื่องนี้ เราชอบในระดับ A+30 เกือบหมดทุกเรื่องเลย ยกเว้น THE EIGHTIES กับ GOLDEN EIGHTIES ที่ไม่ได้ชอบถึงระดับ A+30 ในการดูรอบแรกเมื่อราว 15 ปีก่อน แต่ถ้าเราได้ดูอีกรอบ เราอาจจะชอบมากขึ้นก็ได้

อันนี้เป็นภาพจากหนังเรื่อง SOUTH (1999, Chantal Akerman, 70min) ซึ่งเป็นหนังที่เราอยากดูมากๆ แต่ยังไม่ได้ดู

เราชอบที่ Trevor Johnston เขียนถึงหนังเรื่อง SOUTH ใน TIME OUT FILM GUIDE มากๆ เขาเขียนว่า

“บริบทสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง  ในช่วง 15 นาทีแรกของหนังสารคดีเรื่องนี้ เราได้เห็นภาพชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของสหรัฐ ใครบางคนตัดหญ้าในสนามหน้าโบสถ์ ผู้คนแต่ละคนต่างก็ทำธุระของตนเอง และไม่มีการบรรยายเลยในช่วง 15 นาทีแรก จนกระทั่งคนดำบางคนเริ่มรำลึกถึงรายละเอียดในเหตุการณ์ฆาตกรรม James Byrd ในปี 1998 เมื่อกลุ่มชายผิวขาวที่มีแนวคิดเหยียดผิวอย่างรุนแรงจับชายผิวดำคนหนึ่งไปผูกไว้ท้ายรถบรรทุก แล้วลากไปตามถนนจนเขาเสียชีวิต และมีการพบเศษชิ้นส่วนศพของชายผิวดำคนนี้ตกเรี่ยราดอยู่ตลอดระยะทาง 3 ไมล์ที่ร่างของเขาถูกลากไป และทันใดนั้นเอง ภาพชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองแจสเปอร์ รัฐเท็กซัสที่ดูดาษดื่นธรรมดาก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากเดิมในทันที เพราะภาพสามัญดาษดื่นเหล่านี้กลับฉายรัศมีของความสยองขวัญและความขัดแย้งด้านสีผิวอย่างรุนแรงเอาไว้ โดยหนังเรื่องนี้ได้นำฟุตเตจงานรำลึกถึง James Byrd ที่โบสถ์ในท้องถิ่นมาใส่เข้าไปในหนังด้วย และทำให้อารมณ์ของหนังทวีความรุนแรงขึ้นอีกขั้น และในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ เราก็ได้เห็นฉากที่ Akerman ถ่ายติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน โดยเป็นการถ่ายท้องถนนทุกตารางนิ้วที่ร่างของชายผิวดำคนนี้เคยถูกลากไป และช็อตท้องถนนที่สุดแสนจะธรรมดาสามัญนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ธรรมดาสามัญอีกต่อไป เพราะทุกวินาทีของการเดินทางนี้คือเสียงกรีดร้องของความเจ็บปวด”

หนังเรื่อง SOUTH นี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม CINEMA OF DISASTER เหมือนหนังเรื่อง SHOAH (1985, Claude Lanzmann, 566min) และ HIROSHIMA MON AMOUR (1959, Alain Resnais) ด้วย โดย SHOAH มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วน HIROSHIMA MON AMOUR มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่า โดยหนัง 3 เรื่องนี้มีจุดเหมือนกันก็คือมันเป็นหนังที่พยายามพูดถึงเหตุการณ์รุนแรง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือมันเป็นหนังที่ยอมรับว่า “มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหาภาษาใดๆก็ตามที่จะสามารถนำเสนอเหตุการณ์รุนแรงนั้น” (THE IMPOSSIBILITY OF FINDING A LANGUAGE TO REPRESENT SUCH EVENTS)

No comments: