Sunday, October 04, 2015

THE TRIBE (2014, Myroslav Slaboshpytskiy, Ukraine, A+30)

THE TRIBE (2014, Myroslav Slaboshpytskiy, Ukraine, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ชอบตั้งแต่ฉากแรกของหนังแล้ว ที่เหมือนเป็นการจับสังเกตคนอยู่ห่างๆ โดยหนังไม่บอกด้วยซ้ำว่าเราควรสังเกตใครหรืออะไรในช่วง 5 วินาทีแรกของหนัง

2.ชอบการถ่ายลองเทคของหนังตั้งแต่ในช่วงแรกๆมาก รู้สึกว่าผู้กำกับยุโรปตะวันออกหลายๆคนจะเก่งด้านนี้เป็นพิเศษ ทั้ง Miklós Jancsó จากฮังการี, Béla Tarr จากฮังการี และ Alexander Sokurov จากรัสเซีย แต่ถึงแม้ผู้กำกับกลุ่มนี้จะถ่ายลองเทคเหมือนกัน แต่ลักษณะการถ่ายลองเทคของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป

3.บางทีสาเหตุส่วนหนึ่งที่เราชอบหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะเราชอบหนังที่เปิดพื้นที่จินตนาการให้กับผู้ชมน่ะ คือหนัง narrative หลายๆเรื่องมันจะ “บอก” ผู้ชมหมดเลยว่าเกิดอะไรขึ้น (หรือหนังกลุ่ม tell) แต่มันจะมีหนัง narrative บางเรื่องและหนังทดลองหลายเรื่องที่ไม่บอกผู้ชมว่าเกิดอะไรขึ้นโดยตรง แต่จะ “แสดง” ให้ผู้ชมเห็นเหตุการณ์บางอย่าง แล้วให้ผู้ชมปะติดปะต่อเนื้อเรื่องเอาเอง (หนังกลุ่ม show) ซึ่งหนังกลุ่ม show นี้ผู้ชมอาจจะต้องตั้งอกตั้งใจดูมากกว่าหนังกลุ่ม tell ไม่งั้นจะตามเรื่องไม่ได้ (หนังของ Hou Hsiao-hsien หลายๆเรื่องก็อาจจะเข้าข่ายนี้)

สำหรับเราแล้ว เราว่าหนังหลายๆเรื่องที่กระตุ้นจินตนาการเราไปด้วยในขณะรับชม แทนที่จะปล่อยให้เรา passive รับข้อมูลจากหนังไปเรื่อยๆเพียงอย่างเดียว มันเป็นหนังที่เราชอบมากน่ะ ซึ่งหนังหลายๆเรื่องก็ใช้วิธีแตกต่างกันไปในการกระตุ้นจินตนาการเรานะ อย่างเช่น

3.1 หนังที่มี ellipsis เยอะๆ หรือหนังที่ชอบเล่าข้ามเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง แล้วให้ผู้ชมหาทางเชื่อมต่อให้ได้เองว่า ระหว่างแต่ละช็อตที่เราได้เห็นในหนังนั้น มันมีเหตุการณ์สำคัญอะไรตกหล่นหายไปบ้าง ซึ่งเราจะพบอะไรแบบนี้ได้ในหนังของ Robert Bresson และหนังอย่าง LORNA’S SILENCE (2008, Jean-Pierre Dardenne + Luc Dardenne)

3.2 หนังที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น offscreen อย่างเช่น FORGET ME (1994, Noémie Lvovsky) ที่นางเอกเห็นอุบัติเหตุบางอย่าง แต่เราได้เห็นแต่สีหน้าของนางเอก แต่ไม่เห็นตัวอุบัติเหตุนั้น และ A CASTLE IN ITALY (2013, Valeria Bruni Tedeschi) ที่มีฉากที่นางเอกส่งเสียงโหยหวนแบบแปลกๆ แต่เราได้เห็นแต่สีหน้าแม่ของนางเอก แต่ไม่เห็นหน้านางเอกขณะส่งเสียงโหยหวน

3.3 ในขณะที่หนังกลุ่ม ellipsis และหนังกลุ่ม offscreen กระตุ้นจินตนาการเราด้วยการทำให้เรา “ไม่เห็น” เหตุการณ์สำคัญ เราก็เลยดีใจที่ได้พบหนังอย่าง THE TRIBE ที่ใช้วิธีการแตกต่างออกไป คือใน THE TRIBE เราได้เห็นเหตุการณ์สำคัญ แต่เราไม่เข้าใจว่าตัวละครคุยอะไรกัน หนังเรื่องนี้ก็เลยกระตุ้นจินตนาการเราเกือบตลอดเวลา แต่เป็นการกระตุ้นจินตนาการเราในแบบที่แตกต่างไปจากหนังสองกลุ่มข้างต้น

4.ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้กำกับ THE TRIBE ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเงียบ ซึ่งตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้เราก็นึกถึงหนังเงียบในทศวรรษ 1910-1920 จริงๆ เพราะตอนที่เราดูหนังเงียบ เราก็จะต้องจินตนาการในหลายๆครั้งว่าตัวละครมันคุยอะไรกัน โดยเฉพาะในหนังอย่าง THE SUFFRAGATE (1913, Urban Gad) ที่เรามักจะเห็นตัวละครทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่หนังจะขึ้น intertitle มาน้อยมาก เหมือนในบางช่วงเราเห็นตัวละครทะเลาะกัน 5 นาที แต่หนังขึ้น intertitle มาแค่ 3 ประโยค อะไรทำนองนี้ แต่ปรากฏว่าเราก็ดูหนังอย่าง THE SUFFRAGATE เข้าใจได้ เพราะเราเข้าใจว่าตัวละครทะเลาะกันในประเด็นอะไร เราก็เลยไม่จำเป็นต้องได้ยินทุกๆประโยคที่ตัวละครพูด

แต่ THE TRIBE มันก็ไปสุดทางกว่าหนังเงียบนะ เพราะหนังเงียบมันยังมี intertitles มาช่วยแนะแนวทางเป็นระยะๆ ว่าตัวละครมันคุยอะไรกันบ้าง

5.แต่ THE TRIBE ก็ไปสุดทางในระดับที่ยัง “สร้างความพึงพอใจอย่างเต็มที่” แก่ผู้ชมอย่างเรานะ เพราะถึงแม้ THE TRIBE จะไม่เฉลยเลยว่าตัวละครคุยอะไรกัน เราก็ปะติดปะต่อเนื้อเรื่องได้ทั้งหมด อย่างสบายๆอยู่ดี

คือ THE TRIBE มันไม่ได้ไปสุดขั้วในแง่ “ไม่สื่อสารกับผู้ชม” เลยแบบหนังทดลองบางเรื่องน่ะ อย่างเช่น

5.1 PERU TIME (2009, Chaloemkiat Saeyong) ที่เราจะเห็นตัวละครสื่อสารกันด้วยภาษาเขียนเป็นเวลาเกือบ 20 นาที แต่ไม่เข้าใจเลยว่าพวกเขาสื่อสารกันว่าอะไรบ้าง เพราะมันไม่ใช่ภาษาเขียนของมนุษย์

5.2 หนังหลายๆเรื่องของ Teeranit Siangsanoh ที่เราได้เห็นตัวละครคุยกันอย่างยืดยาว แต่เราไม่เข้าใจว่าพวกเขาคุยอะไรกัน เพราะหนังบันทึกเสียงมาไม่ดี 555 แต่โชคยังดีที่หนังของ Teeranit มีจุดเด่นที่บรรยากาศด้วย หนังก็เลย fulfill เราในด้านบรรยากาศได้

5.3 หนังอย่าง CORNEILLE-BRECHT (2009, Jean-Marie Straub + Cornelia Geiser) ที่ตัวละครพูดภาษาฝรั่งเศสกับเยอรมันตลอดทั้งเรื่อง แต่มาฉายในไทยโดยไม่มี subtitles ภาษาอังกฤษ เราก็เลยต้องใส่ใจกับ “อากัปกิริยา” ของนักแสดงในเรื่อง และ “ลักษณะการพูด” ของนักแสดงตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่รู้เลยว่าเขาพูดอะไรกัน

คือเวลาเราดูหนังของ Teeranit ที่บันทึกเสียงมาไม่ดี หรือหนังอย่าง CORNEILLE-BRECHT หรือหนังยุโรปที่ไม่มี subtitles ภาษาอังกฤษแล้วเรามีความจำเป็นต้องดูมันในสภาพไม่มี subtitles อย่างนั้นในบางครั้ง เราจะรู้สึกหงุดหงิดน่ะ เพราะเรารู้ว่ามันมีข้อมูลสำคัญบางอย่างหลุดรอดจากการรับรู้ของเราไป แต่มันไม่เหมือนอย่าง THE TRIBE เพราะเรารู้ว่าผู้กำกับเขาตั้งใจมาแบบนั้นอยู่แล้ว มันไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค เราก็เลยดูแล้วไม่หงุดหงิด แต่ดูด้วยความรื่นรมย์เป็นอย่างมาก

6.ชอบ “น้ำเสียง” ในการสื่อสารของตัวละคร โดยผ่านทางความรุนแรงของลีลาท่าทาง โดยเฉพาะในฉากที่นางเอกกับเพื่อนสาวเหมือนจะทะเลาะกัน เราว่าลีลาของสองสาวในฉากนี้เหมือนใช้แทน “น้ำเสียง” ของคนปกติได้

7.ตอนที่ดูจะนึกถึงหนัง feel-bad เรื่องอื่นๆเหมือนกัน อย่างเช่น IMPORT/EXPORT (2007, Ulrich Seidl) ที่นำเสนอสภาพชีวิตเส็งเคร็งในยุโรปตะวันออก, SOUND AND FURY (1988, Jean-Claude Brisseau) ที่เล่าเรื่องแก๊งอันธพาลในโรงเรียนมัธยม, HI TERESKA (2001, Robert Glinski) ที่เล่าเรื่องกลุ่มเด็กเสเพลในโปแลนด์ และ 4 MONTHS, 3 WEEKS AND TWO DAYS (2007, Cristian Mungiu) ที่เล่าเรื่องสองสาวกับการทำแท้งในโรมาเนีย

8.ฉากพระเอกกับนางเอกจูบกันในหนังเรื่องนี้เป็นฉากที่น่าสนใจดี เพราะตอนแรกนางเอกไม่ยอมให้พระเอกจูบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอปฏิบัติต่อเขาในฐานะลูกค้าเท่านั้น แต่พอเอากันเสร็จแล้ว เธอก็ยอมให้เขาจูบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระเอกเลื่อนสถานะขึ้นมาจากการเป็นแค่ลูกค้าแล้ว

ถ้าเข้าใจไม่ผิด มีหนังและละครเวทีหลายๆเรื่องที่มีตัวละครโสเภณีที่เคร่งครัดกับธรรมเนียมไม่ยอมให้จูบน่ะ อย่างเช่น PRETTY WOMAN (1990, Garry Marshall), ONLY ON MONDAYS (1964, Kô Nakahira) และ MAISON CENT SENSES (2015, Kevin Laddapong, stage play) พอเราได้เห็นฉากจูบกันในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยนึกถึงหนังกลุ่มนี้ขึ้นมาด้วย

9.ถึงมันจะเป็นหนัง feel bad แต่เราว่าจริงๆแล้วเราสามารถเอาหนังเรื่องนี้ไปใช้สอนประกอบบทเรียนเรื่อง “กงกำกงเกวียน”  ตามหลักศาสนาพุทธได้เลยนะ 555 เพราะตัวละครมันเจออะไรที่กงกำกงเกวียนมากๆ เด็กๆที่ทุบคนขายของในโบกี้รถไฟ ตอนหลังก็ถูกกลุ่มอันธพาลรุ่นพี่มาเอาเรื่องฐานยักยอกเงิน, ครูที่เป็นแมงดา ก็ถูกทุบหัวด้วยค้อนที่ตัวเองมีส่วนช่วยสร้าง, พระเอกที่ขโมยเงินเพื่อนางเอก ก็ไม่สามารถซื้อใจเธอไว้ได้อย่างเต็มที่ และกลุ่มอันธพาลที่ทำร้ายคนเพื่อปล้นเงิน ก็ได้รับบทเรียนในเวลาต่อมา

10.แต่สิ่งที่รับประกันว่า THE TRIBE จะติดอันดับประจำปีของเราอย่างแน่นอนก็คือฉากจบของหนัง ซึ่งเรารู้สึกเหมือนกับเพื่อนใน facebook คนนึงมากๆว่า มันให้ความรู้สึก release อย่างรุนแรงมาก

คือเราไม่ได้คิดว่าพระเอกทำในสิ่งที่ถูกต้องนะในฉากจบ คือถ้ามองอย่าง literally เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า คือพระเอกน่าจะตายไปตั้งแต่ฉากก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะฉะนั้นฉากจบอาจจะเป็นแค่จินตนาการของวิญญาณพระเอก หรือเป็นแค่ alternative ending สำหรับฉากก่อนหน้าฉากจบก็ได้

แต่ถ้าหากตัดประเด็นเรื่องการถูก/ผิด ควร/ไม่ควรออกไปแล้ว เราก็พบว่าฉากจบมัน fulfill เราอย่างรุนแรงในแง่อารมณ์น่ะ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม

สิ่งหนึ่งที่เราอธิบายไม่ได้ก็คือว่า ตอนที่เราดู THE TRIBE ไปถึงช่วงกลางเรื่อง อยู่ดีๆเราก็นึกถึงประสบการณ์เลวร้ายบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเราเมื่อราวๆ 30 ปีก่อนขึ้นมา แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังอย่างรุนแรงมากๆ และเราก็ไม่แน่ใจด้วยว่า มันเป็นเรื่องบังเอิญ หรือมันเป็นเพราะว่า THE TRIBE มันส่งผลบางอย่างต่อจิตใต้สำนึกของเรา มันก็เลยกวนเอาประสบการณ์ในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อนขึ้นมาได้

แต่พอเราดูถึงฉากจบ THE TRIBE เราก็รู้สึกเหมือนกับว่าความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังอย่างรุนแรงสุดๆกับเหตุการณ์บางอย่างเมื่อ 30 ปีก่อน ที่เราเริ่มรู้สึกตั้งแต่ช่วงกลางเรื่อง มันได้รับการระบายออกไปอย่างงดงาม เอิบอิ่ม ecstatic มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ผ่านทางการกระทำของตัวละครในเรื่อง

คือถ้าหาก THE TRIBE ไม่ได้จบแบบนั้นนะ หนังเรื่องนี้ก็คงจะติดอันดับ TOP 40 ประจำปีของเรา แต่พอ THE TRIBE จบแบบนี้ หนังเรื่องนี้ก็คงจะติดอันดับ TOP 20 ของเราอย่างแน่นอน เพราะมันช่วยให้เราได้จัดการกับอารมณ์บางอย่างที่หมักหมมคั่งค้างในใจเรามานาน 30 ปี

ซึ่งจริงๆแล้ว หนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดในชีวิต อย่าง LA CEREMONIE (1995, Claude Chabrol) ก็ส่งผลกระทบกับเราในแบบที่คล้ายๆกัน


สรุปว่าชอบ THE TRIBE อย่างสุดๆ เพราะ concept ของมันน่าสนใจมากๆ, หนังเล่าเรื่องได้เก่งมากๆ, ถ่ายลองเทคได้สุดฤทธิ์มากๆ, เนื้อเรื่องก็ทรงพลังมาก และมันส่งผลกระทบบางอย่างต่ออารมณ์ของเราอย่างรุนแรงมากเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะในฉากจบของหนัง ที่ช่วยพาเราไปสู่จุดสุดยอดทางอารมณ์ในลักษณะคล้ายๆกับ LA CEREMONIE

No comments: