WATERBOYY (2015, Rachyd Kusolkulsiri, A+15)
--จริงๆแล้วชอบหนังในระดับ A+30 มาตลอดทั้งเรื่องเลยนะ
แต่มันมาตกม้าตายตรงประมาณ 15 นาทีสุดท้ายของเรื่อง
ที่ทำให้ความชอบของเราหล่นฮวบอย่างรุนแรง เหมือนกับว่าหนังมันจะพยายาม “สร้างอารมณ์ซึ้งๆ”
ให้ได้ในช่วงท้ายน่ะ ตัวละครมันก็เลยทำอะไรที่ไม่เข้ากับตรรกะของเราอย่างมากๆ
เพื่อจะได้นำพาไปสู่สถานการณ์ซึ้งๆในฉากจบ แต่เราไม่โอเคกับวิธีการแบบนี้อย่างมากๆ
เหมือนหนังไทยที่ฉายโรงใหญ่หลายเรื่องมีปัญหานี้ทั้งนั้นเลยนะ อย่าง THE DOWN นี่เราก็ชอบในระดับประมาณ
A+ ถึง A+10 มาตลอดทั้งเรื่องเลยนะ
แต่พอหนังมันพยายามใส่ “ประโยคคมๆ” เข้าไปในฉากจบ แล้วไอ้ประโยคคมๆนี่มันเป็นอะไรที่ต่ำมากๆ
ความชอบของเราก็เลยหล่นฮวบมาเป็น A+/A
หนังเกย์สองเรื่องอย่าง MY BROMANCE และ LOVELOVEYOU
อยากบอกให้รู้ว่ารัก (2015, ณภัทร ใจเที่ยงธรรม)
เราก็มีปัญหากับองก์ที่สามของหนังหรือช่วงท้ายของหนังอย่างรุนแรงมากๆเช่นกัน
คือถ้าหากตัดองก์ที่สามของหนังสองเรื่องนี้ทิ้งไป
ระดับความชอบของเราที่มีต่อหนังสองเรื่องนี้จะพุ่งพรวดขึ้นมาทันที
อย่างไรก็ดี ถ้าหากเทียบกับ MY BROMANCE และ LOVELOVEYOU
แล้ว เราชอบ WATERBOYY มากกว่าหนังสองเรื่องนั้นมากๆเลยนะ
เราว่า WATERBOYY มันดู flow กว่า smooth
กว่า อารมณ์มันดูไหลลื่นเป็นธรรมชาติมากกว่าหนังสองเรื่องนั้น
อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกขึ้นมาขณะดู WATERBOYY ก็คือ
เรารู้สึกอิจฉาเด็กมัธยมยุคนี้อย่างรุนแรงที่มีหนังอย่าง WATERBOYY มาให้ดู คือเรารู้สึกว่า ถ้าหากเราได้ดูหนังแบบนี้ขณะที่เรายังเป็นวัยรุ่น
เราคงจะมีความสุขอย่างสุดๆมากๆ ฝันหวานมากๆๆๆๆๆๆ
คือหนังแบบนี้มันคงทำให้เราขณะเป็นวัยรุ่น “มีความฝันว่าวันพรุ่งนี้เราอาจจะได้เจออะไรแบบในหนัง
หรือเจอผู้ชายแบบในหนัง” ก็ได้ อะไรทำนองนี้ แต่ตอนนี้เราอายุ 42 ปีแล้ว
เพราะฉะนั้นขณะที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็ไม่สามารถฝันหวานว่าเหตุการณ์ในหนังมันจะสามารถเกิดขึ้นได้กับชีวิตเราอีกต่อไปแล้วน่ะ
ขณะที่เราดู WATERBOYY เราก็นั่งนึกย้อนไปเหมือนกันนะว่า
ตอนที่เราเป็นวัยรุ่น หนังเรื่องไหนที่มีอิทธิพลต่อ “จินตนาการชีวิตเกย์ในอนาคต”
ของเรา และเราก็พบว่า มันอาจจะเป็นหนังเรื่อง “ฉันผู้ชายนะยะ” (1987, M.L.
Bhandevanop Devakul) ที่เราได้ดูในโรงหนังสยาม
คือในยุคนั้นหนังเกย์มันยังเป็นสิ่งที่หายากมากๆเลยน่ะ แล้วพอเราได้ดูหนังอย่าง “ฉันผู้ชายนะยะ”
และอ่านนิยายอย่าง “ประตูที่ปิดตาย” ของกฤษณา อโศกสิน และ “ใบไม้ที่ปลิดปลิว”
ของทมยันตีในตอนที่เราเป็นเด็ก จินตนาการของเราที่มีต่อชีวิตเกย์ของเราในอนาคต
มันก็เลยออกมาไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ มันไม่ใช่ว่านิยายและหนังเหล่านี้ไม่ดีนะ
แต่นิยายและหนังเหล่านี้มันสะท้อนชีวิตเกย์ที่ไม่ค่อยสมหวังน่ะ และมันไม่ถูก balance
ด้วย “หนังเกย์พาฝัน” เลย มันก็เลยเหมือนกับว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก
เราได้รับรู้แต่ “ภาพเกย์ระทมทุกข์” ผ่านทางภาพยนตร์และนิยายเพียงด้านเดียว
และไม่ได้รับรู้ “ภาพเกย์พาฝัน” เพื่อมาถ่วงดุลกัน
คือถ้าหากเราได้ดูหนังอย่าง WATERBOYY ในปี 1987
เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่า มันจะส่งผลกระทบต่อทัศนคติของเราอย่างไรบ้าง บางที
ชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนไปจากนี้ก็ได้ 555
ตอนที่เราดู WATERBOYY เราจะนึกถึงประโยคนึงในหนังซอมบี้เรื่อง COOTIES
(2014, Jonathan Milott + Cary Murnion, A+25) อย่างรุนแรง
ซึ่งมันเป็นหนึ่งในประโยคจากภาพยนตร์ที่เราชอบมากที่สุดในปีนี้ (ถ้าจำไม่ผิด)
คือมันจะมีตัวละครตัวนึงพูดในทำนองที่ว่า “ผมเป็นครู
และผมไม่มีความสุขกับการเป็นครู เพราะเวลาที่ผมสอนเด็กๆ ผมรู้ดีว่า
เด็กๆที่ผมสอนยังมีอนาคตรออยู่ข้างหน้า
พวกเขาอาจจะกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในอนาคต
แต่ตัวผมเองไม่มีโอกาสแบบนั้นอีกแล้ว ผมอิจฉาเด็กๆที่ผมสอนมาก เพราะพวกเขามีอนาคตรออยู่
มีโอกาสรออยู่ แต่ผมไม่มีโอกาสแบบนั้นอีกแล้ว”
ตอนที่เราดู WATERBOYY เราก็รู้สึกทำนองคล้ายๆกัน
เรารู้สึกอิจฉาเด็กเกย์มัธยมยุคนี้มากๆที่ได้ดูหนังอย่าง WATERBOYY ตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเด็ก เรารู้สึกอิจฉาเด็กเกย์ยุคนี้มากๆ
ที่พวกเขาอาจจะได้เริงรักแบบในหนัง WATERBOYY ตั้งแต่อยู่มัธยมหรือมหาลัยก็ได้
ในขณะที่เราไม่มีโอกาสแบบนั้นอีกแล้ว
No comments:
Post a Comment