Wednesday, October 14, 2015

SUMURUN (1920, Ernst Lubitsch, Germany, A+30)

SUMURUN (1920, Ernst Lubitsch, Germany, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.อันนี้เป็นหนังเรื่องที่ 5 ของ Lubitsch ที่เราได้ดู และเราก็พบว่าเราถูกโฉลกกับหนังของเขาจริงๆ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตัวละครหญิงในหนังของเขามันเข้าทางเรามากๆ เราว่าตัวละครหญิงในหนังของเขาเหมือนจะเป็นญาติๆกับตัวละครหญิงในหนังของ Paul Verhoeven เลยน่ะ ทั้งๆที่สองคนนี้ทำหนังคนละ genre กัน เพราะตัวละครหญิงในหนังของผู้กำกับทั้งสองคนนี้ต่างก็ “เข้มแข็งมาก” และ “เงี่ยนมาก” กว่าตัวละครหญิงในหนังทั่วๆไป ซึ่งความเงี่ยนนี่เป็นปัจจัยสำคัญเลย เพราะนางเอกในหนังทั่วไปมักจะ “ต้องการความรัก” แต่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความต้องการทางเพศ แต่ตัวละครหญิงในหนังของ Lubitsch และ Paul Verhoeven นี่จะกล้าแสดงความต้องการทางเพศออกมา

ใน SUMURUN นี่จะมีตัวละครหญิงที่เราชอบสุดๆถึง 3 ตัว ซึ่งได้แก่ Sumurun (Jenny Hasselqvist), Yannaia (Pola Negri) และ Haidee (Aud Egede-Nissen) โดย Sumurun นี่เป็นตัวละครที่เข้มแข็งสุดๆ มีฉากนึงที่เธอถูกชี้คทรราช (Paul Wegener) สั่งให้กราบเท้าขอขมา แล้วเขาจะไว้ชีวิตให้ แต่ Sumurun เธอไม่ยอมขอขมาทรราช เธอยอมถูกประหารชีวิตดีกว่าที่จะยอมก้มหัวให้ทรราชชั่วๆแบบนี้

ส่วน Yannaia เป็นตัวละครหญิงที่เงี่ยนมาก และมีลักษณะที่ทำให้นึกถึงตัวละครหญิงในหนังของ Verhoeven หรือตัวละครหญิงแบบ “อีพริ้ง คนเริงเมือง” และนางเอกใน “ทองประกายแสด” Yannaia เป็นตัวละครหญิงที่พยายามเสยหีใส่หนุ่มหล่ออย่างรุนแรง ซึ่งตัวละครหญิงที่ “เงี่ยนมาก” แบบนี้ เวลาอยู่ในหนังไทยหรือละครไทย มันมักจะได้รับบทเป็นเพียงแค่ “นางอิจฉา” น่ะ แต่ในหนังเรื่อง SUMURUN นี้ ตัวละคร Yannaia ถือเป็นนางเอกหรือหนึ่งในนางเอกของเรื่องเลยทีเดียว และหนังก็ดูเหมือนจะรักเธอและปฏิบัติต่อเธอในฐานะมนุษย์คนนึง แทนที่จะปฏิบัติต่อเธอเหมือนเป็นเพียงนางแพศยาที่สมควรถูกลงโทษ

ส่วน Haidee นั้น ถ้าเป็นในหนังไทยหรือละครไทย เธอจะเป็นเพียงตัวละครประเภท “เพื่อนนางเอก” ที่มีหน้าที่เพียงแค่ให้กำลังใจนางเอก คอยช่วยเหลือนางเอก หรือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นางเอกได้ระบายความในใจออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้ (คือนางเอกจะคุยกับเพื่อนนางเอก เพื่อที่ผู้ชมจะได้รู้ว่านางเอกคิดอะไร) แต่ตัวละครประเภท “เพื่อนนางเอก” นี้ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้สวยกว่านางเอก หรือมีคุณสมบัติโดดเด่นเกินหน้าเกินตานางเอกน่ะ

แต่หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราชอบ SUMURUN อย่างสุดๆ ก็คือการที่ตัวละคร “เพื่อนนางเอก” ในหนังเรื่องนี้ มันหลุดออกจากกรอบของมันน่ะ เพราะตัวละคร Haidee นี้ มีบุคลิกภาพที่โดดเด่นเกินหน้าเกินตามากๆ คือเธอมีบทบาทคอยช่วยเหลือ Sumurun (ซึ่งเป็นหนึ่งในนางเอก) ก็จริง แต่หนังขับเน้น “ความฉลาด” ของตัวละครตัวนี้อย่างรุนแรง จนเธอดูเหมือนอิ๊คคิวซัง + MacGyver + อึ้งย้ง ไปเลย เธอเป็นคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว และสามารถใช้หัวสมองของเธอในการช่วยให้นางเอกรอดจากสถานการณ์คับขันได้หลายครั้ง และในฉากของ “การประกาศความเป็นไท” นั้น เธอก็เป็นตัวละครที่โผล่ออกมาอย่างสง่างามเป็นคนแรก แทนที่จะเป็นตัว Sumurun คือการที่หนังสร้างความสง่างามให้กับตัวละคร “เพื่อนนางเอก” แบบนี้ มันเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆน่ะ

2.นอกจากการสร้างตัวละคร “เพื่อนนางเอก” ที่หลุดออกจากกรอบของความเป็นเพื่อนนางเอกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราชอบ SUMURUN อย่างสุดๆ ก็คือการสร้างตัวละคร “ตัวตลก” ที่หลุดออกจากกรอบของความเป็นตัวตลกด้วย คือใน SUMURUN นี่ มันจะมีตัวละครลุงป้าคู่หนึ่ง ที่ทำให้นึกถึง “ล้อต๊อก” กับ “ชูศรี” ในหนังไทยยุคเก่าน่ะ คือมันเป็นตัวละครลุงป้าที่เหมือนมีบทบาทแค่มาช่วยเรียกเสียงหัวเราะให้กับหนังเป็นระยะๆเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว เราก็ดูหนังไทยยุคเก่าไม่เยอะนะ แต่เท่าที่เราจำได้ ตัวละครประเภท ล้อต๊อก+ชูศรี หรือตัวตลกประเภท “ดอกดิน กัญญามาลย์ + อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา” ในหนังของดอกดิน หรือตัวละครที่แสดงโดยค่อม ชวนชื่นในหนังไทยยุคปัจจุบัน มันจะอยู่ในกรอบของความเป็นตัวตลกน่ะ มันมักจะไม่ค่อยทำอะไรเกินหน้าเกินตาพระเอกนางเอก หรืออยู่ดีๆก็กลายเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้พล็อตเรื่องพลิกผันไปอย่างรุนแรง คือตัวตลกในหนังไทยประเภทนี้ มันมักจะเป็นตัวละครที่สามารถตัดออกไปจากหนังได้เลย โดยที่เนื้อเรื่องแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อาจจะมียกเว้นก็อย่างเช่นบทของชูศรีใน “เมืองขอทาน ขี้กลากคอนกรีต” (1978, เพิ่มพล เชยอรุณ) ที่ไม่ได้ถูกจำกัดกรอบให้มีบทบาทเป็นเพียงแค่ตัวตลก แต่เธอมีบทบาทเป็น “เจ้าแม่” ในเรื่อง

ซึ่งจริงๆแล้วเราจะไม่ชอบการจำกัดกรอบให้กับ “เพื่อนนางเอก”, “นางอิจฉา”, “ตัวตลก” ในหนังไทยแบบนี้เท่าไหร่ มันไม่เข้ากับรสนิยมของเรา หรือมันไม่เข้ากับวิธีการที่เราใช้มองมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบตัวละครลุงป้าใน SUMURUN อย่างมากๆ เพราะตอนแรกเรานึกว่าลุงป้าคู่นี้มันจะมีบทบาทเรียกเสียงฮาเหมือนอย่างล้อต๊อก+ชูศรีเท่านั้น แต่ไปๆมาๆ ปรากฏว่า หนัง treat ความรักและความเงี่ยนของตัวละครลุงป้าคู่นี้อย่างจริงจังสุดๆ และพอถึงตอนจบของหนัง ก็ปรากฏว่า ตัวละครลุงหลังค่อมที่ถ้าหากอยู่ในหนังไทย ก็จะกลายเป็นตัวละครที่ถูกจัดให้อยู่ในชั้นล่างสุดหรือเกือบล่างสุด (ลำดับชั้นอาจจะเป็น พระเอก-นางเอก-ผู้ร้าย-นางอิจฉาหรือดาวยั่ว-พระรอง-นางรอง-ตัวตลก-คนใช้พระเอกและนางเอก) นี่แหละ ที่กลายเป็นคนที่ลุกขึ้นมาฆ่าทรราชได้ 

คือในหนังไทย ตัวละครที่ลุกขึ้นมาฆ่าทรราช หรือผู้ร้ายหัวโจกของเรื่อง มักจะเป็นพระเอกหรือนางเอกน่ะ ในขณะที่ตัวตลกของเรื่อง มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรแบบนี้ แต่ใน SUMURUN นี่ บทบาทการฆ่าทรราช กลับเป็นของตัวละครที่มีลักษณะคล้ายตัวตลกแบบล้อต๊อก เราก็เลยชอบจุดนี้อย่างสุดๆ มันเหมือนกับว่าในแง่นึง หนังเรื่องนี้มัน treat ตัวละครของมันอย่างค่อนข้างเสมอภาค หรือมันมองมนุษย์แบบที่เรามองน่ะ มันไม่ได้มองว่า “เพื่อนนางเอก” และ “ตัวตลก” ห้ามทำอะไรเกินหน้าเกินตาพระเอกนางเอกเป็นอันขาด แต่มันยอมรับว่าตัวละครแต่ละตัวต่างก็เป็นมนุษย์ที่มี potential ที่จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น คนที่อยู่ชั้นล่างสุด ก็สามารถลุกขึ้นมาฆ่าและโค่นล้มคนที่อยู่ชั้นสูงสุดอย่างชี้คในเรื่องได้ นอกจากนี้ “หญิงสาวที่เงี่ยนหนุ่มหล่ออย่างรุนแรง” ในหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ถูก treat เป็นเพียงแค่นางอิจฉาหรือดาวยั่วด้วย แต่ถูก treat เป็นหนึ่งในนางเอกของเรื่อง ซึ่งก็ถือเป็นการทะลายกรอบตัวละครนางเอก-นางอิจฉาด้วยเช่นกัน

กราบตีน Ernst Lubitsch จริงๆค่ะ


หนังเรื่องนี้มีให้ดูใน Youtube นะคะ

No comments: