S-21 (2015, Sineenadh Keitprapai, stage play, A+30)
--ตอนแรกก็ลังเลว่าจะไปดูดีไหม
เพราะว่าเราเคยดูหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์เขมรแดงมาแล้วประมาณ 10 เรื่อง
เราก็เลยรู้สึกว่าเราดูหนังเกี่ยวกับประเด็นนี้มาเยอะมากแล้ว
แล้วละครเวทีเรื่องนี้มันจะพูดอะไรที่มันซ้ำซากกับที่เราเคยดูมาแล้วหรือเปล่า
--แต่พอไปดูจริงๆ ก็ชอบสุดๆ
เพราะละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องที่ซ้ำซากกับหนังอีก 10
เรื่องที่เราเคยดูมา
คือหนังที่เราเคยดูมาส่วนใหญ่จะเป็นสารคดีที่ถ่ายทอดชีวิตของคนที่เคยตกเป็นเหยื่อเขมรแดงน่ะ
แล้วสารคดีพวกนี้ก็จะเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงนั้น
ส่วนละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอดชีวิตเหยื่อเขมรแดงอย่างตรงไปตรงมา
แต่เป็นเรื่องของ “รูปถ่าย”
เหยื่อเขมรแดงที่ถูกนำไปแสดงโชว์ที่แกลเลอรี่สักแห่งในนิวยอร์คซิตี้
หรืออะไรทำนองนี้ แล้ววิญญาณชาวเขมรสองดวงในรูปถ่ายนั้นก็ออกมาคุยกันในนิวยอร์ค
วิธีการเล่าเรื่องที่เหนือจริงแบบนี้มันน่าสนใจสุดๆ
และมันช่วยให้เนื้อเรื่องไม่ซ้ำซากกับหนังสารคดีอีกมากมาย
--ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้เล่าประวัติของตัวละครสองตัวนี้อย่างสมบูรณ์ด้วย
คือถ้าเป็นหนังสารคดีทั่วไป เราจะรู้เลยว่าประวัติของ subject เป็นมาอย่างไร
เขาทำอาชีพอะไร ทำไมเขาถึงถูกเขมรแดงทรมาน ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร ฯลฯ
แต่ละครเวทีเรื่องนี้เหมือนนำเสนอประวัติชีวิตตัวละครเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เราต้องคอยปะติดปะต่อเอาเองจากคำพูดที่หลุดออกมาจากปากตัวละครสองตัวนี้
เราถึงจะพอรู้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของเขาบ้าง
มันเหมือนกับว่าละครเวทีเรื่องนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตตัวละครเพียงแค่ 10%
เท่านั้นน่ะ ส่วนอีก 90% เราต้องจินตนาการเอาเอง
ซึ่งมันเป็นวิธีการที่น่าสนใจมาก และในแง่นึง มันทำให้ตัวละครในเรื่อง ไม่กลายเป็น
“บุคคลที่เฉพาะเจาะจง” เพียงแค่คนใดคนนึง
แต่สามารถเป็นตัวแทนของเหยื่อเขมรแดงหลายๆคนได้ง่ายขึ้นด้วย
คือถ้าละครเวทีให้ประวัติชีวิตของตัวละครในเรื่องแบบ 100% เต็ม
ตัวละครตัวนั้นก็จะกลายเป็น “มนุษย์ที่เฉพาะเจาะจง” คนนึงน่ะ
แต่พอละครเวทีเรื่องนี้ให้ประวัติชีวิตตัวละครเพียงแค่ 10% ตัวละครตัวนั้นก็เลยดูเลือนๆ
ลอยๆ กลายเป็น “ก้อนของความรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน เคียดแค้น” และ “ก้อนความรู้สึก”
นี้ มันสามารถเป็นตัวแทนของเหยื่อเขมรแดงได้หลายๆคน
แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่เฉพาะเจาะจงเพียงคนเดียว
--การแสดงของคุณสินีนาฏในละครเวทีเรื่องนี้นี่คือคำนิยามของคำว่า “ขั้นเทพ”
ของจริง คือแค่เห็นสีหน้าและแววตาของคุณสินีนาฏในวินาทีแรกของละครเวทีเรื่องนี้
เราก็รู้สึกว่ามันสะท้อนความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของเหยื่อเขมรแดงได้อย่างเต็มที่แล้ว
คือใบหน้า, แววตา และมือที่สั่นเทาของตัวละครหญิงในเรื่องนี้
มันเหมือนไม่ใช่การแสดงออกแต่ “ภายนอก” น่ะ
มันเหมือนกับว่าคนที่สามารถแสดงสีหน้าและแววตาแบบนี้ออกมาได้ มันต้องมี “ภายใน”
ที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัสเท่านั้น มันถึงจะแสดงออกมาแบบนี้ได้
--นอกจากการแสดงของคุณสินีนาฏแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบสุดๆในละครเวทีเรื่องนี้
ก็คือการที่ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้ความรู้สึกของเราที่มีต่อ “รูปภาพ” ในละคร
เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในช่วงต้นเรื่องกับในช่วงท้ายเรื่อง
คือในช่วงต้นของละครเวทีเรื่องนี้ พอเราเดินเข้ามาในห้องแสดง
แล้วนั่งจ้องมองรูปภาพเหยื่อเขมรแดงประมาณ 20-30 รูปบนฝาผนัง
ตอนแรกเราจะรู้สึกขบขันเล็กน้อยน่ะ เพราะปกติเราจะเคยเห็นแต่ “ภาพถ่าย”
เหยื่อเขมรแดงเท่านั้น ซึ่งภาพถ่ายเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกกลัวมาก
แต่พอมันกลายเป็น “ภาพวาด” ในละครเวทีเรื่องนี้ เราก็เลยมองมันในแง่ที่ว่า “หน้าอีนี่ดูตลกดีจัง”อะไรทำนองนี้ในช่วงต้นเรื่อง
แต่พอช่วงท้ายเรื่อง ความรู้สึกของเราที่มีต่อภาพวาดเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
มันเหมือนกับว่าภาพวาดแต่ละภาพกลายเป็นภาพของมนุษย์จริงๆในสายตาของเรา
มันเหมือนกับว่าดวงตาของภาพวาดแต่ละภาพกลายเป็นดวงตาของมนุษย์จริงๆขึ้นมา มันเหมือนกับว่าเราสามารถจินตนาการขึ้นมาได้ง่ายๆเลยว่า
ภาพวาดแต่ละภาพนั้น มันบรรจุเอาความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของชีวิตเอาไว้มากขนาดไหน
คือพอเราได้เห็นความทุกข์ทรมานของภาพสองภาพ
ผ่านทางดวงวิญญาณสองดวงในภาพสองภาพนั้นแล้ว เราก็สามารถจินตนาการได้ง่ายๆเลยว่า
ภาพวาดอื่นๆมันบรรจุเอาความทุกข์ทรมานอะไรเอาไว้บ้าง
และมันทำให้เรารู้สึกรุนแรงมากๆเมื่อได้เห็นภาพวาดเหล่านั้น
และจินตนาการเอาเองถึงชีวิตของคนแต่ละคนในภาพวาดเหล่านั้นในช่วงท้ายเรื่อง
No comments:
Post a Comment