THE LITTLE SHOP OF HORRORS (2015, Stephen Thomas, stage play, A+5)
ร้านดอกไม้กระหายเลือด
--ก่อนหน้านี้เราเคยดูเวอร์ชันหนังรีเมคในปี 1986
ที่กำกับโดย Frank Oz ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบสุดๆ
เพราะเราชอบสามสาวคอรัสผิวดำในหนังมากๆ และเพลงในหนังก็ดีมากๆ
เพราะฉะนั้นพอมาดูเวอร์ชั่นนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเข้าทางเราเท่าเวอร์ชั่นปี
1986 เพราะมันไม่มีเพลง และที่สำคัญก็คือมันไม่มี “สามสาวคอรัส”
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบสุดๆ
--แต่สิ่งที่เราชอบมากในเวอร์ชั่นนี้
ก็คือเราชอบมากที่ตัวละครพระเอกของเรื่องนั้น จริงๆแล้วอาจจะเรียกได้ว่าเป็นฆาตรกรโรคจิตที่ชั่วร้ายคนนึง
แต่เขากลับทำบุคลิกเหมือนเป็น loser หรือเป็นผู้ชายที่น่าสงสาร
น่าเห็นใจ น่าปลอบประโลมตลอดเวลา คือตัวละครฆาตกรโรคจิตในเรื่องนี้
มันมีบุคลิกเหมือนพระเอกที่พบได้ในหนังทั่วไปน่ะ
เพราะฉะนั้นการเอาบุคลิกพระเอกผู้น่าสงสาร น่าเห็นใจ มาดัดแปลงให้กลายเป็นฆาตกรโรคจิตผู้ชั่วร้าย
มันก็เลยเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ เพราะในขณะที่หนังหรือละครเวทีหลายๆเรื่อง
มันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากกันระหว่าง “พระเอกผู้มีจิตใจดีงาม” กับ
“คนร้ายจิตใจเลวทราม” เพื่อให้คนดูรู้สึกผูกพันกับฝ่ายพระเอก, identify ตัวเองกับฝ่ายพระเอก และพยายามเอาใจช่วยพระเอก
ละครเวทีเรื่องนี้กลับไม่ทำเช่นนั้น และการที่ “พระเอก” กับ
“ฆาตกรโรคจิตผู้ชั่วร้าย” กลายเป็นคนๆเดียวกัน มันก็เลยทำให้เราหันมามองว่า
จริงๆแล้ว “มนุษย์ธรรมดาๆที่มักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนดี” นี่แหละ
ที่อาจจะทำในสิ่งเลวร้ายต่างๆ โดยที่ตัวเองไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำเลว
เอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆในสังคม หรือไม่ก็รู้สึกว่าตัวเองทำเลว
ทำในสิ่งที่เห็นแก่ตัว แต่ก็พยายาม justify การทำเลวของตัวเองตลอดเวลา
เพื่อทำให้รู้สึกว่าจริงๆแล้วเราก็ไม่ได้เลวร้ายกว่าคนอื่นๆในสังคมแต่อย่างใด
จริงๆแล้วนี่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่หนังหรือละครเวทีเรื่องนี้ต้องการจะบอกก็ได้นะ
แต่มันเป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเองจากการได้ดูละครเวทีเรื่องนี้น่ะ คือขณะที่ดู
เราจะแทบไม่รู้สึกเลยว่า พระเอกของเรื่องเป็น “คนชั่วร้ายมากๆ” เพราะเขาไม่ได้เป็นฆาตกรโรคจิตที่ออกไปไล่ฆ่าคนเพื่อความสะใจ
แต่เป็นผู้ชายแหยๆ น่าสงสารคนนึง แต่พอดูจบแล้ว แล้วเราลองคิดทบทวนการกระทำของเขา
เราก็พบว่าการกระทำของเขามันก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่คนชั่วๆทำกัน
โดยเฉพาะการหลอกโสเภณีไปฆ่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
เพียงแต่ว่าตัวละครพระเอกของเรื่องนี้ไม่ได้ทำชั่วพร้อมกับ “สร้างภาพให้ตัวเองดูเหมือนคนชั่ว”
ไปด้วย เขาทำในสิ่งที่เลวร้ายมากๆ พร้อมกับ “สร้างบุคลิกภาพว่าตัวเองน่าสงสารมากๆ”
ในขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขณะที่เราดูละครเวทีเรื่องนี้ เราก็เลยแทบไม่ได้รู้สึกกับเขาในแบบเดียวกับที่รู้สึกกับคนร้ายจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต
เพราะเราถูก “บุคลิกภาพพระเอกผู้น่าสงสาร” ของเขาบังตาไว้
--ตัวละครพระเอกเองก็คงจะไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนเลวมากนักด้วย
คือเขาเองก็ดูเหมือนมีความ innocence บางอย่างอยู่ในใจ
คือเขาเป็นทั้งฆาตกรที่ฆ่าคนบริสุทธิ์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ก็มีความ innocence
อยู่ในบางแง่มุมด้วย เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากๆ
--จริงๆแล้วเราก็ไม่แน่ใจนะว่า ละครเวทีเรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไร
มันอาจจะต้องการจะสื่อถึงความละโมบเหมือนในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ปี 1960 ก็ได้
แต่จุดที่เราชอบก็คือจุดที่ได้เขียนถึงข้างต้นนั่นแหละ คือมันทำให้เรามองว่า จริงๆแล้ว “คนธรรมดา”
หลายๆคนก็อาจจะมีลักษณะคล้ายกับพระเอกของเรื่องนี้ นั่นก็คือมองว่าตัวเองเป็นคน innocent, เป็น loser,
เป็นเหยื่อของสังคม และต้องพยายามหาทางตะเกียกตะกายในสังคม
โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่า ในบางครั้งตัวเองได้ทำร้ายคนอื่นๆ, เอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ
หรือทำในสิ่งที่เห็นแก่ตัว หรือบางทีพวกเขาอาจจะรู้ตัวก็ได้ว่า
พวกเขากำลังทำในสิ่งที่เห็นแก่ตัว แต่พวกเขาก็พยายาม justify ให้กับตัวเองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
--อีกจุดที่ชอบมากในเรื่องนี้ ก็คือตัวละครเจ้าของร้าน ซึ่งเป็นตัวละครที่มีลักษณะกำกวมทางศีลธรรมเช่นกัน
เพราะเขาก็ดูเหมือนไม่ได้สบายใจกับการปล่อยให้ต้นไม้กินคนต่อไปเรื่อยๆในร้านของเขา
แต่เขาก็ไม่ยอมกำจัดมันเสียที ซึ่งมันก็อาจจะเหมือนกับคนหลายๆคนในสังคม
ที่อาจจะรู้เห็นเป็นใจกับสิ่งเลวร้ายบางอย่าง แต่ถ้าหากตราบใดที่สิ่งเลวร้ายนั้นมันยังไม่ได้ทำร้ายตัวเขาเองโดยตรง
เขาก็จะยังคงอยู่นิ่งเฉย และปล่อยให้สิ่งเลวร้ายนั้นดำเนินต่อไป และกัดกินคนอื่นๆต่อไป
--เรื่องราวของพระเอกที่อ่อนแอ
แต่จริงๆแล้วเป็นฆาตกรโรคจิต อาจจะพบได้ในหนังอย่าง PSYCHO และ
THE VOICES (2014, Marjane Satrapi) ด้วยนะ
แต่ตัวละครพระเอกแบบนี้จะเป็นคนที่มีปัญหาทางเพศน่ะ และเวลาที่เราดูเรื่องราวแบบนี้
เราจะไม่มองว่าตัวละครพระเอกเป็นตัวแทนของคนหลายๆคนในสังคม ซึ่งแตกต่างจาก THE
LITTLE SHOP OF HORRORS ที่เรามองว่า
ตัวละครพระเอกทำให้เรานึกถึงคนหลายๆคนในสังคมที่ละโมบและเห็นแก่ตัว
แต่กลับมองว่าตัวเองเป็นคนบริสุทธิ์และอ่อนแอ
-- ชอบการแสดงของกวิน พิชิตกุลมากเป็นพิเศษ ตอนที่เขารับบทเป็นคนที่กินดอกไม้เป็นอาหาร
เพราะเรารู้สึกว่าบทนั้นมันอาศัยฝีมือทางการแสดงล้วนๆเลยน่ะ ในการทำให้ตัวละครตัวนี้น่าสนใจขึ้นมาได้
No comments:
Post a Comment