Tuesday, November 14, 2023

NAK

 

MAD FATE โชคชะตากลั่นแกล้งมาก ๆ เมื่อคืนตอน 2 ทุ่มเราพบว่า พลาสเตอร์ปิดแผลผ่าตัดหมอนรองกระดูกที่กลางหลังมันเหมือนลอก ๆ ออกส่วนนึง เราเลยรีบนั่งมอไซค์ไป clinic ในซอยเพื่อให้เขาทำแผลให้ แล้วพอพยาบาลใน clinic เห็นแผล เขาก็บอกว่ามันมีรู อาจจะติดเชื้อ ควรไปโรงพยาบาล แล้วพยาบาลที่ clinic เขาก็ทำแผลให้เรา และติดพลาสเตอร์กันน้ำให้ แล้วหลังจากนั้นเราก็เดินกลับอพาร์ทเมนท์ แล้วก็อาบน้ำ + นั่งส้วม แล้วอยู่ดี ๆ พลาสเตอร์ปิดแผลก็ลอกออก แล้วหลุดออกมา น้ำก็เลยไหลเข้าไปโดนแผลที่อาจจะติดเชื้ออยู่ กรี๊ดดดด (เราเข้าใจว่าการที่มันลอกออก มันเกิดจากการที่เราเป็นคนเหงื่อออกง่ายมากและเยอะมาก คือถ้าอุณหภูมิเกิน 28 องศา เหงื่อเราจะออกแล้ว แล้วเราไป clinic ตอนที่เหงื่อออก มันเลยส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของพลาสเตอร์ปิดแผล)

เราก็เลยเรียก grab ไปโรงพยาบาลตอน 4 ทุ่ม แต่ซอยที่เราอาศัยอยู่เป็นซอยแคบ แล้วช่วง 4 ทุ่มมีรถขนสินค้ามาส่งสินค้าใน 7-eleven ในซอย มันเลยทำให้การสัญจรของรถยนต์ในซอยลำบากมากในช่วงนั้น เพราะฉะนั้นกว่าที่รถ grab ของเราจะออกจากซอยได้ ก็ติดขัดนานอยู่เหมือนกัน นึกว่าโชคชะตากลั่นแกล้งมาก ๆ

 

พอเราไปถึงโรงพยาบาลตอน 4 ทุ่ม หมอที่อยู่เวรกลางดึกก็มาทำแผลให้เรา แต่เขาก็ไม่ได้เปิดแผลดูด้านใน เราเองก็ไม่มีไข้ เราก็เลยตัดสินใจไม่นอนโรงพยาบาลดีกว่า

 

เมื่อคืนกว่าจะกลับถึงอพาร์ทเมนท์ได้ก็ 5 ทุ่มครึ่ง เหนื่อยล้ากับชีวิตมาก ๆ กลัวมาก ๆ ว่าแผลเราจะติดเชื้อ แล้วมันก็โดนน้ำเข้าไปด้วย ซึ่งมันเป็นแผลที่กระดูกสันหลัง เส้นประสาทสันหลังพอดี เรากลัวมาก ๆ ว่าแผลมันจะติดเชื้อเส้นประสาทตรงกระดูกสันหลังอะไรทำนองนี้ได้หรือเปล่า แล้วพอเราตื่นเช้าขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น เราอาจจะพบว่าตัวเองเป็นอัมพาตไปแล้ว ขยับแขนขาไม่ได้ ขอความช่วยเหลือใครก็ไม่ได้ เพราะเราอาศัยอยู่ตามลำพังกับลูกหมี เราอาจจะตื่นขึ้นมาเป็นอัมพาต แล้วต้องนอนรอความตายไปเรื่อย ๆ เพราะขาดน้ำขาดอาหาร กรี๊ดดดดดด

 

เพราะฉะนั้นพอเราตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ แล้วพบว่าตัวเองยังกระดิกตัวได้อยู่ เราก็เลยดีใจมาก แล้วก็ออกจากโรงพยาบาลไปพบแพทย์ที่ผ่าตัดเรา คุณหมอเปิดดูแผลของเรา แล้วก็พบว่าแผลมันแยกตรงด้านล่าง ก็เลยต้องใช้ max stapler เย็บที่แผลไปอีกสองอัน แต่แผลไม่ได้ติดเชื้อแต่อย่างใด

 

เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมแผลถึงแยก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราเหงื่อออกง่ายหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่าเมื่อวันจันทร์เราออกไปดูหนัง 3 เรื่อง นี่คงเป็นความผิดของ Jessica Hausner สินะ 55555 แต่จริง ๆ แล้วเราเห็นเลือดมันซึม ๆ ออกมาตั้งแต่วันอาทิตย์แล้วล่ะ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วแผลน่าจะแยกตั้งแต่ตอนก่อนที่เราจะออกไปดูหนัง 3 เรื่องในวันจันทร์

 

เราก็ดีใจที่แผลไม่ติดเชื้อ แต่การต้องเย็บ max stapler ที่แผลใหม่ก็หมายความว่า แผลเราคงจะหายช้าลงไปอีก และเราก็คงต้องเลื่อนเวลาสำหรับการที่เราจะให้ผู้ชายเย็ดเราแรง ๆ ออกไปอีกสิเนี่ย โอ๊ย

 

Favorite Scene

 

14 อีกครั้ง I LOVE YOU THOUSAND (2023, Nareubodee Wetchakam, A+30)

 

จริง ๆ แล้วอันนี้เราไม่ได้ชอบเป็นซีน แต่ชอบ “ซับพล็อต” มากกว่า เพราะเราชอบการใส่ซับพล็อต “ผีครูฝรั่งที่ตกน้ำตาย” เข้ามาในหนัง romantic comedy อย่างในหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ

 

คือเรารู้สึกว่าการที่หนังเรื่องนี้ทำแบบนี้ มันสอดคล้องกับมุมมองของเราที่มีต่อชีวิตเราเอง หรือต่อชีวิตมนุษย์น่ะ คือเราไม่ได้นึกถึง “เรื่องผี ๆ” หรือ “เรื่องเหนือธรรมชาติ” ตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวันน่ะ แต่ตัวเราเองอาจจะนึกถึงเรื่องผี ๆ ราว 15-30 นาทีต่อวันน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยโหยหาหนังที่ใส่ “เรื่องผี ๆ เรื่องน่ากลัว เรื่องเหนือธรรมชาติ” เข้ามาในฐานะที่มันเป็น 5-10% ของชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่ว่าพอมี “ผี” ในหนังเรื่องใดก็ตาม แล้วมันจะต้องเป็น “พล็อตหลัก” มันจำเป็นจะต้องเป็น “หนังสยองขวัญ” หรือผีจำเป็นจะต้องเป็น “ตัวละครสำคัญ” เสมอไป เพราะเรารู้สึกว่า “ผี” หรือ “เรื่องเหนือธรรมชาติ” มันคือ 5-10% ของชีวิตเรา (แต่อาจจะไม่ใช่แบบนี้สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องผี) มันไม่ใช่ 100% ของชีวิตเรา เพราะฉะนั้น “หนังผี” หรือ “หนังสยองขวัญ” ที่มันให้ความสำคัญกับผี 100% เต็มไปเลย มันก็ไม่ได้สะท้อนภาพชีวิตเราโดยรวม และ “หนังชีวิต” หรือ “หนัง genre อื่น ๆ” ที่ไม่มีผีอยู่ในหนังเลย มันก็ไม่ได้สะท้อนภาพชีวิตเราอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่มีหนังเรื่องไหนที่สามารถสะท้อนชีวิตมนุษย์ได้ครบทุกด้านในหนังเรื่องเดียวอยู่แล้วล่ะ แต่เราก็โหยหาหนังที่สะท้อนชีวิตมนุษย์ “หลาย ๆ ด้าน” ในหนังเรื่องเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการที่ผีหลอกวิญญาณหลอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหรือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันด้วย แต่ไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดของชีวิตเท่านั้นเอง

 

เราก็เลยชอบการมี subplot เรื่องผีครูฝรั่งที่ตกน้ำตายใน “14 อีกครั้ง” อย่างสุด ๆ คือถ้าหากอันนี้มันเป็น main plot ไปเลย เราก็จะไม่ชอบมัน หรือถ้าหากมันเป็นส่วนหนึ่งในหนัง horror หรือ comedy horror เราก็จะไม่ชอบมัน เราชอบฉากนี้ก็ต่อเมื่อมันเป็น “fragment หนึ่งของชีวิตมนุษย์” แบบในหนังเรื่องนี้

 

ฉากผี ๆ ที่เป็น “fragment หนึ่งของชีวิตมนุษย์” ในหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เราชอบมาก ๆ ก็มีเช่น

 

1.KILLERS OF THE FLOWER MOON (2023, Martin Scorsese) ฉากวิญญาณชาว Osage มารับคนตาย

 

2.LA MALADIE DE SACHS (1999, Michel Deville, France)

 

ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เหมือนหนังทั้งเรื่องเป็น fragments ของชีวิตพระเอกหมดเลย นำเสนอเศษเสี้ยวต่าง ๆ ในชีวิตของพระเอก และราว 5% ของหนังก็พูดถึง “ผี” ในชีวิตพระเอก เพราะมันมีฉากที่มีโทรศัพท์ลึกลับโทรมาที่คลินิกของพระเอกแทรกเข้ามาในหนังเป็นระยะ ๆ แล้วตัวละครก็ไม่รู้ว่าโทรศัพท์ลึกลับนี้มาจากไหน จนกระทั่งมาเฉลยในฉากหลัง ๆ ว่าเป็น “ผี” โทรมา เราก็เลยชอบสุดขีดที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ “ผี” ในฐานะ 5% ในชีวิตของพระเอก ไม่ใช่แบบในหนังสยองขวัญที่ผีจำเป็นจะต้องเป็น “ประเด็นสำคัญ” เสมอไป

 

FAVORITE SCENE

 

REDLIFE (2023, Ekalak Klunson, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

ฉากที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือฉากที่ “เต๋อ” (Thiti Mahayotaruk) ตัดสินใจไม่ขับหนีด่านตำรวจ แต่ตัดสินใจขับรถพุ่งชนด่านตำรวจแล้วรถก็ลงน้ำไปเลย เพราะเรารู้สึกเข้าอกเข้าใจหรือ identify กับเต๋อในฉากนี้ได้มากที่สุด

 

คือจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ identify ตัวเองกับเต๋ออยู่แล้ว เพราะตัวละครตัวนี้ตัดสินใจตรงข้ามกับเราเกือบตลอดทั้งเรื่อง 5555 คือเต๋อเป็นตัวละครที่ “ตัดสินใจ” ตรงข้ามกับเราในเกือบ ๆ ทุกสถานการณ์ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราถอยห่างจากตัวละครในระดับนึง แต่เราก็รู้สึกว่าคนแบบนี้มันมีอยู่จริง และก็ยินดีที่จะติดตามดูตัวละครตัวนี้ไปเรื่อย ๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ

 

แต่ระยะห่างระหว่างเรากับเต๋อก็เปลี่ยนไป เมื่อถึงฉากที่เต๋อถูกความโกรธ ความหึงหวง ความเหี้ยห่าอะไรต่าง ๆ ในจิตใจเข้าครอบงำ จนควบคุมตนเองไม่ได้อีกต่อไป แล้วก็บุกเข้าไปในโรงแรมม่านรูด ขโมยกุญแจรถยนต์ลูกค้าของ Mind (Karnpicha Pongpanit) แล้วขับออกไปเรื่อย ๆ อย่างรุนแรงเพื่อระบายอารมณ์ จนกระทั่งมาเจอด่านตรวจตำรวจ และแทนที่เขาจะตัดสินใจหนีตำรวจ “ตามหลักเหตุผล” เขากลับตัดสินใจทำในสิ่งที่ดูเหมือนไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็คือการขับรถพุ่งเข้าชนด่านตรวจแล้วรถยนต์ทั้งคันก็ตกลงไปในคลอง

 

คือกลายเป็นฉากนี้นี่แหละที่เต๋อคงตัดสินใจคล้าย ๆ กับเรา 555555 คือเหมือนสิ่งที่เต๋อตัดสินใจทำในฉากนั้นคือการ visualize “ด้านมืด” หรือ id หรือส่วนหนึ่งที่อยู่ในใจเราเองออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมน่ะ เราก็เลยรักฉากนี้อย่างสุดขีดมาก ๆ คือเหมือนในการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน เราพยายามทำตัวตามหลักเหตุผล, คิดวางแผนชีวิตแต่ละวันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย plan steps ต่าง ๆ ล่วงหน้า, พยายามควบคุมอารมณ์ตนเองตลอดเวลา, ไม่ให้โลภะ โทสะ โมหะ เหี้ยห่าอะไรต่าง ๆ เข้าครอบงำจิตใจอะไรทำนองนี้

 

แต่เรารู้ตัวเราเองดีว่า มันเหมือนมีส่วนลึกในใจเราที่โหยหา “การทำลายตนเอง”, “ความอยากที่จะทำให้ชีวิตตนเองพังพินาศอย่างถึงที่สุด”, “การทำในสิ่งที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง”, “การทำตามอารมณ์โดยไม่แคร์เหตุผลหรือสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตอีกต่อไป ทำตามอารมณ์ตนเองแล้วก็ตายห่าไปเลยให้มันพ้น ๆ ไป” อะไรทำนองนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะไม่มีวันปล่อยให้ส่วนนี้ในใจเราเข้ามาครอบงำมีอำนาจเหนือเราได้เป็นอันขาดในชีวิตจริง อย่างไรก็ดี การที่เรามีส่วนนี้ฝังลึกอยู่ในจิตใจตนเอง มันก็เลยทำให้เรามีความสุขที่ได้เห็นตัวละครที่ทำอะไรแบบนี้อยู่บนจอภาพยนตร์ มันเหมือนกับว่าภาพยนตร์ที่มีตัวละครแบบนี้คือพยายามที่เข้าอกเข้าใจส่วนนี้ในจิตใจของเราน่ะ หรือเหมือนกับว่าเราได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่างออกมาผ่านทางตัวละครตัวนั้น ๆ แทนที่เราจะต้องทำมันในชีวิตจริง

 

เราก็เลยชอบฉากนั้นของเต๋อมาก ๆ เหมือนเรา identify ตัวเองได้กับเต๋อในฉากนี้ ที่เหมือนเป็นการทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับเหตุผล และเป็นการ self-destruct มาก ๆ แต่เราไม่ได้ identify ตัวเองกับเต๋อในฉากอื่น ๆ

 

คือความรักของเราที่มีต่อฉากนี้ของเต๋อมันคล้าย ๆ กับความชื่นชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่อง BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) นะ แต่เราเหมือนรู้สึก “เข้าอกเข้าใจ” การกระทำที่ไร้เหตุผลและ self-destruct ของตัวละครนางเอกทั้งสองคนใน BAISE-MOI ตลอดทั้งเรื่องน่ะ เราก็เลยรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครนางเอกของ BAISE-MOI ตลอดทั้งเรื่อง แต่ในส่วนของเต๋อนั้น เรารู้สึกใกล้ชิดสุด ๆ ก็แค่ฉากนี้ฉากเดียวมั้ง

 

ในส่วนของ REDLIFE โดยรวมนั้น เราชอบหนังในระดับ A+30 หรือชอบสุดขีดนะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึก “มีอารมณ์ร่วม” ไปกับหนังอย่างรุนแรงน่ะ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร เหมือนมันยังขาดอะไรบางอย่างที่จะทำให้เราอินกับหนังอย่างสุดขีดเหมือนอย่าง BAISE-MOI และ ACCATTONE (1961, Pier Paolo Pasolini, Italy)

 

NAK นาค เรื่องเล่าจากชาวบ้าน (2023, Thailand/Laos, A+25)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

1. โดยรวมแล้วชอบหนังมากพอสมควร แต่ไม่ได้ชอบถึงขั้น A+30 (ชอบสุดขีด) เพราะ

 

1.1 ความเชื่อความศรัทธาของเราอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับเนื้อหาบางช่วงของหนัง

 

1.2 เป็นเพราะมันเป็นเรื่องสั้น ๆ มาต่อกัน อารมณ์ก็เลยไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นพีคได้ แต่จริง ๆ แล้วความเป็นเรื่องสั้นมาต่อ ๆ กันในหนังเรื่องนี้ก็ดีในแง่นึง เพราะเราว่าเนื้อหาของหลาย ๆ เรื่องพอมันเกี่ยวข้องกับความเชื่อเก่า ๆ มันก็เลยมีความซ้ำไปซ้ำมา (พญานาคช่วยเด็กตกน้ำ, พญานาคมาร่วมรักกับมนุษย์) หรือเป็นเรื่องที่เราพอรู้ ๆ มาอยู่แล้ว ซึ่งพอเนื้อเรื่องของบางเรื่องมันไม่ original แต่ว่ามันสั้น ๆ มันไม่ใช่หนังยาว มันก็เลยไม่น่าเบื่อมากนัก

 

1.3 หนังเรื่องนี้คงเน้นเชิดชูพญานาคเป็นหลัก ก็เลยไม่ค่อยมีเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นด้านลบของพญานาค อย่างเช่น

 

1.3.1 ตำนาน “หนองหาร”

http://www.nonghandatabase.com/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B9%88/

 

1.3.2 เรื่องของ “กาฬนาคราช” ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยพระกกุสันธพุทธเจ้า, พระโกนาคมพุทธเจ้า, พระกัสสปพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

https://84000.org/tipitaka/picture/f23.html

 

และพอหนังเรื่องนี้เหมือนหลีกเลี่ยงการนำเสนอตำนานที่อาจแสดงด้านลบของพญานาค มันก็เลยเหมือนหนังมันขาดอะไรบางอย่างไปสำหรับเรา

 

2.ความรู้สึกของเราที่มีต่อแต่ละตอน

 

2.1 มนุสโสสิ (ศุภวัฒน์ หงสา, A+25)

 

ตอนแรกก็สงสัยว่าจะเล่าอะไร เพราะเรื่องพญานาคพยายามจะบวช เป็นเรื่องที่เรารู้ดีอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าหนังก็แต่งเรื่องเพิ่มเติม และคิด plot twist อะไรออกมาได้ดีพอสมควร พญานาคก็หล่อดี ไม่รู้ว่านักแสดงที่เล่นเป็นพญานาคชื่ออะไร

 

2.2 แม่ นาค (วีรพล คำสุวรรณ, A-)

 

พระเอกตอนนี้หล่อถูกสเปคเราสุด ๆ เขาชื่ออะไรคะ 555 แต่เราชอบตอนนี้น้อยสุดนะ เพราะความเชื่อความศรัทธาของเราไม่สอดคล้องกับตอนนี้น่ะ เพราะเราไม่ได้เชื่อเรื่อง “การเกาะชายผ้าเหลือง” แต่ก็ยังดีที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ยืนยันว่า “ความเชื่อดังกล่าวเป็นความจริง” หนังเรื่องนี้เพียงแค่นำเสนอตัวละครที่มีความเชื่อค่อนไปในทางนั้น เราก็เลยไม่ได้ต่อต้านหนังเรื่องนี้มากนัก

 

2.3 ขวัญ (กันสุดา คำมณีวง, A+)

 

เหมือนเรางง ๆ กับเนื้อเรื่องของตอนนี้ เราก็เลยไม่ได้ชอบมันมากเท่าที่ควร แต่ฉากที่นางเอกร้องไห้กลางแม่น้ำนี่หนักมากจริง ๆ ฉากนั้นถือเป็นสิ่งที่ชอบสุด ๆ ในตอนนี้

 

2.4 อัณฑชะ (นคินทร์ สิงห์จัตุรัส, A+25)

 

ชอบที่มัน twist ไปจากที่เราคาดไว้ เพราะตอนแรกเรานึกว่า หนุ่มสาว 3 คนจะต้องเจออิทธิฤทธิ์พญานาคตามไล่ล่า ส่งงูเงี้ยวเขี้ยวขอมาสังหารพวกที่คิดขโมยไข่พญานาคไป แต่ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า พวกเขาเหมือนตกเป็นเครื่องมือของพญานาค

 

ชอบตัวละครสาวลึกลับเป็นอย่างมาก เราถูกโฉลกกับตัวละครประเภทนี้

 

2.5 นาคาแมน (โสภา เที่ยงเดช, A+25)

 

เอาจริง ๆ แล้วเนื้อเรื่องหรือ concept มันคล้าย ๆ “หนังนักศึกษา” บางเรื่อง 5555 ที่ไม่ต้องการความสมจริง ความ convincing แต่เป็น “ความบันเทิง” ที่ต้องอาศัย suspension of disbelief มาก ๆ แต่เนื่องจากเราคุ้นชินกับหนังนักศึกษาทำนองนี้อยู่แล้ว เราก็เลยมองข้ามความไม่ convincing ของมันได้ และก็ชอบที่มัน “หลุดโลก” ไปเลย เหมือนไม่ต้องแคร์ความสมจริงอะไรใด ๆ อีกต่อไป 555

 

ตัวอย่างความไม่สมจริงก็คือ “ใส่หน้ากากแบบนั้น คนมันจะดูไม่ออกเหรอว่าตัวจริงเป็นใคร” แต่มันคือ “ภาพยนตร์” ไม่ใช่ “เรื่องจริง” อยู่แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่ารักติงต๊องดี และนึกถึงละครทีวีฮ่องกงในอดีตบางเรื่องที่ชอบมีตัวละคร “ปิดหน้าปิดตา” เวลาไปลอบส้งหารคน แต่ใช้ผ้าปิดหน้าปิดตาที่บางจ๋อยมาก ๆ เหมือนปิดหน้าปิดตาแบบพอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะถ้าทำแบบนั้นในความเป็นจริง ทุกคนก็ดูออกว่าเป็นใครที่อยู่ภายใต้ผ้าปิดหน้านั้น 555

 

พระเอกตอนนี้ก็น่ารักมาก ๆ เช่นกัน อยากรู้ว่าเขาชื่ออะไร

 

2.6 บั้งไฟผี (ทิฏฐานุ นาคเสน, A+25)

 

เหมือนเป็นหนังที่เปิดให้ตัวละครมาถกกันเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” และหนังก็ลงเอยไปในทางที่บอกว่า “บั้งไฟพญานาค” มีจริง แต่เราว่าหนังรักษาสมดุลได้ค่อนข้างดี เพราะว่า “ตัวละครนักเรียน” กลุ่มที่ยืนยันว่าบั้งไฟพญานาคมีจริง ก็เป็นตัวละครที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อหลอกเพื่อน ๆ และหนังก็แสดงให้เห็นว่า มีชาวบ้านที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อหลอกคนนอกหมู่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นหนังก็เลยเหมือนบอกกลาย ๆ ว่า พญานาคอาจจะมีจริงก็ได้ แต่ปาฏิหาริย์บางอย่างเกี่ยวกับพญานาคอาจจะเป็นเรื่องที่คนบางคนกุขึ้นมา

 

2.7 ลงรักปิดทอง (ยศพงษ์ ผลทรัพย์, A+25)

 

เราชอบครึ่งเรื่องแรกอย่างสุด ๆ คือเปิดมาเป็นเรื่อง “เมียกำนัน ปะทะกับแม่ค้าขายผัก เรื่องสิทธิในการลงรักปิดทองในงานพิธี” แค่นี้ก็ได้ใจเราแล้ว และครึ่งเรื่องแรกเราว่ามันเป็นแนว “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติมาก ๆ ด้วย มันก็เลยเข้าทางเราอย่างสุด ๆ

 

ส่วนครึ่งเรื่องหลังทำให้นึกถึง “นาคราช” ของแก้วเก้า

 

2.8 คนละฟ้า (สุริยง ชัยวงศ์, A+25)

 

กรี๊ดสุดเสียงให้กับพระเอกของตอนนี้ หล่อตรงสเปคเราที่สุด ชอบคนนี้มากที่สุดในเรื่อง ฉันรักเขา

 

ตอนแรกที่ดู เราจะงง ๆ กับฉากการเกณฑ์ทหารมาก ๆ เพราะเหมือนเราไม่เคยเห็นการเกณฑ์ทหารในรูปแบบนี้มาก่อน แต่พอเห็น ending credit แล้วรู้ว่าเป็น “หนังลาว” ก็เลยเข้าใจ และเราก็เลยแอบจินตนาการว่า บางที “สงคราม” ที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ อาจจะเป็นสงครามเดียวกับที่อยู่ในหนังเรื่อง “บัวแดง” RED LOTUS (1988, Som-ok Southiphone, Laos, 81min, A+30) หรือเปล่า

 

 

No comments: