Thursday, November 23, 2023

RED POETRY

 

ฉันรักเขา Winyu Wongsurawat from ARNOLD IS A MODEL STUDENT (2022, Sorayos Prapapan, A+30)

 

ฉันรักเขา Korndanai Marc Dautzenberg from ARNOLD IS A MODEL STUDENT (2022, Sorayos Prapapan, A+30)

++++

หนังสั้นมาราธอน 2023

TUE 31 OCT 2023 1 P.M.

 

2.***fallen angels2 / เชี่ยง หมิง ไล่ / 3.59 นาที A+

 

สงสัยว่าฟุตเตจบางส่วนในหนังเรื่องนี้มันมาจากหนังเรื่อง MILLENNIUM MAMBO (2001, Hou Hsiao-hsien) หรือเปล่า 5555 เพราะถ้ามันมาจากหนังเรื่อง MILLENNIUM MAMBO จริง ๆ สิ่งที่น่าจดจำในหนังเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นการที่หนังเรื่องนี้มันพาดพิงถึงผู้กำกับเอเชียตะวันออกชื่อดัง 3 คนในหนังเรื่องเดียวกัน เพราะชื่อเรื่องมันมาจากหนังของ Wong Kar-Wai, ชื่อผู้กำกับมาจาก Tsai Ming-liang และตัวหนังก็อาจจะพาดพิงถึง Hou Hsiao-hsien

 

ซึ่งถ้าหากมันพาดพิงถึง Hou Hsiao-hsien จริง ๆ ก็น่าสนใจ เพราะมันไม่ค่อยมีหนังไทยที่ tribute ให้ Hou Hsiao-hsien คือในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา มีหนังสั้นไทยที่พาดพิงหรือได้รับแรงบันดาลใจจาก Wong Kar-wai ไปแล้วราว 100 เรื่อง ตั้งแต่ยุคของหนังเรื่อง “บรรจุกระป๋อง” (BE CANNED) (2000, Jantira Somboonkerd, 17min) เป็นต้นมา , มีหนังที่พาดพิงหรือได้รับแรงบันดาลใจจาก Tsai Ming-liang ไปแล้วราว 20 เรื่อง อย่างเช่นเรื่อง MONK AND MOTORCYCLE TAXI RIDER (2013, Chulayarnnon Siriphol, 15min) ส่วนหนังไทยที่ tribute ให้ Hou Hsiao-hsien นั้น เรานึกแทบไม่ออกเลย อาจจะมีไม่ถึง 5 เรื่องมั้ง เหมือนเราคลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะมีหนังสั้นไทยบางเรื่องที่พาดพิงถึงฉากคลาสสิคใน MILLENNIUM MAMBO คล้าย ๆ กับหนังเรื่องนี้

 

แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่หนังสั้นไทยไม่ค่อยพาดพิงถึง Hou Hsiao-hsien เพราะถึงแม้คนไทยจะรักหนังของ Hou มากจริง ๆ แต่หนังของเขาไม่ได้มี “สไตล์” ที่จัดจ้านเด่นชัดแบบ Wong Kar-wai และ Tsai Ming-liang น่ะ คือถ้าผู้กำกับหนังไทยสักคนจะทำฉากที่ tribute ให้ Hou มันก็นึกยากว่าจะทำออกมายังไง โดยเฉพาะถ้าไม่นับหนังอย่าง MILLENNIUM MAMBO ที่อาจจะเป็นหนึ่งในหนังที่มีสไตล์จัดจ้านที่สุดแล้วของ Hou ในขณะที่การจะสร้างฉากสักฉากเพื่อ tribute ให้ Wong และ Tsai นั้นถือเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามาก ๆ 555

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทั้ง ***Aftersun2 และ ***fallen angels2 ที่ฉายเรียงต่อกันในเทศกาลหนังสั้นมาราธอน ทำให้เรานึกถึงหนังของ Jonas Mekas มากที่สุดนะ เพราะเหมือนหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็น slice of life บันทึกช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีความสลักสำคัญอะไร พอเราดูหนังสองเรื่องนี้เราก็เลยนึกถึงหนังของ Jonas Mekas ที่ชอบรวบรวมช่วงเวลาที่ดูเหมือนไร้ความสำคัญเหล่านี้มาเรียงร้อยเข้าด้วยกันเป็นหนังยาว

 

+++

ชื่อที่ทำกูสับสน

 

2.Hikaru Nishida กับ Hikari Ishida

 

สองสาวที่เป็นทั้งนักร้องและนักแสดงเหมือน ๆ กัน, เกิดปี 1972 เหมือนกัน และดันโด่งดังในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย เหมือน Hikari Ishida จะโด่งดังก่อนด้วยเพลง EMERALD NO SUNA ในปี 1987 ส่วน Hikaru Nishida จะเริ่มเข้าวงการในปี 1988 ด้วยเพลง FIFTEEN

 

เหมือนเราจะคุ้นเคยกับ Hikaru Nishida มากกว่า เพราะเธอยังคงโด่งดังในทศวรรษ 1990 และเราว่าดีเจสุทธิธรรม สุจริตตานนท์เคยเปิดเพลงของ Hikaru Nishida ในรายการวิทยุของเขาในทศวรรษ 1990 พร้อมกับเล่าว่าเธอเติบโตที่สหรัฐ เธอก็เลยพูดภาษาอังกฤษคล่อง

 

ส่วนดีเจ Sonny Arthit Promprasit เพิ่งเปิดเพลงของ Hikari Ishida ในรายการวิทยุของเขาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

 

รูปบนคือ Hikari Ishida ส่วนรูปล่างคือ Hikaru Nishida

 

มีใครเคยจำชื่อสองคนนี้สลับกันเหมือนเราบ้างไหมคะ

 

กรี๊ดดดดด ใช่จริง ๆ ด้วยครับ Hikari Ishida เล่นหนังเรื่อง CHIZUKO’S YOUNGER SISTER (1991)  กับ “HARUKA, NOSTALGIA” (1993) ของ Nobuhiko Obayashi น่าดูมาก ๆ เลยครับ

+++

RED POETRY (2023, Supamok Silarak, documentary, 96min, A+30)

 

1.ชอบอย่างสุดขีดมาก ๆ ไม่รู้มาก่อนว่าแนวรบที่เชียงใหม่มันจะดุเดือดเลือดพล่านขนาดนี้ คือก่อนหน้านี้เราได้รู้แค่ข่าวเรื่องการปะทะกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาที่มช. แต่เหมือนหลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ตามข่าวอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

 

เพราะฉะนั้นพอเราได้มาดูหนังเรื่องนี้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของคุณรามิล เราก็เลยเพิ่งรู้ว่ามันดุเดือดมาก ๆ และงาน performance art หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณรามิลทำนี่มันทรงพลังสุดขีดจริง ๆ

 

2.ชอบกิจกรรมของคุณรามิลที่แต่งตัวคล้ายนักบวชนั่งอยู่ท่ามกลางกองหนังสือพิมพ์ที่ถูกขยำหน้าประตูท่าแพมาก ๆ เพราะดูแล้วนึกถึงพวกนักบวชในอินเดียสมัยโบราณกาล หรือพระพุทธเจ้าอะไรทำนองนี้ แล้วก็เป็น “พระพุทธเจ้าที่มีมารมาผจญ” ด้วย เพราะกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปมานั่งเก้าอี้ที่อยู่ตรงหน้าคุณรามิล แล้วพูดคุยกับคุณรามิล ซึ่งคนที่มาพูดคุยก็มีหลากหลาย ทั้งคนที่น่าจะเป็นเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจคุณรามิล และคนที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับคุณรามิล แล้วพูดจาเหมือนคนบ้า

 

คือถ้าหากเราต้องรับมือกับคนกลุ่มหลังนี้ เราคงรับมือไม่ไหวแน่ ๆ เราคงไม่พูดอะไร ทำได้แค่จ้องหน้ามันไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่สามารถสนทนากับคนแบบนี้ได้ แต่คุณรามิลก็สามารถรับมือกับคนแบบนี้ได้อย่างน่าชื่นชมมาก ๆ มันเหมือนต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณความคิดความอ่านที่ฉลาดเฉลียวในการโต้แย้งกับคนแบบนี้ และต้องมีขันติ ความอดทนเป็นอย่างมากต่อถ้อยคำของคนแบบนี้ ต้องอาศัยความสามารถขั้นสูงสุดมากๆ ในการควบคุมอารมณ์ของตนเองในการรับมือกับคนแบบนี้

 

ฉากการสนทนากับ “ผู้ชายที่พูดคล้ายคนบ้า” ในหนังเรื่องนี้ ก็เลยถือเป็นหนึ่งในฉากที่รุนแรงที่สุดสำหรับเราในปีนี้

 

3.ชอบการแสดงอันอื่น ๆ ของคุณรามิลด้วย มันทรงพลังจริง ๆ ทั้ง “การให้หมอยแก่ผู้มีอำนาจ”, การผลัดกันตบหน้ากับผู้ชายอีกคนนึง, การระบำของพระศิวะ, performance แต่ละครั้งหน้าสถานีตำรวจ หรือสถานที่ราชการอะไรสักอย่าง และที่หน้ามหาลัยเชียงใหม่

 

4.ชอบการปะทะกันระหว่างชายสูงวัยคนหนึ่งกับตำรวจคนหนึ่งที่หน้าสถานีตำรวจหรือสถานที่ราชการอะไรสักอย่าง ตอนที่คุณรามิลใช้มีดกรีดคำว่า 112 บนหน้าอกด้วย

 

คือเราว่าเราเป็นคนที่ “โทสะ” สูงมากอยู่ในตัวน่ะ และเราว่าคุณรามิลก็อาจจะมีพลังของความโกรธเกรี้ยวบางอย่างอยู่ในตัว แต่เขาไม่ได้ระบายมันออกมาด้วยการด่าทอคนหรือทำร้ายร่างกายคน เขา transform พลังของความโกรธเกรี้ยวในตัวออกมาเป็นงานศิลปะแทน เราก็เลยชอบการแสดงของคุณรามิลมาก ๆ เหมือนโทสะของเราได้รับการระบายออกในทางอ้อมผ่านทางการแสดงของคุณรามิล  

 

อย่างไรก็ดี พอเราได้เห็นผู้ชายที่มาด่าทอกับตำรวจอย่างรุนแรงในฉากกรีดเลือด 112 เราก็รู้สึกว่าโทสะในตัวเราได้รับการระบายออกอย่างตรงไปตรงมาผ่านทางผู้ชายคนนั้นเช่นกัน เราก็เลยประทับใจผู้ชายคนนั้นมาก ๆ เพราะเราเองคงไม่กล้าปะทะกับตำรวจแบบนี้ แต่เราเข้าใจความโกรธและความรู้สึก “กูเหลือจะทนอีกต่อไป” ของผู้ชายคนนั้นมาก ๆ

 

5.ชอบที่หนังเรื่องนี้พาเราไปรู้จักแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิตของคุณรามิลด้วย ทั้งเรื่อง gender identity และเรื่องหนังสือ “เจ้าชายน้อย”

 

6.ชอบเรื่องการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวเมียนมาในเชียงใหม่ และบทบาทของคุณรามิลในการชุมนุมดังกล่าวด้วย

 

7.แต่ฉากที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ และถือเป็น one of my most favorite scenes I saw in 2023 ก็คือฉากที่คุณรามิลด่าทอกับเพื่อนอย่างรุนแรง เพราะเรารู้สึกว่าฉากนั้นมัน dilemma ดี, มันเป็นฉากที่แสดงให้เห็นภาพคุณรามิลในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีด้านลบอยู่ในตัวเองด้วย ไม่ได้มีสถานะเป็น superhero ที่น่านับถือเพียงอย่างเดียว และฉากนั้นก็ทำให้เรานึกถึงทั้งตัวเอง และปัญหาที่เรามีกับนักเคลื่อนไหวหลาย ๆ คนด้วย

 

เหมือนฉากนั้นทำให้เรานึกถึง “ความโกรธ” ของตัวเอง ที่มีต่อคนบางคนที่เหมือนล่วงละเมิด “สิ่งที่เราคิดว่าดี” น่ะ คือเหมือนคนบางคนอาจจะยังไม่ได้มาทำร้ายร่างกายเราโดยตรง หรือไม่ได้พูดอะไรกับเรา แต่เราเห็นพฤติกรรมบางอย่างของเขาที่มันขัดกับ “สิ่งที่เราคิดว่าดี” แล้วเราก็จะรู้สึกโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังคนคนนั้นอย่างรุนแรงมาก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเขายังไม่ได้มาแตะเนื้อต้องตัวเราเลย หรือไม่ได้มาพูดอะไรกับเราเลย เหมือนเขาไม่ได้ “ล่วงละเมิดร่างกายเรา” เลย แต่มันเหมือนกับว่าจิตของเราได้อุปโลกน์ “ก้อนอะไรบางอย่างของสิ่งที่เราคิดว่าดี” เอาไว้ แล้วพฤติกรรมของคนคนนั้นที่มันขัดกับสิ่งที่เราคิดว่าดี ก็เลยเหมือนไปทำร้ายทำลายไอ้ก้อนนั้นในจิตของเรา ทั้ง ๆ ที่ก้อนนั้นมันเป็นสิ่งที่เราอุปโลกน์ขึ้นมาเอง มันไม่ได้เป็น “สสารที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง” แต่อย่างใด

 

หลาย ๆ ครั้งเราก็เลยพบว่าตัวเองรู้สึกโกรธ หงุดหงิดงุ่นง่าน อารมณ์เสียมาก ๆ เกลียดชังคนบางคนมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเขายังไม่ได้ทำร้ายร่างกายเราโดยตรง เขาเพียงแค่ทำร้าย “ก้อนความเชื่อ ความยึดมั่นในความดี” บางอย่างในใจเราเท่านั้น

 

พอเราเห็นคุณรามิลเหมือนไม่พอใจที่คนอื่น ๆ สามารถมีความสุขได้ภายใต้ป้ญหาการเมืองในไทย, เมียนมา, etc. เราก็เลยนึกถึงตัวเองตรงจุดนี้ขึ้นมาโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ คือเรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วคนอื่น ๆ ที่เขามีความสุขกับชีวิตของตัวเอง เขาก็ไม่ได้มาทำร้ายร่างกายคนอื่น ๆ แต่อย่างใด แต่เหมือนการมีความสุขของเขา, การที่เขาเหมือนเป็น ignorant  หรือการที่เขามีทัศนคติแตกต่างหรือตรงข้ามกับเรา มันเป็นการล่วงละเมิด “ก้อนความเชื่อของสิ่งที่เราคิดว่าดีว่าถูกต้องในใจเรา” และพอไอ้ก้อนนั้นในใจเรามันถูกทำร้าย เราก็เลยโกรธ เป็นเดือดเป็นแค้นขึ้นมา

 

และฉากนี้ในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้เรานึกถึงปัญหาที่เรามีกับนักเคลื่อนไหวหลาย ๆ คนทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งในประเด็นการเมืองและประเด็นอื่น ๆ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงพวกทวิตเตี้ยนต่าง ๆ ด้วย นั่นก็คือถึงแม้เราจะนับถือชื่นชมยกย่องนักเคลื่อนไหวหลาย ๆ คน โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในไทย แต่เราก็อาจจะเห็นพ้องกับความเห็นของนักเคลื่อนไหวแต่ละคนเพียงแค่ 70-80% เท่านั้น และมันอาจจะมีราว 20-30% ของความเห็นของนักเคลื่อนไหวแต่ละคนที่เราไม่เห็นด้วย หรือเรามองว่า “มันเป็นการเรียกร้องจากเรามากเกินไป” อะไรทำนองนี้ อย่างเช่นการเรียกร้องให้เราไม่สามารถมีความสุขได้ถ้าหากไทยกับเมียนมายังคงตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร หรือยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือคุณสมศักดิ์ เจียมฯ ที่เราอาจจะเห็นด้วยกับความเห็นของเขาหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ในหลาย ๆ ครั้งเราก็อาจจะรู้สึกว่า คุณสมศักดิ์ เจียมฯเรียกร้องให้คนอื่น ๆ ทำในสิ่งที่มากเกินไป

 

พอเราเห็นฉากนี้ในหนังเรื่องนี้ ในแง่หนึ่งเราก็รู้สึกว่า ทั้งตัวเราเอง และอาจจะรวมไปถึงคนบางคนด้วยนั้น บางทีพอเราคิดว่า “สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นถูกต้อง” (อย่างเช่นการต่อต้านเผด็จการทหาร) แล้วเราไปอารมณ์เสียใส่คนอื่น ๆ ที่เขายังไม่ได้คิดเหมือนเรา ยังไม่ได้เห็นว่า “สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นถูกต้อง” เหมือนเรา ในแง่หนึ่งมันก็เหมือนกับว่าเรากลายเป็น “เผด็จการ” เสียเองน่ะ

 

เหมือนฉากนั้นในหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงหนังจีนกำลังภายในที่ในบางครั้งพระเอกฝึกวิชาจนถึงขั้นสุดยอด แล้วพลาด “เกิดธาตุไฟเข้าแทรก” ด้วย

 

ก็เลยรู้สึกชอบฉากนี้อย่างสุดขีดมาก ๆ ยกให้เป็น “หนึ่งในฉากคลาสสิคตลอดกาลของหนังไทย” สำหรับเราไปเลย เพราะโดยส่วนตัวแล้ว มันเป็นฉากที่ทำให้เราได้เห็นตัวเอง, ได้คิดทบทวนตัวเอง และเห็นปัญหาบางอย่างในตัวเราเองด้วย

 

8.ก่อนหน้านี้เราเคยดูหนังเรื่อง LA TEINTURE ที่เราชอบอย่างสุดขีดมาก ๆ จนติดอันดับ 66 ของเราประจำปี 2019 โดยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง LA TEINTURE นั้นใช้ชื่อว่า “รามิล” ซึ่งเราก็สงสัยว่าผู้กำกับหนังเรื่อง LA TEINTURE นี้คือคุณรามิลที่เป็น political activist นี่เองหรือเปล่า แต่พอเราเห็นงาน performance art ของคุณรามิลในหนังสารคดีเรื่อง RED POETRY นี้ เราก็เลยเดาว่าน่าจะใช่คนคนเดียวกัน เพราะภาพยนตร์เรื่อง LA TEINTURE นำเสนอพิธีกรรมลึกลับเกี่ยวกับ “การย้อมสี” ซึ่งคล้าย ๆ กับงาน performance art บางงานของคุณรามิล

+++++

รู้สึกว่าพระเอกหนังเรื่อง คืนหวีดสยอง ฟัดหัวใจให้โลกตะลึง (2023, พีรณัฐ ปัทมวิภาค / 29.59 นาที, A+30) หน้าคุ้นมาก ๆ แต่นึกไม่ออกว่าเคยเห็นจากหนังเรื่องไหน ตอนนี้นึกออกแล้วว่า เขาคือพระเอกหนังเรื่อง HAIRDRESSER (2022, Pattawat Chausuk, A+30) นี่เอง

 

++++

 

DOUBLE BILL FILM WISH LIST

 

THE IN BETWEEN  (2022,  ธนวินท์ แสงทองพินิจ / 19.16 นาที, A+30)

+ เงาฝันชั่ววันวาน (2023, แคทลียา เตชกัมพู, 32min, A+25)

 

 

เป็นหนังสองเรื่องที่เหมาะฉายควบกันมาก ๆ เพราะถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด หนังทั้งสองเรื่องนำเสนอ “โลกหลังความตาย” เหมือน ๆ กัน โดยเล่าเรื่องของชายหนุ่มที่จริง ๆ แล้วยังไม่ตาย แต่หลุดเข้าไปในโลกหลังความตายเหมือนกัน แล้วชายหนุ่มคนนั้นก็ได้เจอกับหญิงสาวน่ารักคนนึงเหมือนกัน

 

เหมือนหนังสองเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญใน setting ตรงส่วนนี้ 5555 แต่หลังจากนั้นหนังทั้งสองเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องแตกต่างกันมากพอสมควร

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

ถ้าหากเราจำไม่ผิด ใน THE IN BETWEEN นั้น พระเอกหลงรักนางเอกที่อยู่ในโลกหลังความตาย แต่พอตัวเขาในโลกแห่งความเป็นจริงฟื้นคืนชีพขึ้นมา เขาก็เลยเศร้าสร้อยมากที่พลัดพรากจากนางเอก เขาก็เลยพยายามฆ่าตัวตายเพื่อจะได้กลับไปหานางเอกในโลกหลังความตายอีก แต่พอเขากลับไปที่โลกหลังความตาย นางเอกก็หายไปแล้ว แล้วพระเอกก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง และใช้ชีวิตอยู่ในโลกของคนเป็นต่อไปโดยพลัดพรากจากนางเอก

 

ส่วนใน “เงาฝันชั่ววันวาน” นั้น ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด พระเอกเคยหลงรักเพื่อนสนิทของตัวเองที่เป็นผู้ชายชื่อ “มายา” แต่ “มายา” ปฏิเสธความรักของพระเอกเพราะความรักแบบชาย-ชายไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมหรืออะไรทำนองนี้มั้ง แล้วพอมายาตาย จิตวิญญาณของชายหนุ่มคนนี้ก็มาอยู่ในรูปลักษณ์ของหญิงสาวสวย ซึ่งเป็นไกด์นำทางให้แก่พระเอกในโลกหลังความตายนี้เอง โดยในตอนจบนั้น มายาก็บอกให้พระเอกกลับไปอยู่ในโลกของคนเป็นต่อไป

 

สรุปว่าหนังสองเรื่องนี้จบเศร้าทั้งคู่ เพราะพระเอกก็พลัดพรากจากนางเอกทั้งสองเรื่อง แต่ THE IN BETWEEN จบเศร้ากว่า ถ้าหากเราจำไม่ผิด

 

 

No comments: