พฤติกรรมการกินของเราก็คือเราชอบใส่ปาท่องโก๋เข้าไปในโจ๊ก
แล้วปล่อยให้ปาท่องโก๋ดูดน้ำเข้าไปจนพองโต, ใส่ปาท่องโก๋เล็กเข้าไปในน้ำเต้าฮวย แล้วปล่อยให้มันดูดน้ำเต้าฮวยจนขยายใหญ่พองโต
ดังนั้นพอเวลาเรากินซุป เราก็เลยชอบใส่ขนมปัง croutons เข้าไป แล้วปล่อยให้มันดูดน้ำซุปจนพองโตก่อน
แล้วเราถึงค่อยกินเหมือนกัน 555 ไม่รู้มีใครเป็นแบบเราบ้าง และเขามีศัพท์เฉพาะเรียกพฤติกรรมการแดกแบบนี้บ้างไหม
----
REMEMBERING FAN CHAN แด่ความทรงจำสีจาง
(2023, Tani Thitiprawat, documentary, A+30)
1.อาจจะเป็นหนังที่ครองอันดับหนึ่งหนังยาวของไทยที่เราชอบมากที่สุดที่ได้ดูตั้งแต่ต้นปีนี้
ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะว่ามัน “ดี” กว่า “เซียนหรั่ง” (2023, Phuwanet Seechomphu)
แต่อย่างใด (ก่อนหน้านี้เราชอบ “เซียนหรั่ง” มากที่สุด)
แต่เป็นเพราะว่าเนื้อหาของ REMEMBERING FAN CHAN มันเปิดพื้นที่ให้เราได้ย้อนรำลึกถึงชีวิตตัวเองในช่วง
20 ปีที่ผ่านมา และมันสะเทือนใจเรามากกว่า “เซียนหรั่ง” ด้วย เราก็เลยรู้สึกว่า
REMEMBERING FAN CHAN มัน “โดนเนื้อตัวเราโดยตรง” ในขณะที่ “เซียนหรั่ง”
นั้น ถึงแม้จะเป็นหนังที่เราชอบสุดขีด แต่มันก็ยังเหมือนกับการดูชีวิตคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตเราโดยตรง
2.จริง ๆ แล้วเราค่อนข้างเฉย ๆ กับ “แฟนฉัน”
(MY GIRL) (2003, Vijjapat Kojiw, Songyos Sukmakanan, Nithiwat
Tharatorn, Witthaya Thongyooyong, Adisorn Trisirikasem, Komgrit Triwimol) เหมือนถ้าคิดตามเกรดปัจจุบันของเรา เราก็น่าจะชอบมันแค่ในระดับ A+15
มั้ง คือเป็นหนังที่เรา”ดูได้” แต่ไม่ใช่ทางเราเลย อะไรทำนองนี้
ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกอย่างนั้นกับหนัง GTH หลาย ๆ
เรื่องในทศวรรษ 2000 ด้วย คือเป็นหนังที่เรา “ดูได้" แต่ไม่ใช่สไตล์เราเลย เราไม่อินเป็นการส่วนตัวเลย
อะไรทำนองนี้
ซึ่งก่อนเข้าไปดู REMEMBERING FAN CHAN เราก็กลัวมาก ๆ ว่า ในเมื่อเราไม่ได้ชอบ
“แฟนฉัน” มากนัก แล้วเราจะชอบหนังรำลึกถึง “แฟนฉัน” ได้มากขนาดไหนกัน
แต่ปรากฏว่าเรากลับอินสุด ๆ กับหนังเรื่องนี้ 5555
ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า REMEMBERING FAN CHAN มันไม่ได้ “เชิดชู” แฟนฉัน
มากเกินไปสำหรับเราด้วยแหละ คือมันไม่ได้มีผู้ให้สัมภาษณ์คนไหนมาพูดว่าหนังเรื่อง “แฟนฉัน”
มันดีงามวิเศษเลิศเลอในทางศิลปะอะไรประมาณนี้ คืออาจจะมีนายทุนบางคนพูดไปในทำนองนั้นบ้าง
แต่พอเป็นนายทุนพูด มันก็พอจะเข้าใจได้ ส่วนนักวิจารณ์อย่างอจ.ประวิทย์ แต่งอักษร
ก็ชี้ให้เห็นจุดที่ดีและน่าสนใจใน “แฟนฉัน” ในแบบที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน และตัวหนังสารคดีเรื่องนี้
ส่วนใหญ่พูดถึงข้อดีของ “แฟนฉัน” ใน “สิ่งที่เป็นรูปธรรม”
ซึ่งเป็นความจริงที่เรายอมรับได้ อย่างเช่น การที่รายได้อย่างล้นหลามของแฟนฉันส่งผลดีต่อวงการหนังไทยในยุคนั้น
และมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้ GTH ลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง
ไม่ต้องปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2003, etc. คือพอหนังเรื่องนี้ “เชิดชู”
แฟนฉัน ในแง่ที่เป็นรูปธรรม ความจริงที่จับต้องได้
เราก็เลยไม่ได้รู้สึกต่อต้านหนังเรื่องนี้ในจุดนี้ 55555
3.สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอินกับหนังเรื่องนี้อย่างมาก
ๆ เป็นเพราะว่ามันไม่ได้พูดถึงแค่ “แฟนฉัน” แต่มันเหมือนพูดถึงวงการหนังไทยตั้งแต่ปี
1997 จนถึงปัจจุบันน่ะ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่เราเป็น cinephile พอดี (เราเริ่มหลงใหลในการดูหนังอย่างรุนแรงในปี
1995) เพราะฉะนั้นพอหนังเรื่องนี้มันพูดถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในวงการหนังไทยในช่วง
20 กว่าปีที่ผ่านมา เราก็เลยเหมือนได้ย้อนรำลึกถึง “ชีวิต cinephile” ของตัวเองไปด้วย ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกับการได้ฟังเพลงเก่า
ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน แล้วทำให้เรานึกถึงชีวิตของเราในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้มันก็เลยกลายเป็นหนังที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราโดยตรง
ทำให้เรานึกถึงชีวิตของตัวเองโดยตรง มันก็เลยได้เปรียบกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ
ที่ทำให้เรา “ได้ดูชีวิตของคนอื่น ๆ”
4.ยอมรับว่าเราไม่ค่อยชอบ GTH มากเท่าไหร่ในช่วงทศวรรษ 2000 คือเราไม่ได้เกลียดนะ
คือเหมือนเราชอบหนังส่วนใหญ่ของ GTH ในระดับ 6 หรือ 7 เต็ม
10 ในยุคนั้น แต่คนส่วนใหญ่ชอบหนัง GTH ในระดับ 8-9 เต็ม 10 ในยุคนั้น
อะไรทำนองนี้ เราก็เลยรู้สึกว่า GTH ได้รับความนิยมมากเกินกว่าระดับความชอบส่วนตัวของเราเองในยุคนั้น
ตอนก่อนที่เราจะเข้าไปดู REMEMBERING FAN CHAN เราก็เลยกลัวมาก ๆ ว่า หนังสารคดีเรื่องนี้มันจะอวย
GTH มากเกินไปจนเราต่อต้านหรือเปล่านะ จะนำเสนอคนใน
GTH ว่าเป็น “เทพ” หรือ “ฮีโร่แห่งวงการหนังไทย”
อะไรทำนองนั้นหรือเปล่า 555
แต่ปรากฏว่า REMEMBERING FAN CHAN ใช้ approach ในการพูดถึง GTH ในแบบที่เราชอบสุดๆ
คือเหมือนหนังสารคดีเรื่องนี้นำเสนอคนใน GTH ในแบบของ “คนทำมาหากิน”
น่ะ คือเหมือนเป็น “คนธรรมดาที่ตั้งใจทำงานของตัวเองให้ดี”, “คนธรรมดาที่ตั้งใจทำงานมาก
ๆ” หรือ “คนที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่แตกต่างจากเรา” อะไรทำนองนี้ เราก็เลยประทับใจอย่างสุดขีดมาก
ๆ
และเราก็เห็นด้วยกับหนังเรื่องนี้ในแง่นึงด้วยแหละ
คือถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ชอบหนัง GTH ในยุคนั้นมากนัก แต่ถ้าหากเทียบกับค่ายหนังไทยด้วยกันเองแล้ว GTH ก็มีการ “รักษามาตรฐาน” ในการสร้างความบันเทิงมาโดยตลอดน่ะ
คือไม่เคยมีการทำหนังสุกเอาเผากิน ชุ่ย ๆ โง่ ๆ แบบที่อาจจะพบได้ในหนังไทยจากผู้สร้างรายอื่น
ๆ แต่มีการควบคุมคุณภาพที่เชื่อถือได้จริงๆ
ถึงแม้ว่าหนังของพวกเขาจะสร้างความบันเทิงให้คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เราก็ตาม
5.ยอมรับว่าตัวเองค่อนข้างถูกโฉลกกับหนัง
GDH มากกว่าหนัง GTH เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง
REMEMBERING FAN CHAN ก็เลยสร้างความรู้สึก poignant เสียดแทงใจ เศร้าใจบางอย่างให้กับเราด้วย เพราะในแง่นึงหนังเรื่องนี้มันเหมือน
“บันทึกชีวิต GTH GDH” น่ะ ชีวิตที่มีการก่อกำเนิด
รุ่งเรืองอย่างสุด ๆ ในช่วงเริ่มต้น มีวัยหนุ่มสาวที่ดีและมั่นคง ก่อนจะค่อย ๆ
เสื่อมความนิยมลง คล้าย ๆ กับชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว
ขึ้นสูงและลงต่ำ แต่พอดีช่วงนี้เป็นช่วงลงต่ำ (ในแง่รายได้นะ
ไม่ใช่ในแง่คุณภาพหนัง) เราก็เลยรู้สึกเศร้าใจ คือหนังเรื่อง REMEMBERING
FAN CHAN ไม่ได้พูดถึงรายได้ของหนัง GDH ในปัจจุบันหรอก
แต่การที่เราได้ดู “จุดกำเนิดอันโชติช่วงชัชวาลย์” ของ GTH ในหนังสารคดีเรื่องนี้
แล้วพอดูหนังสารคดีเรื่องนี้เสร็จ เราก็พบกับสภาพความเป็นจริงด้านรายได้ของหนัง GDH
ในปัจจุบัน มันก็เลยทำให้เรารู้สึกเสียดแทงใจขึ้นมา คือหนังสารคดีเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกราวกับว่า
GTH GDH เป็นเหมือนชีวิตมนุษย์คนนึงด้วย ชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย
ๆ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ คาดเดาอะไรไม่ได้
6.อีกจุดนึงที่ชอบสุดขีดในหนังเรื่องนี้
คือหนังเรื่องนี้มันทำให้เรารู้สึกคล้ายกับการได้ดูหนังสารคดีชุด 7-UP ของ Michael Apted น่ะ ที่ตามถ่ายทำชีวิตคนกลุ่มนึงทุก
ๆ 7 ปี แล้วดูว่าในแต่ละ 7 ปีที่ผ่านมา ชีวิตแต่ละคนมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เพราะหนังสารคดีเรื่องนี้ ก็ตามไปถ่ายทำชีวิตของนักแสดงหรืออดีตนักแสดงหลายคนในแฟนฉัน
และเราก็รู้สึกรุนแรงมาก ๆ กับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของหลาย ๆ คน คือเราได้เห็นพวกเขาในวัยเด็ก
แล้วในอีก 20 ปีต่อมาเราก็คาดไม่ถึงเลยว่าแต่ละคนจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรุนแรงถึงขนาดนี้
อย่างเช่น ชาลี ไตรรัตน์ ที่เราก็รู้มาก่อนอยู่แล้วว่าสภาพในปัจจุบันของเขานั้นหุยฮามาก
แต่พอหนังสารคดีเรื่องนี้ตัดสลับภาพในปัจจุบันกับภาพในอดีตของเขาบ่อย ๆ
มันก็ก่อให้เกิดความรู้สึกถึงธรรมะ “ความเป็นอนิจจัง” ของชีวิตมนุษย์ขึ้นมามาก ๆ 5555
ในขณะที่ชวิน จิตรสมบูรณ์ ที่รับบทเป็น “เจี๊ยบตอนโต” ในแฟนฉัน ปรากฏว่าผ่านมา 20
ปีแล้ว สภาพยังแทบไม่เปลี่ยนไปเลย นึกว่าสตาฟฟ์เวลาเอาไว้เหมือนเดิม
มาโนช แฟนฉันก็รุนแรงมาก ไม่นึกว่าโตมาจะหล่อขนาดนี้
แต่ที่รุนแรงที่สุดคือชีวิตของอดีตนักแสดงคนหนึ่งที่ตอนนี้เหมือนป่วยเป็นเบาหวานระยะสุดท้าย
หรืออะไรทำนองนี้ หนักที่สุด คือเราสะเทือนใจกับอะไรแบบนี้มาก ๆ เราได้ดูเขาสดใส ร่าเริง
ดูเหมือนจะมีอนาคตอีกไกลในวัยเด็ก แล้วก็ตัดภาพมากลายเป็นว่าเขาป่วยหนักแล้ว
ก็เลยรู้สึกว่าจุดนี้ของหนังเป็นอะไรที่สะเทือนใจเราอย่างรุนแรงมาก
เหมือนการได้ดูหนังเรื่อง SEVEN UP! (1964,
Paul Almond, UK, documentary, A+30) แล้วต่อด้วย 28 UP
(1984, Michael Apted, UK, documentary, A+30) ในทันที เราได้เห็นชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย
ทั้งแจ็ค แฟนฉันที่เราได้เห็นหน้าค่าตาเขาเป็นประจำ
และดูเหมือนจะมีชีวิตที่ดีในระดับนึง, โฟกัสที่เหมือนเพิ่งกลับมาดังเพราะเธอกล้าแสดงความเห็นทางการเมืองในแบบที่ถูกต้อง,
แน็ค ชาลีที่เหมือนเป็นหนึ่งในนิยามของคำว่า “ไม่ทราบชีวิต”, อดีตนักแสดงคนนึงที่พยายามดิ้นรนทำธุรกิจของตนเอง,
เด็กที่หน้าตาธรรมดาแต่โตมาแล้วหล่อมาก, เด็กที่โตมาแล้วกลายเป็นผู้ป่วยหนัก, etc. คือเราว่าการได้เห็นว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มันได้ “ทำอะไรอย่างรุนแรงไปแล้วบ้าง”
กับชีวิตของนักแสดงแต่ละคนในเรื่องในแบบที่แตกต่างกันไป มันทำให้เรารู้สึกสัมผัสได้ถึงความน่าสะเทือนใจบางอย่างของชีวิตมนุษย์อย่างมาก
ๆ
7.แต้มต่ออย่างนึงที่ทำให้เราชอบ REMEMBERING FAN CHAN มากกว่า “แฟนฉัน” ก็คือผู้ชาย
55555 เพราะ “แฟนฉัน” มันเป็นหนังเด็กไง มันก็เลยไม่มีผู้ชายหนุ่ม ๆ ให้เราดู
แต่การได้ดู “เหล่าผู้กำกับแฟนฉันในวัยหนุ่ม” ขณะกำลังตั้งอกตั้งใจทำงานในหนังสารคดีเรื่องนี้
เป็นอะไรที่เพลินตาเพลินใจดิฉันมาก ๆ ค่ะ 55555
8.ชอบที่หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการทำนายความสำเร็จของ
“สัปเหร่อ” ล่วงหน้าด้วย เพราะหนังเรื่องนี้ถ่ายทำก่อนที่ “สัปเหร่อ” จะโด่งดัง
และในหนังก็มีการสัมภาษณ์หนึ่งในผู้สร้างหนังชุด “ไทบ้านเดอะซีรีส์”
และผู้ให้สัมภาษณ์บางคนก็คาดการณ์หรือคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา ว่าในอนาคตอาจจะมีหนังไทยบางเรื่อง
“ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างไม่คาดคิด” แบบ “แฟนฉัน” ซึ่งพอตอนที่หนังสารคดีเรื่องนี้ออกฉายที่โรงหนัง
HOUSE SAMYAN นั้น “สัปเหร่อ” ก็ดังเปรี้ยงพอดี
9.อีกจุดที่ชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ
เป็นเพราะว่าหนังมันพูดถึงประเด็นที่เราสนใจด้วยแหละ เพราะเราเป็น cinephile และหนังเรื่องนี้มันไม่ได้พูดถึงแต่แฟนฉันหรือ
GTH แต่มันสัมภาษณ์ผู้บริหารพระนครฟิล์ม, เป็นเอก รัตนเรือง,
Sayombhu Mukdeeprom, etc. ด้วย เพราะฉะนั้นในแง่นึงหนังเรื่องนี้ก็เลยพูดในสิ่งที่เราสนใจ
ซึ่งก็คือภาพกว้างของวงการหนังไทยและความคิดเห็นที่หลากหลายของคนในวงการหนังไทยด้วย
10.ชอบโครงสร้างของหนังสารคดีเรื่องนี้ด้วยแหละ
ที่เหมือนแบ่งเป็น 5 chapters ที่แต่ละ chapter เน้นประเด็นแตกต่างกันไป
และมีการคั่นกลางระหว่างแต่ละ chapter ด้วยคลิปจากอดีตเมื่อราว
20 ปีก่อน เวลาพวกนักแสดงในแฟนฉันไปปรากฏตัวตามรายการทีวีอะไรต่าง ๆ ทำนองนี้ ซึ่งหนังเรื่องนี้บอกในช่วงต้นเรื่องว่า
การแทรกคลิปคั่นกลางระหว่าง chapter ต่าง ๆ นี้
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมไปเข้าห้องน้ำได้ในช่วงนั้น
แต่เราดูแล้วไม่กล้าเข้าห้องน้ำเลย เพราะการได้เห็นคลิปจากอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนนี่มัน
nostalgia มาก ๆ มันงดงามทางความรู้สึกมาก ๆ
11.และแน่นอนว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เราชอบ
REMEMBERING FAN CHAN อย่างรุนแรง น่าจะเป็นเพราะ wavelength
ของเราตรงกับคุณ Tani Thitiprawat อย่างมาก ๆ
ด้วยแหละ 55555
หนังของคุณ Tani เคยติดอันดับหนังสุดโปรดประจำปีของเรามาก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างเช่น
11.1 อำพราง DISAPPEAR ติดอันดับ 4 ของเราประจำปี 2010
11.2 วันวิปริต ไร้เงาดวงจันทร์ TO WALK NIGHT ติดอันดับ 33 ของเราประจำปี 2010
11.3 ME AND MY
VIDEO DIARY ติดอันดับ 8 ของเราประจำปี 2011
11.4 GRINDHOUSE FOR UTOPIA ติดอันดับ 1 ของเราประจำปี 2013
11.5 SUBCONSCIOUSNESS ไร้กาล
ติดอันดับ 13 ของเราประจำปี 2016
และแน่นอนว่า REMEMBERING FAN CHAN นี่ก็จะติดอันดับประจำปีของเราในปีนี้อย่างแน่นอนเช่นกัน
คือถ้าหากเทียบกับหนังไทยขนาดยาวด้วยกันเองแล้ว เราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากที่สุดในตอนนี้นะ
แต่เวลาเราจัดอันดับประจำปี เราแยกหนัง fiction กับหนังสารคดีออกจากกันน่ะ
เพราะฉะนั้น REMEMBERING FAN CHAN ก็เลยคงไปติดในอันดับหนังสารคดีของเราแทน
และต้องแข่งขันกับหนังสารคดีจากต่างประเทศอีกหลาย ๆ เรื่องในใจเรา 55555
No comments:
Post a Comment