Saturday, April 18, 2015

BOYCHOIR (2014, François Girard, A+15)

BOYCHOIR (2014, François Girard, A+15)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.อยากฉายหนังเรื่องนี้ควบกับ SHOWGIRLS (1995, Paul Verhoeven) เพราะเราชอบพล็อตประเภทการตบตีกันเพื่อแย่งชิง “บทนำ” ในทั้งสองเรื่องนี้ แต่เราชอบตอนจบแบบของ SHOWGIRLS มากกว่า BOYCHOIR

2.ถ้าหนังลดการให้ความสำคัญกับ “ดราม่าชีวิตตัวละครลง” และหันไปสำรวจวงการของนักร้องประเภทนี้ หรือสถานศึกษาของนักร้องประเภทนี้ แบบที่หนังของ Frederick Wiseman ทำ หรือให้ความสำคัญกับความพยายามในการร้องเพลงต่างๆของนักร้องประเภทนี้ แบบที่ LITTLE FOREST: SUMMER/AUTUMN (2014, Junichi Mori, A+30) ให้ความสำคัญกับการทำอาหารจานต่างๆ เราคงชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30

คือตอนที่ดู BOYCHOIR เราจะนึกถึง LITTLE FOREST ในแง่ที่ว่า จุดนึงที่เราชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้เหมือนๆกัน คือมันเป็นหนังที่นำเสนอความงดงามของ “กิจกรรมเฉพาะทาง” บางอย่างที่เราไม่มีความรู้หรือไม่เคยสนใจมาก่อนน่ะ เราชอบ LITTLE FOREST มากเพราะเราทำอาหารไม่เป็น แต่ LITTLE FOREST นำเสนอความงดงามของการทำอาหารให้เราได้ดูได้อย่างเพลิดเพลินสุดๆ และได้ความรู้ไปด้วย ส่วน BOYCHOIR นั้นเราก็ชอบมาก เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องดนตรีประเภทนี้มาก่อน และแทบไม่เคยได้ฟังดนตรีประเภทนี้เลยด้วย แต่พอเราได้ฟังจากหนังเรื่องนี้ เราก็รู้สึกว่ามันไพเราะมาก และเพลิดเพลินมากๆ เราว่าหนังนำเสนอความงดงามของดนตรีประเภทนี้ให้แก่คนที่ไม่มีความรู้อย่างเราได้ดีมากๆเลยน่ะ

อย่างไรก็ดี สาเหตุสำคัญอันนึงที่ทำให้เราชอบ LITTLE FOREST ในระดับ A+30 แต่ชอบ BOYCHOIR ในระดับ A+15 เพราะ LITTLE FOREST มันไปสุดทางของมันในการนำเสนอความงดงามของกิจกรรมเฉพาะทางของมันน่ะ LITTLE FOREST ให้ความสำคัญกับการทำอาหารราว 80% และให้ความสำคัญกับดราม่าชีวิตตัวละครราว 10% ส่วน BOYCHOIR เหมือนให้ความสำคัญกับความงดงามของดนตรีประเภทนี้ราว 50% และให้ความสำคัญกับดราม่าชีวิตตัวละครราว 50% เพราะฉะนั้น BOYCHOIR ก็เลยไม่สามารถ “ไปจนสุดทาง” ได้ในความเห็นของเราในแบบเดียวกับ LITTLE FOREST และทำให้ความสุขของเราที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้ลดน้อยลง

3.ในส่วนของดราม่าชีวิตตัวละครนั้น เราก็มีทั้งจุดที่ชอบและไม่ชอบนะ จุดที่เราชอบมากในดราม่าชีวิตตัวละครในหนังเรื่องนี้ก็คือ “มันเป็นสูตรสำเร็จแบบที่เราชอบมาก” แต่จุดที่เราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆก็คือ “มันก็ไปไม่สุดทางของมันเมื่อเทียบกับหนัง/ละครทีวี/หนังสือการ์ตูนที่ใช้สูตรสำเร็จแบบเดียวกัน”

คือเราชอบสูตรสำเร็จแบบในหนังเรื่องนี้มากน่ะ เพราะเราเติบโตมากับอะไรแบบนี้ เวลาเราดู BOYCHOIR เราจะนึกถึงละครทีวีญี่ปุ่นเรื่อง “ยอดหญิงชิงโอลิมปิก” และ “เงือกสาวจ้าวสระ” และนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “ตากล้องที่รัก”, “ยอดรักจอแก้ว”, “สู้เขามายูโกะ”, “หน้ากากแก้ว”, “หงส์ฟ้า”, etc.

คือในสูตรสำเร็จแบบนี้ เรามักจะเจอ
3.1 การนำเสนอวงการอะไรสักวงการอย่างจริงจัง และทำให้เราได้รับความรู้หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวงการนั้น หรือทำให้เราได้เห็นว่าคนในวงการนั้นใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง อย่างเช่นวงการวอลเลย์บอล, วงการนักว่ายน้ำ, วงการช่างตัดผม, วงการพิธีกรรายการโทรทัศน์, วงการตากล้อง, วงการละครเวที, วงการนักบัลเลต์, วงการออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งใน BOYCHOIR ก็จะเป็นวงการนักร้องประสานเสียง

จุดนี้เป็นจุดที่เราชอบมากๆเกี่ยวกับสูตรสำเร็จประเภทนี้ คือเราว่าคนญี่ปุ่นที่สร้างละครทีวีแนวนี้หรือนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นที่เขียนเรื่องประเภทนี้ ต้องค้นคว้าข้อมูลมากพอสมควรน่ะ ถึงจะเขียนเรื่องประเภทนี้ออกมาได้ และเราว่า BOYCHOIR ก็ทำจุดนี้ได้ดีพอๆกับละครทีวีญี่ปุ่นหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราเคยอ่านหรือดูตอนเด็กๆ

ขั้วตรงข้ามของสิ่งที่เรากล่าวมาข้างต้น คือหนังไทยหรือหนังอินเดียบางเรื่อง อย่างเช่นหนังไทยของพจน์ อานนท์ ที่บางเรื่องอาจจะมีการแข่งขันเต้นเชียร์ลีดเดอร์ หรือมีการแข่งขันวงดนตรี แต่หนังพวกนี้แสดงให้เห็นว่า คนสร้างหนังมันคงไม่ได้คิดจะหาความรู้หรือค้นคว้าหาข้อมูลอะไรเลย ผู้ชมอย่างเราเลยแทบไม่ได้รับความรู้อะไรเกี่ยวกับวงการนั้นหรือคนที่อยู่ในวงการนั้นเลยจากการดูหนังประเภทนี้

3.2 ตัวเอกที่มีพรสวรรค์ โดยในกรณีของ BOYCHOIR นั้น เราจะนึกถึง “หน้ากากแก้ว” มากๆในจุดนึง เพราะครูคนนึงในหนังกล่าวว่า “พระเอกใช้สัญชาตญาณ ส่วนตัวอิจฉาใช้การวิเคราะห์” เราก็เลยนึกถึง “หน้ากากแก้ว” เพราะในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนี้ นางเอกก็ใช้สัญชาตญาณ ส่วนคู่แข่งของนางเอกก็ใช้การวิเคราะห์เหมือนกัน

3.3 ตัวเอกมีพรสวรรค์ก็จริง แต่จะมีปมปัญหาชีวิตครอบครัวอย่างรุนแรง

3.4 มีคนที่เห็นความสามารถพิเศษของตัวเอก และพยายามผลักดันให้ตัวเอกเก่งขึ้นเรื่อยๆ

4.แต่จุดที่เราว่า BOYCHOIR แตกต่างจากสูตรสำเร็จประเภทนี้ และทำให้มันไปไม่สุด ก็คือว่า ในละครทีวีหรือหนังสือการ์ตูนที่ใช้สูตรสำเร็จแบบเดียวกันนั้น ในช่วงท้ายของเรื่อง ตัวเอกจะก้าวไปถึงจุดสุดยอดไม่ได้ง่ายๆน่ะ ตัวเอกจะต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ต้องเจออุปสรรคอย่างรุนแรง ต้องคิดค้นหาวิธีต่างๆนานา ต้องทำความเข้าใจกับจิตวิญญาณของตัวเองอย่างลึกซึ้ง ถึงจะเกิดอาการประเภท epiphany หรือ enlightenment ขั้นอุกฤษณ์ และก้าวไปถึงจุดสุดยอดได้

แต่ BOYCHOIR ขาดองค์ประกอบนี้ของ “สูตรสำเร็จ” ไปน่ะ คือเรารู้สึกว่าพระเอกแทบไม่ได้ประสบความยากลำบากอะไรเลยในการร้องเสียง high D ได้เหมือนคู่แข่ง หนังมันก็เลยจืดๆไปในจุดนี้เมื่อเทียบกับละครทีวี/หนังสือการ์ตูนที่ใช้สูตรสำเร็จแบบเดียวกัน

แต่เรื่องนี้มันคงจะเป็นความแตกต่างกันของแต่ละวงการนะ เราเองก็ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีแบบนี้ การที่ใครจะร้องอะไรแบบนี้ได้อาจจะขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ทางร่างกายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด มากกว่าเรื่องของ enlightenment หรือ epiphany แบบที่ใช้ในละครทีวี/หนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับวงการอื่นๆ

5.เพิ่งรู้ว่า François Girard ชอบกำกับโอเปร่า แต่เราว่าหนังของเขาดูไม่ค่อยเปรี้ยวปร้าวเท่าผู้กำกับภาพยนตร์คนอื่นๆที่ชอบกำกับโอเปร่านะ อย่างเช่น Werner Schroeter, Christoph Schlingensief และ Patrice Chéreau

6.ถ้าเทียบกับหนังชื่อคล้ายๆกันเรื่อง BOY’S CHOIR (2000, Akira Ogata) แล้ว เราชอบหนังญี่ปุ่นมากกว่า เพราะหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายด้วย มันก็เลยสนุกกว่า หรือไปไกลกว่า

สรุปว่า เราชอบ BOYCHOIR มากพอสมควร แต่เราว่าหนังให้น้ำหนักมากเกินไปกับดราม่าชีวิตตัวละคร เราว่าผู้กำกับควรทำหนังเรื่องนี้ให้ออกไปในแนว Frederick Wiseman + LITTLE FOREST น่าจะดีกว่า



No comments: